ตามรอยถ่ายภาพตึกเก่ายุคโมเดิร์น กับ ‘เบียร์ สิงห์น้อย’

“ถ้าตึกยุคโมเดิร์นหายไปหมด ก็เหมือนไทม์ไลน์ของการศึกษารากเหง้าประวัติศาสตร์หายไปด้วย
เลยทำให้ผม คิดว่าเราน่าจะต้องทำอะไรสักอย่าง เพื่อให้คนตระหนักถึงคุณค่าของตึกยุคสมัยนี้”

สำหรับคนที่อยู่ในแวดวงสถาปัตยกรรม น่าจะคุ้นชื่อ และคุ้นตากับภาพถ่ายของ เบียร์-วีระพล สิงห์น้อย หรือ เบียร์ สิงห์น้อย ช่างภาพสถาปัตยกรรมมืออาชีพคนนี้กันมาบ้าง หรือบางคนอาจจะรู้จักเขาในฐานะผู้ก่อตั้งโปรเจกต์ ‘foto_momo (Fotograph of the Modern Movement)’ ที่คอยตระเวนเก็บบันทึกภาพอาคารเก่ายุคโมเดิร์นในเมืองไทยอายุ 40-50 ปีมานับร้อยแห่งได้แล้ว และคุณเบียร์ สิงห์น้อยก็น่าจะเป็นช่างภาพสถาปัตยกรรมผู้หลงรักสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ (ยุคโมเดิร์น) ที่สุดคนหนึ่งในประเทศไทยเลยล่ะ

ครั้งนี้เราจึงชวน คุณเบียร์ สิงห์น้อย มาเล่าสู่กันฟังถึงอาคารยุคโมเดิร์นในกรุงเทพฯ ที่เขาประทับใจ โดยมี อ.ฤกษ์ดี โพธิวนากุล อาจารย์พิเศษ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้หลงใหลงานสถาปัตยกรรมยุคโมเดิร์นเหมือนกัน มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างคนรุ่นยุคตึกโมเดิร์น กับคนยุค(อยาก)อนุรักษ์ตึกโมเดิร์นเอาไว้ ว่าข้างหลังภาพถ่ายตึกรามบ้านช่องของกรุงเทพฯในยุคโมเดิร์นนั้น มีอะไรแอบซ่อนไว้อยู่บ้าง…

เบียร์ สิงห์น้อย: กรุงเทพในยุคโมเดิร์นเป็นอย่างไรบ้างครับ?

อ.ฤกษ์ดี: ผมเกิดพ.ศ. 2508 ชีวิตในสมัยนั้นยังช้าอยู่ และคนยังน้อยมาก และภาพที่คิดถึงขึ้นมาแว้บแรกเลยคือ ตอนผมอยู่ราวๆ ป.3-ป.4 คุณพ่อคุณแม่พาไปถ่ายรูปที่โรงแรมดุสิตธานี ซึ่งตอนนี้กำลังจะไปแล้ว ในตอนนั้นมันปิ๊งมาก ตั้งตะหง่านอยู่อันเดียวเลย แต่ก่อนบริเวณนั้นยังไม่มีรถ ก็กางเสื่อนั่งปิกนิคกับคุณพ่อคุณแม่ กันตรงสนามหญ้าข้างลานพระบรมราชานุสาวรีย์ ร.6 แล้วถ่ายรูปกับตึกโรงแรมดุสิตธานีจากตรงนั้นได้เลย พอกลางคืนก็จะสว่างไสวอยู่ตึกเดียว แล้วข้างบนชั้นที่ 22 ก็มีห้องอาหารเทียร่าที่จัดไลท์ติ้งนำสมัยมาก เรียกได้ว่าสมัยนั้นตึกโรงแรมดุสิตธานีเป็นตึกที่โก้ ใครเข้ากรุงเทพฯ หรือเพื่อนฝรั่งมาก็ต้องมาถ่ายที่ตึกนี้เหมือนเป็นแลนด์มาร์กเลยก็ว่าได้

