Behind the Big Shots! ข้างหลังภาพของ “ฟิลลิป ลีดส์” ช่างภาพที่เล่าเรื่องผ่านกล้องโพลารอยด์ปี 1971
“Let’s take a picture.”
คือประโยคที่ ฟาร์เรล วิลเลียมส์ ศิลปินและโปรดิวเซอร์ชื่อดังของยุคนี้บอกว่า เขามักจะได้ยินจากปากของ ฟิลลิป ลีดส์ เพื่อนและอดีตพาร์ทเนอร์ในธุรกิจอยู่เสมอเวลาเจอหน้ากัน
ฟิลลิปไม่ใช่ช่างภาพโดยอาชีพ ประสบการณ์การทำงานของเขาที่ผ่านมามีทั้งการเป็นผู้จัดการทัวร์คอนเสิร์ตให้กับวงฟังก์ร็อกอย่าง N*E*R*D ซึ่งหนึ่งในสมาชิกของวงก็คือฟาร์เรลนั่นเอง เคยผ่านงานสายพีอาร์ เป็นแบรนด์ไดเรกเตอร์ ดูแลทั้งด้านมาร์เก็ตติ้งและดีไซน์ให้กับแบรนด์เสื้อผ้า Billionaire Boys Club ที่เป็นการร่วมทุนกันระหว่างฟาร์เรลและ BAPE แบรนด์ดังจากญี่ปุ่น ปัจจุบันเขายังทำนิตยสารราย 3 เดือนชื่อ Mass Appeal ทำเว็บไซต์ชื่อเดียวกัน ซึ่งทั้งหมดนี้เขาทำควบคู่ไปกับการทำหนังอีกด้วย
แต่เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา นิวยอร์กเกอร์ตั้งแต่เกิดอย่างฟิลลิปก็เดินทางมาเมืองไทย เพื่อโปรโมท Big Shots! หนังสือเล่มแรกในชีวิตของเขา ซึ่งเป็นหนังสือรวมภาพที่ถ่ายโดยกล้องโพลารอยด์ปี 1971 ที่ชื่อว่า Big Shot ชื่อเดียวกันกับชื่อหนังสือของเขา ที่มีฟาร์เรลมาเขียนคำนิยมให้
ในจำนวนภาพถ่ายกว่า 250 รูปที่ฟิลลิปถ่ายไว้ตั้งแต่ซื้อกล้องวินเทจตัวนี้มาเมื่อราวปี 2004 และเลือกมาอยู่ในหนังสือเล่มนี้นั้น ส่วนใหญ่เป็นภาพถ่ายของผู้คนที่เขาได้เจอที่โชว์รูมของ Billionaire Boys Club ในนิวยอร์กตลอดหลายปีที่ทำงานอยู่ที่นั่น ฟังแค่นี้อาจจะดูเหมือนเป็นการถ่ายรูปพอร์เทรตธรรมดาๆ แต่ด้วยแบ็กกราวน์การทำงานในวงการดนตรีของเขา ภาพที่ได้จากโชว์รูมแห่งนี้จึงเป็นคอลเล็กชั่นของผู้คนในวงการ ซึ่งรวมถึงนักร้องนักแต่งเพลงอย่าง คริส บราวน์ และแรปเปอร์ชื่อดังอย่าง สนูป ด็อกก์ ยังไม่นับคนดังอีกมากที่เขาได้ทำงานด้วยและเจอตามงานต่างๆ ซึ่งรูปของคนดังเหล่านั้นก็มาประกอบกันเป็นหนังสือเล่มนี้ด้วย
“สนูปเป็นคนแรกที่ทักว่า ‘เฮ้ย…ทำไมถึงไม่ออกหนังสือของตัวเองล่ะ’” ฟิลลิปเล่าให้ฟังถึงเรื่องที่เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนที่เขาจะมีความคิดว่าจะทำหนังสือหลายปี แน่นอนว่ารูปของสนูปก็รวมอยู่ใน Big Shots! ด้วยเช่นกัน
ระหว่างที่นั่งคุยกัน ฟิลลิปหยิบหนังสือของเขาไปพลิกดูหน้าต่างๆ เมื่อหยุดที่หน้าไหน เขาก็สามารถเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับรูปถ่ายในหน้านั้นออกมาได้อย่างเป็นธรรมชาติ เพราะสำหรับฟิลลิปแล้วภาพถ่ายเหล่านี้ในแง่หนึ่งก็เป็นเหมือนกับบันทึกของเขา
