สุขสีเขียวที่ใจกลางสุขุมวิท
ตึกสูงดีไซน์ทันสมัย กับบ้านหน้าตาไทยย้อนยุค ที่ขึ้นสับหว่างสลับความเก่าใหม่แบบแรนด้อม แซมด้วยหย่อมสีเขียวของต้นไม้น้อยใหญ่ เป็นภาพสุขุมวิทที่หลายคนคุ้นตา ช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา พื้นที่สีเขียวเกิดใหม่ค่อย ๆ เพิ่มจำนวนขึ้นในรูปแบบที่ต่างกันไปตามยุคสมัย ในขณะไม้ใหญ่ที่ยืนต้นให้ร่มเงามาตั้งแต่รุ่นปู่ย่า ก็ยังแผ่กิ่งก้านสาขาปกคลุมสร้างความรื่นรมย์ให้ผู้อยู่อาศัย
หากดูจาก Google Earth จะพบว่าสุขุมวิทยังมีพื้นที่สีเขียวซุกซ่อนอยู่อีกมาก หรือบางที่ก็เคยผ่านไปผ่านมาแล้ว แต่อาจไม่ได้สังเกตต้นไม้น้อยใหญ่ที่แอบอยู่ตามซอกซอยต่าง ๆ เหมือนเป็นเพื่อนข้างบ้านที่เคยเห็นหน้ามานาน แต่ไม่เคยเอ่ยปากถามชื่อเสียงเรียงนามกัน เราจึงอยากชวนทุกคนออกมานอกห้องปรับอากาศ ไปเลียบ ๆ เคียง ๆ ทำความรู้จักพื้นที่สีเขียวทั้งในและนอกสวนของสุขุมวิทกันอีกนิด ถ้ายังไม่รู้จะเริ่มต้นจากตรงไหนก่อน ก็ตามรอยกันมาได้เลย
ต้นไม้น่ารู้(จัก)ในสุขุมวิท
ด้วยความเชื่อที่ว่าต้นไม้แต่ละต้นล้วนมีเรื่องราว เพียงแต่เราอาจจะไม่ได้ใกล้ชิด เลยไม่ได้รู้ว่านอกจากชื่อของต้นไม้ว่านี่คือต้นอะไร ออกดอกเดือนไหน โตไวหรือเปล่า ลึก ๆ แล้วแต่ละต้นก็มีเรื่องเล่าน่ารู้ และยังน่ารักด้วย
“ต้นไทรย้อยใบแหลม” ซอยสุขุมวิท 30
เรื่องราวของความผูกพันระหว่างต้นไม้ใหญ่กับผู้คนที่อาศัยในซอยเดียวกัน
ต้นไทรย้อยใบแหลมเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดกรุงเทพมหานคร เป็นพืชที่ทนทานมีใบจำนวนมากและช่วยดูดสารพิษได้
ย้อนกลับไปเมื่อราว ๆ 3 ปีก่อน จู่ ๆ ต้นไทรย้อยที่เติบโตอยู่ในซอยสุขุมวิท 30 มาหลายสิบปี เกิดถูกคนล้อมตัดกิ่ง ริดใบ ด้วยจะมีการก่อสร้างบ้านขึ้นบริเวณแปลงที่ดินข้างหลังต้นไทรนั้น แน่นอนว่าโดยทั่วไปโอกาสความน่าจะอยู่รอดของต้นไทรต้นนี้แทบจะเป็นสูญ และคงจะน่าใจหายไม่ใช่น้อย
ถ้าต้นไทรต้นไม้เก่าแก่ของซอย…จะหายไป
คุณภิรักษ์ อนุรักษ์เยาวชน ช่างภาพสถาปัตยกรรม บอกเล่าเรื่องราวหลังจากนั้นว่า “คุณโอ๊ต-ชุติพงษ์ วิชัยดิษฐ สถาปนิกจาก WD Studio สถาปนิกที่มาออกแบบบ้านเล่าให้ผมฟังว่า วันที่ช่างเริ่มตัดแต่งกิ่งและลำต้น จัดการเอาเถาวัลย์ที่ระโยงระยางบางส่วนออก คนที่อยู่ท้ายซอยคิดว่าช่างจะมาล้มต้นไม้ ด้วยอารามตกใจปนเสียใจ ก็เลยวิ่งโร่ร้องห่มร้องไห้มาขอร้องว่าอย่าตัดเลยได้ไหม คุณโอ๊ตก็ตอบกลับไปสั้น ๆ ว่าไม่ได้ตัดนะ
