Aru Ressha ‘Sweet Train’ รถไฟสายหวานแห่งคิวชูที่ขึ้นแล้วไม่มีใครอยากลง
ฉึกกะฉัก – ฉึกกะฉัก – ถึงก็ช่าง – ไม่ถึงก็ช่าง
แต่ก่อนคนบ้านเรามักล้อเลียนความอืดอาดของรถไฟ จนประโยคนี้ฝังหัวและเข้าใจไปว่ารถไฟเป็นพาหนะที่เชื่องช้า จนเมื่อมีโอกาสได้เดินทางไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่นจึงได้รู้ว่ารถไฟบ้านเมืองอื่นเขาวิ่งกันเร็วมาก และได้รู้ต่อไปอีกว่าคนที่นั่นกลับจ่ายมากกว่าปกติเพื่อให้ได้นั่งรถไฟที่วิ่งช้ากว่าปกติ ตีตั๋วล่วงหน้ากันหลักเดือนหลักปีเพื่อขึ้นมาดื่มด่ำบรรยากาศแสนรื่นรมย์บนขบวนรถสุดพิเศษแบบ ‘ไม่ถึงก็ช่าง’ กันจริงๆ
หนึ่งในขบวนรถไฟที่คนขึ้นแล้วไม่อยากลง โดยสารแล้วไม่อยากให้ถึงสถานีปลายทาง คือ Aru Ressha หรือที่คนเรียกชื่อเล่นกันว่า Sweet Train ซึ่งเป็นรถไฟน้องใหม่ของ JR Kyushu ที่ถูกขนานนามว่าเป็น ‘รถไฟแห่งความฝัน’ นั่นเอง
แรกเริ่มเดิมที Aru Ressha เป็นโครงการในฝันเมื่อ 109 ปีก่อนของการรถไฟคิวชู (Kyushu Dentetsu – ชื่อเก่าของ JR Kyushu) ที่ต้องการสร้างรถไฟหรูหราชั้นเลิศขึ้นมา โดยสั่งผลิตจากบริษัท J. G. Brill Company ของสหรัฐอเมริกาในค.ศ. 1906 แต่โชคไม่ดีที่ในปีเดียวกันนั้นเองรัฐบาลญี่ปุ่นต้องการควบคุมการบริหารจัดการระบบรถไฟอย่างเบ็ดเสร็จ จึงแปรรูปกิจการรถไฟเอกชนให้เป็นของรัฐทั้งหมด ทำให้แผนทุกอย่างต้องหยุดชะงัก ผลก็คือรถไฟขบวนนี้ไม่เคยได้ ‘เดบิว’ ลงรางอวดโฉมรับผู้โดยสารจริงเลยแม้แต่ครั้งเดียวทั้งที่สร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ว่ากันว่าหลังจากนั้นขบวนรถไฟแห่งความฝันก็ถูกจอดทิ้งร้างไว้ที่ลานเก็บรถไฟชานกรุงโตเกียว จนกระทั่งคุณโนบุทาโระ ฮะระ ‘เทพเจ้าแห่งรถไฟจำลอง’ ผู้ก่อตั้ง Hara Model Railway Museum ได้ไปพบเข้าเมื่อตอนเด็ก จึงเกิดความหลงใหลในรายละเอียดการตกแต่งที่หรูหรางดงามของงานไม้และกระจกสี จนถึงขั้นต้องกลับไปดูซ้ำแล้วซ้ำอีกเพื่อเสก็ตช์ภาพ จนในที่สุดก็ลงมือสร้างแบบจำลองของรถไฟขบวนนี้ขึ้นมาจนสำเร็จ ตำนานที่สูญหายจึงถูกส่งต่อผ่านงานฝีมือของคุณโนบุทาโระ ฮะระให้คนได้รู้จักกันอีกครั้ง
รถไฟจำลองขบวนนี้เองที่กลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้บริษัท JR Kyushu ในปัจจุบันนำความฝันเมื่อร้อยปีก่อนกลับมาสร้างขึ้นใหม่ โดยเริ่มจากต้นแบบรถไฟจำลองที่คุณโนบุทาโระ ฮะระสร้างขึ้น แล้วส่งไม้ต่อให้นักออกแบบรถไฟยอดฝึมืออย่างคุณเอจิ มิโตะโอะกะ ผู้เคยสร้างสรรค์สุดยอดรถไฟขบวนอื่นๆ ของคิวชูมาแล้วมากมาย เช่น Seven Stars, Yufuin no Mori, Asoboy ฯลฯ โดย Aru Ressha ขบวนปัจจุบันนี้ไม่ใช่รถรุ่น Brill ดั้งเดิม แต่เป็นขบวนใหม่ซึ่งเกิดจากการดัดแปลงรถรุ่น KiHa 47 ซึ่งเป็นรถรุ่นเดียวกับรถไฟอุระชิมะทาโร่ Ibusuki no Tamatebako, รถไฟสีดำ Hayato no Kaze และรถไฟชื่อแฝดสีแดง Isaburo & Shinpei ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นรถไฟคิวชูผลงานออกแบบของคุณเอจิ มิโตะโอะกะ
