ตามรอย Call Me by Your Name สู่ ‘เกรโมนา’ ทางตอนเหนือของอิตาลี
Summer 1983
Somewhere in northern Italy
Call Me by Your Name เปิดเรื่องด้วยเวลาและสถานที่คร่าว ๆ แบบเหลือพื้นที่ให้ผู้ชมได้ค่อย ๆ ซึมซับบรรยากาศตอนเหนือของอิตาลีผ่านภาพยนตร์ไปทีละเล็กละน้อย – แสงแดดจ้าที่ฉาบลงบนผนังตึกเก่าสีสวย ทะเลสาบที่ใสราวกับกระจก เสียงนกร้องเจื้อยแจ้วคลอคู่ดนตรีคลาสสิค ไวน์ที่ไม่เคยขาดจากโต๊ะอาหาร และลูกพีชที่กำลังสุกงอมพร้อมให้เด็ดกินได้จากต้น (กับเจ้าแมลงวันที่คอยแอบเข้ามาดอมดม) แต่ละฉาก แต่ละตอน ล้วนสวยงามและเต็มไปด้วยชีวิต
ที่นี่มันที่ไหนกันนะ ? ผู้ชมหลายคนคงถามอยู่ในใจ
‘เกรมา’ คำใบ้แรกถูกเฉลยขึ้นมาบนโต๊ะอาหารหลังจาก ‘The usurper’ ตื่นจากการสลบไสล และเตรียมออกไปสำรวจเมืองต่างถิ่นที่เขาเพิ่งเดินทางมาถึง โดยมีหนุ่มน้อยเอลิโอ ลูกชายของเจ้าบ้านอาสานำทาง และเรื่องราวในฤดูร้อนของพวกเขาก็ได้เริ่มต้นขึ้น
เกรมา (Crema) เป็นหนึ่งในเมืองซึ่งเป็นสถานที่ถ่ายทำหลักของเรื่อง เช่นเดียวกับเมืองมอสคาซซาโน (Moscazzano) ที่ตั้งของบ้านตากอากาศของครอบครัวเอลิโอ และเมืองปันดิโน (Pandino) ที่ตั้งของอนุสรณ์สถานสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ในฉากที่ทำให้ผู้ชมหลายคนเริ่มจะเขินจิกเบาะ แทบทุกสถานที่ที่ปรากฏในเรื่องล้วนอยู่ในจังหวัดเกรโมนา (Cremona) ในแคว้นลอมบาร์เดีย (Lombardia) ทางตอนเหนือของอิตาลี ที่ซึ่งลูกา กัวดาญิโนผู้กำกับของเรื่องใช้ชีวิตอาศัยอยู่จริง ๆ
[su_gmap width=”1600″ address=”cremona”][/su_gmap]
ไม่แน่ว่าเพราะเหตุนี้ กัวดาญิโนผู้ซึ่งเข้าใจบริบทพื้นที่ ตลอดจนรายละเอียดเล็ก ๆ ในวิถีชีวิตของคนท้องถิ่นเป็นอย่างดี จึงสามารถสร้างความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครกับสถานที่ได้สมจริงจนผู้ชมจมลงสู่ความรู้สึกที่หนังต้องการพาไปได้ไม่ยาก มากไปกว่านั้น กัวดาญิโนได้ทำให้ผู้ชมอยากลุกออกจากโรงหนัง แล้วเดินทางไปสัมผัสฤดูร้อนในตอนเหนือของอิตาลีเข้าเสียแล้ว
ว่าแต่..พื้นที่แถบเกรโมนามีอะไรน่าสนใจบ้าง ?