เจ้าของบ้านเขาตั้งใจจะเก็บต้นไม้ใหญ่นี้ไว้ ซึ่งจริง ๆ สถาปนิกกับเจ้าของบ้านตกลงกันไว้ตั้งแต่แรกแล้ว ว่าจะรักษาต้นไทรใหญ่นี้ เพื่อคงร่มเงาให้กับผู้คนในซอยนี้ต่อไป”
โชคดีที่ทุกคนซอยต่างมีลมหายใจเดียวกัน ก็เลยทำให้ต้นไทรย้อยในวันนั้นยังอยู่จนถึงทุกวันนี้ พร้อม ๆ กับมีต้นไม้จำพวก vertical garden (การจัดสวนแนวตั้ง) แทรกอยู่ร่วมในซอกลำต้น อาทิ ต้นเดฟ, ต้นเฟิร์น, ต้นพลูด่าง, ฟิโลเดรนดรอน, ลิปสลิด เป็นต้น
ต้นไทรต้นนี้ทำให้รู้ว่า…นอกจากร่มเงา ต้นไม้ยังเป็นที่พึ่งทางใจและลมหายใจของคนซอยเดียวกันด้วย
“ต้นจามจุรี” เวิ้งโบราณ หรือเอกมัยช้อปปิ้งมอลล์ กลางซอยสุขุมวิท 63
เรื่องราวของต้นไม้ที่ให้ร่มเงา และสะสมความทรงจำของผู้คนในซอยเอกมัย
ต้นจามจุรี, ต้นฉำฉา, ต้นสำสา, ต้นก้ามปู เหล่านี้ล้วนเป็นชื่อต้นไม้ต้นเดียวกัน เป็นต้นไม้ที่ให้ร่มเงาได้อย่างดี และมีอายุยาวนานเป็นร้อยปี
สำหรับต้นจามจุรีที่เราจะแนะนำให้รู้จักเป็นต้นจามจุรีรุ่นเดอะของเอกมัย อยู่มาตั้งแต่ย่านเอกมัยยังเป็นทุ่งนาป่าไพร หรือราวๆ สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ผ่านร้อนฝนหนาวมาหลายยุคสมัย (ดูจากขนาดลำต้น และร่มเงาที่แผ่กว้างคลุมตึก 3 ชั้นของเวิ้งโบราณได้สบาย ๆ) ไม่ว่าเวิ้งปากซอยเอกมัย 10 จะมีร้านค้าหรือออฟฟิศสลับสับเปลี่ยนมาประจำพื้นที่ไม่รู้กี่รุ่นต่อกี่รุ่นแล้ว
เราชวนคุณศิวะภาค เจียรวนาลี บรรณาธิการบริหารนิตยสาร a day มาย้อนรำลึกถึงความทรงจำเกี่ยวกับต้นจามจุรีที่เขาสะสมมากว่า 6 ปี
“ตั้งแต่เข้ามาอยู่ที่ออฟฟิศอะเดย์เก่า ก็เห็นต้นจามจุรี หรือต้นก้ามปูต้นนี้อยู่ตรงนี้มานานแล้ว เป็นต้นไม้ที่เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อมตรงนั้นไปเลย จนเรารู้สึกว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาที่จะเห็นมันทุกวัน แม้ว่าผมจะอยู่ชั้น 3 แต่ผมก็ไม่ได้รู้สึกว่าผมอยู่สูงกว่าคนที่มองเห็นต้นจามจุรีจากข้างล่างเลย เพราะพอเงยหน้าขึ้นไปก็ยังเห็นว่าต้นไม้ต้นนี้มันยังสูงอยู่ดี ข้อได้เปรียบคือเราได้เห็นกระรอก เห็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่กับต้นไม้”
