12 สิ่งที่เรียนรู้จาก 1 ปีในเดนมาร์ก

ผมอาศัยอยู่ในโคเปนเฮเกนมาได้ 1 ปี และช่วงนี้กำลังอยู่ระหว่างโยกย้ายถิ่นฐานอีกครั้ง จึงอยากจะใช้เวลานี้ มองย้อนไปว่า ประสบการณ์ที่ได้อยู่เดนมาร์กมานั้น ได้สอนให้ผมเรียนรู้อะไรบ้าง เลยอยากจะแบ่งปันให้คุณผู้อ่านไปพร้อมๆ กันด้วยครับ

ก่อนอื่น เกริ่นสักนิดนึงว่า เดนมาร์ก นั้นอยู่ในทวีปยุโรป เป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย (Scandinavia) ที่ประกอบไปด้วยประเทศหลักๆ ได้แก่ เดนมาร์ก, สวีเดน, นอร์เวย์ และฟินแลนด์ ส่วนถ้ารวมไอซ์แลนด์เข้ามาด้วย ก็จะเป็นนอร์ดิก (Nordic)

12 ข้อต่อไปนี้คือสิ่งที่ได้เรียนรู้มาตลอด 1 ปีของผม

เดนมาร์ก

ถนน Strøget เป็นถนนชอปปิ้งหลักของโคเปนเฮเกน

1. เดนมาร์กเป็นรัฐสวัสดิการที่มีการเก็บภาษีสูงมาก

อย่างอัตราภาษี VAT บ้านเราอยู่ที่ 7% (10% แต่ประกาศลดเป็น 7% มาหลายปีแล้ว) แต่ที่เดนมาร์กนั้นเก็บที่ 25% ย้ำอีกครั้ง 25%!!! หรือ 1 ใน 4 ของราคาสินค้าที่ต้องบวกเข้าไปอีก ทั้งนี้มียกเว้นค่าใช้บริการขนส่งมวลชน, บริการสาธารณสุข, สื่อหนังสือพิมพ์, ค่าเช่าที่ และบริการท่องเที่ยวกับเอเจนซี่ทัวร์ เป็นต้น และยังมีภาษียิบย่อยอีกหลายรายการ รวมๆ กันแล้วหากมีรายได้สูง ก็อาจจะต้องเสียภาษีถึง 59% ของเงินเดือนเลยทีเดียว

ที่น่าสนใจ คำว่า ภาษี ภาษาเดนิชเรียกว่า Skat ซึ่งคำเดียวกันนี้ก็สามารถแปลได้ว่า “ที่รัก” ในประโยคประมาณว่า “เมื่อคืนกลับดึก ไปไหนมาจ้ะ ที่รัก” และแปลว่า “ขุมทรัพย์” อย่างของพวกโจรสลัดได้อีกด้วย ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าคนเดนิชเค้ามองคนรักเป็นสิ่งมีค่า (my precious) หรือเป็นภาระภาษีที่ต้องแบกรับ แบกรักกันไปกันแน่นะ

จากข้อมูลของกระทรวงภาษี (http://www.skat.dk/getFile.aspx?Id=121617) ก็พบว่าภาษีนั้นประกอบไปด้วย

1. ภาษีทางตรง ได้แก่ ภาษีที่หักออกจากรายได้โดยตรง ซึ่งประกอบไปด้วย
– Health contributions หรือส่วนที่บำรุงระบบสาธารณสุข อยู่ที่ 5% ของรายได้ที่เกินจากค่าใช้จ่ายส่วนตัว (ปี 2014 อยู่ที่ 42,800 DKK ต่อปี หรือราว 19,300 บาทต่อเดือน) โดยส่วนนี้จะค่อยๆ ลดลงจนปี 2019 และหลังจากนั้นก็จะไม่เก็บส่วนนี้แล้ว

– State tax หรือภาษีรัฐ แบ่งเป็นสองช่วง คือขั้นต่ำและขั้นสูง โดยถ้ามีรายได้เกิน 488,152 DKK ต่อปี (220,000 บาทต่อเดือนโดยประมาณ) ก่อนหักค่าลดหย่อน ก็จะเสียขั้นสูงไป อันนี้รัฐสภาเป็นคนกำหนด

– Municipal tax หรือภาษีท้องที่ จะคำนวณตามเปอร์เซนต์ของรายได้ และแตกต่างกันไปตามท้องที่

– Labour market contributions หรือส่วนบำรุงตลาดแรงงาน คิดเป็น 8% ของรายได้ โดยนายจ้างหักจากเงินเดือนส่งให้รัฐ เพื่อไปใช้จ่ายเมื่อตกงาน, ป่วยหรือลาคลอด (ทั้งแม่และพ่อ), เทรนนิ่ง, ลางาน เป็นต้น

– Church tax หรือภาษีโบสถ์ ประมาณกันว่า 79% ของคนเดนิชเป็นคริสต์นิกาย Evangelical Lutheran และจ่ายภาษีส่วนนี้ เพื่อทำนุบำรุงโบสถ์ในท้องที่นั้นๆ ส่วนถ้าเป็นคนของศาสนาอื่น หากมีทำบุญ ก็สามารถมาหักภาษีได้

– Property value tax หรือภาษีอสังหา เก็บหมดทั้งอสังหาในเดนมาร์กของคนที่อาศัยในเดนมาร์ก, อสังหาในต่างประเทศของคนในเดนมาร์ก และอสังหาในเดนมาร์กของคนในต่างประเทศ

