ผังเมืองที่ดีเป็นอย่างไร? Cities for People มองเมืองผ่านมุมคิดของ Jan Gehl

ผังเมืองที่ดีเป็นอย่างไร?”

หลายคนคงเคยพูดถึง เคยสงสัย เลยไปถึงการตั้งคำถามว่า ทำไมเวลาไปต่างประเทศแล้วรู้สึกบ้านเมืองเขาช่างน่าเดิน แบ่งสัดส่วนเข้าใจง่าย ไปไหนมาไหนไม่ต้องกลัวหลง มีทางเท้าเป็นมิตรที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เพราะผังเมืองเป็นจุดเริ่มต้นของวิถีชีวิตของผู้คนในสังคม เขตชุมชนที่มีการออกแบบที่ดี จะช่วยสร้างความมีชีวิตชีวาตลอดจนแรงบันดาลใจให้กับคนที่อยู่อาศัย เป็นเมืองของผู้คนอย่างแท้จริง ตามชื่อหนังสือ Cities for People ของ Jan Gehl (ญาน เกห์ล) หนังสือดีที่จะพาเราออกไปเที่ยวเมืองต่างๆ รอบโลก ผ่านการมองเมือง การศึกษาเรื่องผังเมืองด้วยความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง

Jan Gehl คือ นักผังเมืองและสถาปนิกชาวเดนมาร์ก ผู้ก่อตั้ง Gehl Architects อีกทั้งยังเป็นผู้บุกเบิก วางผังเมือง และวางแผนที่ให้โคเปนเฮเกนกลายเป็นเมืองที่น่าอยู่ และน่าเที่ยวที่สุดแห่งหนึ่งของโลก กว่า 50 ปีที่ Jan Gehl สนใจและมุ่งมั่นศึกษาเรื่องการพัฒนาเมือง จนได้รับเลือกเป็นที่ปรึกษาให้กับโครงการปรับปรุงเมือง ทั้งในยุโรป อเมริกาเหนือ ออสเตรเลีย และตะวันออกไกล

นอกจากจะเป็นผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบพื้นที่สาธารณะ Jan Gehl ยังเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักวางผังเมืองและในแวดวงสถาปัตย์มาหลายทศวรรษ หนังสือ Cities for People (เมืองของผู้คน) เล่มนี้ได้บอกเล่าถึงแนวคิดการออกแบบและพัฒนาเมืองที่ให้ “คน” เป็นศูนย์กลาง เริ่มจากผู้คนและจบที่ผู้คน ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2010 ได้รับการแปลมาแล้วกว่า 20 ภาษา และตีพิมพ์ฉบับภาษาไทยเมื่อปี 2016 ล่าสุดเขากำลังจะมีการบรรยายในรูปแบบออนไลน์ในหัวข้อ ‘Cities for People’ ในวันเสาร์ที่ 21 พฤศจิกายน 2563 เวลา 17.00 – 18.30 น. โดย Jan Gehl เป็นหนึ่งใน Keynote Speakers ชื่อดังระดับโลกที่จะมาแบ่งปันแง่มุมของ “สถาปนิกปันสุข” ในงาน ACT FORUM ’20 Design + Built ระหว่างวันที่ 18-22 พฤศจิกายน 2563 เวลา 10.00 – 20.00 น. ณ Challenger Hall 3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี

ในบทความนี้เราจะขอพาทุกคนไปท่องเที่ยวมองเมืองผ่านมุมมองบางส่วนจากหนังสือ Cities for People เพื่อให้เกิดการตั้งคำถามและมาค้นหาคำตอบกันว่าผังเมืองที่ดีนั้นควรเป็นอย่างไร

“หากสิ่งที่เชื้อชวนให้เข้าสู่เมืองเป็นผู้คนมากกว่ารถยนต์
การจราจรของคนเดินเท้าและชีวิตแบบเมืองๆ ก็จะเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว”
Jan Gehl