“ทุกรูปมีความทรงจำอยู่ในนั้น” ฟิลลิปพูดประโยคนี้หลังจากที่เขาเล่าถึงเรื่องราวที่มาของรูปหนึ่งในศิลปินแห่งยุคอย่างเจย์-ซี ที่เขาบังเอิญเจอเนื่องจากออฟฟิศอยู่ใกล้กันระหว่างที่เขากำลังถ่ายรูปอยู่ ถึงจะไม่รู้จักกันเป็นการส่วนตัว แต่อาศัยความที่พอจะคุ้นหน้าคุ้นตากันเพราะทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมเพลงเหมือนกัน ฟิลลิปก็ไม่ยอมให้โอกาสนี้หลุดมือไป เขาขอเจย์-ซี ถ่ายรูปด้วยกล้องโพลารอยด์ขนาดใหญ่ตัวนี้ และนั่นจึงเป็นที่มาของภาพเจย์-ซีหน้านิ่ง ถือไม้เบสบอลสีดำ
เมื่อพลิกมาถึงอีกหน้า ซึ่งเป็นรูปของเด็กชายวัยอนุบาลยิ้มให้กล้องและเป็นเด็กคนเดียวที่มีรูปเดี่ยวรวมอยู่ในหนังสือเล่มนี้ ฟิลลิปบอกเราว่านั่นคือลูกชายของเขาเองที่ขอมีส่วนร่วมในหนังสือเล่มนี้โดยการเลือกว่าจะให้รูปตัวเองอยู่ในหน้าที่ติดกับรูปของนาโอมิ แคมป์เบลล์
จากคนที่ไม่เคยมองว่าตัวเองเป็นช่างภาพและไม่คิดว่าวันหนึ่งจะมีหนังสือภาพของตัวเอง ในวันงานเปิดตัว Open House พื้นที่ที่เป็น co-living space แห่งแรกในเมืองไทยบนชั้น 6 ของเซ็นทรัล เอ็มบาสซี มีคนต่อแถวรอให้ฟิลลิปเซ็นชื่อให้หน้าแรกของ Big Shots! ไม่ต่ำกว่า 20 คน
“You can do it!” คือประโยคสั้นๆ ที่ฟิลลิปเขียนลงไป ก่อนจะลงลายเซ็น และเป็นประโยคสุดท้ายที่เขาหันมาพูดกับเราเมื่อจบบทสนทนา
การเปิดตัวหนังสือเล่มนี้เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่จัดขึ้นในงานเปิดตัว Open House เมื่อวันเสาร์ที่ 25 มีนาคม ที่ผ่านมา ซึ่งนอกจากการพูดคุยและแจกลายเซ็นของคนทำงานสร้างสรรค์ระดับโลกอย่าง ฟิลลิป ลีดส์ แล้ว ยังมีการแสดงดนตรีและเวิร์กชอปงานกระดาษที่เรียกความสนใจได้ไม่น้อยเช่นกัน
ถึงแม้แต่ละกิจกรรมจะดูเป็นคนละแบบ คนละสไตล์ แต่ก็ลงตัวอยู่ในพื้นที่ที่ออกแบบมาเพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์แบบต่างๆ ซึ่งทั้งหมดแบ่งออกเป็น 8 โซน มีทั้งร้านหนังสือ, แกลเลอรี่, สนามเด็กเล่น, ร้านขายสินค้าดีไซน์, โรงภาพยนตร์ Embassy Diplomat Screens, co-thinking space พื้นที่ทำงานแนวใหม่ซึ่งมีทุกอย่างที่เอื้อต่อการใช้ความคิดสร้างสรรค์, รวมถึงโซนร้านอาหารที่มีทั้งแบบ semi-service อย่างโซน Eating Deck และ full-service อย่างโซน Eat by the Park ที่รวมเอาหลายร้านอร่อยมาไว้ในที่เดียวกัน
ความหลากหลายในพื้นที่เดียวกันนี้ทั้งหมดมาจากความตั้งใจในการออกแบบเพื่อให้ Open House เป็นพื้นที่ส่วนรวมที่ทุกคนจะร่วมสร้างความสุขในแบบของตัวเองไปด้วยกัน