เบียร์ สิงห์น้อย: เหมือนสมัยนี้ที่ใครก็ต้องมาถ่ายรูปที่สยาม พารากอนใช่มั้ยครับ แล้วดุสิตธานีก็เคยเป็นตึกที่สูงที่สุดในกรุงเทพฯ อยู่พักนึงด้วย

อ.ฤกษ์ดี: และในสมัยก่อนถ้าเราอยากไปทานอาหารดีๆ ต้องไปทานที่โรงแรมเท่านั้น จะไม่มีร้านรวงเล็กๆน้อยๆ ที่มีเชฟมาเปิดอย่างเดี๋ยวนี้ สมัยนั้นยังมีแค่ไม่กี่ตึกในกรุงเทพฯ ที่เมื่อคนทั่วไปได้เข้าไปแล้วรู้สึกว่าเป็นยุคโมเดิร์น ที่แปลกหูแปลกตาน่าตื่นเต้นก็จะมีแค่ธนาคารและโรงหนัง สมัยนั้นโรงหนังจะเป็นแบบ Stand Alone อย่าง โรงหนังฮอลลีวู้ด, โรงหนังเอเพ็กซ์(Apex), โรงหนังปารีส แต่ก่อนหนังฮอลลีวู้ดเรื่องไหนที่ดังมากๆ เขาจะต้องมาฉายที่โรงหนังฮอลิวู้ดกับเอเพ็กซ์ อย่างเรื่อง เบนจี้ ฉายแล้วฉายอีกไม่รู้กี่รอบ เบียร์ได้ทันบ้างมั้ย

เบียร์ สิงห์น้อย: ผมพอจะทันโรงหนังฮอลลีวู้ด, แมคเคนน่า, สกาล่า, ลิโด้ ส่วนโรงหนังปารีสผมไม่ทัน

อ.ฤกษ์ดี: แต่ก่อนระบบไฟฟ้ายังซัพพอร์ทเมืองได้ไม่เท่าเดี๋ยวนี้ อากาศก็ยังดีอยู่ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นโอเพ่นแอร์กัน อย่างตึกเคี่ยนหงวนแถวๆถนนวิทยุ หรืออย่างตึกศรีเฟื่องฟุ้ง ที่สมัยผมเรียกว่าตึกเอสโซ่ แล้วก็เปลี่ยนมาเป็น ตึกคาเธ่ย์ทรัสต์ พอมาเล่าอย่างนี้ก็เหมือนคนแก่ระลึกถึงความหลัง ผมถึงชื่นชมคนรุ่นใหม่ ที่จะทำให้ตึก หรือบ้านยุคโมเดิร์นเหล่านี้ยังอยู่ เพราะคนรุ่นผมจะค่อยเห็นมันหายไป ตอนนี้ก็เริ่มทำใจได้ มันเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้น เพราะอย่างในสหรัฐอเมริกาเอง ตึกดีๆกว่าเราก็ยังมีที่หายไปต่อหน้าต่อตาเหมือนกัน

อ.ฤกษ์ดี: แล้วคนยุคนี้คิดยังไงกับยุคนั้นบ้าง?

เบียร์ สิงห์น้อย: อย่างผมเป็นคนรุ่นใหม่ที่อาจจะไม่ทันกิจกรรมที่อาจารย์เล่าให้ฟัง แล้วก็ใช้ชีวิตอยู่ต่างจังหวัด เลยไม่ค่อยได้ซึมซับกับตึกยุคนี้เท่าไร พอได้เข้ามาศึกษาตึกยุคนี้อย่างจริงจังก็เห็นว่ามีคุณค่า และยิ่งพอได้เห็นรูปเก่าๆ รู้สึกว่ามีเสน่ห์ที่น่าสนใจ และผมสนใจการขยายตัวของเมือง หากลองย้อนกลับไปดูในอดีต อย่างถนนเส้นแรกคือเจริญกรุงเริ่มมีตึกอาคารพาณิชย์ แต่พอเมืองพัฒนาขึ้น เมืองจึงขยายตัวออกมารอบนอกอย่างละแวก สีลม สุขุมวิท เพชรบุรี ตึกสูงยุคโมเดิร์นก็เลยมาเกาะกลุ่มอยู่แถบๆนี้