– Land tax หรือภาษีที่ดิน หากมีที่ดิน ก็ต้องจ่ายภาษีต่อท้องที่ด้วย

ทั้งนี้ ยังมีรายการหักลดหย่อนอยู่บ้าง เช่น ค่าเดินทางไปทำงานที่เกิน 24 ก.ม. ก็สามารถเอามาหักได้ตามกิโลเมตรที่เดินทางจริงดอกเบี้ยเงินกู้, ค่าเลี้ยงดูบุตรที่ไม่ได้อยู่ด้วยกัน, ค่าสมาชิกสหภาพ เป็นต้น

เห็นเก็บภาษีทางตรงยิบย่อยขนาดนี้ แต่กลับคิดเป็นเพียง 34% ของรายได้ของรัฐที่เรียกเก็บจากภาษีนะครับ เพราะยังมีอีก 66% ที่เก็บจากภาษีทางอ้อมอีก

2. ภาษีทางอ้อม อันได้แก่
– VAT อย่างที่บอก 25% โหดมากกกก

– Green tax หรือภาษีสิ่งแวดล้อม เก็บเมื่อเราได้อุปโภคทรัพยากรธรรมชาติ น้ำมัน, ไฟฟ้า, น้ำประปา, ขยะมูลฝอย เก็บหมดครับ

– Excise duties หรือภาษีสรรพสามิต ที่เก็บเมื่อนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ, เครื่องดื่มมึนเมา, แบตเตอรี่, ชอกโกแลต, ของหวาน (กลัวประชากรอ้วน) และภาษีจดทะเบียนยานพาหนะ

– Customs duties หรือภาษีศุลกากร หากเดินทางออกไปนอกประเทศในกลุ่มอียูและซื้อสินค้าแล้วเดินทางเข้ามาในเดนมาร์ก ก็เสียภาษีอีก

สมดังคำกล่าวที่ว่า ในโลกนี้มีสองสิ่งที่คนเราไม่สามารถหลีกหนีไปได้ คือ “ความตายและภาษี” นั่นเอง ผมว่าอยู่ในเดนมาร์ก อาจจะกลายเป็นว่า โดนเก็บภาษีจนตาย (tax to death) ก็เป็นได้ครับ

เดนมาร์ก
เดนมาร์กเป็นจุดเริ่มต้นของ Nordic Movement ที่เป็นเทรนด์อาหารแนวใหม่ โดยโด่งดังขึ้นมาจากภัตตาคาร Noma ที่ได้รับการจัดอันดับเป็นภัตตาคารที่ดีที่สุดของโลก โดยนิตยสาร Restaurant ถึง 4 ครั้งด้วยกัน (ส่วนภาพนี้ถ่ายจาก Relæ ภัตตาคารแนวนอร์ดิกที่เพิ่งได้รับดาวจาก Guide Michelin ในปีนี้)

2. เพราะข้อ 1 นี่เอง ทำให้เราประจักษ์ได้ว่า ค่าครองชีพในเดนมาร์กนั้นสูงมากอีกเช่นกัน

เพราะไม่ว่าเราจะหันไปทางไหน ก็จะเจอกับภาษีๆๆๆ ภาษีเอฟรี่แวร์ ทำให้ราคาสินค้าและบริการนั้นสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ แต่ถ้าเลือกซื้อดีๆ ราคาสินค้าอาจจะไม่แพงมาก เช่น ซื้อจากร้านสะดวกซื้อขนาดใหญ่ ที่มักจะมีโปรโมชั่นสำหรับสินค้าทุกๆ อาทิตย์

ไฮเปอร์มาร์เก็ตที่สินค้าราคาถูกก็ได้แก่ Lidl (ลิเดิ้ล), Aldi (สองเจ้านี้มาจากเยอรมนี), Netto, Føtex (เฟอเท็กซ์), Rema 1000, Kvikly, Bilka, Spar, Fakta, Irma โดย Fakta, Irma จะมีให้เลือกหลากหลายและราคาโดยมากสูงกว่า Lidl, Aldi, Netto

แต่หากซื้อสินค้าตาม 7-Eleven ก็จะพบว่าราคาค่อนข้างสูง น้ำเปล่าครึ่งลิตรขวดละ 100 กว่าบาท แซนวิชอีก 2-300 บาท

ส่วนค่าเช่าอพาร์ตเมนต์นั้น ก็ขึ้นอยู่กับทำเล แต่โดยเฉลี่ยๆ ตกเดือนๆ หนึ่งอยู่ที่ราว 2 ถึง 4 หมื่นบาทสำหรับห้องขนาด 30-60 ตร.ม. ยิ่งใหม่ ยิ่งอยู่ใกล้ตัวเมืองก็ยิ่งจ่ายแพง

ส่วนค่าเดินทางในระหว่างวัน ก็บวกเข้าไปอีกอย่างต่ำ 3-400 กว่าบาท แต่ถ้าขี่จักรยานก็ไม่เสียอะไร

เดนมาร์ก
ในแต่ละปี รัฐบาลนำเงินภาษีมาช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมด้านศิลปะและวัฒนธรรมจำนวนมาก ภาพนี้เป็นบรรยากาศร่มรื่นภายในพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยระดับโลก Louisiana

3. แต่เงินภาษีต่างๆ ที่เสียไปนั้น กลับมาในรูปแบบของสวัสดิการที่มีคุณภาพ

เพราะจากข้อมูลของกรมสรรพากรระบุว่า เงินภาษีนั้นถูกนำไปใช้สนับสนุนค่าใช้จ่ายสำหรับโรงพยาบาล, บริการสาธารณสุข, การศึกษา, สำนักงานตำรวจ, กองทัพ, ระบบขนส่งมวลชน และการทำนุบำรุงสาธารณูปโภคต่างๆ นอกจากนี้ ภาษียังเอาไปใช้เป็นเงินกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (เรียกเงิน SU คล้ายๆ กยศ. บ้านเรา), กองทุนสังคมสงเคราะห์ และกองทุนบำนาญอีกด้วย