ออกเดินทางสู่ ‘โคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก’ นครแห่งความสุขของโลก ที่เผื่อแผ่ความสุขไปถึงนักเดินทาง และนักท่องเที่ยวด้วย ซึ่งในบรรดาพิกัดปักหมุดยอดนิยม ล้วนต้องมี Strøget เสมอ ถนนสายเก่าแก่เส้นสำคัญ ที่ได้รับขนานนามว่า ถนนสายชอปปิงหลักของเมือง เป็นถนนคนเดินที่เชื่อมถนนสายหลัก 5 เส้นของโคเปนเฮเกนเข้าไว้ด้วยกัน แถมยังเป็นถนนคนเดิน (Pedestrian Only Street) แห่งแรกของโลกอีกด้วย จากเดิมที่จอแจไปด้วยรถยนต์ และยังไม่มีพื้นที่สาธารณะ ในปี 1962 สภาเมืองโคเปนเฮเกนก็ได้มีโครงการทดลองเปลี่ยนให้เป็นถนนของคนเดินเท้า หลังจากทดลองใช้ 2 ปี ก็ได้รับกระแสตอบรับที่ดีมาก ผลลัพธ์แห่งความสำเร็จนี้ นำไปสู่การประกาศเป็นถนนคนเดินอย่างแท้จริงในปี 1964 จวบจนถึงทุกวันนี้ Strøget ได้ชื่อว่าเป็นถนนชอปปิงที่ยาวที่สุดในยุโรป

Strøget, Copenhagen | Image: @dralbarjas

นอกจากยาวมากถึง 1.1 กิโลเมตร ยังกว้างขวาง ช่วยรองรับการสัญจร สามารถเดินเพลินๆ ได้อย่างสะดวกสบาย ไม่ต้องคอยหลบหลีกรถยนต์ เสมือนเป็นโอเอซิสของบรรดานักชอป และนักเดินเที่ยวทุกมุมโลก จึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไมสถิติผู้คนมาเตร็ดเตร่ที่ถนน Strøget เฉลี่ยถึงราวแสนคนต่อวัน แน่นอนว่าผู้อยู่เบื้องหลังความเปลี่ยนแปลงของถนนเส้นนี้ ย่อมต้องเป็น Jan Gehl เขาเป็นผู้ที่นำความคิด “ทางเดินเท้านิยม” หรือการวางผังเมืองโดยให้ความสำคัญกับคนมากกว่ารถยนต์ แน่นอนว่าสิ่งที่เขาให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกก็คือคนเดินเท้านั่นเอง

The Inner Harbour Bridge, Copenhagen, Denmark | Image: visitcopenhagen.com

ยิ่งไปกว่านั้นได้มีการปรับโครงสร้างโครงข่ายถนน เกิดขึ้นมากมายในโคเปนเฮเกน ประกอบกับมีนโยบายที่สนับสนุนการขี่จักรยานอย่างต่อเนื่อง  สิ่งเหล่านี้เอื้อต่อการสัญจรโดยใช้จักรยานอย่างยิ่งยวด ก่อให้เกิดเป็นวัฒนธรรมใหม่ในการขี่จักรยาน จนทั่วโลกขนานนามว่าเป็นเมืองหลวงแห่งจักรยาน อย่างไรก็ดีทั้งการเดินเท้าและการขี่จักรยานไม่เพียงกลายเป็นกิจวัตรประจำวันของผู้คน ด้วยความที่ Jan Gehl เข้าใจในมิติมนุษย์อย่างถ่องแท้ ทำให้เขาออกแบบเมืองโคเปนเฮเกนให้เต็มไปด้วยพื้นที่ที่ตอบรับกับมิติมนุษย์ อันเป็นที่มาของเมืองที่มีชีวิตชีวา น่าอยู่ ปลอดภัย มีสุขภาวะที่ดีและยั่งยืนในที่สุด

The Circle Bridge, Copenhagen, Denmark | Image: visitcopenhagen.com

“เราจะเห็นว่าในเมืองที่มีการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของการเดิน จะมีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเดินเพิ่มขึ้นอย่างมาก เรายังได้เห็นการเติบโตของสังคมและกิจกรรมสันทนาการที่ขยายขึ้นไปอย่างกว้างขวาง”
Jan Gehl