“หลังจากที่ไม่ได้อยู่ตรงเวิ้งโบราณแล้วก็มาพบความจริงว่า คงไม่มีบรรยากาศการประชุมใต้ต้นไม้ให้เห็นอีกแล้ว แต่ก่อนหน้าห้องทำงานของอะเดย์จะมีโต๊ะเล็ก ๆ อยู่หลายตัว ก็เป็นพื้นที่ที่เอาไว้ใช้สำหรับนั่งประชุมกัน เกือบทุกครั้งเป็นการประชุมใต้ต้นไม้ หรือการประชุมกลางแจ้งที่ทำต่อเนื่องมาหลายปี พอออฟฟิศย้ายออกห้องประชุมใหม่กลายเป็นห้องประชุมติดแอร์ เราก็ไม่ค่อยคุ้นว่า เอ๊ะ… ก่อนนี้เราเคยคุยกันใต้ต้นไม้นี่นา ผมรู้สึกว่าสิ่งที่ให้เราไม่ใช้แค่ความร่มรื่น แต่ทำให้เราทำงานได้มีความสุขขึ้น โดยที่ไม่ได้โรแมนติกอะไรเลยนะ”
และหลายๆ คนอาจจะลืมไปหรือไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้วตรงเวิ้งโบราณนี้มีต้นจามจุรีใหญ่อีกต้นที่แอบอยู่ในช่องตึกด้วย
“ถึงจะมี 2 ต้นใกล้ ๆ กัน แต่ผมรู้สึกว่ามันเหมือนเป็นต้นเดียวกันนะ” คุณศิวะภาคกล่าวปิดท้ายถึงต้นจามจุรีนี้แบบ Happy Treegether
“ต้นมะม่วง” ชุมชนสุเหร่าบ้านดอน ท้ายซอยสุขุมวิท 55
เรื่องของต้นมะม่วงอายุ 50 กว่าปีที่มีม่านบาหลีคลุมทั่วทั้งต้น
ต้นมะม่วงไม้ยืนต้นที่คนสมัยก่อนนิยมปลูกกันไว้ในบริเวณบ้าน นอกจากจะได้ร่มเงาแล้ว ยังมีผลให้ได้เก็บกินด้วย
เกือบสุดชายแดนของย่านสุขุมวิท (เพราะถัดไปอีกไม่กี่ก้าวจะเป็นถนนเพชรบุรีตัดใหม่แล้ว) มีต้นไม้ต้นหนึ่งที่เราเผอิญเจอในเพจปั่นเมืองแล้วอยากมาเห็นต้นไม้ต้นนั้นด้วยตาตัวเองให้ได้ ด้วยข้อความที่เป็นลายแทงสั้น ๆ ว่า
“ถัดจากสุเหร่าบ้านดอน มุ่งหน้าไปทางถนนเอกมัย
เป็นทางกว้างปั่นสบาย ๆ เลย
แถวนี้เป็นชุมชนมุสลิม
ชาวบ้านริมคลองดูแลหน้าบ้านกันอย่างดี
บางร้านเป็นร้านขายอาหาร ขายน้ำ
บางบ้านก็ปลูกต้นไม้ประดับสวย ๆ ให้คนผ่านไปมาได้ชื่นชม”
จากท้ายซอยทองหล่อ เดินย้อนไปตามทางเดินเล็ก ๆ เลียบคลองแสนแสบไปไม่ไกล ต้นไม้ในภาพ กับต้นไม้ที่เราเจอด้วยตาตัวเองยังเป็นต้นเดียวกัน ที่มีรากอากาศของม่านบาหลีห้อยลงมาเป็นม่านหนาสีน้ำตาล ยาวเกือบถึงพื้น