ปกติเวลากางแผนที่ตอนเหนือของอิตาลีเหนือออกมา นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่คงจะปักหมุดที่มิลาน, เวนิส, เจนัว, โบโลญญา, โมเดนา, โคโม, เบอร์กาโม แล้วลากนิ้ววืดผ่านเกรโมนาไปทั้ง ๆ ที่เกรโมนาอยู่ห่างจากมิลานเพียงชั่วโมงเศษ ๆ แต่สำหรับคนที่หลงใหลในดนตรีคลาสสิค เกรโมนาถือเป็นเมืองสำคัญที่ต้องไปเยือนสักครั้ง เพราะเกรโมนาเคยเป็นถิ่นของ ‘ตระกูลอมาตี’ หนึ่งในกระกูลช่างทำไวโอลินที่มีชื่อเสียงรุ่นแรกๆ นำโดย อันเดรีย อมาตี ผู้ถูกยกย่องว่าเป็นผู้สร้างไวโอลิน (รูปแบบปัจจุบัน) คันแรกของโลกขึ้นมา
ชื่อเสียงกว่า 500 ปีของวิชาทำไวโอลินเมืองเกรโมนาเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม (Intangible cultural heritage) โดยองค์การยูเนสโกในปี 2012
ช่างทำไวโอลินยอดฝีมือในอดีต อย่าง อันโตนิโอ สตราดิวารี และ ลูกหลานตระกูลกวาร์นีเอรีล้วนสืบทอดวิชามาจากตระกูลอมาตี และเป็นชาวเกรโมนา ปัจจุบันมูลค่าไวโอลินที่สตราดิวารี และกวาร์นีเอรี เดล เกซุสร้างไว้ กลายเป็นวัตถุล้ำค่าที่ถูกประมูลกันในราคาหลายร้อยล้านบาทถ้าใครอยากเห็นไวโอลินสตราดิวารีของจริง ก็สามารถไปชมกันได้ที่พิพิธภัณฑ์ไวโอลินเมืองเกรโมนา
เกรโมนายังเป็นดินแดนแห่งของหวาน ที่มีขนม ‘ตังเมฝรั่ง’ ตูร์โรเน่ (Torrone) หรือที่ฝรั่งเศสเรียกว่านูกัต (Nougat – ชื่อเดียวกับ Android 7 นั่นแหละ) เป็นของขึ้นชื่อประจำจังหวัด ด้วยความที่อยู่ไม่ไกลจากนครเวนิส ซึ่งในอดีตเป็นศูนย์กลางการค้าวัตถุดิบจากทั่วโลก วัฒนธรรมอาหารการกินในแถบนี้จึงมีการผสมผสานวัตถุดิบจากแดนไกลเข้ากับสูตรท้องถิ่นจนเป็นเอกลักษณ์
ในฉากหนึ่งของหนังเราจะเห็นคุณแม่บ้านมาฟาลด้า เตรียมอาหารที่เรียกว่า ตอร์เตลินี่ เกรมาสกิ (Tortelli cremaschi) พาสต้าตอร์เตลินี่ไส้หวานสูตรท้องถิ่นของเมืองเกรมา ที่หาทานได้เฉพาะที่เกรมาเท่านั้น
ว่ากันว่าสูตรของตอร์เตลินี่ เกรมาสกิ สืบทอดกันมาตั้งแต่ยุคที่เวนิสเป็นสาธารณรัฐ (ค.ศ. 697-ค.ศ. 1797) เพราะไส้ของเจ้าพาสต้าสูตรเมืองเกรมานั้น ประกอบไปด้วยวัตถุดิบจากตะวันออกไกล เช่น จันทน์เทศ เปลือกส้ม ผลไม้แช่อิ่ม ซึ่งในอดีตพ่อค้าชาวเวนิสเป็นเจ้าเดียวที่ผูกขาดการค้าวัตถุดิบเครื่องเทศกับโลกตะวันออก
[su_gmap width=”1600″ address=”lake garda”]Crocker Art Museum[/su_gmap]
นอกจากเรื่องของวัฒนธรรมท้องถิ่น ธรรมชาติในแถบนี้ของลอมบาร์เดียก็งดงามไม่แพ้ที่ไหน ๆ เนื่องจากเป็นพื้นที่ราบสูงใกล้เชิงเทือกเขาแอลป์ จึงเป็นดินแดนแห่งทะเลสาบที่เกิดจากการละลายของธารน้ำแข็ง ฉากทะเลสาบในเห็นในภาพยนตร์ คือทะเลสาบการ์ดา (Lake Garda) ทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดของอิตาลี ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากทะเลสาบยอดนิยมอย่างโคโม (Lake Como) และทะเลสาบอิเซโอ (Lake Iseo) ที่เพิ่งมีการสร้าง ‘ทางเดินสีทอง’ The Floating Piers เป็นโปรเจกต์ศิลปะเมื่อปี 2016 จนโด่งดังไปทั่วโลก
[su_gmap width=”1600″ address=”Cascate del Serio”][/su_gmap]
ส่วนน้ำตกเซริโอ (Cascate del Serio) ในฉากสำคัญท้ายเรื่อง ก็เป็นน้ำตกที่สูงที่สุดในอิตาลีของเมืองเบอร์กาโม ซึ่งแต่ละแห่งห่างกันเพียงชั่วโมงกว่า ๆ ถ้าใครอยากจะขับรถ road trip เที่ยวตามเอลิโอกับโอลิเวอร์ ก็ถือว่าค่อนข้างสะดวกทีเดียว
เรื่องราวความรักฤดูร้อนของ Call Me by Your Name โดยทั่วไปอาจดูไม่ต่างจากหนังแนว summer love หลาย ๆ เรื่อง ที่เริ่มต้นด้วยความรู้สึกเร่าร้อนและจบลงด้วยการจากลาเมื่อฤดูแห่งความรักสิ้นสุด แต่ด้วยการเล่าของของกัวดาญิโนเล่ากับภาพที่คุณสยมภู มุกดีถ่ายทอดออกมาได้อย่างสวยงามไปเสียทุกฉากทุกตอน เราจึงไม่สามารถที่จะละสายตาไปจากหนังเรื่องนี้ได้เลย สมกับที่หลายสื่อยกให้ Call Me by Your Name เป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่ดีที่สุดของปี 2017 นี้
ใครที่สนใจชมภาพยนตร์เรื่อง Call Me by Your Name สามารถไปชมกันได้ที่ House Rama RCA ตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคมเป็นต้นไป ตรวจสอบรอบฉายได้ที่ www.houserama.com