‘บางพลัด’ ลัดเลาะ

มีบางตำนานเล่าว่า “บางพลัด” นั้นมาจากการ พลัดหลง พลัดถิ่น ซึ่งชื่อนี้เชื่อกันว่าได้มาจากสมัยครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาเมื่อราวปี พ.ศ. 2310 ที่ผู้คนต่างอพยพหนีสงครามลงมาหาแหล่งตั้งถิ่นฐานใหม่ ด้วยความที่ย่านนี้เต็มไปด้วยต้นไม้ขึ้นเบียดเสียดแน่นขนัด มีคูคลองมากมาย ทำให้คนพลัดถิ่นที่ไม่คุ้นเคยต่างพลัดหลงในย่านนี้กันบ่อยครั้ง จนเกิดเป็นคำเรียกติดปากขึ้นมาว่า … บางพลัด

ทุกวันนี้ก็ยังไม่มีใครออกมายืนยันว่าเป็นเรื่องจริงหรือแต่งขึ้น แต่ตำนานนี้ก็ยังถูกเล่าสืบต่อกันเรื่อยมา ด้วยความที่ย่านบางพลัดยังเป็นย่านชุมชนที่อยู่อาศัย ไม่ใช่แหล่งการค้าใหญ่ของเมืองกรุงที่หลายคนคุ้นเคยนัก ย่านนี้ก็เลยยังเต็มไปด้วยซอกเร้นมุมลับไม่คุ้นตา มีสิ่งน่าสนใจหลายอย่างซ่อนตัวอยู่มากมาย ประเภทที่ว่าถ้าจับพลัดจับผลูมาพลัดหลงอยู่ที่ย่านนี้ อาจจะได้ตื่นเต้นตื่นตาไม่น้อย ยิ่งถ้าได้ลัดเลาะซอกซอยสุ่มไปอาจเจออะไรใหม่ๆ ที่ไม่ใช่สิ่งที่เป็นกระแสนิยมหลัก แต่กลับเป็นสิ่งมีเสน่ห์ท้องถิ่นที่ประณีตระดับงานคราฟต์ ชวนเข้าไปทำความรู้จัก ได้ชิมของอร่อยที่หาทานยาก ตลอดจนสิ่งที่พลัดหลงมาซ่อนตัวอยู่ที่ … บางพลัด

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตบางพลัด

บางพลัดนั้นเป็นถิ่นอาศัยดั้งเดิมของผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็น “ข้าราชการ 3 แผ่นดิน” อย่าง เจ้าพระยามุขมนตรี (อวบ เปาโรหิตย์) ที่อยู่เบื้องหลังการพัฒนาประเทศมากมาย และเป็นผู้สร้างวัดเปาโรหิตย์ตลอดจนโรงเรียนวัดเปาโรหิตย์ขึ้นเพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจและก่อประโยชน์ให้กับท้องถิ่นนี้อีกด้วย นั่นเป็นที่มาของการจัดตั้งหนึ่งในพิพิธภัณฑ์ที่ทรงคุณค่าระดับชาติซึ่งซ่อนตัวอยู่ในย่านบางพลัดนี้

พิพิธภัณฑ์ขนาดเล็กที่ตั้งอยู่ภายในบริเวณโรงเรียนเปาโรหิตย์นี้ถือเป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานครแห่งล่าสุดที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อเดือนเมษายน 2561 ที่ผ่านมานี้เอง ตัวพิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่ภายในเรือนไม้โบราณสองชั้นที่ขึ้นป้ายว่า “โรงเรียนท่านน้อย” สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2475 ชั้น 1 จะเป็นส่วนของ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตบางพลัด ที่จัดแสดงข้อมูลความรู้ต่างๆ ตั้งแต่วัฒนธรรมท้องถิ่นไปจนถึงประวัติศาสตร์ของย่านที่น่าสนใจ ส่วนชั้นที่ 2 จะเป็นพิพิธภัณฑ์ย่อย พิพิธภัณฑ์เจ้าพระยามุขมนตรี (อวบ เปาโรหิตย์)” จัดแสดงอัตชีวประวัติ ข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัว ตลอดจนการทำงานของเจ้าพระยามุขมนตรีที่สร้างประโยชน์คุณูปการให้กับประเทศ