อ.ฤกษ์ดี: แต่ก่อนเจ้าของกับสถาปนิกจะใกล้ชิดกันมากๆ ทั้งคุณหมอกับสถาปนิก นายแบงค์กับสถาปนิก แล้วก็นายห้างกับสถาปนิก ต่างคนต่างให้เกียรติวิชาชีพซึ่งกันและกัน สมัยก่อนเขาจะไม่ก้าวก่ายกันกันเลย ทำให้ผลงานการออกแบบได้ออกมาอย่างเต็มที่ และออกมาดีด้วย

CC: นิยามหรือคำอธิบายที่สื่อสารให้คนทั่วไปเข้าใจได้ง่ายๆ เกี่ยวกับงานสถาปัตยกรรมแนว Brutalist

เบียร์ สิงห์น้อย: ถ้าในแง่ของรากศัพท์ Brutal มาจากภาษาฝรั่งเศสว่า brut แปลว่า ดิบ หยาบ กระด้าง หมายถึงคอนกรีตดิบๆ ไม่ฉาบผิวหน้า (Raw Concrete) คอนกรีตที่ไม่ได้มีการทาสี ปิดผิวหน้า เพื่อโชว์พื้นผิว และมีลักษณะเด่นอยู่ที่ความหนักแน่นของปริมาตรอาคาร คอนกรีตจะช่วยสร้างความหนักแน่นให้อาคาร โชว์โครงสร้างตัวอาคาร แล้วก็มีการเล่นจังหวะที่ซ้ำๆกันของแพทเทิร์นต่างๆ ตรงฟาซาด (façade) อาคาร และ Brutalist จะเป็นช่วงหนึ่งของงานสถาปัตยกรรมยุคโมเดิร์น เป็นช่วงปลายๆยุคโมเดิร์น

อ.ฤกษ์ดี: ถ้าแปลตรงๆ ‘Brutal’ จะมีความหมายว่า หยาบ, ถ่อย, เถื่อน อย่างหนังที่มีความรุนแรงเขาก็จะเรียกว่า Brutal เหมือนกัน ยุคโมเดิร์นเป็นยุคที่เรามีคอนกรีตใช้แล้ว ผมอ่านเจอมาว่ามีคนนิยามว่าคอนกรีตคือหินที่ไหลได้ (Fluid Stone) เอาความเหลวไหลได้ไปหล่อ พอหล่อแล้วอยากให้เห็นเป็นร่องรอย ก็เลยเป็น Brutal ที่มีความหยาบ มีความเป็นหิน ไม่ต้องฉาบปูนเรียบ ถ้าเราทำให้เรียบมันก็จะไม่เป็น Brutal อย่างเช่น โรงพิมพ์ผ้าปีนัง เป็นคอนกรีตเหมือนกันนะ ถ้ามันหยาบมันจะเป็น Brutal เลย แต่พอสถาปนิกเขาออกมาแบบโดยเพิ่มความนวลเข้าไป มันจะเป็นอีกไดเร็กชั่นหนึ่ง เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะชอบคอนกรีตที่สไตล์ Brutal และออกจะไม่ชอบมากกว่าเสียด้วยซ้ำ หลายๆคนยังเข้าใจว่าอะไรที่เป็นคอนกรีตจะเป็น Brutal หมดซึ่งจริงๆแล้วไม่ใช่ วิธีดูง่ายๆ คือ ตึกไหนที่ดูหยาบเป็น Brutalist Architecture และ Texture ก็เป็นสุนทรียภาพทางสถาปัตยกรรมอย่างหนึ่งด้วย

เบียร์ สิงห์น้อย: อาจารย์สะสมงานเกี่ยวกับตึกโมเดิร์นมาตั้งแต่แรกๆเลยรึเปล่าครับ?

