CALAIS : กราฟฟิตี้ในค่ายผู้ลี้ภัยชาวซีเรีย งานใหม่ของ Banksy ที่สร้างแรงกระเพื่อมต่อสังคมอย่างมหาศาล
เมื่อเดือนธันวาคม 2015 ที่ผ่านมา Banksy ศิลปินกราฟฟิตี้นิรนามชื่อก้องโลกก็ได้สร้างสรรค์ผลงานชิ้นใหม่ของเขาขึ้น ที่คราวนี้ประชดสังคมออกมาในแง่บวกได้อย่างเจ็บแสบและสร้างจิตสำนึกที่ดีให้คนทั่วโลกได้ในคราวเดียวกัน โดยผลงานนี้มีชื่อว่า The son of a migrant from Syria ถูกพ่นขึ้นในค่ายผู้ลี้ภัยชาวซีเรีย (รวมถึงผู้ลี้ภัยจากอัฟกานิสถานและเอริเทรียด้วย) ที่ถูกเรียกว่า The Jungle ตั้งอยู่ในเมืองกาแล (Calais) เมืองท่าทางตอนเหนือของฝรั่งเศส โดยเขาได้ใช้ Steve Jobs เป็นตัวสื่อสารได้อย่างยอดเยี่ยมและตรงเป้า จนสื่อดังหลายสำนักทั่วโลกหันมาสนใจเผยแพร่ข่าวกราฟฟิตี้นี้เพราะมันสื่อสารเชิงสัญลักษณ์ได้อย่างฉกาจทีเดียว
กราฟฟิตี้ The son of a migrant from Syria นั้นเป็นภาพของ Steve Jobs ในชุดยูนิฟอร์มโปรดที่แสนเรียบง่ายกำลังแบกกระเป๋า (บ้างก็ว่าถุงดำ) พาดบ่าซ้ายซึ่งสะท้อนถึงการอพยพได้เป็นอย่างดี ส่วนในมือขวานั้นถือคอมพิวเตอร์เก่ารุ่นเก๋าอย่าง Apple Macintosh (หรือ Macintosh 128K ที่วางตลาดครั้งแรกในปี ค.ศ.1984) ซึ่งโมเดลนี้ถือเป็นก้าวเริ่มต้นแรกๆ ของความสำเร็จของ Apple Inc. ในทุกวันนี้เลยก็ว่าได้ โดยภาพนี้ Banksy ต้องการที่จะสื่อสารว่าขนาด Steve Jobs บุคคลสำคัญของโลกและผู้ให้กำหนด Apple Inc. บริษัทที่ทำกำไรมากที่สุดในโลกก็ยังเป็นบุตรของพ่อที่เคยเป็นผู้อพยพชาวซีเรียมาก่อน เราควรให้โอกาสพวกเขา ไม่แน่ว่าในอนาคตเราก็จะมีบุคคลที่ทรงคุณค่าของโลกที่มาจากผู้อพยพเหล่านี้หรือเชื้อสายของเขาบ้างก็เป็นได้ กราฟฟิตี้ชิ้นนี้ก็เลยกลายเป็นผลงานเสียดสีสังคมในการมองโลกในแง่บวกที่ทรงพลังมากทีเดียว
กราฟฟิตี้ The son of a migrant from Syria นี้สื่อสารได้เจ็บปวดยิ่งขึ้นเมื่อมันถูกพ่นใกล้กับข้อความสีเหลืองบนกำแพงที่เขียนไว้ว่า “Nobody deserves to live this way!” ไม่มีใครอยากที่จะมีชีวิตอยู่แบบนี้หรอก ซึ่งมันสะท้อนถึงอีกมุมหนึ่งว่าเมืองฟู่ฟ่าน่าอยู่ในสายตาชาวโลกอย่างฝรั่งเศสนั้นกลับไม่เหลียวแลความเป็นอยู่ของผู้ลี้ภัยให้ดีเท่าที่ควรเลย ค่ายผู้ลี้ภัยที่นี่มีสภาพซ่อมซ่อราวกับสลัมก็ไม่ผิดนัก นั่นเป็นประเด็นที่โยนคำถามให้กับบรรดาประเทศชั้นนำทั้งหลายตลอดจนนักมนุษยชนแถวหน้าของโลกทั้งปวงว่าพวกเขาดูแลผู้อพยพด้วยมาตรฐานแบบนี้หรือ
Banksy ไม่เพียงแค่สร้างสรรค์กราฟฟิตี้ขึ้นเท่านั้น เขาและชาวแก๊งค์ยังนำเอาวัสดุอุปกรณ์จากผลงาน Dismaland ดินแดนสิ้นหวังซึ่งเป็น Art Exhibition ที่จัดขึ้นเมื่อช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน 2015 ที่ผ่านมา จำลองสวนสนุกหลอนที่ล้อ Disneyland จนโด่งไปทั่วโลก มาบริจาคและลงมือสร้างที่อยู่ที่มั่นคงปลอดภัยขึ้นด้วยตัวเองให้กับผู้ลี้ภัยในค่ายนี้ได้ถึง 12 หลัง รวมถึงสร้างสนามเด็กเล่นขนาดย่อมให้เด็กๆ ในค่ายได้สนุกกันอีกด้วย โดยเขาเปลี่ยนโปรเจ็คจาก Dismaland มาเป็น Dismal Aid โครงการช่วยเหลือผู้สิ้นหวังได้อย่างน่าปรบมือให้ทีเดียว
