เซเลบระดับโลกที่ถูก “แบน” จากประเทศจีน
เหตุผลในการ “แบน” หรือ “ปฏิเสธไม่ให้เดินทางเข้าประเทศ” ของแต่ละชาตินั้นแตกต่างกัน เช่น การมีประวัติคดีเมาแล้วขับ ที่ใครหลายคนก็เคยโดนกัน อาจทำให้วีซ่าถูกปฏิเสธได้จากหลายประเทศ การจัดกระเป๋าผิดระเบียบไม่ว่าจะเพราะนำสิ่งของต้องห้ามติดตัวไป หรือแม้แต่การพกเสื้อผ้ามากเกินไปจนดูไม่เหมือนแค่มาเที่ยว ก็ทำให้นักเดินทางไทยเคยถูกส่งกลับกันมาแล้ว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประเด็นละเอียดอ่อนของแต่ละประเทศ ที่แตกต่างกันไปตามตัวแปรของสถานการณ์และเวลา นักเดินทางจึงควรศึกษาข่าวสาร รับรู้เหตุการณ์รอบตัวอยู่เสมอ และที่สำคัญที่สุด คือการเคารพกฎของแต่ละประเทศ
สำหรับประเทศเพื่อนบ้านที่ชาวไทยเราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี บินไปบินกลับกันเป็นว่าเล่น ทั้งเที่ยว ทำงาน ไหว้พระ ช็อปปิ้ง หรือแม้แต่เยี่ยมญาติ อย่างประเทศจีน อาจดูเป็นประเทศเข้าง่ายในสายตาเพื่อนบ้านอย่างเรา แต่บุคคลที่มีชื่อเสียงระดับโลกมากมายกลับถูก “แบน” ไม่ให้เข้าประเทศด้วยสิ่งที่พวกเขาทำทั้งโดยตั้งใจและ “รู้เท่าไม่ถึงการณ์” งานนี้จะรุ่นใหญ่แค่ไหนแดนมังกรก็เอาจริงไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหม
แบรด พิตต์ – Brad Pitt
หนึ่งในนักแสดงชายมากความสามารถที่โด่งดังที่สุดแห่งยุคอย่างแบรด พิตต์ ถูกทางการจีนสั่งห้ามไม่ให้เข้าประเทศมานานถึง 19 ปีแล้ว เนื่องจากเขาแสดงนำใน Seven Years in Tibet (7 ปี โลกไม่มีวันลืม) ภาพยนตร์ที่สร้างจากเรื่องจริงของ ไฮน์ริค แฮร์เรอร์ นักไต่เขาชาวออสเตรียที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในทิเบตถึง 7 ปี ได้เป็นครูและสหายของทะไลลามะ องค์ที่ 14 ในวัยเด็ก
ภาพยนตร์เรื่องนี้ที่ออกฉายตั้งแต่ปี 1997 บอกเล่าวิถีชีวิตของชาวทิเบต ในช่วงเวลาที่กองทัพปลดปล่อยประชาชนชาวจีนเข้ารุกรานในค.ศ. 1950 สถานการณ์นี้ถือเป็นประเด็นการเมืองละเอียดอ่อนที่ยังคงส่งผลถึงปัจจุบัน แต่แม้แบรด พิตต์จะเพียงแค่ “แสดงนำ” และไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือออกความเห็นต่อต้านอะไรกับประเด็นระหว่างดินแดนนี้เลย แต่เขาก็ถูกแบนอย่างไม่มีกำหนด
อย่างไรก็ตาม หลังจากเวลาผ่านไปเกือบ 20 ปี แบรด พิตต์ก็ยังมีความพยายามที่จะเดินทางไปจีนอยู่ ในปี 2013 เว็บไซต์ Hollywood Reporter รายงานข่าวว่า เขาได้ขึ้นสถานะบน Weibo (โซเชี่ยลมีเดียจีน) ยืนยันว่ากำลังจะเดินทางไปจีน “It’s the truth, Yup, I’m coming” แต่หลังจากนั้นบัญชี Weibo ของเขาก็อัตรธานหายไปจากระบบไปเสียเฉยๆ และเขาก็ยังห่างไกลจากการได้เข้าประเทศจีนเช่นเดิม