ทำให้คนเดนิชสามารถได้รับการศึกษา, บริการการแพทย์โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ (เฉพาะในส่วนค่ารักษา ส่วนค่ายาก็จ่ายตามปกติ ซึ่งไม่ได้แพงมาก)

แต่ด้วยความเอื้อเฟื้อของรัฐสวัสดิการ จึงเกิดปัญหาว่ามีผู้ใช้บริการสาธารณสุขเกินความจำเป็น เจ็บป่วยอะไรนิดอะไรหน่อย บางครั้งก็ไปหาหมอแล้ว ทำให้บางครั้ง ผู้ป่วยจริงๆ ต้องรอคิวกันนานหน่อย นอกจากนี้ หากไม่ได้เจ็บป่วยฉุกเฉิน จะต้องทำการนัดหมอประจำตัว (ซึ่งระบุตอนที่ลงทะเบียนสำมะโนครัว) เพื่อทำการตรวจคัดกรองก่อน หากเป็นโรคทั่วไป ก็จะได้รับใบสั่งยาให้ไปซื้อที่ร้านขายยาได้เลย ส่วนถ้าต้องตรวจหรือรักษากับแพทย์เฉพาะทาง ก็จะถูก refer ไปยังโรงพยาบาลอีกต่อหนึ่ง

เดนมาร์ก
บริเวณชายหาด Amager มีเส้นทางที่จักรยานสามารถปั่นมาได้ แต่ในช่วงหน้าหนาว ไม่ค่อยมีนักปั่นสักเท่าไหร่ เพราะลมค่อนข้างแรง

4. ทางรถจักรยานนั้น ปรากฏอยู่ในทุกที่ ทุกเมือง

ทำให้การเดินทางด้วยจักรยานนั้นสะดวกสุดๆ สามารถแม้กระทั่งนำจักรยานขึ้นรถไฟ, รถไฟฟ้า ได้อีกด้วย (ยกเว้นเวลาเร่งด่วนช่วงเช้า ที่รถไฟแน่น) ทั้งนี้ จะต้องซื้อตั๋วให้กับจักรยานในราคาประมาณตั๋วเด็กอีกใบ (เช่นเดียวกัน หากนำสุนัขที่มีขนาดตัวใหญ่ ก็ต้องซื้อตั๋วเด็กให้กับลูกรักสี่ขาของเราด้วยเช่นกัน ต่างกับที่สวีเดนที่ลูกรักสามารถเดินทางได้ฟรี)

โคเปนเฮเกนนี่ถึงกับขึ้นชื่อว่าเป็นอัมสเตอร์ดัมแห่งสแกนดิเนเวีย เพราะประชากรใช้จักรยานในการเดินทางกันเยอะมาก นอกจากสะดวก, สุขภาพดีได้ออกกำลังกาย แล้วยังประหยัดค่าใช้จ่าย เพราะไม่ต้องจ่ายค่าจอดและค่าน้ำมัน จะจอดที่ไหน ก็จะมีเสาหรือรั้วให้คล้องจักรยานอยู่ทั่ว ทว่า เมื่อมีจักรยานเยอะ ก็จะมีชั่วโมงเร่งด่วนในตอนเช้าเช่นกัน ที่อาจจะเจอกับรถ(จักรยาน)ติดได้ และในบางครั้งนักท่องเที่ยวที่ไม่ชินกับระบบการเดินรถในเดนมาร์ก ก็จะขวางทางหรือข้ามถนนไม่ดูจักรยาน จนอาจเกิดอุบัติเหตุได้

อนึ่ง การข้ามถนนในเดนมาร์กนั้น ยึดสัญญาณไฟจราจรอย่างเคร่งครัด ไม่ควรข้ามในขณะที่ไฟยังเป็นสีแดงอยู่ แม้จะไม่มีรถก็ตาม เพราะหากตำรวจมาพบเห็น สามารถเปรียบเทียบปรับได้ ซึ่งหลายๆ ครั้งที่เห็นคนข้ามนั้น อาจจะไม่ใช่คนเดนิชก็ได้ แต่เป็นเพื่อนบ้านข้างเคียง โดยเฉพาะสวีเดน เพราะที่นั่น ไม่ได้เคร่งครัดเรื่องนี้ คนข้ามถนนว่างๆ ตอนไฟแดงได้ (คนเดนิชก็มักจะชอบเม้าธ์คนสวีดิชว่าไม่เคารพกฎเอาซะเลย แถมยังชอบแย่งกันขึ้นรถไฟแม้คนจะยังลงไม่หมด ทำตัวเป็นมนุษย์ลุงมนุษย์ป้ากันไปได้ … แหม่ ช่างรักกันดีจริงๆ นะครับสองประเทศนี้)

05
5. รหัสประจำตัวประชาชน (CPR-nummer) เชื่อมโยงกันทั้งประเทศ

ทั้งระบบสาธารณสุข, ทะเบียนราษฎร์, เงินเดือนและการจ่ายภาษี, ธนาคารและประวัติเครดิต, ประวัติอาชญากร ยาวไปจนถึงการสมัครลงทะเบียนสมาชิกฟิตเนส, เมมเบอร์บัตรส่วนลด, โทรศัพท์, อินเตอร์เน็ต