“ต้นมะม่วงนี้เป็นะม่วงอกร่องปลูกมา 50-60 ปีแล้ว เมื่อก่อนก็ได้กินลูกเยอะเลย แต่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยได้ทานละ เรานั่งเรือในคลองแสนแสบแล้วไปเห็นม่านบาหลีตรงวังสระปทุม ตรงก่อนจะถึงสะพานหัวช้าง สวยมาก รากอากาศของม่านบาหลีปลิวยาวลงชายคลอง ก็เลยเอามาปลูกให้เลื้อยขึ้นไปบนต้นมะม่วง ตอนแรกก็ไม่คิดว่าเลื้อยขึ้นไปขนาดนี้ วันสองวันก็ต้องคอยตัดไม่อย่างนั้นรากจะยาวลงมาถึงดินเลย” มะ จากบ้านสุมิตราเล่าให้เราฟัง ระหว่างพูดคุยด้วยความสนอกสนใจอยู่นั้น มะถามเรากลับมาว่าอยากเอาไปปลูกที่บ้านมั้ย จะแบ่งให้…
เดินเข้าสวน…ใจกลางสุขุมวิท
ออกสำรวจ 2 สวนต่างวัยที่น่าสนใจในสุขุมวิท
สวนครูองุ่น สวนศิลปะ และพื้นที่ธรรมชาติสำหรับเด็ก ๆ
ใครที่ผ่านไปผ่านมาในซอยทองหล่อ(ซอยสุขุมวิท 55)บ่อยๆ คงพอจะทราบแล้วว่าพื้นที่สีเขียวที่อยู่ติดกับสถาบันปรีดี พนมยงค์ (ติดกับซอยทองหล่อ 3) จากเดิมที่เคยเป็นบ้านที่อยู่อาศัยของครูองุ่น มาลิก หลังจากที่ครูองุ่นเสียชีวิตลง ปี 2558 พื้นที่สีเขียวนี้ก็กลายเป็นพื้นที่สวนผักกลางเมือง (Root Garden) และปัจจุบันนี้ได้กลายเป็น “สวนครูองุ่น” สวนสาธารณะสำหรับชุมชน และพื้นที่เรียนรู้ศิลปะสำหรับเด็ก เพื่อสืบทอดเจตนาของครูองุ่นที่อยากให้หน้าบ้านของท่าน เป็นพื้นที่ที่เด็กมาวิ่งเล่นได้ เปิดให้บริการทุกวัน จันทร์-ศุกร์ 9.00-18.00 น. เสาร์-อาทิตย์ 10.00-18.00 น. ดูแลโดยมูลนิธิกระจกเงาและมูลนิธิไชยวนา
ภายในมีทั้งลานกิจกรรม ห้องเรียนกลางแจ้งหรือสนามเด็กเล่น ร้านอาหารและเครื่องดื่ม ร้านแชร์ริตี้ที่รับบริจาคของสภาพดีเพื่อส่งต่อให้ผู้ขาดแคลน รวมถึงมีบ้านของครูองุ่น ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินแปลงนี้ เป็นบ้านไม้หลังเล็ก ๆ สีเขียวแอบอยู่ข้างใน ซึ่งในอนาคตทางเจ้าหน้าที่สวนครูองุ่นจะเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อเชิดชูครูองุ่น
แม้ว่าที่นี่มีเจ้าหน้าที่ดูแลประจำทั้งหมด 3 คน แต่ในแต่ละวันก็มีคนที่เดินเข้ามาอาสาช่วยคิด และช่วยทำ มีคนที่มีความรู้เรื่องการจัดสวนแนะนำเรื่องการปลูกต้นไม้ให้เหมาะกับลักษณะพื้นที่ มีอาสาสมัครมาช่วยทำเครื่องเล่นสำหรับเด็ก มีคนบริจาคไม้ และมีแม้กระทั่งคนมาช่วยรดน้ำต้นไม้ในสวน คุณสิริพร สุขชูศรี เจ้าหน้าที่สวนครูองุ่น หนึ่งในสามสาวที่เป็นเรี่ยวแรงหลักในการดูแลสวนครูองุ่นเล่าให้เราฟังว่า…