เจ้าพระยามุขมนตรี (อวบ เปาโรหิตย์) เป็นข้าราชการรับใช้แผ่นดินถึง 3 รัชกาลด้วยกัน ตั้งแต่ ร.5-ร.7 โดยเริ่มตั้งแต่การเป็นเสมียนในกระทรวงยุติธรรม กระทั่งได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทองเมื่อปี พ.ศ.2442 ในวัยเพียง 23 ปีเท่านั้น ต่อจากนั้นก็เลื่อนเป็นเจ้ากรมพลัมภัง สมุหเทศาภิบาลมณฑลนครราชสีมา และตามมาด้วยตำแหน่งแห่งการปกครองอีกหลายตำแหน่ง กระทั่งได้พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยามุขมนตรีในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ไฮไลท์ที่น่าสนใจเห็นจะเป็นการจัดแสดงในส่วน พิธีโล้ชิงช้า อันเป็นพิธีพราหมณ์โบราณที่จัดขึ้น ณ เสาชิงช้า หน้าวัดสุทัศน์ฯ โดยเจ้าพระยามุขมนตรีท่านได้รับพระราชทานแต่งตั้งให้เป็น พระยายืนชิงช้า คนที่ 16 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นดั่งสมมติเทพผู้มาประทับเป็นประธานในพิธี ประวัติศาสตร์สำคัญนี้ถูกเล่าผ่านสื่อและวิธีการนำเสนอที่ทันสมัยชวนให้เราหยุดดู เป็นที่น่าเสียดายว่าพิธีโล้ชิงช้าครั้งสุดท้ายจัดขึ้นตอนปี พ.ศ.2477 นับแต่นั้นเป็นต้นมาพิธีนี้ก็ถูกยกเลิกไป แล้วแว่วๆ ว่าทางกรุงเทพมหานครกำลังมีแนวความคิดที่จะรื้อฟื้นประเพณีโบราณนี้กลับขึ้นมาอีกครั้ง เพื่อเป็นการสืบสานวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าแห่งกรุงรัตนโกสินทร์สืบต่อยังรุ่นต่อไป คงต้องมารอลุ้นกันว่าเราจะได้เห็นประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่านี้เกิดขึ้นอีกครั้งหรือไม่

[su_tabs][su_tab title=”Details”]

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตบางพลัด

ที่ตั้ง : โรงเรียนวัดเปาโรหิตย์ 396 ซ.จรัญสนิทวงศ์ 62 ถ.จรัญสนิทวงศ์ แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพฯ
เปิด-ปิด : จ.-ศ. 09.00-16.00 น. / หยุดเสาร์-อาทิตย์
ติดต่อ : 0-2424-1374

Location:

[su_gmap width=”1600″ address=”พิพิธภัณฑ์เขตบางพลัด”][/su_gmap]

[/su_tab] [/su_tabs]

 

กาแฟบ้านบางอ้อ

ถ้าถามคนแถบนี้ว่าร้านอาหารหรือร้านกาแฟโปรดคือร้านไหน หนึ่งในคำตอบนั้นจะต้องมีร้านนี้แน่ๆ เดิมทีร้านนี้เปิดมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 เริ่มต้นด้วยการเป็นร้านกาแฟเล็กๆ ในห้องกระจกริมถนนใหญ่ จนขยับขยายมาเป็นร้านอาหารในบ้านหลังโต เสิร์ฟอาหารในรูปแบบ Homemade Kitchen ใส่ใจตั้งแต่การคัดสรรวัตถุดิบไปจนถึงการปรุงในรสมือเฉพาะตัว ตำรับอาหารมีตั้งแต่ไทยไปจนถึงตะวันตก รวมถึงเมนูฟิวชั่นที่น่าสนใจ แล้วด้วยความที่ร้านตั้งอยู่ในย่านชุมชนมุสลิม ทุกเมนูที่นี่ก็เลยไม่มีเนื้อหมูเป็นวัตถุดิบ แถมยังมีเมนูมังสวิรัติสำหรับคนรักสุขภาพที่อร่อยไม่แพ้กันด้วย

จานอร่อยที่แนะนำให้ลอง เช่น ข้าวผัดน้ำพริกมันกุ้ง ที่เจ้าของร้านตระเวนชิมและเลือกสรรน้ำพริกไปทั่วจนเจอรสชาติและแหล่งที่ถูกใจ นำมาผัดกับข้าวให้เข้ากันแล้วเสิร์ฟพร้อมกุ้งนึ่งที่จะใช้เฉพาะกุ้งสดแบบไม่แช่แข็งเท่านั้น ส่วนเมนูตะวันตกที่ไม่เหมือนใครก็คือ ชิกเก้นลาซานญ่า ที่ไม่ได้เสิร์ฟมาในถ้วยเซรามิกแต่จะทำเป็นชั้นๆ ซ้อนทับกันคล้ายเครปเสิร์ฟมาบนจานแบน ระหว่างชั้นจะสลับด้วยซอสโบโลเนสกับซอสครีมขาวสูตรโฮมเมดที่ทางร้านทำขึ้นเอง