คือเรียกได้ว่า เลขเพียงเลขเดียวนี้ สามารถบ่งบอกตัวตนของแต่ละบุคคลได้ตั้งแต่เกิด (หรือย้ายถิ่นฐานเข้ามาในประเทศ) ไปจนถึงเสียชีวิตเลยทีเดียว ทุกครั้งที่จะสมัครอะไร สิ่งแรกที่ถามเลยคือ เลข CPR อะไร เพื่อที่จะดึงข้อมูลเบื้องต้น ชื่อ, นามสกุล, ที่อยู่ และวันเกิด (เลข 6 หลักแรกของ CPR คือวันเดือนปีเกิด และ 4 หลักสุดท้ายเป็นเลขประจำตัว)

06
เรือกลางทะเล เผื่อว่าจะมีใครอยากมาตกปลายามเช้า ส่วนด้านขวาไกลๆ ลิบเป็นสะพาน Øresund ที่เชื่อมเดนมาร์กกับสวีเดนเข้าด้วยกัน เป็นสะพานที่มุดลงทะเลจากฝั่งที่มาจากสวีเดนเข้ามาที่กรุงโคเปนเฮเกน

6. คนเดนิชนั้นชอบเดินทางและชอบกิจกรรมกลางแจ้ง

ไม่ว่าจะเป็นเดินป่า, ตั้งเต๊นท์, ตกปลา, คายัก หรือแค่ได้อาบแดดตามชายหาดหน้าร้อนก็พอแล้ว ในปีหนึ่งๆ นั้น พนักงานบริษัททั่วไปจะได้รับวันหยุดพักร้อนราวหนึ่งเดือน

ด้วยความที่ระบบขนส่งมวลชนนั้นเชื่อมถึงกันในทุกเมือง ทำให้สะดวกต่อการเดินทาง แถมประเทศยังมีขนาดเล็กกระทัดรัด จึงใช้เวลาเดินทางไม่นานจนเกินไป เราจึงเห็นครอบครัวชาวเดนิชเดินทางด้วยรถไฟในช่วงวันหยุดกันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง

นอกจากนี้ วัยรุ่นที่เรียนจบมัธยมหรือมหาวิทยาลัย ก็มักจะไปเที่ยวสักปีก่อนที่จะมาเรียนต่อมหาวิทยาลัยหรือทำงาน หรือที่เรียกว่า sabbatår เพื่อเปิดโลกกว้างหาประสบการณ์ชีวิต ก่อนที่จะมาใช้ชีวิตในโลกแห่งการทำงาน

07
ประเทศเดนมาร์กผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานลมเป็นจำนวนมาก ทั้งเพื่อใช้เองในประเทศและส่งออกขายให้กับประเทศข้างเคียง ผลิตกันมากถึงขนาดที่เคยทำสถิติผลิตกระแสไฟฟ้าเกินความต้องการใช้งานของประเทศ (140%) มาแล้ว ในวันที่ลมแรงจัดเมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2015 นี้เอง แถมยังนิยมประหยัดไฟกันด้วยการจุดเทียนแทนการเปิดไฟจำนวนมากอีกด้วย

7. คนเดนิชชอบจุดเทียน

ชอบมากจนถึงขนาดว่าใช้เทียนไขมากที่สุดในยุโรป ปีละกว่า 5 กิโลกรัม ทิ้งห่างที่สอง ประเทศออสเตรียเกือบสองเท่าเลยทีเดียว ดังนั้น ไม่ว่าจะไปทานร้านอาหารไหน หรือไปเยี่ยมเพื่อนเดนิชที่ไหน ก็มักจะได้เห็นว่าจุดเทียนกัน โดยเฉพาะที่โต๊ะอาหาร และห้องรับแขก

มีการศึกษาวิจัยว่าทำไมเดนมาร์กถึงบริโภคเทียนกันมากมายขนาดนั้น ทั้งๆ ที่เศษควันจากเทียนนั้นสามารถไปสะสมในปอด เป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจในระยะยาวได้ก็ตาม คำอธิบายประการหนึ่งคือ การจุดเทียนนั้นสร้างบรรยากาศที่ดูอบอุ่นและอิ่มอกอิ่มใจ หรือ “hygge” ได้ง่ายๆ ในทันที คล้ายๆ กับการจุดกองไฟในป่าหรือในถ้ำ อีกทั้งยังเป็นการสร้างระยะห่างระหว่างคู่สนทนาไม่ให้ระยะประชิดจนเกินไป ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสัญชาติญาณการเอาตัวรอด ที่หลงเหลือมาจากบรรพบุรุษชาวไวกิ้งสมัยโบราณ

ผมเคยได้อ่านมาว่า การจุดเทียนแทนการใช้ไฟสว่างๆ บนโต๊ะอาหารนั้น จะช่วยทำให้อาหารอร่อยขึ้น เพราะความสามารถในการมองเห็นลดลง ทำให้ประสาทสัมผัสการรับรู้ด้านอื่นถูกกระตุ้นให้รับรู้มากขึ้น จึงมีส่วนช่วยให้ลิ้นรับรู้รสชาติอาหารได้ดียิ่งขึ้น ในกรุงซูริค สวิสเซอร์แลนด์ และบางเมืองในยุโรป ถึงกับมีภัตตาคารที่มืดสนิท และเสิร์ฟอาหารโดยพนักงานที่ตาบอดด้วยครับ ทั้งนี้ก็เพื่อให้สามารถรับรู้อาหารได้อร่อยขึ้นนั่นเอง