“เมื่อก่อนที่นี่มีต้นไม้เยอะมาก มีต้นมะขามปลูกเรียงกันเป็นกำแพงมะขามร่มรื่นมาก ๆ ซึ่งครูองุ่นเป็นคนปลูกเอาไว้ เราก็พยายามรักษาต้นไม้ใหญ่ที่เหลืออยู่ แล้วก็ปลูกเพิ่ม อย่างต้นมะขามที่เอนอยู่ตรงบ่อทราย จริง ๆ เป็นต้นที่โดนตัดแล้วจะตาย แต่สุดท้ายรอดด้วยลักษณะต้นไม้ที่เอนเราก็เลยทำเป็นบ่อทรายให้เขาปีนเล่น เด็ก ๆ ที่อายุยังไม่ถึง 5 ขวบจะได้พัฒนากล้ามเนื้อมัดไปในตัวด้วย”
“ตลอดเดือนกว่า ๆ ที่ผ่านมา สิ่งที่ช่วงหลัง ๆ เรามองเห็นทุกวันคือ พ่อแม่หรือพี่เลี้ยงที่พาเด็ก ๆ มาเขาจะถามน้องว่าจะไปสวนหรือจะไปสนามเด็กเล่นในห้างสรรพสินค้า เด็ก ๆ ก็เริ่มจะตอบว่าอยากไปสวน
คนที่มาส่วนใหญ่ก็จะเป็นเด็กต่างชาติ หรือเด็กที่เรียนโรงเรียนอินเตอร์ แต่เราก็ไปประชาสัมพันธ์ให้เด็ก ๆ ที่อยู่ท้ายซอยทองหล่อ ไปแจกหนังสือนิทาน ไปชวนเขามาใช้พื้นที่ตรงนี้ด้วย ให้เขารู้สึกว่าที่นี่เป็นสวนของทุกคนจริง ๆ”
และก็จริงๆ ระหว่างที่นั่งดูนกลงมาเดินเล่นที่พื้นสนาม กระรอกที่ค่อย ๆ ไต่ลงจากต้นไม้ใหญ่ เราเห็นสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าเด็ก ๆ เดินเข้ามาและออกไปด้วยรอยยิ้มแทบทุกคน นอกจากนี้ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ต้นเดือนที่สวนครูองุ่นทีมงาน Root Garden จะมาเปิดตลาด Root Market แปลงสวนให้เป็นตลาดสีเขียว ที่มีหลายร้านค้าและกิจกรรมแบบกรีน ๆ ให้ได้อิ่มอร่อยและเพลิดเพลินตั้งแต่เช้าถึงเย็น
*หมายเหตุ : ครูองุ่น มาลิก เป็นทั้งอาจารย์ นักเขียน นักแปล และผู้ที่ทำกิจกรรมเพื่อสังคมมาตลอดชีวิต อีกทั้งเป็นผู้ที่ประดิษฐ์หุ่นมือจากเศษผ้า วัสดุเหลือใช้ ตระเวนแสดงคณะหุ่นเชิดมือทั้งในเมืองและชนบท และครูองุ่นก็ยังเป็นต้นแบบของรายการเจ้าขุนทองอีกด้วย
สวนเบญจสิริ สวนเล็กพริกขี้หนูในเมืองใหญ่
แม้ว่าสวนเบญจสิริ หรืออุทยานเบญจสิริ จะเป็นสวนที่มีขนาดไม่ใหญ่นัก เมื่อเทียบกับสวนสาธารณะอื่น ๆ ในกรุงเทพฯ แต่การที่มีพื้นที่สีเขียวเล็ก ๆ ขนาด 29 ไร่ อยู่ในใจกลางย่านธุรกิจ ก็ใหญ่มากพอที่จะทำให้ชาวสุขุมวิทยินดีออกจากตึกลงมาพบกับธรรมชาติที่ขนาดใหญ่กว่าพื้นที่ทำงาน หรือที่พักอาศัยบ้าง