ความซวยของแบรด พิตต์ อาจจะเป็นผลพวงจากกระแสช่วงหนึ่งในยุค 90s ที่ดารานักแสดงฮอลลีวูดหลายคนร่วมกันออกหน้าเรียกร้องเอกราชให้กับทิเบต หนึ่งในหัวหอกคนสำคัญคือริชาร์ด เกียร์ นักแสดงรุ่นใหญ่สุดหล่อขวัญใจคุณแม่ใครหลายคน ซึ่งนอกจากจะนับถือพุทธและเป็นผู้ศรัทธาในองค์ทะไลลามะ แล้วยังเป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิและองค์กรสนับสนุนการปลดปล่อยทิเบต เป็นดาราที่วางตัวเป็นศัตรูกับจีนอย่างเปิดเผยที่สุดคนหนึ่งเลยทีเดียว
แฮริสัน ฟอร์ด – Harrison Ford
“ฮาน โซโล” กัปตันแห่งยานมิลเลเนี่ยมฟอลคอนคนนี้ สามารถขับยานท่องเที่ยวไปที่ไหนก็ได้ทั่วทั้งจักรวาล ยกเว้นประเทศจีน..
นักแสดงวัย 73 ปี ที่ถือเป็นอีกหนึ่งตำนานแห่งฮอลลีวูดอย่างแฮริสัน ฟอร์ด ถูกแบนจากประเทศจีน หลังจากเขาให้การต่อคณะกรรมาธิการวิเทศสัมพันธ์ของวุฒิสภาสหรัฐ (U.S. Senate Foreign Relations Committee) ในปี 1995 ว่าเขาสนับสนุนทะไลลามะและการเรียกร้องเอกราชของทิเบต เขานับถือศาสนาพุทธวัชรยานแบบทิเบต และให้การสนับสนุนทะไลลามะออกสื่ออย่างต่อเนื่อง เขายังเป็นผู้พากษ์เสียงภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Dalai Lama Renaissance ซึ่งชนะ 12 รางวัลจากเวทีเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกว่า 40 แห่งทั่วโลกในปี 2008 อีกด้วย แต่ดูจากการเคลื่อนไหวที่แน่วแน่ของเขา ทำให้เชื่อได้ว่าเขาคงไม่มีแผนจะไปเที่ยวเมืองจีนเร็วๆ นี้ หรือแม้แต่ในชาตินี้แน่ๆ
ว่ากันว่าการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเขา ทำให้ไตรภาคแรกของ Star Wars ตอนที่ 4-6 ซึ่งเขาร่วมแสดงนำในช่วงปี 1977-1983 ไม่เคยถูกนำมาฉายในประเทศจีน แม้ตอนที่ 1-3 ในไตรภาคต่อมาจะทำรายได้ถล่มทลายก็ตาม Star Wars: A New Hope ออกฉายครั้งแรกเมื่อปี 1977 หรือเมื่อ 39 ปีก่อน ซึ่งเป็นเวลาที่ประเทศจีนเพิ่งผ่านพ้นช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมมาได้ไม่นาน ภาพยนตร์ตะวันตกจึงยังไม่ถูกนำมาฉาย เวลาผ่านไปหลายทศวรรษจนมาถึงปี 2015 ภาคแรกของมหากาพย์ภาพยนตร์อวกาศที่แฮริสัน ฟอร์ดแสดงนำถึงถูกฉายในแดนมังกรเป็นครั้งแรกในปีเดียวกับที่ Star Wars Episode VII: The Force Awakens เข้าฉาย ซึ่งน่าจะทำให้จีนเป็นประเทศเดียวในโลก ทีมี Star Wars ถึง 2 ภาคฉายพรีเมียร์ในปีเดียวกัน