เมื่อเทพแห่งวงการรถไฟญี่ปุ่นทั้งสองมาเจอกัน ‘ความฝัน’ อายุ 109 ปี จึงถูกชุบชีวิตให้ออกวิ่งจริงได้เป็นครั้งแรกเมื่อเดือนสิงหาคม 2015 โดยแบ่งเป็น 2 เส้นทางต่างฤดู ฮิตะ-โออิตะ ในช่วงฤดูใบไม้ผลิ (เมษายน-มิถุนายน) และเส้นทาง นางาซากิ-ซาเซโบะ ในช่วงฤดูใบไม้ร่วง (กรกฎาคม-กันยายน) ซึ่งจะวิ่งจำกัดช่วงเวลาเฉพาะช่วงนี้ของปีเท่านั้น
15 นาทีก่อนถึงกำหนดเวลาออกเดินทาง นักดนตรีหญิงสี่คนเดินถือเครื่องเป่าทองเหลืองเข้ามาตั้งแถวหน้ากระดานบนชานชาลา ท่ามกลางเหล่าผู้โดยสารที่กำลังยืนรอกันอย่างใจจดใจจ่อ พอหัวขบวนเริ่มโผล่เข้ามาให้เห็นได้ในระยะสายตา เสียงเทียบโน้ตของวงก็เริ่มดังขึ้นคลอไปกับเสียงตื่นเต้นของผู้คนที่สายตาก็จับจ้องไปที่รถไฟส่วนมือก็รีบคว้ากล้องกันพัลวัน และเมื่อขบวนรถไฟเคลื่อนเข้าจอดเทียบเสมอกับพรมแดงที่วางรออยู่ก่อนแล้วอย่างพอดิบพอดี ดนตรีเริ่มก็ประโคมขึ้นพร้อมกับประตูรถที่เลื่อนเปิดออกต้อนรับแขกผู้มีเกียรติอย่างเป็นทางการ
เจ้าหน้าที่ JR Kyushu บอกเราว่า Aru Ressha ถูกจองเต็มตลอดทุกรอบยาวไปหลายเดือนเป็นประจำ และผู้โดยสารส่วนใหญ่ที่เห็นกันอยู่นี่จองตั๋วล่วงหน้ากันมาอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 3-4 เดือน แน่นอนว่าเมื่อรถไฟในตำนานคันนี้มาจอดนิ่งอวดโฉมกันถึงที่ มีหรือเจ้าของตั๋วจะไม่รัวชักภาพเป็นที่ระลึกกัน ไม่เพียงแค่ผู้โดยสาร คนที่ผ่านไปผ่านมาบริเวณชานชาลาล้วนแล้วแต่ต้องหยุดยืนดูขบวนรถไฟสีทอง 2 ตู้นี้ ที่พูดได้เลยว่าเจิดจรัสสุดในสถานี ทำให้แค่เรามีตั๋วที่มีชื่อเราระบุอยู่ในมือก็รู้สึกพิเศษสุดๆ
Aru Ressha เป็นรถไฟขบวนสั้นที่มีเพียง 2 ตู้โดยสาร (ไม่ได้เรียกว่าโบกี้นะ) แต่ละตู้ตกแต่งได้โดดเด่นแตกต่างกันจนผู้โดยสารต่างฝ่ายต่างแอบอิจฉากันเองเล็กๆ เพราะภายความสวยงามของทั้ง 2 ตู้นั้นกินกันไม่ลงจริงๆ ตู้หมายเลข 1 ให้ความรู้สึกคึกครื้นและปลอดโปร่งด้วยโทนสีที่สดใสของเบาะผ้าและพื้นพรมที่เข้ากันกับเนื้อไม้เมเปิ้ลสีอ่อนการแบ่งที่นั่งแบบ 2 และ 4 ทำให้ตู้นี้มีความเป็นพื้นที่สังสรรค์บรรยากาศคล้ายกับคาเฟ่น่ารักๆ ผสมกับบาร์โรงแรมหรูหรา ในขณะที่ตู้หมายเลข 2 ตกแต่งด้วยไม้วอลนัทสีเข้มที่ให้ความรู้สึกขรึมสงบ เพราะตู้นี้ถูกออกแบบมาเพื่อความเป็นส่วนตัว ที่นั่งถูกจัดไว้เป็นคู่ในห้องย่อยที่มีบานประตูไม้ฉลุเป็นฉากกั้นเพื่อให้ผู้โดยสารแต่ละคู่ไม่รบกวนซึ่งกันและกัน ทุกรายละเอียดบนรถไฟขบวนนี้ผ่านการคิดอย่างพิถีพิถัน มีแม้กระทั่ง ‘ดนตรีประกอบการเดินทาง’ เป็น soundtrack อัลบั้มพิเศษของตัวรถไฟเอง ที่คลอสร้างความสุนทรีย์อยู่ตลอดเส้นทาง (แถมยังมีซีดีขายสำหรับคนที่อยากนำกลับไปฟังต่อที่บ้านด้วย)