อีกเมนูที่น่าลองอย่างยิ่งก็คือ สปาเก็ตตี้แกงกะบาบเนื้อวัว ตำรับฟิวชั่นที่ทางร้านนำเอาสูตรแกงเนื้อท้องถิ่นในสไตล์มุสลิมมาผสมผสานทานกับสปาเก็ตตี้ได้อย่างอร่อยลงตัวไม่เหมือนใคร เดิมทีเมนูอร่อยนี้เป็นเมนูพิเศษที่มาเฉพาะฤดูกาล แต่ด้วยความแปลกใหม่ประกอบกับลูกค้าชื่นชอบ ทางร้านก็เลยนำกลับมาทำบ่อยขึ้น ใครที่สนใจอยากลองตำรับเฉพาะถิ่นนี้จดไว้ให้ดี เพราะเขามีเสิร์ฟเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ เท่านั้น

มาถึงเมนูกาแฟกันบ้าง ที่นี่เลือกใช้เมล็ดกาแฟไทยจากแหล่งปลูกหมู่บ้านปกากะญอ ดูลาเปอร์ อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน ที่ปลูกตามธรรมชาติ เติบโตแทรกตัวอยู่ตามใต้ร่มไม้ใหญ่ รายล้อมด้วยสมุนไพรและพืชป่านานาชนิด ทำให้กาแฟมีคาแร็คเตอร์พิเศษเฉพาะตัวที่น่าสนใจ สำหรับ Signature ของที่นี่ก็คือ กาแฟบ้านบางอ้อ (เหมือนชื่อร้าน) ที่จะชงกาแฟสูตรเย็นสไตล์ไทยในแบบฉบับเฉพาะตัว แต่ทีเด็ดอยู่ตรงน้ำแข็งก้อนโตที่นำเอาเอสเพรสโซ่เข้มข้นไปแช่แข็ง นอกจากจะได้ชิมรสชาติของกาแฟเย็นที่เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ แล้ว ความพิเศษอีกอย่างอยู่ตรงที่เมื่อเรากินกาแฟเย็นจนหมด น้ำแข็งก้อนโตก็จะค่อยๆ ละลายกลายเป็นเอสเพรสโซ่เย็นอีกแก้วได้ด้วย

[su_tabs][su_tab title=”Details”]

กาแฟบ้านบางอ้อ

ที่ตั้ง : 236 ซ.จรัญสนิทวงศ์ 84 ถ.จรัญสนิทวงศ์ แขวงบางอ้อ เขตบางพลัด กรุงเทพฯ
เปิด-ปิด : จ.-อ., พฤ.-ศ., อา. 10.00-21.00 น. / ส. 10.00-22.00 น. / หยุด พ.
ติดต่อ : 0-2879-0076, 086-842-6084
Facebook : www.facebook.com/baanbangaor.coffee

Location:

[su_gmap width=”1600″ address=”กาแฟบ้านบางอ้อ”][/su_gmap]

[/su_tab] [/su_tabs]

 

โชคอำนวย

ลัดเลาะเข้าซอยวัดบางพลัดไปหน่อยเราจะเจอกับร้านรับทำกรอบรูปเล็กๆ มีเสน่ห์ไม่เหมือนใคร ดูผิวเผินอาจคล้ายร้านกรอบรูปธรรมดาๆ แต่ถ้าลองมองดีๆ แล้วให้อารมณ์เหมือน Art Gallery ของศิลปินหน่อยๆ ถึงแม้ร้านจะชื่อว่า โชคอำนวย แต่เจ้าของร้านชื่อ คุณประชา แก้วเกลี้ยง หรือ CHA VINTAGE ศิษย์เก่าเพาะช่างที่เข้ามาขอสืบทอดกิจการร้านทำกรอบรูปเก่าแก่ต่อจากคุณลุง โดยร้านเดิมนั้นอยู่คู่ย่านบางพลัดมากว่า 40 ปี แล้ว แต่คุณประชาก็ยังต้องการอนุรักษ์มรดกนี้ไว้
ขอปรับโฉมใหม่ให้ร้านมีเสน่ห์ตามสไตล์ช่างศิลป์หน่อย เลยทำให้ร้านออกมามีเสน่ห์เฉพาะตัวที่น่าสนใจนี่เอง

ถึงแม้จะเป็นร้านโฉมใหม่แต่โชคอำนวยในยุคใหม่นี้ก็เปิดร้านมามากกว่า 10 ปีแล้ว ด้วยความที่คุณประชามีเพื่อนอยู่ในแวดวงศิลปินพอสมควร ประกอบกับฝีมือทำกรอบรูปที่ประณีต ลูกค้าส่วนใหญ่จึงเป็นลูกค้าประจำที่รู้จักไปจนถึงลูกค้าที่ได้รับการแนะนำปากต่อปาก กรอบรูปที่นี่จะเป็นกรอบรูปงานไม้ และทางร้านจะคัดเฉพาะไม้คุณภาพดีมาทำเท่านั้น งานทุกชิ้นเป็นเสมือนงานศิลปะที่บรรจงตั้งใจทำอย่างประณีตแบบชิ้นต่อชิ้น ที่สำคัญเป็นงานทำมือแบบแฮนด์เมดล้วนๆ นอกจากขนาดกรอบมาตรฐานแล้วเราก็ยังสามารถให้ที่นี่ออกแบบกรอบในรูปแบบอื่นๆ ได้ตามต้องการอีกด้วย