ไมย์ลีย์ ไซรัส – Miley Cyrus
ดารานักร้องสาวอายุ 23 ปีที่อื้อฉาวที่สุดของวงการคนนี้ ก่อเรื่องให้ทางการจีนฉุนอย่างมาก ด้วยการโพสท์รูปทำตาตี่เลียนแบบคนเอเชียลงบนโซเชี่ยลมีเดีย แม้บางคนจะมองเป็นเรื่องขำขัน แต่ทางการจีนและคนเชื้อสายเอเชียมากมายถือว่าพฤติกรรมนี้ของไมลี่ย์ ไซรัส ถือเป็นการล้อเลียนและเหยียดเชื้อชาติอย่างไม่เหมาะสม
รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของจีนแถลงต่อเหตุการณ์นี้ว่า “คุณไซรัสแสดงออกอย่างชัดเจนถึงความไม่เป็นมิตรต่อชาวจีนหรือใครก็ตามที่เป็นเชื้อสายเอเชียตะวันออก เราจึงไม่มีความสนใจที่จะนำเสนอความโง่เขลาแบบอเมริกันของเธอให้เป็นมลภาวะทางความคิดกับลูกหลานของเรา” รัฐบาลจีนไม่เพียงแค่แบนไม่ให้ไมลีย์ ไซรัสเดินทางเข้าประเทศ แต่ยังแบนสื่อทุกรูปแบบไม่ว่าจะดนตรี หรือ รายการโทรทัศน์ที่มีเธอเกี่ยวข้องไม่ให้ถูกถ่ายทอดในดินแดนจีนโดยเด็ดขาด
ไมลีย์ ไซรัสไม่เพียงแค่ถูกแบนจากประเทศจีน แต่เธอยังถูกแบนจากสาธารณรัฐโดมินิกัน ด้วยเหตุผลว่า “มีพฤติกรรมซึ่งขัดต่อศีลธรรมและจารีตประเพณี” หากดูจากภาพลักษณ์และพฤติกรรมของเธอแล้ว เชื่อว่าจำนวนประเทศที่จะแบนไม่ให้เธอเข้าประเทศคงไม่ลดลงง่ายๆ และอาจจะเพิ่มขึ้นในอนาคตด้วยซ้ำไป
เทย์เลอร์ สวิฟต์ – Taylor Swift
เทย์เลอร์ สวิฟต์ ยังสามารถเดินทางเข้าประเทศจีนได้ แต่สินค้าของเธอถูกแบนไม่ให้ขายในจีน ไม่ใช่เพราะพฤติกรรมไม่เหมาะสมใดๆ ของเธอ แต่เป็นเพราะ “ชื่อ” และ “ปีเกิด” ที่บังเอิญว่าทางรัฐบาลจีนไม่ถูกโฉลกด้วยอย่างมาก
1989 คือปีเกิดของเทย์เลอร์ สวิฟต์ และ T.S. คืออักษรย่อจากชื่อและนามสกุลของเธอ (Taylor Swift) แต่ที่ประเทศจีน 1989 คือปีวิปโยคที่เกิดเหตุโศกนาฎกรรมนองเลือดที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ซึ่งมีผู้ประท้วงเสียชีวิตนับพันบาดเจ็บนับหมื่น และบังเอิญเหลือเกินว่าตัวย่อของ Tiananmen Square ก็คือ T.S. เช่นกัน ซึ่งตัวหนังสือและตัวเลขชุดนี้ก็ปรากฏเด่นชัดอยู่บนสินค้าจากอัลบั้มใหม่ที่กำลังจะวางขายหลายชิ้น