08
หอพักนักศึกษา Tietgenkollegiet วงกลม มีลักษณะคล้ายตาสัปปะรดที่มองได้รอบทิศ

8. ประเทศเดนมาร์กมีกล้องจับอยู่ทุกจุด

มีการประมาณการกันว่าจำนวนกล้อง CCTV นั้นมีอยู่ถึง 600,000 ตัว ต่อประชากร 5.6 ล้านคน หรือเกือบ 9 คนต่อกล้อง 1 ตัว สูงกว่าอังกฤษที่ว่ากันว่ามี 11 คนต่อกล้อง 1 ตัวเสียอีก

ซึ่งส่วนหนึ่งก็ดูจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม อย่างเช่นกรณีที่เคยเกิดเหตุก่อการร้ายบริเวณศาสนสถานของชาวยิวในกรุงโคเปนเฮน ทางตำรวจสามารถติดตามตัวคนร้ายได้จากกล้องวงจรปิดจำนวนมาก จนเกิดการปะทะและวิสามัญฆาตกรรมคนร้ายในวันเดียวกันนั้นเอง

แต่ก็มีประชาชนและองค์กรบางแห่งที่แสดงความกังวลต่อสิทธิความเป็นส่วนตัว เพราะรัฐบาลวางแผนที่จะเพิ่มมาตรการในการสอดแนมข้อมูลของประชาชนกลุ่มที่เสี่ยงเป็นภัยต่อประเทศ ทั้งในและภายนอกเดนมาร์ก (หมายถึงรัฐบาลอาจขอความร่วมมือ เพื่อติดตามบุคคลสัญชาติเดนิช แม้ว่าจะอยู่ประเทศไหนในโลกก็ตาม)

09
ที่สถานีรถไฟฟ้ารางเบาแบบไม่มีคนขับทุกสถานีจะมีตู้ขายตั๋วอัตโนมัติติดตั้งอยู่ สามารถชำระเงินได้ทั้งเหรียญ, ธนบัตร, บัตรเดบิต, เครดิต และยังสามารถเติมเงินลงบนบัตรโดยสาร (Rejsekort) ที่ใช้งานได้ทั้งรถบัส, รถไฟฟ้า, รถไฟทั่วประเทศ เพียงแตะบัตรไปที่เครื่องอ่านที่มีลักษณะเป็นจุดสีฟ้า (Blå punkt) ขณะขึ้นและลงรถ

9. ธนบัตรและเหรียญกษาปณ์ไม่ค่อยได้ใช้งาน

แทบจะทุกแห่งจะมีเครื่องรูดบัตร หรือบริการ MobilePay ที่จ่ายเงินผ่านเบอร์มือถือที่เชื่อมต่อกับเลขบัญชีธนาคารได้ กระทั่งแผงลอยเปิดท้ายขายของก็เช่นกัน แต่ทว่าบางร้านบางแห่ง กลับรับแต่บัตร Dankort เพราะไม่อยากเสียค่าธรรมเนียมต่อธุรกรรมที่ใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตของต่างชาตินั่นเอง

ตลอดเวลาหนึ่งปีที่เดนมาร์ก ผมพกเงินติดตัวติดกระเป๋าน้อยมาก เพราะไม่ค่อยจำเป็นจะได้ใช้งานเท่าไหร่ ใช้แต่บัตรตลอด เวลาไปธนาคารบางสาขาก็ไม่ได้หยิบจับเงินเลย และตัวสาขาเองก็มีเงินอยู่ด้วย มีแต่ในตู้เอทีเอ็มด้านนอก โจรจะมาปล้นธนาคารคงต้องคิดหนัก เพราะไม่มีเงินให้หยิบฉวยไปได้ (เคยมีออกข่าวมาครั้งหนึ่งแล้ว โจรหน้าแตกเพราะไม่มีเงินในธนาคารเลย)

10
จากรอยแผลความบอบช้ำในประวัติศาสตร์เมื่อวันวาน สามารถปรับเปลี่ยนทัศนคติของคนในชาติพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือได้เลยทีเดียว ส่วนภาพนี้เป็นสวนบริเวณ Fredrikssund ในช่วงใบไม้เปลี่ยนสี

10. คนเดนิชชอบความอ่อนน้อมถ่อมตน

ไม่ชอบที่จะอวดโอ้โม้เหม็นเองหรือเห็นใครมาเบ่งอวดใส่ เว้นแต่จะเป็นคนต่างชาติ เพราะถือว่าคงไม่รู้จักวัฒนธรรมดีพอ หยวนๆ ให้ได้ อันนี้มีที่มาครับ

สมัยก่อน เดนมาร์กเป็นประเทศที่ภูมิใจในชาติตัวเองสูงมาก เป็นประเทศแรกในโลกที่มีธงประจำชาติเป็นของตัวเอง และไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของใคร มีแต่ไปยกทัพตีเอาประเทศอื่นมาเป็นของตัวเอง สืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าฮาราลด์ บลูธูท (Harald Bluetooth) และพระเจ้าคนุตมหาราช (Knud den Store) ตั้งแต่สมัยไวกิ้ง

จนในที่สุด ความหยิ่งผยองนี้ก็ทำให้เดนมาร์กย่ามใจ จนไปต่อกรกับเยอรมนีในศึกสงครามชเลสวิกครั้งที่สอง (Second Schleswig War) และโดนตีพ่ายมาอย่างไม่มีชิ้นดี ในปี 1864 (พ.ศ. 2407) จนทำให้ประเทศต้องถูกแบ่งส่วนออกไปตกเป็นของประเทศอื่นไปกว่า 1 ใน 4 เลยทำให้คนทั้งประเทศเสียเซลฟ์ เลิกมั่นใจแบบผิดๆ และปรับทัศนคติใหม่กลายเป็นคนเจียมเนื้อเจียมตัวมาจนถึงปัจจุบัน