ผู้ช่วยคนสำคัญของร้านนั้นไม่ใช่มนุษย์ แต่กลับเป็นเจ้า Mitre Box เครื่องช่วยวางแนวเลื่อยไม้รุ่นเก๋าที่ตั้งโดดเด่นอยู่กลางร้าน เรียกร้องความสนใจของคนชอบงานคราฟต์ได้อยู่หมัด เจ้าเครื่องเก่าแก่นี้เป็นของแบรนด์ ULMIA นำเข้าจากเยอรมัน อายุกว่า 40 ปี แล้ว ถึงแม้จะไม่ทันสมัย ไม่ช่วยอำนวยความสะดวกแบบสำเร็จรูปได้ดีเท่าเครื่องในยุคปัจจุบัน แต่คุณประชากลับบอกว่านี่แหละคือเสน่ห์แบบงานแฮนด์เมดที่มีคุณค่าไม่เหมือนใคร แล้วเอาเข้าจริงเจ้าเครื่องนี้ยังตัดไม้ได้เป๊ะ แม่นยำ ทำองศาได้เนี้ยบ คุณภาพดีกว่าเครื่องที่ผลิตจากประเทศจีนเสียอีก

ปัจจุบันร้านรวงต่างๆ ก็หันไปใช้เครื่องมือทันสมัยกันหมดแล้ว เครื่องมือโบราณลักษณะนี้จึงหายากและแทบไม่มีหลงเหลือคนใช้อยู่เลย แต่นั่นกลับเป็นเสน่ห์น่าหลงใหล ซึ่งสถานที่แห่งนี้ยังคงรักษาไว้เช่นเดิม ใครที่เบื่องานสำเร็จรูปหน้าตาเหมือนๆ กันไปหมด แล้วอยากลองเปลี่ยนมาหลงใหลเสน่ห์งานไม้ทำมือแบบโบราณบ้าง ก็ลองแวะมากันดู

[su_tabs][su_tab title=”Details”]

โชคอำนวย

ที่ตั้ง : 11 ซ.จรัญสนิทวงศ์ 79 (ทางเข้าวัดบางพลัด) ถ.จรัญสนิทวงศ์ แขวงบางพลัด เขตบางพลัด กรุงเทพฯ
เปิด-ปิด : ทุกวัน 08.30-19.30 น.
ติดต่อ : 0-2433-4044, 085-130-8652

Location:

[su_gmap width=”1600″ address=”11 ซ.จรัญสนิทวงศ์ 79″][/su_gmap]

[/su_tab] [/su_tabs]

 

กล่องทิพย์

ใครที่เคยผ่านการท่องร้อยกรอง กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน บทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (ร.2) มาแล้ว ก็คงจะเคยได้ยินชื่อตำรับอาหารไทยโบราณอยู่หลายอย่าง บางตำรับอาจหาทานยากแล้วในยุคนี้ แต่หลายตำรับก็ยังสืบทอดมาถึงปัจจุบัน แล้วใครที่อยากลองชิมตำรับโบราณสูตรชาววังดั้งเดิมซึ่งหลายเมนูต่างก็อยู่ในกาพย์เห่นี้ด้วย แนะนำให้ลองเปิดสำรับกล่องทิพย์ชิมดู

กล่องทิพย์ เป็นตำรับชาววังดั้งเดิมที่เน้นเสิร์ฟความอร่อยแบบอาหารกล่องส่งตรงถึงบ้าน ชื่อร้านนั้นได้มาจากไอเดียข้าวกล่องญี่ปุ่นที่เรารู้จักกันดีอย่าง “เบนโตะ (Bento)” ซึ่งทำด้วยความประณีต นอกจากบริการเดลิเวอร์รี่แล้วด้านหน้าก็ยังเปิดเป็นร้านอาหารเล็กๆ ด้วย อันที่จริงกล่องทิพย์ก็เพิ่งจะเปิดบริการเมื่อต้นปี พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมานี้เอง แต่หลายคนที่ติดตามความอร่อยอาจจะรู้กันดีว่าร้านนี้ก็คืออดีตร้าน ครัวรัฐสภา ที่ตั้งอยู่ในสโมสรรัฐสภามาก่อนหน้าอยู่หลายปี หลังจากที่เคยไปออกรายการดังครั้งหนึ่ง ก็มีคนรู้จักและอยากชิมความอร่อยมากมาย แต่ด้วยภายในสโมสรรัฐสภาไม่อนุญาตให้คนภายนอกเข้า ทางร้านจึงตัดสินใจย้ายมาเปิดบริการที่ด้านนอกแทน