สวนเบญจสิริเป็นสวนที่มีการออกแบบสำรวจความต้องการของผู้ใช้ที่อาศัยอยู่ละแวกนี้ก่อน เพื่อให้ที่นี่เป็นสวนในจินตนาการของประชาชน โดยยคอนเซ็ปต์ในการก่อสร้างสวนแห่งนี้ คือ “สวนประติมากรรม” จะเน้นพื้นที่โล่งถึง 70% เพื่อให้คนที่มาใช้บริการในสวนได้มองเห็นท้องฟ้าด้วย จากที่อาจจะเคยอยู่ในตึกสูง อยู่ในห้องสี่เหลี่ยมแคบ ๆ มาตลอดทั้งวัน และภายในมีงานประติมากรรมของศิลปินระดับชาติรวม 18 ชิ้นด้วยกัน
ภายในมีพื้นที่ทำสำหรับออกกำลังกายต่าง ๆ อาทิ สระว่ายน้ำ, สนามตะกร้อ สนามบาสเก็ตบอล สนามวอลเลย์บอล ลานสเก็ตบอร์ด หรือจะมาวิ่งออกกำลังกายในสวนนี้ก็ได้เช่นกัน มีระยะทางต่อ 1 รอบประมาณ 700 เมตร นอกจากนี้ยังมีสนามเด็กเล่นให้เด็ก ๆ ได้ปีนป่ายออกกำลังกาย เวลามีเทศกาลต่าง ๆ สวนแห่งนี้ก็เปิดให้บริการเป็นพิเศษ อย่างเช่น วันลอยกระทง, วันสงกรานต์, เทศกาลดนตรีอาเซียน ฯลฯ
ปีนี้สวนเบญจสิริอายุครบ 25 ปีแล้ว แม้บรรดาต้นภายในสวนจะยังไม่ใหญ่โตหรือมีอายุเก่าแก่มากนัก แต่ก็ร่มรื่นเพียงพอที่จะเป็นร่มเงาให้ผู้คนหลบเข้ามาพักผ่อนได้อย่างสบายใจ หนึ่งในต้นไม้สำคัญของสวนเบญจสิริ คือ ต้นประดู่แดง ซึ่งอยู่ด้านหน้า เป็นต้นที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช หรือ ร.9 ทรงปลูกเนื่องในวโรกาสเสด็จพระราชดำเนินพิธีเปิดสวนเบญจสิริ เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2535 สำหรับคนที่สนใจเรื่องต้นไม้ต่าง ๆ หรืออยากทำความรู้จักให้มากขึ้น ที่นี่ก็เป็นเสมือนห้องสมุดทางธรรมชาติเล็ก ๆ ที่เราจะเห็นทั้งภาพต้นไม้จริง ๆ และมีข้อมูลเบื้องต้นซึ่งติดอยู่ที่ต้น ถ้าอยากรู้เพิ่มก็เอาชื่อไปเสิร์ชถามกูเกิ้ลต่อได้ อาทิ ต้นชงโค, ต้นหมากเขียว, ต้นตีนเป็ดหรือพญาสัตบรรณ, ต้นขี้เหล็กบ้าน, ต้นราชพฤกษ์, ต้นศรีตรังหรือแคฝอย, ต้นแคฝรั่ง, ต้นตะแบก, ต้นไทรย้อยใบแหลม เป็นต้น และในสวนนี้ยังมีต้นมะม่วง ต้นไม้กินได้ที่สมัยก่อนแต่ละบ้านจะนิยมปลูกกัน ต่างกับปัจจุบันที่นิยมปลูกต้นไม้ประดับ หรือต้นไม้ที่ให้ร่มเงามากกว่า
เข้าสวนเบญจสิริครั้งหน้า ลองนับดูว่าคุณรู้จักต้นไม้ที่อยู่ในนี้กี่ต้น
พื้นที่สีเขียวนอกสวน
มุดอุโมงค์ต้นไม้ของชาวสุขุมวิท