เหตุที่สินค้าจากอัลบั้มใหม่ของเทย์เลอร์ชุดนี้ถูกแบน ก็เพราะในช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนทำทุกวิถีทางที่จะลบเรื่องราวของเหตุการณ์ประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมินออกไปจากหน้าประวัติศาสตร์จีน ว่ากันว่าแม้แต่ตัวเลขและตัวอักษรที่เกี่ยวกับ 4, 6 และ 89 ที่ตรงกับวันเหตุการณ์ 4 มิถุนายน 1989 ยังถูกเข้ารหัสไว้ไม่ให้ถูกค้นหาข้อมูลใดได้บนอินเตอร์เน็ต กลวิธีนี้ถือว่าได้ผลสมบูรณ์แบบมาก เพราะหากลองไปถามชาวจีนรุ่นใหม่ที่อายุน้อยกว่า 30 ปีลงไป จะแทบไม่มีใครเคยรู้หรือเคยได้ยินอะไรเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เทียนอันเหมินเลย แม้แต่รูป “ชายกับรถถัง” อันโด่งดังก็ไม่เคยเห็น เบ็ดเสร็จเด็ดขาด น่าเกรงขามสมกับเป็นรัฐบาลชาติมหาอำนาจของโลกจริงๆ
Björk
ศิลปินในวงการดนตรีที่ทำผิดต่อจีนอย่างหนักหน่วงที่สุดคงต้องยกให้ Björk ที่ไม่เพียงแค่ถูกแบนเพราะแต่งเพลง Declare Independence อุทิศให้กับการต่อสู้ปลดปล่อยทิเบต แต่เธอยังร้องตะโกนปลุกใจกลางคอนเสิร์ตที่เซี่ยงไฮ๊ในปี 2008 ของเธอว่า “Tibet! Tibet!” ซึ่งเป็นเหมือนการเหยียบหน้าพญามังกรอย่างจัง การกระทำของเธอในครั้งนั้น นอกจากจะทำให้เธอถูกแบนแล้ว ยังสร้างปัญหาให้ศิลปินตะวันตกทั้งวงการตกที่นั่งลำบาก ถูกตรวจสอบเพ่งเล็งพฤติกรรมกันอย่างหนักจนถึงทุกวันนี้อีกด้วย
Maroon5
ที่จริงเมื่อเดือนกันยายน 2015 ที่ผ่านมา Maroon5 มีกำหนดการจะไปแสดงคอนเสิร์ตถึง 5 โชว์ที่เซี่ยงไฮ๊และปักกิ่งตามแผนเอเชียทัวร์ แต่อยู่ดีๆ กลับถูกยกเลิกกะทันหันแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย และไม่มีการแถลงเหตุผลอย่างเป็นทางการ หลายสื่อตั้งข้อสังเกตกันว่าต้นเหตุน่าจะเกิดจากเจสซี คาร์ไมเคิล มือคีย์บอร์ดและหนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้งวง ไปร่วมงานฉลองวันเกิดองค์ทะไลลามะที่จัดขึ้นที่นครลอสแอนเจลิสเมื่อเดือนกรกฎาคม 2015 และยังทวีตข้อความอวยพรวันเกิดออกสื่ออย่างเปิดเผยอีกด้วย
พฤติกรรมนี้อาจดูเป็นเรื่องธรรมดา เพราะบ่อยครั้งที่คนทั่วไปเองก็มักร่วมตั้ง status หรือ tweet ข้อความอวยพรวันเกิดให้กับบุคคลผู้มีชื่อเสียง แต่ในกรณีนี้ ผลของตัวอักษรไม่ถึง 140 ตัวบนทวิตเตอร์ ทำให้วงระดับโลกที่มีแฟนเพลงเป็นล้านอย่าง Maroon5 ไม่สามารถเดินทางไปจัดการแสดงในประเทศจีนได้แบบไม่มีกำหนด
Oasis
คอนเสิร์ตครั้งแรกในประเทศจีนของ Oasis ควรจะเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อปี 2009 แต่ทั้งทางวงและผู้จัดต่างต้องถึงกับเหวอ เมื่อแผนคอนเสิร์ตถูกทางการสั่งระงับกะทันหันตั้งแต่เพิ่งเริ่มขายตั๋ว เนื่องทางรัฐสืบทราบว่า Noel Gallagher นักร้องนำของวง หนึ่งในศิลปิน Britpop ผู้มีอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งของยุค 90s ไปร่วมคอนเสิร์ต Tibetan Freedom Concert ที่นิวยอร์กเมื่อปี 1997 ร่วมกับศิลปินอื่นๆ เช่น U2, Blur, Beastie Boys, Radiohead, Rage Against The Machine, Björk และ Red Hot Chili Peppers งานนี้ถึงป๋า Noel จะรุ่นใหญ่บนเกาะอังกฤษแค่ไหนก็ทำอะไรไม่ได้