ตำรับโบราณหาทานยากก็อย่างเช่น แกงสิงหล ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากชาวศรีลังกาที่ย้ายถิ่นมาทำกินในบ้านเรา เครื่องแกงมาจากเมืองสิงหลก็เลยเป็นที่มาของชื่อแกงด้วย ลักษณะของแกงจะคล้ายกับมัสมั่นแต่มีความข้นและเผ็ดกว่า ทานกับไก่ที่ตุ๋นให้เนื้อนุ่ม อร่อยเข้ากันอย่างดี อีกเมนูที่ชวนสงสัยก็คือ แกงเขียวหวานไก่หลวง มองผิวเผินอาจจะคิดว่าเป็นแกงเขียวหวานลูกชิ้นปลากรายธรรมดาๆ แต่ไก่หลวงสูตรตำรับชาววังนั้นจะนำเอาเนื้อไก่สับไปคลุกกับเนื้อปลาบดละเอียด ใส่เครื่องปรุงลงไปหน่อย ปั้นเป็นก้อนคล้ายลูกชิ้น แล้วนำไปต้มกับแกงเขียวหวานสูตรโบราณอีกที

ใครที่ไม่สะดวกมาที่ร้านก็สามารถสั่งอาหารชาววังครบเครื่องไปทานได้ สำรับอาหารกล่องนี้จะทำสดใหม่กันทุกวัน เมนูหาทานยากที่แนะนำให้ลองมากที่สุดเห็นจะเป็น ข้าวคลุกพริกกะเกลือโบราณ ที่มาพร้อมไก่ทอดเกลือ ไข่มะตูมนึ่งมะนาว เสิร์ฟพร้อมข้าวคลุกพริกกะเกลือสูตรโบราณที่เพิ่มมะพร้าวฝอยคั่วลงไปคลุกเคล้าจนเข้ากัน อีกตำรับชาววังที่ไม่ควรพลาดก็คือ ข้าวน้ำพริกเจ้าจอม ที่มาพร้อมสูตรพิเศษสืบทอดมาจากครัวในวัง แต่ถ้าอยากจะลองเมนูแปลกแต่เป็นทีเด็ดขอให้ลอง เผือกนึ่งทรงเครื่องผัดไทย ที่คัดเผือกชั้นดีมานึ่งจนนุ่มแล้วนำไปผัดกับเครื่องผัดไทยเป็นสูตรอร่อยที่ไม่เหมือนใคร เป็นต้น ทุกเมนูข้าวกล่องนั้นยังแซมด้วยสำรับอาหารว่างกึ่งคาวกึ่งหวานไว้ทานเรียกน้ำย่อยด้วย เช่น ช่อม่วง, ปั้นสิบนึ่ง, ถุงทอง, หรือแม้แต่ขนมจีบไทย ซึ่งทั้งหมดเป็นตำรับชาววังโบราณที่ทางร้านยังคงรสชาติแบบดั้งเดิมไว้ทุกประการ

[su_tabs][su_tab title=”Details”]

กล่องทิพย์

ที่ตั้ง : ชั้น 1 Meeting Mall บางอ้อ ซ.จรัญสนิทวงศ์ 94 ถ.จรัญสนิทวงศ์ แขวงบางอ้อ เขตบางพลัด กรุงเทพฯ
เปิด-ปิด : จ.-ส. 08.00-18.00 น. / หยุดวัน อา.
ติดต่อ : 091-119-8875,080-599-4344
Facebook : www.facebook.com/klongthipthai

Location:

[su_gmap width=”1600″ address=”Meeting Mall บางอ้อ ซ.จรัญสนิทวงศ์ 94″][/su_gmap]

[/su_tab] [/su_tabs]

 

กูอยู่นี่

ถ้าฟังแค่ชื่อก็อาจจะคิดว่าหยาบคาย แต่ถ้าเห็นป้ายร้านที่บรรจงทำอย่างประณีตแล้วก็จะเปลี่ยนความคิดใหม่ทันที ร้านทำป้ายเล็กๆ นี้อยู่ติดถนนใหญ่ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้าบางพลัด (MRT สายสีน้ำเงิน) เจ้าของร้านก็คือ ลุงทาร์ซาน ฉายาคุ้นหูที่ถูกเรียกกันมานาน ถึงแม้ว่าปัจจุบันคุณลุงอายุ 76 ปี แล้ว แต่แกก็ยังคงนั่งบรรจงทำป้ายด้วยฝีมือของตัวเองทุกขั้นตอนมาจนถึงทุกวันนี้