อ.ฤกษ์ดี: สมัยก่อนผมบ้าคลิปข่าว เริ่มมาจากที่เคยได้ฟัง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ท่านบอกว่าไม่ต้องรู้ทั้งหมด แต่ว่าเจออะไร ให้เก็บแล้วไปหาให้ถูก ซึ่งท่านหมายถึงว่าคนเราจำหรือรู้ไปหมดไม่ได้อยู่แล้ว ถ้ามีความรู้อะไรใหม่ๆ เขามาแล้วเก็ทไม่ทัน ก็เก็บเอาไว้ แล้วตอนที่จะใช้ก็ไปหาให้ได้แล้วกัน ช่วงแรกๆที่ไม่มีคอมพิวเตอร์ ผมตัดหนังสือพิมพ์ แล้วเอามาแปะบนกระดาษ A4 เอาไปซีร็อกซ์ แล้วเอาคลิปกระดาษมาหนีบ แล้วสมัยนั้นเรียลเอสเตท (อสังหาริมทรัพย์) มันบูมมาก ก็จะมีแต่ข่าวตึกนู้นตึกนี้จะขึ้น น่าจะคลิปกันมันมาก ตอนแรกผมก็ไม่ได้จะเก็บอะไรเป็นเรื่องเป็นราวขนาดนี้ เริ่มมาจากที่เป็นคนบ้าคลิป แล้วเก็บเป็น meditation ของตัวเอง เหมือนเป็นการปฏิบัติธรรม แล้วตอนหลังผมก็เลยโพสท์ลงใน facebook ของตัวเอง เผื่อมีคนรุ่นหลังที่สนใจ อย่างเบียร์ หรือ อาจารย์รุ่นน้อง เขาจะได้เอาไปทำนู่นทำนี่ โดยไม่ได้บอกอะไรเขาเลยนะ เอาข้อมูลที่หมกอยู่บ้านเรา ส่งต่อไปยังอีกรุ่นหนึ่ง

เบียร์ สิงห์น้อย: แล้วผมก็เอาความสามารถที่ผมไปถ่ายรูปได้ เอาไปทำต่อ

อ.ฤกษ์ดี: ซึ่งเขาก็ถ่ายทอดได้ดีมาก ผมไม่รู้ว่าเขาทำยังไงนะ ผมก็เคยพยายามไปถ่าย แต่สุดท้ายได้มา 2 รูป

CC: ตึกไหนบ้างที่คุณเบียร์ ได้ตามรอยมาจากอ.ฤกษ์ดี ?

เบียร์ สิงห์น้อย: แทบทั้งนั้นเลยครับ (หัวเราะ) ผมจะกดติดดาวไว้ให้เห็นก่อน อาจารย์โพสท์อะไรมาผมเห็นหมด เป็นแฟนคลับอาจารย์เหมือนกัน เพราะอาจารย์ก็จะโพสท์อยู่เรื่อยๆว่าตึกนี้ใครสร้าง สร้างสมัยไหน สภาพดั้งเดิมเป็นยังไง แล้วผมก็ไปหาข้อมูลต่อ ไปสืบต่อ แล้วทำการบ้านไประดับหนึ่งก่อนที่จะออกไปถ่ายภาพ

CC: คิดว่าอะไรคือเสน่ห์ของตึกอาคารแนว Brutaltist หรือสไตล์โมเดิร์น ?