Bon Jovi
กรณีเดียวกันเกิดซ้ำกับวงร็อครุ่นเก๋า Bon Jovi ที่คอนเสิร์ตครั้งแรกในประเทศจีนขอพวกเขาควรจะเกิดขึ้นเมื่อปี 2015 ที่ผ่านมา แต่ก็ถูกยกเลิกไป เพราะทางการจีนสืบทราบอีกว่า วง Bon Jovi เคยใช้รูปทะไลลามะเป็นฉากหลังในคอนเสิร์ตที่ไต้หวันเมื่อปี 2010
Bob Dylan
ตำนานโฟล์คที่ยังมีชีวิต Bob Dylan ก็เป็นอีกหนึ่งศิลปินที่โดนหางเลขจากกรณี Björk ทำให้เขาเคยถูกแบนจากทางการจีนไม่ให้เปิดการแสดงที่ปักกิ่งและเซี่ยงไฮ๊ในปี 2010 ปีด้วยข้อหา “มีพฤติกรรมต่อต้านวัฒนธรรม” เนื่องจากชื่อเสียงในอดีตของเขาในฐานะศิลปินแนวคิดขบถ ที่แต่งเพลงประท้วงและต่อต้านสังคม อย่างไรก็ตาม ในที่สุดเขาได้รับอนุญาตให้แสดงคอนเสิร์ตที่กรุงปักกิ่งในปี 2011 แต่ก็มีข่าวว่ากว่าจะได้แสดง เขาก็ต้องยอมให้ทางการจีนเซนเซอร์ setlist เพลงที่จะเล่นทั้งหมด
Guns N’ Roses
อีกหนึ่งวงระดับตำนานที่ถูกแบนจากประเทศจีนคือ Guns N’ Roses ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเท่าไหร่เมื่อพิจารณาจากประวัติความเถื่อนห่ามของ Axl Rose นักร้องนำที่เคยกระโดดต่อยคนดูตัวเองมาแล้ว
ในปี 2008 วง Guns & Roses หวนคืนวงการอีกครั้งกับอัลบั้มใหม่ชุดแรกในรอบ 17 ปีที่แฟนๆ ต่างรอคอยกันมานาน แม้อัลบั้มนี้จะเป็น Guns N’ Roses เวอร์ชั่นที่มี Axl Rose นักร้องน้ำเป็นสมาชิกดั้งเดิมเพียงคนเดียว แต่ก็ได้รับกระแสวิจารณ์ที่ดีพอสมควร ติดปัญญาอยู่นิดเดียวตรง “ชื่ออัลบั้ม” ที่พ่อร็อคเกอร์รุ่นเก๋าดันไปแหย่หนวดมังกร ด้วยการตั้งชื่ออัลบั้มท้าทายรัฐบาลมหาอำนาจว่า “Chinese Democracy” หรือแปลตรงตัวได้ว่า “ประชาธิปไตยจีน”
แม้แต่คนที่ไม่ได้สนใจการเมืองเป็นพิเศษหรือมีความรู้รอบตัวมากมายก็ต้องทราบดีว่าประเทศจีน ปกครองด้วยระบบคอมมิวนิสต์แบบพรรคเดียว และระบบนี้ก็ตรงข้ามกับประชาธิปไตยโดยสิ้นเชิง พฤติกรรมนี้จึงถือเป็นการท้าทายรัฐบาลจีนอย่างมาก บทความข่าวบนหนังสือพิมพ์ Global Times ของจีนเรียกพฤติกรรมนี้เป็นการ “โจมตี” จากชาติตะวันตกและใช้คำว่า “หันหอกเข้าหาเรา” ผลก็คือร้านค้าผู้จัดจำหน่ายต่างๆ ถูกสั่งห้ามไม่ให้สั่งซีดีอัลบั้มใหม่ของ Guns & Roses เข้ามาขายหรือแม้แต่มีสต็อกเก็บไว้ในประเทศจีนโดยเด็ดขาด แม้แต่ Baidu เว็บไซต์ค้นหาข้อมูลซึ่งเปรียบเหมือน Google ของจีนก็ถึงกับเซนเซอร์ข้อมูลทุกอย่างของอัลบั้มนี้