อันที่จริงร้านที่จรัญฯ นี้เพิ่งจะเป็นทำเลใหม่ที่คุณลุงย้ายมาอยู่ได้ราว 3 ปี ซึ่งก่อนหน้านี้คุณลุงบอกว่าย้ายไปย้ายมากว่า 14 ที่แล้ว ตลอดระยะเวลา 40 ปี ที่ผ่านมาคุณลุงพัฒนาฝีมือแกะสลักป้ายไม้มาเรื่อย ทำงานนี้ด้วยใจรักราวกับทำงานศิลปะ ทุกชิ้นลงแรงเองคนเดียวในทุกขั้นตอนแบบม้วนเดียวจบ ถึงแม้ร้านจะรกหน่อย (เพราะคุณลุงอยู่ร้านคนเดียว) แต่ก็ทำให้สัมผัสถึงกลิ่นอายอาร์ตติสได้มากทีเดียว

แหล่งของไม้ที่นำมาทำป้ายนั้นมาจากชุมชนแถบบางโพธิ์ เขตบางซื่อ ที่เรารู้จักกันดี กระบวนการทำป้ายก็มีตั้งแต่เลื่อย แกะ ไปจนถึงขุดตัวอักษรที่เนี้ยบไม่แพ้งานใช้เครื่องมือทันสมัย เอกลักษณ์อีกอย่างก็คือการลงสีทองที่คุณลุงมีเทคนิคพิเศษเฉพาะตัวทำให้สีออกมาสวยและเรียบเนียน ด้วยฝีมือศิลปินที่ทำงานอย่างพิถีพิถันนี่เองจึงทำให้ลูกค้าส่วนใหญ่มักเป็นลูกค้าเก่าที่ตามคุณลุงมา และลูกค้าที่บอกปากต่อปาก มากกว่าจะเป็นขาจรที่ไม่รู้จักกัน ใครสนใจงานป้ายทำมือขนาดแท้ขอแนะนำให้ลองแวะไปคุยกับคุณลุงดู

[su_tabs][su_tab title=”Details”]

กูอยู่นี่

ที่ตั้ง : ใกล้กับ ซ.จรัญสนิทวงศ์ 78 (ไม่ไกลจากสถานี MRT บางพลัด) ถ.จรัญสนิทวงศ์ แขวงบางพลัด เขตบางพลัด กรุงเทพฯ
เปิด-ปิด : ทุกวัน 09.00-19.00 น. (เวลาโดยประมาณ การเปิดปิดอาจไม่แน่นอนในแต่ละวัน)

Location:

[su_gmap width=”1600″ address=”ซ.จรัญสนิทวงศ์ 78″][/su_gmap]

[/su_tab] [/su_tabs]

 

EAT ART : A PART OF US

ใครจะคาดคิดว่าท่ามกลางตึกแถวชุมชนคนอยู่อาศัยแถบสะพานซังฮี้ (ฝั่งธนฯ ที่ติดกับ ถ.จรัญฯ) ที่เงียบสงบนี้ กลับมีคาเฟ่เท่ๆ ในกลิ่นอาย Art Galley ซ่อนตัวอยู่ อันที่จริงจุดเริ่มต้นของ EAT ART ไม่ได้ต้องการจะเปิดคาเฟ่เพื่อต้อนรับลูกค้าทั่วไป เพราะวัตถุประสงค์หลักก็คือการจัดสรรพื้นที่เพื่อให้เป็นสวัสดิการ แหล่งพักผ่อนหย่อนใจ ตลอดจนพื้นที่สร้างแรงบันดาลใจของพนักงานบริษัท FLYNOW แบรนด์แฟชั่นชั้นนำที่เรารู้จักกันดี

ขึ้นชื่อว่าเป็นคาเฟ่สังกัด FLYNOW แน่นอนว่าการตกแต่งร้านย่อมไม่ธรรมดา งานศิลปะทุกชิ้นในร้านล้วนเป็นของสะสมส่วนตัวของ คุณสมชัย ส่งวัฒนา เจ้าของแบรนด์ FLYNOW และ ช่างชุ่ย ทั้งสิ้น โดยคุณสมชัยต้องการให้ศิลปะสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับทุกคนที่มาเยือน มาเสพ แล้วเหตุที่คาเฟ่ตั้งอยู่ในย่านนี้ก็เพราะว่าแหล่งนี้นี่แหละคือต้นกำเนิดของแบรนด์ FLYNOW แล้วทุกวันนี้ก็ยังเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่อีกด้วย