อ.ฤกษ์ดี: เอาจริงๆตอนผมเรียนผมก็ไม่ได้ชอบตึกพวกนี้หรอกนะ แล้วต้องทำรายงานเกี่ยวกับตึกสไตล์นี้ด้วย ก็จะสงสัยว่าอยู่กันไปได้ยังไง ด้วยความที่เราดูแต่รูป เราก็จะคิดว่ามันจะสกปรก แต่ถ้าดูแลดีๆ ก็จะดูมีคลาสนะ ด้วยความที่ตึกสไตล์นี้ไม่ใช่วัฒนธรรมของบ้านเรา ซึ่งบ้านเราเป็นเมืองที่ร้อนมาก พอเราไปอยู่ในตึกพวกนี้อีก แค่เข้าไปเราก็จะรู้สึกร้อน แต่กลับกันถ้าเราไปฝรั่งเศส แล้วไปอยู่ในตึกแบบนี้เราจะรู้สึกกลับกันเลย เพราะตึกพวกนี้มันจะระอุ พอเก็บแดดกลางวันที่ที่ฝรั่งเศสเขามีอยู่น้อยอยู่แล้วนะ มันจะอบอุ่น สบายมากๆเลย ก็เลยรู้ว่าตึกสไตล์โมเดิร์นหรือ Brutalist นี้มันดีในแต่ละโอกาส วาระ สถานที่ ส่วนที่ผมชอบที่สุดคือคน คนสำคัญที่สุด อย่างตึก Brutalist ในเมืองไทยนี้ต้องมีความดื้อจริงๆ ดื้อทั้งคนออกแบบและเจ้าของ ต้องดื้อทั้งคู่ อย่างอาคารเรียนฟิสิกส์ ที่ม.เกษตรศาสตร์ก็ต้องมีความดื้อพอสมควร ออกแบบโดยอาจารย์องอาจ สาตรพันธุ์ ซึ่งมีฉายาว่า Le Corbusier เมืองไทย ถูกเรียกตัวมาจากคอร์แนลก็เพื่อมาทำตึกฟิสิกส์ และตึกโรงเรียนปานะพันธุ์วิทยา

เบียร์ สิงห์น้อย: ผมประทับใจในเรื่องรูปทรง ชอบความเรียบง่ายของทรงเรขาคณิต ตึกที่ประทับใจก็จะแสดงออกมาทาง ฟาซาดอาคาร มีความซ้ำของแพทเทิร์น และสถาปนิกที่ผมชอบเป็นพิเศษก็คือ อาจารย์อมร ศรีวงศ์ ท่านมีเบื้องหลังของการทำงานสถาปนิกที่น่าสนใจมากๆ สนใจการทำก่อสร้างและเรียนรู้การก่อสร้างด้วยตัวเอง ไม่ได้เรียนในระบบมหาวิทยาลัย ไปฝึกงานในวงการก่อสร้างผู้รับเหมา แล้วพัฒนาตัวเองจนกลายมาเป็นนักออกแบบได้ ตัวอย่างตึกที่อาจารย์อมรออกแบบก็มีตึกกลม (อาคารเรียนรวมคณะวิทยาศาสตร์) ที่มหิดล, ตึกฟักทอง (ศูนย์ปาฐกถาประดิษฐ เชยจิตร) ที่ ม.สงขลานครินทร์ หาดใหญ่ ครับ

อ.ฤกษ์ดี: สถาปนิกที่ผมชื่นชอบเป็นพิเศษคือ อาจารย์กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา ท่านเคยเป็นผู้ว่ากทม.สมัยหนึ่งด้วย ท่านเป็นคนตรงไปตรงมามากๆ และสะท้อนไปยังตึกที่ท่านออกแบบมีความตรงไปตรงมา เน้นฟังก์ชั่น มีเทสต์ ผลงานออกแบบของท่านที่โดดเด่นน่าสนใจ ก็มีอาคารศูนย์การค้าริเวอร์ ซิตี้ ที่ท่านออกแบบ แล้วตรงด้านริมแม่น้ำ ที่ดีไซน์เป็นเส้นนอนแล้วมีศิลปะแนว Cubism ที่แสดงถึงความเป็นเหลี่ยมมุม ท่านแปลคลื่นของแม่น้ำไปอยู่บนตึกให้เป็นคลื่นนามธรรม น่าเสียดายที่ตอนนี้เขาเอาจอ LCD มาติดทับไปแล้ว และสมัยหนึ่งมีคนเรียกตึกสาธรธานี ที่ท่านสร้างว่าตึกขนมชั้น งานออกแบบของบริษัทคาซ่าที่อาจารย์กฤษฎาก่อตั้งนี้เป็นตึกสมัยใหม่ ทั้งรูปลักษณ์ ความเหมาะสมของสภาพอากาศของเมืองไทย ที่ทิศตะวันตกตะวันออกต้องทึบ ทิศเหนือมีหน้าต่าง ทิศใต้มีหน้าต่างแต่ว่าต้องบังแดด งานสถาปัตยกรรมโมเดิร์นจะคิดถึงฟังก์ชั่นก่อน