ตู้โดยสารสีทองปิดประตูและเคลื่อนขบวนออกจากชานชาลาตอน 14.53 น. ตรงตามกำหนด แม้จะเป็นขบวนรถหรูสุดพิเศษ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ารถไฟขบวนนี้จะอ้อยอิ่งเอาใจลูกค้าหน้าไหน เพราะตารางกิจกรรมอาหารบนรถตลอด 2 ชั่วโมง 40 นาที แน่นชนิดที่แทบจะเรียกได้ว่ากินตั้งแต่นาทีแรกไปจนนาทีสุดท้ายเลยทีเดียว
เมนูต่างๆ บนรถไฟขบวนนี้รังสรรค์ขึ้นโดยคุณนาริซาวะ โยชิฮิโระ เชฟเจ้าของดาวมิชลิน 2 ดวงแห่ง NARISAWA ร้านอาหารอันดับ 8 ของโลก 2 ปีซ้อน (2015 และ 2016) จากการจัดอันดับโดย The World’s 50 Best Restaurants ที่เข้ามาควบคุมดูแลตั้งแต่ขั้นตอนเลือกวัตถุดิบและลงพื้นที่พบปะเกษตรกรผู้ผลิตของดีจากแต่ละจังหวัดของคิวชูด้วยตนเอง ตลอดจนออกแบบเมนูให้เหมาะสมกับฤดูกาลเพื่อดึงเอาเสน่ห์จากผลผลิตของคิวชูมาสู่แต่ละจานบน Sweet Train
แน่นอนว่าเมื่อได้ขึ้นมาทานอาหารกันบนรถไฟทั้งที จะไม่มีเอขิเบน (ข้าวกล่องรถไฟ) ก็คงจะไม่ได้ หลังจากเจ้าหน้าที่เสิร์ฟ welcome drink ต้อนรับผู้โดยสารด้วยสปาร์คกลิ้งไวน์กับน้ำส้มฮิวกะนัตสึ ของดีจากจังหวัดมิยะซะกิทางใต้ของคิวชู คอร์สแรกที่ยกมาเสิร์ฟให้ทานคู่กัน ก็เป็นเอขิเบนกล่องไม้น่ารักประทับสัญลักษณ์หัวใจของขบวนรถ Sweet Train ที่เรียกรอยยิ้มจากผู้โดยสารได้ตั้งแต่เมนูแรก ภายในบรรจุอาหารคาว 3 ชนิด คือ ข้าวหน้าเสต็กเนื้อซอสฮันนี่แอปเปิ้ล ซึ่งใช้เนื้อขึ้นชื่อจากวัวจังหวัดซากะ ปลาไท่จากทะเลท้องถิ่น ไก่ซากะหมักซอสกับผักประจำฤดูใบไม้ร่วงเคี่ยวไฟอ่อน ทานคู่กับซุปไก่สับกุ้งและรากบัว
จบจากอาหารคาว ก็ถึงเวลาที่ทุกคนรอคอย ขนมหวานนานาชนิดที่ถูกประดิษฐ์ประดอยขึ้นอย่างพิถีพิถันค่อยๆ เคลื่อนขบวนจากสถานีห้องครัวผ่านสถานีเชฟและเจ้าหน้าที่เดินทางเข้าสู่สถานีปากและสถานีท้องของผู้โดยสารแต่ละคนเสมือนเป็นรถไฟในรถไฟสมชื่อ Sweet Train ซึ่งตู้โดยสารรสหวานแต่ละเมนูก็มีชื่อเฉพาะที่บ่งบอกฤดูกาลและที่มาอย่างได้บรรยากาศ เช่น
Voice of the Frost พุดดิ้งข้าว (Riz au Lait) หอมกลิ่นตะไคร้จากซากะ
Autumn Evening Fruits ผลไม้ฤดูใบไม้ร่วงรสเปรี้ยวหวานสดชื่นด้วยมะเดื่อดำจากซากะกับลูกพลับจากฟุกุโอะกะ
Mountain Foliage ประติมากรรมเกาลัดหวานหลากรูปแบบจากคุมาโมโตะที่ทั้งนุ่มลิ้นและกรุบกรอบเคล้ากันดีในแต่ละคำ