ถึงแม้จะเป็นร้านสวัสดิการพนักงาน แต่ทางร้านก็เปิดต้อนรับลูกค้านอกด้วยเช่นกัน ภายในคาเฟ่นั้นเสิร์ฟกาแฟที่บรรจงคัดสรรเมล็ดกาแฟพันธุ์ดีจากโรงคั่วคุณภาพซึ่งผ่านการทดสอบรสชาติและมาตรฐานความชอบของพนักที่นี่แล้ว ทีเด็ดอีกอย่างของที่นี่ก็คือขนมหวานซึ่งเค้กน่าทานนั้นจะเป็นฝีมือของดีไซน์เนอร์ FLYNOW ที่รักในการทำขนมไม่แพ้งานออกแบบแฟชั่น ความน่าสนใจอีกอย่างก็คือเมนูขนมหวานที่นี่จะคาดเดาไม่ได้ บ้างเปลี่ยนแปลงไปตามวัตถุดิบที่มีในแต่ละฤดูกาล บางทีก็เปลี่ยนไปตามการสร้างสรรค์ของดีไซน์เนอร์เอง งานอดิเรกสุดอร่อยนี้จะส่งตรงถึงที่ร้านทุกๆ วันจันทร์ สัปดาห์ละครั้งเท่านั้น แล้วต้องขอบอกว่าถ้าคิดจะมาชิมเค้กที่นี่ควรมาตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะความอร่อยนี้หมดแล้วหมดเลย

[su_tabs][su_tab title=”Details”]

EAT ART : A PART OF US

ที่ตั้ง : 100 ซ.จรัญสนิทวงศ์ 66/1 ถ.จรัญสนิทวงศ์ แขวงบางพลัด เขตบางพลัด กรุงเทพฯ
เปิด-ปิด : จ.-ศ. 08.00-17.30 น. / หยุด ส.-อา.
ติดต่อ : 0-2880-0831-7 # 125

Location:

[su_gmap width=”1600″ address=”Eat Art Coffee”][/su_gmap]

[/su_tab] [/su_tabs]

 

Kinjai Contemporary

Art Galley เก๋ที่เป็นแหล่งแสดงงานศิลปะแห่งใหม่ในย่านบางพลัดนี้เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อเดือนมีนาคม 2018 ที่ผ่านมานี้เอง ภายนอกอาจดูเป็นเพียง Art Gallery เล็กๆ แต่ภายในอุดมไปด้วยพลังความสร้างสรรค์ตลอดจนแรงบันดาลใจชั้นเยี่ยม
ถึงแม้จะเป็น Art Gallery น้องใหม่ แต่ดูจากศิลปินกลุ่มแรกที่เปิดตัวนิทรรศการที่นี่อย่าง Kanith – กนิษฐรินทร์ ไทยแหลมทอง Graphic Design ของช่างชุ่ย ที่ถูกจับคู่จัดร่วมกับศิลปินหน้าใหม่มาแรง N8K – นรีกุล ธูปพุทธา หรือแม้แต่ Artist Guest คนแรกสุดของที่นี่อย่าง Alex Face ที่ถูกเชิญมาละเลงศิลปะบนกำแพงประเดิมเปิดตัว Art Gallery นี้ ก็น่าจะพอรู้ว่ามาตรฐานและคุณภาพของห้องจัดแสดงศิลปะเล็กพริกขี้หนูนี้เป็นอย่างไร

Kinjai Contemporary ก่อตั้งโดย เป้-สหวัฒน์ เทพรพ ศิลปินรุ่นใหม่จากคณะจิตรกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากรทำงานร่วมกับคิวเรเตอร์ชาวญี่ปุ่น โดยมีวัตถุประสงค์คือต้องการสร้างพื้นที่แสดงงานศิลปะให้กับศิลปินหน้าใหม่และคนที่อยากสร้างสรรค์งานศิลปะแบบไม่จำกัดรูปแบบ นั่นทำให้ความคิดสร้างสรรค์ถูกนำมาเป็นเกณฑ์การตัดสินหลักอันดับแรกในการคัดเลือกงานเข้ามาแสดงที่นี่

จริงๆ แล้ว Kinjai อ่านว่า คิน-ใจ แต่ถ้าจะอ่านเป็น กินใจ ทางเจ้าของก็บอกว่าไม่ผิดอะไรเหมือนกัน ทั้งสองความหมายเป็นความหมายที่ลึกซึ้งดี แต่ที่ไปที่มาจริงๆ นั้นหยิบมาจากภาษาอังกฤษคำว่า Kin ที่แปลว่า ญาติมิตร นั่นเอง นั่นเลยทำให้โลโก้เป็นรูปสองมือที่แปะทักทายกัน สื่อถึงคอนเซ็ปต์ของการเป็นแหล่งแสดงงานศิลป์ที่อยากใกล้ชิดสนิทสนมกับคนเสพ ดูงานศิลป์แบบไม่ต้องมีพิธีรีตรอง ให้อารมณ์เหมือนแวะมาเที่ยวบ้านเพื่อน เยี่ยมบ้านญาติ ประมาณนั้น