CC: มีความเกี่ยวข้อง หรือผูกพันกับอาคารหรือตึกแนว Brutalist หรือ ตึกสไตล์โมเดิร์นอย่างไรบ้าง?

เบียร์ สิงห์น้อย: ตึกศรีเฟื่องฟุ้ง เป็นตึกที่ผมชอบด้วยเขายังเก็บความออริจินอลไว้ได้เกือบสมบูรณ์แบบ แล้วก็ชอบฟาซาด ที่ออกแบบโดยวิธีบังแดดให้ตอบรับกับสภาพภูมิอากาศในเมืองไทย ออกแบบให้พออยู่ข้างในแล้วแดดเข้าไปในตึกไม่ได้ คิดคำนวณหนามทุเรียนด้วยสมการคณิตศาสตร์อย่างดี ทำให้ดูน่าสนใจ

อ.ฤกษ์ดี: สมัยก่อนแถบตึกศรีเฟื่องฟุ้ง จะมีตึกบริษัท Buyer ตึก IBM มีแผงหนามๆ เพื่อบังแสงแดดส่อง แล้วสถาปนิกที่ออกแบบจะมาจากสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นประเทศที่มีการทำระบบอุตสาหกรรม แล้วเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของเขาคือ ต้องทำให้เป็นอุตสาหกรรม อย่างออกแบบ ผนังที่บุบๆบวมๆเสร็จ แล้วก็ต้องเอามาทำให้เป็นระบบอุตสาหกรรม เหมือนอย่างการสกรีนผ้าที่ต้องจับแพทเทิร์นให้ได้ช่วงหนึ่งแล้วก็ทำซ้ำๆกัน เพราะเขารู้สึกว่าการซ้ำกันของเครื่องจักรก็คือความสวยงามแบบเครื่องจักร ด้านทึบแบบหนึ่ง ด้านกันแสงเขาก็จะดีไซน์ ซึ่งจริงๆไม่ต้องทำหนามขนาดนั้นก็ได้ แต่เขาทำให้ยากที่สุดอันเดียว แล้วก็ทำซ้ำ เหมือนเป็นระบบโมดูล่า อันนี้เป็นชาแลนจ์ของเขา เพราะสถาปนิกชาวยุโรปส่วนใหญ่จะเป็นแบบนี้ โตมากับระบบอุตสาหกรรม เขาต้องโชว์ความเป็นสุนทรียภาพของเครื่องจักรออกมาให้ได้ แล้วผมก็ว่ามันเป็นต้นแบบที่ดีให้กับคนไทยนะว่ามันก็มีแบบนี้ด้วย เพราะแต่ก่อนยังไม่มีใครรู้ว่าทำทีเดียวแล้วเอามาเหน็บๆได้

CC: ประเทศไทยเริ่มมีตึกอาคารสไตล์ Brutalist หรืออาคารสไตล์โมเดิร์นมาตั้งแต่เมื่อไร ?