ถึงขั้นที่ว่านักเขียน อัคเซล แซนดิโมส (Aksel Sandemose) ได้บรรยายทัศนคติของชุมชนเดนิชไว้เป็นกฎแห่งยันเต้ (Janteloven) ที่กล่าวประมาณว่า จงอย่าคิดว่าตัวเองดีหรือวิเศษกว่าคนอื่น (มีอยู่ 10 ข้อ แต่ใจความสรุปได้ประมาณนี้) ในนิยายของเขาในปี 1933 และกลายเป็นที่ยอมรับกันว่าสามารถสรุปแนวคิดของคนเดนิชได้เป็นอย่างดี

11
อาคารด้านหน้า Den Sorte Diamant หอสมุดแห่งชาติเป็นอาคารสีดำทรงสี่เหลี่ยมคางหมูดูแปลกตา ตั้งอยู่ตรงข้ามกลุ่มอาคารสำนักงานใหญ่ในเดนมาร์กของธนาคาร Nordea ที่เป็นตึกสี่เหลี่ยมซ้อนๆ กันสีดำ และถัดไปเป็นโบสถ์คริสเตียน (Christians Kirke)

11. คนเดนิชภาคภูมิใจกับงานดีไซน์ของเดนมาร์กมาก

ถือว่าเดนมาร์กเป็นประเทศที่ผลิตและเสพย์งานดีไซน์กันเยอะมาก มีนักออกแบบ, สถาปนิก, ศิลปินสมัยใหม่ระดับโลกเรื่อยมา มีแนวทางออกแบบที่เป็นตัวของตัวเองชัดเจน ในลักษณะที่เรียกว่า functionalism หรือเน้นการใช้งานในรูปลักษณ์ที่เรียบง่าย ที่เริ่มได้รับอิทธิพลจากแนวทาง Bauhaus ของเยอรมนีในช่วงยุคอุตสาหกรรม จนปัจจุบัน เดนมาร์กมีเฟอร์นิเจอร์, สถาปัตยกรรมขึ้นหิ้งหลากหลายชิ้น ที่ดังๆ ก็เช่น โอเปร่าเฮ้าส์ที่ซิดนีย์, เก้าอี้ของ Arne Jacobsen และ Hans Wegner, โคมไฟสุดคลาสสิกของ Poul Henningsen และ Verner Panton หรือเครื่องเสียง Bang & Olufsen เป็นต้น

ถ้าได้ไปเยี่ยมชมบ้านของคนเดนิช หลายๆ ครั้งจะพบว่าเฟอร์นิเจอร์ที่ตกแต่งบ้านนั้นดูเรียบง่าย แต่มีดีไซน์ จนบางครั้งถ้าไม่สังเกตดีๆ อาจจะไม่ทราบเลยว่าเก้าอี้ที่เรานั่งลงไป หรือโคมไฟที่ประดับห้องนั้น มีราคาสูงลิบลิ่ว ก็เป็นได้ (แน่นอนว่าถ้าไม่ถามเจ้าของบ้านเอา โอกาสที่จะได้ยินเจ้าของบ้านโอ้อวดเกี่ยวกับเฟอร์นิเจอร์นั้นจะน้อยมากๆ อันเนื่องมาจากทัศนคติในข้อ 10 ข้างบนนี่เอง)

ถ้าใครชอบชมผลงานศิลปะร่วมสมัย ขอแนะนำให้ไปชม Louisiana Museum of Contemporary Arts ที่ Humlebæk นะครับ รับรองจะติดใจ และถ้าชอบงานสถาปัตยกรรม ก็แนะนำ Danish Architecture Centre ในโคเปนเฮเกน หรือจะไปดูอาคารของจริงในเมืองก็ได้ครับ มีให้ชมเยอะเลย ทั้ง Den Sorte Diamant, Operaen, Tietgenkollegiet และอีกหลายที่

12
ดูแล้วคนเดนิชสมัยก่อนน่าจะชอบกิจกรรมสันทนาการ เพราะเป็นประเทศแรกที่เปิดสวนสนุกที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ทั้งอันดับหนึ่งและอันดับสอง ภาพนี้เป็นรถลากเลื่อนของซานตาครอส ช่วงคริสตมาสที่ Tivoli สวนสนุกที่โด่งดังที่สุด และเก่าแก่เป็นอันดับสองของโลก (ส่วนอันดับหนึ่งอยู่ที่ Dyrehavsbakken)

12. ประเทศเดนมาร์ก(เคย)เป็นประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลก

โพลล์ชี้วัดดัชนีความสุขในหลายๆ ปีที่ผ่านมา ระบุให้เดนมาร์กเป็นประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลก ไม่ว่าจะ Gallup-Healthways Global Well-Being Index, UN World Happiness Report, Monocle’s Quality of Life Survey แต่ปีหลังๆ มา เดนมาร์กถูกโค่นแชมป์ให้กับประเทศอย่างปานามา, ญี่ปุ่น, ออสเตรีย เป็นต้น