First Frost ขนมหวานพอดีคำ 3 ชนิดที่รวบรวมวัตถุดิบท้องถิ่นจากจังหวัดต่างๆ ของคิวชู ประกอบด้วย ขนมคินทสึบะฤดูใบไม้ร่วงทำจากมันหวานจากคะโงะชิมะและฟักทองจากโออิตะ เมอแรงค์น้ำตาลทรายดำกับงาขาวจากคะโงะชิมะ และบัตเตอร์ครีมจากคุมาโมโตะ และเอแคลร์มัตฉะจากซากะ
กินขนมหนึ่งค่ำ กินบรรยากาศสองข้างทางอีกคำ กินขนมอีกหนึ่งคำ กินความงดงามในขบวนรถอีกคำ ระหว่างที่ลิ้นกับฟันกำลังวุ่นอยู่กับความหวานจานแล้วจานเล่า ตาของผู้โดยสารก็ไม่ว่างจากการชื่นชมความน่าทึ่งของรายละเอียดงานออกแบบภายในขบวนรถ ตั้งแต่ภาพกราฟิกกระดาษรองจาน งานฉลุไม้ของหน้าต่าง ลวดลายของของม่าน ฝ้าเพดานโค้งตีเป็นช่องตารางที่แอบซ่อนลูกเล่นเอาไว้ที่หัวน็อต ตลอดจนสีสันงานสเตนกลาสที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากขบวนรถต้นแบบปี 1906 แต่ด้วยฝีมือของคุณเอจิ มิโตะโอะกะ การต่อยอดมรดกตกทอดทางความฝันของการรถไฟคิวชูจึงถูกถ่ายทอดออกมาในรูปแบบใหม่ ที่คงไม่เกินไปหากจะบอกว่าสมบูรณ์แบบยิ่งกว่าเดิมด้วยซ้ำ
เพดานไม้ฉลุสีขาวของตู้โดยสารหมายเลข 1 มีน็อตรูปใบโคลเวอร์ 4 แฉกสีทองประดับไว้ แต่จะมีเพียงบางช่องเท่านั้นที่เป็นโคลเวอร์ 7 แฉกซ่อนปนอยู่ ปกติชาวญี่ปุ่นจะมีความเชื่อว่าใครพบใบโคลเวอร์ 4 แฉกจะโชคดี แต่รถไฟขบวนนี้ซ่อนใบ 7 แฉกเอาไว้ ไม่แน่ใจว่ามีความหมายอย่างไรเหมือนกัน
มุมหนึ่งบนรถไฟอุทิศให้คุณโนบุทาโระ ฮะระ ‘เทพเจ้าแห่งรถไฟจำลอง’ ผู้มีส่วนสำคัญในการชุบชีวิต Aru Ressha ขบวนนี้ขึ้นมา หากไม่ใช่เพราะความหลงใหลอันแรงกล้าของเขา รถไฟแห่งความฝันขบวนนี้ก็คงเป็นเพียงความทรงจำที่สาบสูญไปตามกาลเวลา
รถไฟจำลองของ Aru Ressha รูปแบบดั้งเดิมรุ่นค.ศ. 1906 ถูกจัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์รถไฟจำลอง Hara Model Railway Museum เมืองโยโกฮาม่าและภายในตู้โดยสารหมายเลข 1 ของรถไฟขบวนปัจจุบัน
การจองตั๋วรถไฟ JR Kyushu Sweet Train ‘Aru Ressha’ ต้องจองล่วงหน้าหลายเดือนไม่แพ้ Cruise Train Seven Stars ที่มีชื่อเสียงอยู่ก่อนหน้า การจองจากเมืองไทยที่ง่ายที่สุดสามารถทำได้โดยการติดต่อผ่าน World Surprise Travel ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบประสบการณ์เดินทาง โดย World Surprise Rail Voyage แบรนด์น้องใหม่สำหรับคนรักรถไฟโดยเฉพาะ ได้จองรถไฟสายพิเศษขบวนนี้ไว้ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2560 ซึ่งเป็นช่วงฤดูใบไม้ผลิที่ Sweet Train จะวิ่งเส้นทางเขียวขจีระหว่าง ฮิตะ-โออิตะ พาผู้โดยสารไปสัมผัสกับทิวทัศน์ธรรมชาติที่งดงามและผลผลิตทางการเกษตรอร่อยๆ จาก ‘จังหวัดโออิตะ’ ที่นักท่องเที่ยวชาวไทยอาจยังไม่คุ้นเคยกันซักเท่าไหร่ ยิ่งถ้าได้เดินทางไปกับ ‘รถไฟแห่งความฝัน’ ด้วยแล้ว เชื่อว่าต้องประทับใจแบบไม่รู้ลืมกันอย่างแน่นอน