เบียร์ สิงห์น้อย: เริ่มราวๆช่วงปีพ.ศ. 2510-2530 เป็นช่วงที่สถาปนิกไทยเรียนจบจากต่างประเทศ แล้วกลับมาเป็นอาจารย์ มาทำงานในราชการ แล้วได้มาออกแบบจริง ก่อนหน้านี้จะไม่ใช่ระบบสถาปนิก เป็นระบบช่าง ย้อนกลับไปเก่ามากๆ เราก็จะใช้ช่างจากอิตาลีมาทำพระที่นั่งอนันตสมาคม พอยุคสมัยนี้เราไปศึกษาที่ต่างประเทศมา แล้วก็มาพัฒนาบ้านเมืองของเรา

อ.ฤกษ์ดี: ช่วงที่เราเริ่มมีตึกสมัยใหม่เข้ามานี้ โปรดักส์ทางด้านการเงินเพิ่งเข้ามาในประเทศไทยใหม่ๆ แล้วก็จะมีคนมาเล่นเยอะ ก็เลยจะมีการสร้างตึกพวกนี้เยอะมาก เพราะมีนักผันเงิน หรือนักสร้างนวัตกรรมการเงินเขาสามารถที่จะเพิ่มมูลค่าทำให้เกิดตึกขึ้นเยอะเลย สมัยนั้นถ้าจะทำเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ต้องสร้างตึก แต่ก่อนตึกพวกนี้จะเป็นฝรั่งทำหมด เพราะลูกค้าเป็นชาวต่างชาติทั้งนั้นด้วย ถ้าคนไทยที่เริ่มคนแรกๆ ก็คือ อาจารย์กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา, คุณบุรินทร์ วงศ์สงวน, อาจารย์อมร ศรีวงศ์, คุณรังสรรค์ ต่อสุวรณ, คุณสุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา สมัยก่อนเข้าของตึกกับสถาปนิกจะมีความใกล้ชิดกันมาก และสถาปนิกที่ไม่ได้ออกแบบอย่างเดียว มีทำธุรกิจอย่างอื่นควบคู่ไปด้วย

เบียร์ สิงห์น้อย: บางงานออกแบบของอาจารย์กฤษฎา ท่านจะจับความเป็นไทยเข้าไปใส่ อย่างเอาลายไทยไปใส่ในช่องลม แทนที่จะเป็นช่องลมสำเร็จรูป รูปทรงเรขาคณิตธรรมดา ก็เอาลายไทยมาประยุกต์ให้เกิดทรวดทรง ทำโมดูล่าให้เกิดซ้ำๆ ส่วนตึกศรีเฟื่องฟุ้ง และโรงแรมอินทรา รีเจนท์ก็จะมีการซ้ำกันของฟาซาด ผนังดับเบิ้ลสกิน โรงแรม Holiday Inn ก็จะมีความซ้ำกันของช่องหน้าต่าง ตึกพวกนี้ทำให้เราเห็นถึงพัฒนาการของเมืองที่กระจายไปตามถนนเส้นต่างๆ กลายเป็นอาคารสำคัญ เป็นแลนด์มาร์กของย่านนั้นๆ ตั้งแต่ลาดพร้าว เพชรบุรี สุขุมวิท รวมไปถึงชานเมือง หัวเมืองต่างๆ ก็สร้างเมืองใหม่ให้พื้นที่นั้นๆ พอช่วงหลังๆที่มีเหล็กกับกระจกเข้ามาเยอะขึ้น ก็กลายเป็นสไตล์คอนเท็มโพรารี่ แตกไปหลายๆทาง

อ.ฤกษ์ดี: แต่ละตึกมันจะมีเรื่องราวของยุคนั้นอยู่ อย่างตึก Holiday Inn แรกๆทุกคนจะตื่นเต้นที่มีหน้าต่างเรือดำน้ำ เด็กที่เดินผ่านจะเรียกเรือดำน้ำ มีความแปลกหูแปลกตา พอเวลาผ่านไปก็จะเรียกว่าเชยแล้วก็ว่าได้