โพลล์หลายสำนักเริ่มมีหัวข้อใหม่ๆ เข้ามาคำนวณ เช่น ความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม, ความยากง่ายในการหาที่อยู่อาศัย เป็นต้น ซึ่งเดนมาร์กประสบปัญหาเรื่องปริมาณห้องเช่าและอพาร์ตเมนต์ตามเมืองใหญ่ โดยเฉพาะโคเปนเฮเกน ที่จำนวนคนหาที่พักเยอะกว่าจำนวนห้องว่างให้เช่าราคาไม่สูงอยู่มาก ประกอบกับค่าครองชีพที่สูง ทำให้อันดับโลกของเดนมาร์กลดลง ยิ่งล่าสุด วิกฤตการณ์ด้านผู้อพยพลี้ภัยที่ไหลทะลักเข้ามาในยุโรป เดนมาร์กมีท่าทีที่แข็งกร้าวและกีดกันอย่างชัดเจน (โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับสวีเดนที่ใจกว้างดั่งมหาสมุทร) ถึงแม้รัฐบาลจะมีเหตุจูงใจอย่างไรก็ตาม ทำให้ภาพลักษณ์ของเดนมาร์กดูจะติดลบไปบ้าง ก็คงต้องดูว่ารัฐบาลจะกอบกู้สถานการณ์อย่างไรบ้างนะครับ

นอกจาก 12 ข้อนี้ เดนมาร์กยังมีอะไรที่น่าศึกษาเรียนรู้ นอกเหนือจากสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามครับ ถ้ามีโอกาสได้มาสัมผัส ลองสังเกตดูครับ อาจจะได้เรียนรู้วัฒนธรรมความเป็นอยู่ที่แตกต่างและน่าสนใจกันครับ

Viroj currently works as a researcher within international economics at Lund University in Southern Sweden. A traveller with a burning passion for photography, he mainly takes photos with his medium-format digital camera, and now tries to limit his travel plans (with no success) to save up for a wide-angled lens. Viroj has a blond labrador retriever named Molly, who loves swimming at the beach near his home in Copenhagen, Denmark.

6 Comments

  • Laksamol

    SU ไม่ใช่เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาค่ะ แต่เป็นเงินที่รัฐบาลให้เปล่าเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของนักเรียนค่ะ

    • Viroj

      ขอบคุณคุณ Laksamol ที่ท้วงติงมานะครับ
      ผมอาจจะเปรียบเทียบได้ไม่ถูกนัก เพราะ SU มีทั้งที่เป็น stipendie ที่เป็นเงินให้เปล่าจากรัฐ และมี lån ที่เป็นเงินกู้ยืม ซึ่งส่วนแรกนั้น ไม่ต้องคืน แต่ส่วนหลังนั้น เมื่อสำเร็จการศึกษาไปแล้ว จะต้องคืนพร้อมดอกเบี้ย ซึ่งส่วน SU-lån นี้เองที่คล้ายกับ กยศ. บ้านเรา แต่ SU-stipendier นั้นอาจจะไม่มีในไทย

      ถ้ามีข้อมูลส่วนไหนไม่ถูกต้อง แจ้งเพิ่มเติมมาได้นะครับ ยังต้องเรียนรู้อีกเยอะเลย

  • Kate

    กลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย (Scandinavia) ประกอบไปด้วยประเทศหลักๆ 3 ประเทศ คือ เดนมาร์ก, สวีเดน และ นอร์เวย์ ค่ะ ไม่ใช่ 4 ประเทศนะคะ ส่วนถ้ารวมฟินแลนด์ และไอซ์แลนด์เข้ามาด้วย ก็จะกลายเป็นกลุ่มประเทศนอร์ดิก (Nordic) ค่ะ

    • Viroj

      ขออภัยในความคลาดเคลื่อนนะครับ (T T)
      ถ้ารวมเฉพาะฟินแลนด์ บางตำราก็เรียก Fennoscandia เพราะฟินแลนด์เคยถูกปกครองโดยสวีเดนมาช่วงหนึ่ง
      ดังนั้น คุณ Kate ถูกแล้วครับที่สแกนดิเนเวียนั้นมี 3 ประเทศหลักไม่รวมฟินแลนด์มาด้วย

  • Panjoh

    มีความคิดเห็นดังนี้ค่ะ
    ข้อ 2 ที่กล่าวถึงสินค้า และค่าครองชีพ ต้องยอมรับว่าหากเมื่อเทียบเป็นเงินไทย และสำหรับนักท่องเที่ยวคนไทย ที่นำเงินไทยมาแลกเป็นเงินโครน แล้วนั้น ค่าใช้จ่ายในประเทศเดนมาร์กนั้นสูงกว่าบ้านเรามาก แต่เมื่อเทียบกับรายได้ของคนที่อาศัยอยู่ในประเทศเดนมาร์กแล้วนั้น สินค้าต่างๆ ไม่ได้ถือว่าแพงเกินไปเลย โดยส่วนตัวเมื่อได้จับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้าในราคา 400โครน สามารถอยู่ได้อย่างอิ่มหมีพีมันเป็นเวลา เกือบ 2 อาทิตย์ โดยที่ค่าแรงที่นี่ก่อนภาษีอยู่ที่ ประมาณ 110-120 โครน ต่อชั่วโมง หลังจากหักภาษีไปแล้ว หากเป็นคู่สมรส หรือมีที่พักอาศัยเป็นของตัวเองแล้วยังได้เงินที่เรียกฟาร์เดร้าท์กลับมาอีก ดังนั้น(ไม่ว่าจะได้ฟาร์เดร้าท์หรือไม่)รายได้ทั้งหมดแต่ละเดือนเมื่อเทียบกับการกินอยู่ที่นี่ก็ไม่ได้ถือว่าสูงมาก หากเทียบกับการทำงานและได้รายรับจากที่นี่