Banksy เป็นศิลปินกราฟฟิตี้นิรนามชาวอังกฤษที่โด่งดัง ผลิตงานกราฟฟิตี้ไปทั่วโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในลอนดอน เอกลักษณ์งานของเขาก็คือกราฟฟิตี้พ่นสเปรย์ในแบบ Stencil ที่มักแฝงการเสียดสีประชดประชันสังคมได้อย่างเจ็บแสบ เรียบง่าย คมคาย ในขณะเดียวกันก็เป็นผลงานที่มีคุณค่าทางศิลปะด้วย เขาถือเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองสมัยใหม่ที่ใช้กราฟฟิตี้เป็นสื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้เขาก็ยังเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ฝีมือเยี่ยมที่เคยฝากผลงานสารคดีเรื่อง Exit Through the Gift Shop เล่าเรื่องราวของ Thierry Guetta ผู้กำกับภาพยนตร์และศิลปินชาวฝรั่งเศสอพยพ ที่อาศัยอยู่ในลอสแอนเจลิสซึ่งเขาเป็นผู้หลงใหลในเสน่ห์ของ Street Artist อย่างเข้าสายเลือด โดยหนังสารคดีนี้ฉายครั้งแรกในปี ค.ศ.2010 ในเทศกาลภาพยนตร์ดังอย่าง Sundance Film Festival แล้วในปีต่อมา ค.ศ.2011 หนังสารคดีเรื่องนี้ก็ถูกเสนอชื่อให้เข้าชิวรางวัลออสการ์ (Academy Award) ในสาขาภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยม (Best Documentary) อีกด้วย ลองเข้าไปติดตามตัวอย่างผลงานของเขาได้ที่เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของเขา banksy.co.uk
กระแสค่ายผู้ลี้ภัย The Jungle ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองกาแล (Calais) นั้นทำให้เหล่าศิลปินแขนงต่างๆ ลุกขึ้นมายื่นมือช่วยเหลือด้วยวิธีต่างๆ หนึ่งในตัวอย่างที่ถูกพูดถึงพอสมควรก็คือเรื่องของวงร็อคอังกฤษอย่าง Yiyan ที่ข้ามเกาะมาฝรั่งเศสเพื่อเข้าไปเล่นดนตรีปลอบโยนผู้ลี้ภัยในค่ายพร้อมกับการนำเอาอาหารไปบริจาคช่วยประทังชีวิตพวกเขาเหล่านั้น ไม่เพียงเท่านั้นพวกเขายังถ่ายวิดีโอภายในค่ายผู้ลี้ภัยนี้และนำมาทำเป็นมิวสิควิดีโอเพลง Place of Nowhere ของพวกเขาเพื่อเผยแพร่ใน YouTube ด้วย โดยนอกจากจะร่วมสร้างความตระหนักให้คนทั้งโลกได้รับรู้แล้ว เงินทุกบาททุกสตางค์ที่ได้รับจากค่าโฆษณาในการคลิ๊กเข้าชมนั้นทางวงก็จะนำไปมอบให้กับองค์กรยูนิเซฟ (UNICEF) เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ลี้ภัยอีกด้วย
หลังจากกระแสข่าวของค่ายผู้ลี้ภัย The Jungle เริ่มดังขึ้นไปทั่วโลก รัฐบาลฝรั่งเศสก็พยายามเข้ามาจัดการกับปัญหานี้ โดยเมื่อต้นเดือนมกราคม 2016 ที่ผ่านมานี้เองทางรัฐบาลฝรั่งเศสสั่งรื้อถอนค่ายผู้ลี้ภัยที่เสื่อมโทรมดังกล่าว สาเหตุหนึ่งก็เพราะมันตั้งอยู่ติดกับทางด่วนก่อนลงอุโมง Eurotunnel ข้ามไปยังฝั่งอังกฤษ ทำให้มีผู้ลี้ภัยหลายคนแอบหลบหนีไปกับรถบรรทุกเพื่อที่จะข้ามไปยังฝั่งอังกฤษ ทางรัฐบาลฝรั่งเศสสั่งย้ายที่ตั้งค่ายห่างออกไปอีก 200 เมตร โดยจัดตู้คอนเทนเนอร์ที่พักชั่วคราวไว้ให้หลายตู้ซึ่งตู้หนึ่งหลังพักได้ราว 12 คน แต่ผู้ลี้ภัยต่างๆ กลับปฎิเสธที่จะเข้าไปอยู่โดยอ้างว่าเขาไม่มั่นใจในรัฐบาลฝรั่งเศส เพราะการทำลายค่ายคราวนี้ก็มาแบบจู่โจมโดยไม่บอกล่วงหน้าแต่อย่างใด อีกทั้งตู้คอนเทนเนอร์ไม่มีสิ่งจำเป็นพื้นฐานอำนวยความสะดวกอะไรเลย แล้วเวลาที่อากาศเลวร้ายก็ไม่มีใครมาเหลียวแล พวกเขาต้องการที่จะเข้าไปอยู่ในชุมชนอย่างคนปกติทั่วไปมากกว่า สำหรับจำนวนผู้ลี้ภัยที่อยู่ในค่ายนี้มีราว 1,500 คน แล้วก็ยังไม่รู้ชะตากรรมที่แน่นอนว่าอนาคตของคนเหล่านี้จะเป็นเช่นไรเหมือนกัน
Image credit: banksy.co.uk, The Telegraph, Business Insider UK