LONDON: ก้าวสู่ชานชาลาแห่งอดีตที่ Baker Street สถานีรถไฟใต้ดินยุควิคตอเรียนสายแรกของโลก

“โปรดระวังช่องว่างระหว่างรถไฟกับชานชาลา”

เสียงประกาศที่ผู้โดยสารรถไฟทั่วโลกคุ้นเคยเป็นอย่างดี ก้องดังอยู่ภายในสถานี Baker Street แห่งนี้มานานกว่า 153 ปี ในเครือข่ายระบบขนส่งมวลชนใต้ดินแห่งแรกของโลก ที่หลายคนคุ้นหูกันดีในชื่อ ‘ทูป’ (Tube) หนึ่งในระบบขนส่งมวลชนที่ใหญ่ มีประสิทธิถาพ และซับซ้อนที่สุดของโลก ซึ่งทำหน้าที่เป็นดั่งเส้นเลือดใหญ่ขับเคลื่อนให้ลอนดอนได้กลายเป็นเมืองหลวงที่เป็นศูนย์กลางสำคัญด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมแห่งสำคัญของโลก

FUJI0428

Baker Street Station

ประเทศอังกฤษได้สร้างระบบรถไฟขนส่งมวลชนใต้ดิน (Metropolitain Railway) แห่งแรกของโลกขึ้นเมื่อปี 1863 ที่กรุงลอนดอน เพื่อตอบสนองแนวคิดหลักในการแก้ไขปัญหาการเคลื่อนย้ายมวลชนที่ต้องเดินทางจากชานเมืองเข้าตัวเมืองมาทำงานทุกวัน และเพื่อขจัดปัญหาสลัมที่ได้ก่อตัวอยู่กลางใจเมือง เพียง 59 ปีหลังจากความสำเร็จในการประดิษฐ์รถจักรไอน้ำขึ้นในปี 1804 ลอนดอนก็มีระบบรถไฟใต้ดินใช้กันตั้งแต่ยังไม่ขึ้นศตวรรษที่ 20 หากจะเทียบกับช่วงเวลาของบ้านเราเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น คือตรงกับช่วงปลายรัชกาลที่ 4 และเมื่อมาถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ประเทศไทยเราก็เริ่มมีกิจการรถไฟขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 1886 (พ.ศ.2429) ตามหลังอังกฤษอยู่ไม่กี่สิบปีซึ่งถือว่าทันสมัยมาก แต่กว่าบ้านเราจะมีระบบรถไฟใต้ดินใช้กันครั้งแรกในปี 2004 เวลาก็ล่วงเลยจากวันที่ลอนดอนมีรถใต้ดินใช้มานานถึง 141 ปีทีเดียว

FUJI0414

FUJI0470

รถจักรไอน้ำขบวนแรกออกวิ่งเมื่อเดือนมกราคมปี 1863 ขนส่งชาวลอนดอนกว่า 38,000 คนในวันเปิด บนเส้นทางระหว่างสถานี Paddington กับ Farringdon รวมทั้งหมด 7 สถานี (Paddington, Edgware Road, Baker Street, Portland Road, Gower Street, King’s Cross และ Farringdon) ซึ่งหนึ่งในสถานีเหล่านั้นที่ยังคงการออกแบบดั้งเดิมเอาไว้ก็คือสถานี Baker Street ที่ชานชาลา 5 และ 6 ยังคงมีการใช้งานตามปกติจนมาถึงปัจจุบัน

FUJI0465

ครั้งแรกที่ก้าวเข้าสู่สถานีนี้ในช่วงค่ำหลังเลิกงานเพื่อรอเปลี่ยนสายรถไฟก็รู้สึกต้องมนต์ในบรรยากาศและสถาปัตยกรรมที่แตกต่างจากสถานีอื่นๆ เพราะปัจจุบันสถานีทั่วไปในลอนดอนนั้นได้มีการปรับปรุงให้ดูทันสมัยมากขึ้น เหลือเพียงสถานีนี้ที่เหมือนถูกหยุดเวลาเอาไว้ให้ยังเป็นเช่นเดิมเหมือนวันแรกที่เปิดใช้งาน ถึงแม้กลิ่นอายและบรรยากาศอาจเปลี่ยนไปบ้างแล้วก็ตาม

FUJI0431

FUJI0443

ตัวสถานีเป็นผลงานของ John Fowler ที่ได้ออกแบบและเริ่มก่อสร้างช่วงปลายยุควิคตอเรีย จึงยังคงความสวยงามที่เน้นกระจกแก้ว เหล็กเชื่อมและอิฐ โดยการออกแบบสมัยก่อนจะเน้นความโปร่งและแสงสว่างเพื่อให้ควันรถไฟถ่ายเทได้ง่ายและผู้คนไม่รู้สึกอึดอัดจนเกินไป เรียกได้ว่าเป็นงานที่ยากและท้าทายนวัตกรรมครั้งยิ่งใหญ่ในสมัยนั้น เพราะไม่ใช่เพียงแค่ความสามารถของนักออกแบบเท่านั้น แต่กลุ่มวิศวะก่อสร้างที่มีความกล้าเสี่ยงในการเปิดแนวคิดใหม่ๆ ในช่วงจังหวะที่อังกฤษกำลังขึ้นเป็นผู้นำในการปฎิวัติอุตสาหกรรมซึ่งสภาพเศรษฐกิจในสังคมนั้นดีเป็นอย่างมาก

FUJI0401

FUJI0363

FUJI0402

ตั้งแต่วันที่รถจักรไอน้ำขบวนแรกได้ออกจากสถานี ไปตามเส้นทางหลักของกรุงลอนดอน เสียงกึกก้องของพลังแห่งการขับเคลื่อนยังคงสะท้อนมาจนถึงปัจจุบัน ในอดีตที่ควันรถไฟพวยพุ่ง ความชื้นของไอน้ำและกลิ่นของกำมะถัน ได้เปลี่ยนแปลงชีวิตชาวเมืองสู่อนาคต และกลายเป็นหนึ่งในระบบคมนาคมต้นแบบที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก กว่าร้อยปีที่ผ่านไป กี่ร้อยกี่พันล้านชีวิตที่เคยโดยสารผ่านเข้าผ่านออกสถานีนี้ ไม่ว่าจะมองไปมุมไหนที่นี่ก็ถือเป็นชิ้นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ ที่ยังเคียงคู่อยู่กับชีวิตคนยุคปัจุบันได้อย่างงดงาม

หายใจเข้าลึกๆ ก้าวขึ้นรถไฟ จดจำอดีตแล้วมุ่งหน้าสู่อนาคตข้างหน้ากันต่อ

สถานีต่อไป…


 เรื่องและภาพ โดย Alexander Kalle Lindgren

Magazine made for you.