    ในส่วนของเรื่องน้ำดื่ม เนื่องจากประเทศเดนมาร์กเป็นประเทศที่น้ำประปาดื่มได้ ดังนั้นไม่น่าแปลกใจที่น้ำเปล่าบรรจุขวดจะมีราคาค่อนค่างสูง “เมื่อเทียบกับเงินไทยบาท” แต่อย่าลืมว่า เมื่อเราซื้อน้ำขวด หรือน้ำกระป๋องที่นี่แล้ว เราสามารถนำขวดและกระป๋องไปหยอดขายคืนตามตู้ได้อีก ในข้อ 2 นี้หากต้องการจะสื่อว่าของที่นี่แพงหรือไม่นั้น ควรจะคำนึงถืง รายรับ ของคนที่นี่ และหากจะเปรียบเทียบกับ ค่าเงินบาทไทย บางทีการคูณแค่ค่าเงิน อย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ
    ปล. สินค้าที่นี่ไม่ว่าจะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้า หรืออาหาร หากเวลาลดราคาแล้วถือว่าที่นี่ลดราคาได้สมกับความหมายของคำว่าลดราคามาก มีตั้งแต่ลดเริ่มต้นที่ 5-10 โครน หรือ ลดมากกว่า 50% หมั่นเช็คดูโฆษณาสินค้าตามใบปลิวหรือ Application จะทำให้คนที่อยู่และมาเดนมาร์กสามารถประหยัดเงินไปได้มาก

    ข้อ 3. สำหรับคนไทย อย่างเราๆ เมื่อมาอยู่ที่นี่ นานกว่า 2 ปี ยังไม่รู้สึกว่า การบริการสารณสุขที่นี่จะดี ตามรูปแบบของสวัสดิการที่มีคุณภาพ เนื่องจาก เมื่อป่วย คุณจะต้องทำการโทรจองเวลากับหมอส่วนตัวเพื่อจะไปตรวจ และเมื่อต้องมีการตรวจเลือดเพื่อวิเคราห์ผล บางอย่างคุณต้องใช้เวลาประมาณ 3-5 วันที่จะทราบผลนั้น และสำหรับบางอย่าง คุณต้องโดนเก็บตัวอย่างเลือดไม่ต่ำกว่า 3 ครั้ง เพราะการประสานงานที่ไม่แน่นอนระหว่างหมอประจำตัวและโรงพยาบาล ในกรณีที่คุณเค้ารับการตรวจฉุกเฉิน บางอาการคุณต้องไปตรวจต่างเมือง เพราะหมอที่ดูแลด้านนี้ให้บริการถึงแค่ 4 ทุ่ม และเช่นกันบางอาการนี้คุณก็ต้องได้รับการจัดเวลาหรือจัดคิวแม้ว่าคุณจะมาด้วยอาการฉุกเฉิน
    ยา ที่นี่ไม่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลหากรักษาในโรงพยาบาลรัฐ แต่คนไข้ต้องจ่ายค่ายา และอุปกรณ์ทางยาเอง ซึ่งหากไม่ได้รับการวินิจฉัยที่ถุกต้อง คุณจะต้องจ่ายค่ายา 1 กล่อง ที่มี 30-50 เม็ด แต่เมื่อเวลาใช้ จริง ใช้แค่ 7-10 เม็ด เนื่องจากเมื่อไปพบหมออีกครั้ง คุณหมอของคุณอาจจะเปลี่ยนตัวยาไป หรือสั่งให้หยุดใช้ยานั้น ในเรื่องของการติดตามผล และการให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์ ถือว่าค่อนข้างดี เพราะจะมีเจ้าหน้าที่โทรถามอาการหรือให้เราโทรรายงานเป็นระยะๆ
    คนเดนส์ที่ทำงานในระบบสาธารณสุขค่อนข้างมีสัดส่วนที่ต่ำกว่า หากเปรียบเทียบกับคนเชื้อสายอื่นๆที่เข้ามาอยู่ในประเทศเดนมาร์ก อาชีพหมอ ถือเป็นอาชีพขาดแคลนอาชีพหนึ่ง

    ข้อ 6 หากจะกล่าวว่า การเดินทางในประเทศเดนมาร์กนั้น มีรถไฟที่เชื่อมถึงกันทุกเมืองและใช้เวลาไม่นานเกินไปนั้น คงจะไม่ถูก เพราะการรถไฟของเดนมาร์ก ก็ขึ้นชื่อเรื่องยกเลิก และมาสายไม่น้อย เพียงแต่ว่า มีการแจ้งบอก และสำหรับบางกรณี (จาก Fyn ไป Syd Jylland หรือจากฝั่ง Sjælland มา Fyn) หากต้องไปบางเมือง รถไฟ ต่อรสบัส ใช้เวลาร่วม 2 ชั่วโมงหรือมากกว่านั้น แต่หากขับรถยนตร์ ใช้เวลาเพียง 45 นาทีในกรณีที่ไม่มีอุบัติเหตุบน Motor way คิดว่าน่าจะเป็นการพิมพ์ผิด sabbatår น่าจะหมายถึงคนที่จบมัธยมปลาย แล้วต้องการค้นหาตัวเอง ด้วยการท่องเที่ยว หรือทำงาน ก่อนที่จะไปเริ่มเรียนมหาวิทยาลัยในปีต่อไป

    ข้อ 12 ประเทศเดนมาร์ก เคยเป็นประเทศที่คนมีความสุขที่สุดในโลก และขณะเดียวกัน ก็มีอัตตราการฆ่าตัวตายสูงเช่นกัน

    • Panjoh

      **ที่กล่าวว่าค่าแรงอยู่ที่ 110-120 โครน ก่อนภาษี หมายถึง ขั้นต่ำนะคะ ซึ่ง ถ้าเป็นงานอื่นๆที่คิดเป็นรายชั่วโมง แล้วจะสูงกว่า แตกต่างกันไปค่ะ

Comments are closed.

Magazine made for you.