เบียร์ สิงห์น้อย: ส่วนโรงพิมพ์ผ้าปีนัง ผลงานการออกแบบของ อาจารย์รังสรรค์ ต่อสุวรรณ ท่านเอาคอนเซ็ปต์รูปทรงแก้วแชมเปญมาใช้ ซึ่งในภาษาออกแบบที่อ.รังสรรค์ใช้คือรูปทรงลูกแก้ว เป็นเสาขึ้นมาทรงก้านแก้วแชมเปญแล้วบานออกขึ้นไปเป็นแก้วเชมเปญ ซึ่งคุณค่าของอาคารหลังนี้อย่างหนึ่งเลยคือความยากในการก่อสร้าง ความโค้งเนียน ซึ่งช่างสมัยนี้ทำไม่ค่อยได้แล้ว และความประทับใจอีกอย่างก็คือเจ้าของเขารักและดูแลอาคารนี้อย่างดี เคยได้ยินว่ามีคนอยากจะมาซื้อหรือพัฒนาเปลี่ยนแปลง แต่เขาไม่ขายและยืนยันที่จะเก็บไว้ ถึงแม้ว่าโรงงานซึ่งเป็นธุรกิจของครอบครัวจะย้ายออกไปย่านชานเมืองแล้ว ก็ยังเก็บอาคารหลังนี้ไว้อยู่ ก็อยากให้ทุกคนที่เป็นเจ้าของอาคารในยุคนี้มีความรักและหวงแหนแบบนี้

CC: ในมุมมองคุณ อาคารเก่าเหล่านี้มีความสำคัญทางศิลปะอย่างไรบ้าง?

เบียร์ สิงห์น้อย: ถ้าตึกยุคโมเดิร์นหายไปหมด ก็เหมือนไทม์ไลน์ของการศึกษารากเหง้าประวัติศาสตร์หายไปด้วย
ไม่มีอะไรหลงเหลือให้ได้ศึกษา ย้อนไปถึงที่ว่ายุคโมเดิร์นเป็นยุคที่เราเริ่มให้ความสำคัญของความงาม เกี่ยวกับเรื่องเครื่องจักรกลระบบอุตสาหกรรม มันเป็นการเปลี่ยนทัศนคติของเรา เราหันมาเคารพระบบอุตสาหกรรม ระบบการเงินเป็นอย่างแรกๆ ถ้าทุกวันนี้ตึกยุคโมเดิร์นยังคงอยู่ ก็จะสร้างความหลากหลายให้สถาปัตยกรรม ไม่ต้องมีตึกสูง หรือคอนโดมิเนียมหน้าตาซ้ำๆกันหมด ส่วนอาคารไหนดีหรือไม่ดีก็ต้องให้คนใช้งานตัดสินใจเอง

อ.ฤกษ์ดี: ทำให้ขาดองค์ความรู้ของตึกช่วงหนึ่งไป เพราะผมคิดว่าตึกพวกนี้มีความจริงใจสูงมาก จริงใจตั้งแต่การเริ่มต้นคิดแบบ ผมว่าตึกรุ่นนี้…จริงใจดีนะ


Sponsored by NOBLE STATE 39

อยากให้คุณได้สัมผัสความงามของแพทเทิร์นในสถาปัตยกรรม เช่นเดียวกับ NOBLE STATE 39 คอนโดใหม่ในซอย สุขุมวิท 39 ที่ได้รับแรงบันดาลใจการออกแบบจากสถาปัตยกรรมสไตล์ Brutalist โดยเน้นการใช้รูปทรงเรขาคณิต สร้างเป็นรายละเอียดซ้ำๆ จนเกิดเป็นแพทเทิร์นที่กลายเป็นอัตลักษณ์เฉพาะของโครงการ ในขณะเดียวกันก็ได้รื้อแพทเทิร์นแบบเดิมๆ ‘Life Patterns Reconstructed’ ในการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของสิ่งเก่าและใหม่ ให้ความ retroได้ผสมผสานเข้ากับความทันสมัยที่สุดของโลเคชั่นใจกลาง The Em District ห่างจากบีทีเอสพร้อมพงษ์เพียง 450 เมตร

‘TO BE MODERN IS NOT A FASHION, IT’S STATE’

www.noblehome.com/condominium/State39-Sukhumvit

ลงทะเบียนได้ที่นี่

Magazine made for you.