พื้นที่สีเขียวแห่งสุดท้ายที่เราจะพาคุณเดินไปทำความรู้จักให้มากขึ้น ก็คือ ซอยสุขุมวิท 26 ที่อยู่ถัดจากห้าง เอ็มโพเรียมไปเพียง 2 ซอย ซอยที่เป็นที่ตั้งของร้านก๋วยเตี๋ยวชื่อดัง, โรงแรมน้อยใหญ่, คอมมูนิตี้ มอลล์ที่ต้อนรับสัตว์เลี้ยง, ร้านคาเฟ่เล็ก ๆ แสนอบอุ่น, ร้านตัดผมญี่ปุ่น ฯลฯ
ด้วยความเขียวร่มรื่นของต้นประดู่บ้าน ที่ช่วยกันให้ร่มเงาอย่างพร้อมเพรียงตั้งแต่ปากซอยจนถึงท้ายซอย ทำให้ใครต่อใครต่างก็เรียกซอย 26 นี้ว่าเป็นอุโมงค์ต้นไม้ของสุขุมวิท สมัยก่อนที่ในซอยนี้ยังไม่มีต้นประดู่ให้ความร่มรื่นบนสองข้างทางฟุตบาท ก็ได้เพียงร่มเงาจากบ้านของคนที่อยู่อาศัยเป็นหย่อม ๆ จนเมื่อประมาณ 20-30 ปีที่ผ่านมาทางเจ้าหน้าที่ของกทม. ได้นำต้นประดู่มาปลูกทั่วสองฝั่งถนน
“ตอนนั้นผมก็ยังนึกอยู่ว่าเขากล้าหาญปลูกต้นประดู่ไปในพื้นที่ฟุตบาทแค่เมตรเดียวได้ซอยสุขุมวิท 26 เป็นซอยในสุขุมวิทเพียงไม่กี่ซอยที่ไม่มีชุมชนแออัด แล้วก็ไม่มีห้องแถว มีบ้านอยู่อาศัยเป็นส่วนใหญ่ มาระยะหลังนี้ สัก 10-20 ปีก็เริ่มมีโรงแรมเกิดขึ้น เท่าที่ดูคนส่วนใหญ่ในซอยนี้ก็อยู่ที่นี่กันมา 30-50 ปี เหมือนเป็นครอบครัวใหญ่ ที่รักซอยนี้และช่วยกันคนละไม้คนละมือ”
“ต้นประดู่เป็นไม้โตเร็ว ใบหนา แต่ในขณะเดียวกันในฤดูใบไม้ร่วงก็จะร่วงเกือบทั้งต้น ต้องมีเจ้าหน้าที่มาคอยกวาดอยู่ตลอดเวลา ผมได้ยินว่ามีคนพูดถึงว่าซอยนี้เป็นซอยที่สวยซอยหนึ่ง ด้วยเป็นซอยที่ไม่กว้างมาก เวลาที่ต้นไม้โตก็จะคลุมเกือบทั้งซอย อันนึงที่ดีมากคือ ให้ความร่มรื่นไม่ร้อน คนที่เดินเข้ามาก็จะรู้สึกว่าร่มตลอดดี ธรรมดาถ้าไม่มีต้นไม้ก็ร้อนเอาเรื่องอยู่เหมือนกัน แล้วก็มีคนชอบมาถ่ายรูปในซอยนี้ ช่วงที่ต้นประดู่ดอกออก ทั้งซอยก็จะมีดอกสีเหลืองเต็มต้น แล้วก็ร่วงลงพื้น ดูสวยดี แต่ดอกเขาจะอยู่แค่สัปดาห์เดียวก็ร่วง ไม่เหมือนต้นตาเบบูย่า ต้นหางนกยูง ต้นชัยพฤกษ์ หรือต้นราชพฤกษ์ ที่อยู่ได้เกือบเดือน”
คุณนิธิ สถาปิตานนท์ สถาปนิก, ศิลปินแห่งชาติ และผู้ก่อตั้งบริษัท A49 จำกัด ผู้ที่คุ้นเคยกับซอยนี้เป็นอย่างดี กว่า 50 ปีที่ได้เห็นความเปลี่ยนแปลง และการเติบใหญ่ของต้นประดู่ในซอยสุขุมวิท 26 ประกอบกับบริษัท A49 จำกัดที่เขาดูแลอยู่ก็ตั้งอยู่บริเวณท้าย ๆ ซอยสุขุมวิท 26 มากว่า 30 ปีแล้วด้วย แม้ว่าแม้บริษัทจะมีพื้นที่ไม่มากนัก แต่บริเวณด้านหน้าของออฟฟิศก็ยังมีสีเขียวแทรกอยู่ร่วมกับอาคารอย่างกลมกลืน ทั้งต้นการเวก ต้นตีนเป็ด เป็นต้น