เนื้อหาข่าวไม่ได้ระบุว่า Axl Rose และสมาชิกคนอื่นๆ จะถูกแบนจากประเทศจีนหรือไม่ แต่ในคอนเสิร์ตรียูเนี่ยนครั้งประวัติศาสตร์ ที่วงกลับมารวมตัวกันแสดงครั้งแรกในรอบ 23 ปีเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีเพลง Chinese Demogracy รวมอยู่ใน setlist ด้วย แม้แฟนเพลงขาร็อคทั่วโลกจะตื่นเต้นกับการหวนคืนวงการในครั้งนี้แค่ไหนก็ตาม แต่หากยังมีเพลงนี้อยู่ในโชว์ เชื่อได้เลยว่าโอกาสที่แฟนเพลงชาวจีนจะได้ดูโชว์จาก Guns N’ Roses ในบ้านนั้นคงริบหรี่น่าดู
มาร์ติน สกอร์เซซี่ – Martin Scorsese
มาร์ติน สกอร์เซซี่ หนึ่งในผู้กำกับอาวุโสแห่งฮอลลีวูด เจ้าของผลงานภาพยนตร์ระดับ masterpiece มากมาย เช่น Taxi Driver, Goodfellas, Casino, The Departed, Shutter Island และ The Wolf of Wall Street และเป็นผู้กำกับที่มีผลงานเข้าชิงรางวัลมากที่สุดคนหนึ่งของวงการ มาร์ติน สกอร์เซซี่ ถูกแบนไม่ให้เข้าประเทศจีน เนื่องจากเมื่อปี 1997 (ปีเดียวกับที่ Seven Years in Tibet ออกฉาย) เขากำกับภาพยนตร์เรื่อง Kundun ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตวัยหนุ่มของ “เทนซิน เกียตโซ” หรือทะไลลามะองค์ที่ 14 องค์ปัจจุบันนั่นเอง
ภาพยนตร์เรื่องนี้บอกเล่าเรื่องราวชีวิตขององค์ทะไลลามะตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ จนเติบโตขึ้นเป็นหนุ่มพอดีกับช่วงที่กองทัพจีนเข้ารุกรานทิเบต และสิ้นสุดที่การลี้ภัยออกนอกประเทศในปี 1959 ด้วยการเดินเท้าจากทิเบตสู่อินเดีย เป็นอีกครั้งที่กองทัพจีนถูกถ่ายทอดสู่สายตาชาวโลกในฐานะ “ผู้ร้าย” ดังนั้นจึงแน่นอนว่า ผู้ผลิตภาพยนตร์เรื่องนี้ย่อมติดบัญชีดำของรัฐบาลจีนอย่างไม่ต้องสงสัย
แม้ Kundun จะได้ออกฉายแบบจำกัดประเทศ ไม่ประสบความสำเร็จในแง่รายได้ และก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างบริษัทที่จัดจำหน่ายภาพยนตร์กับทางการจีน แต่หนังก็ได้รับกระแสวิจารณ์ค่อนข้างดีโดยเฉพาะในด้านการกำกับศิลป์ และเข้าชิงออสการ์ถึง 4 รางวัล ท้ายที่สุดสกอร์เซซี่ได้ทำหนังประวัติชีวิตผู้นำศาสนาออกมาได้สวยงามอย่างที่เขาต้องการ แต่ก็ต้องแลกมากับการที่เขาจะไม่สามารถเหยียบย่างเข้าแผ่นดินจีน ไปเห็นความงดงามยิ่งใหญ่ของจริงด้วยตาตนเองได้อีกต่อไป