นอกจากนิทรรศการศิลปะที่จะหมุนเวียนเปลี่ยนกันไปตลอดทั้งปีแล้ว สีสันอีกอย่างที่ถูกเติมเข้ามาก็คือกิจกรรมต่างๆ ที่จะจัดควบคู่กันไป แถมด้านบนก็จะเปิดเป็น Workshop Space สอนดีไซน์ (CI Branding), ทำเฟอร์นิเจอร์, ไปจนถึงงานคราฟต์ต่างๆ ด้วย ซึ่งนี่เป็นทิศทางเทรนด์ของ Art Galley ยุคใหม่ทั่วโลก (โดยเฉพาะ Art Space ขนาดเล็ก) ที่จะวางตัวเองเป็น Creative Community สำหรับหลากหลายกิจกรรมมากกว่าแค่การมีพื้นที่สำหรับจัดแสดงงานศิลป์เท่านั้น

[su_tabs][su_tab title=”Details”]

Kinjai Contemporary

ที่ตั้ง : 44 ถ.ราชวิถี (ใกล้กับสี่แยกบางพลัด) เขตบางพลัด กรุงเทพฯ
เปิด-ปิด : อ.-อา. 09.30-18.30 น. / หยุด จ.
ติดต่อ : 089-815-3082
Facebook : www.facebook.com/Kinjaicontemporary

Location:

[su_gmap width=”1600″ address=”44 ถนนราชวิถี บางพลัด”][/su_gmap]

[/su_tab] [/su_tabs]


Sponsored by De LAPIS Charan 81

เสน่ห์ของการอาศัยอยู่ในย่านบางพลัด โดยเฉพาะแถบถนนจรัญสนิทวงศ์นั้นก็คือการมีวิถีชีวิตที่ทันสมัยผสมผสานกับวิถีชีวิตชุมชนท้องถิ่นได้อย่างลงตัว หลังจากที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีนำเงินเสร็จเรียบร้อย การเชื่อมต่อย่านบางพลัดสู่ย่านสำคัญต่างๆ ในกรุงเทพฯ จะสะดวกง่ายดายและรวดเร็วขึ้น ทำให้วิถีชีวิตของกรุงเทพฯ สนุกได้หลากหลายรูปแบบขึ้นด้วย

เดอ ลาพีส จรัญ 81 (De LAPIS Charan 81) เป็นอีกหนึ่งโครงการคุณภาพของ GRAND UNITY ที่มีแนวความคิดออกแบบที่อยู่อาศัยให้เหมาะกับวิถีชีวิตคนยุคใหม่ที่ต้องการอยู่กับความสงบแบบชุมชนเก่าแต่ก็สามาร ถหลงใหลเสน่ห์วิถีเมืองทันสมัยไปพร้อมๆ กัน ตัวอาคารนั้นสูง 32 ชั้น ตั้งอยู่บนจุดที่เห็นวิวแม่น้ำเจ้าพระยาได้อย่างสวยงามในทุกช่วงเวลา แต่ละห้องยังถูกออกแบบพิเศษให้มีเพดานสูง รู้สึกโปร่ง โล่งสบาย ให้เรามีความสุขกับการพักผ่อนมากขึ้น นอกจากเสน่ห์ชุมชนที่มีสิ่งน่าสนใจกระจายตัวอยู่ในย่านนี้มากมายแล้ว จากจุดนี้เรายังสามารถเดินทางเชื่อมต่อสู่แหล่งสำคัญต่างๆ ของกรุงเทพฯ ได้อย่างสะดวกรวดเร็วในหลายทิศทางด้วย สิ่งต่างๆ เหล่านี้เองที่ทำให้บางพลัดกำลังกลายเป็นย่านชุมชนใหม่ที่น่าจับตา และจะกลายเป็นทำเลน่าอยู่ในอนาคตที่หลายคนอยากมาใช้ชีวิตกันที่นี่มากขึ้นด้วย ในราคาเริ่มต้นที่ 2.49 ล้านบาท* (สำหรับห้อง 1 Bedroom) กำหนดเปิดให้จองอย่างเป็นทางการในวันที่ 19 – 20 พฤษภาคมศกนี้ โดยสามารถลงทะเบียนเพื่อรับส่วดลดพิเศษสูงสุดถึง 250,000 บาท* ได้ที่ https://goo.gl/X26XLX


Photography by Sharp Jaruwat P

นักเดินทางที่เป็นทั้งนักเขียนและช่างภาพในตัว เขียนงานให้กับสื่อต่างๆ ในเมืองไทยมากมายตั้งแต่สารคดีหนักๆ, บทสัมภาษณ์, ไปจนถึงเรื่องดีไซน์และแฟชั่น แต่ผลงานที่โดดเด่นเห็นจะเป็นบทความด้าน Food & Travel ที่เขียนถึงทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่เขาหลงรักอย่างญี่ปุ่น

Magazine made for you.