จริง ๆ แล้วนอกจากต้นประดู่ที่โดดเด่นทั้งซอยสุขุมวิท 26 ยังมีต้นจามจุรีขนาดใหญ่ให้ร่มเงาอยู่บริเวณหน้าโรงแรมโฟร์วิงส์ด้วย
เอาล่ะ…ถึงตาคุณออกสำรวจพื้นที่สีเขียวในสุขุมวิทบ้างแล้ว
Sponsored by Park 24
ทุกวันนี้เราต่างก็ต้องการพื้นที่ส่วนตัวสีเขียวให้กับชีวิตมากยิ่งขึ้น จะดีแค่ไหนถ้าเราสามารถใช้ชีวิตคนเมืองได้อย่างเต็มที่ และได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติไปพร้อม ๆ กันด้วย ย่านสุขุมวิทเป็นย่านที่ตอบโจทย์ทุกความสะดวกสบาย และยังมีพื้นที่สีเขียวรอบ ๆ ตัวเราซ่อนอยู่มากมาย
Park 24(พาร์ค 24) คอนโดมิเนียมกลางสวนใหญ่ใจกลางสุขุมวิท 24 ผสมผสานอย่างลงตัวระหว่างธรรมชาติและชีวิตคนเมือง ตั้งใจสร้างสรรค์พื้นที่ส่วนกลางด้วยคอนเซ็ปต์ Urban Forest ออกแบบอาคารให้มีพื้นที่เปิดโล่ง สร้างเป็นสวนขนาดใหญ่มีที่ขนาดถึง 10 ไร่ ให้ผู้ที่พักอาศัยได้ใกล้ชิดธรรมชาติมากที่สุด ในแต่ละชั้นจะมียูนิตจำนวนเพียง 12 ยูนิต เพื่อมอบความเป็นส่วนตัว(ยิ่งขึ้น)ให้กับคุณ พร้อมมีสระว่ายน้ำลอยฟ้าบรรยากาศสุดพิเศษให้คุณได้เพลิดเพลินและผ่อนคลาย และยังแวดล้อมไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกในการเดินทาง ร้านอาหารอร่อยระดับ 5 ดาว รวมถึงแหล่งช้อปปิ้งไลฟ์สไตล์ระดับโลก ที่นี่…จะทำให้คุณลืมความวุ่นวายที่อยู่ห่างจากคุณเพียงไม่กี่ก้าว
‘‘Park 24’’ คอนโด Hi Rise พร้อมอยู่ มาพร้อมสวนสีเขียวกว่า 10 ไร่ ใจกลางสุขุมวิท 24
เพียง 500 เมตร จาก EMDISTRICT โดยตั้งอยู่บนพื้นที่ 12 ไร่ แบ่งเป็น 6 อาคาร แบ่งเป็น เฟส 1 : 3 อาคาร (1, 2 และ3) และ เฟส 2 : 3 อาคาร (4,5 และ 6) พร้อม Hi light Facility เทควิวขอบฟ้า กับCloud Pool สระว่ายน้ำ 40 เมตร บนชั้น 50 และ Boxing GYM ที่ Active Floor ฟิตเนสกว่า 800 ตร.ม. สะดวกด้วยแหล่งชอปปิ้งและร้านอาหารชั้นนำ เข้าออกได้ทั้งสุขุมวิท 22 และ 24
พร้อมเข้าชมวิวจริง ทำเลจริง แล้ววันนี้ที่ Park 24
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ โทร. 02-258-3333 หรือ www.park24.co.th
Facebook: park24condo
Youtube: park24condo | youtube.com/watch?v=281Am4VuGLE