Federation Square, Melbourne, Australia

‘เมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย’ นครแห่งอาร์ตแกลอรี่ อีกหนึ่งเมืองที่น่าสนใจ และชวนให้ใช้ชีวิต เป็นเมืองที่ได้รับการปรับปรุงโดยผสมผสานความเก่า-ใหม่ รวมความหลากหลายเข้าไว้ด้วยกัน หนึ่งในจุดนัดพบสำคัญของคนรักงานศิลปะ ก็คือ Federation Square (จัตุรัสสหพันธรัฐ) พื้นที่สาธารณะที่มีผู้คนรู้จักมากที่สุดแห่งหนึ่งของเมลเบิร์น และเป็นพื้นที่ที่มี Wi-Fi ฟรี ที่ใหญ่ที่สุดในเมลเบิร์นด้วย ในบริเวณนี้มีการจัดกิจกรรมต่างๆ ตลอดทั้งปี ไม่ว่าจะเป็นด้านดนตรี ละคร หรืองานนิทรรศการต่างๆ ทั้งยังมีบาร์ คาเฟ่ และร้านอาหารจำนวนมาก จากจุดนี้ยังสามารถเดินเล่นไปยังแลนด์มาร์กสำคัญๆ ได้อีกมาก อาทิ ACMI (ศูนย์ภาพเคลื่อนไหวออสเตรเลีย), National Gallery of Victoria (NGV), สวนสาธารณะริมแม่น้ำ Yarra, ตรอกสุดฮิป Hosier Lane, สถานีรถไฟ Flinders Street เป็นต้น

Federation Square, Melbourne, Australia

ไม่น่าเชื่อว่าเราสามารถเดินทอดน่องไปบริเวณ Federation Square โดยปราศจากความเหนื่อยล้าหรือเบื่อหน่าย ด้วยการจัดการพื้นที่ให้เป็นมิตรกับผู้คน ชุมชน พร้อมทั้งมีการเชื่อมโยงเสน่ห์แต่ละแห่งไว้อย่างตื่นตาตื่นใจ อีกยังมีพื้นที่สีเขียวให้ได้แวะพักอีกด้วย ครั้งหนึ่งเมลเบิร์นมีฉายาว่าเมืองแห่งโดนัท จึงเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการปรับปรุงเมืองเมลเบิร์นขนานใหญ่ ในปี 1985 นานนับทศวรรษกว่าจะเปลี่ยนศูนย์กลางของเมืองเมลเบิร์นให้เป็นจุดรวมความน่าสนใจและมีชีวิตชีวา มีทั้งการเคลื่อนไหว การหยุดแวะอย่างเป็นธรรมชาติ ปัจจุบัน Federation Square ได้กลายเป็นจัตุรัสที่สำคัญอันดับต้นๆ ของเมลเบิร์น ผู้คนต่างหลั่งไหลมาใช้พื้นที่ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในหลากหลายรูปแบบดังที่กล่าวไว้ข้างต้น

Southbank Promenade, Melbourne

เมลเบิร์นเป็นหนึ่งในเมืองที่เชื่อมโยงระหว่างงานศิลปะและเมืองอย่างเห็นได้ชัด นอกจากกระตุ้นให้เมืองมีชีวิตชีวา การมีพื้นที่สาธารณะที่มีการใช้งานได้หลากหลาย สามารถทำกิจกรรมจำนวนมากได้ เหล่านี้ล้วนส่งผลให้ผู้คนรู้สึกปลอดภัย เป็นเมืองที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน ไม่เพียงเท่านั้นยังเป็นเมืองที่มีสุขภาวะทั้งกายและใจที่ดี ซึ่งโครงการปรับปรุงเมืองครั้งสำคัญนี้ ทำให้พื้นที่เมืองได้กลับมาทำหน้าที่เป็นสถานที่พบปะกันอีกครั้งหนึ่งด้วย

“พื้นที่ทำกิจกรรมต่างๆ ระหว่างตัวอาคารและเมือง บริเวณนี้คือที่ที่ชีวิตข้างในและข้างนอกมาปะทะกัน และบริเวณนี้คือที่ที่คนเดินทางเดินผ่าน และมีเวลาเพลิดเพลินกับประสบการณ์ทั้งเล็กและใหญ่ตามทางที่ผ่านไป”
Jan Gehl

Gamla Stan, Stockholm, Sweden

ย้ายตัวไปต่อที่เมืองเก่าสุดคลาสสิค ‘สตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน’ เมืองหลวงของสวีเดนที่มีเกาะแก่งเล็กใหญ่เชื่อมต่อกันอย่างลงตัว บ่อยครั้งที่หมุดหมายแรกและจุดหมายหลักของใครที่ได้มาเยี่ยมเยือนสตอกโฮล์มอยู่ที่ย่านเมืองเก่ากัมลาสตอน (Gamla Stan) เกาะเล็กๆ สุดเก่าแก่กลางกรุงสตอกโฮล์ม เราจะพบเห็นอาคารสถาปัตยกรรมจากยุคกลาง และอาคารเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงที่สุดของเมืองก็คือพระราชวังหลวง หนึ่งในพระราชวังของยุโรปที่งดงามที่สุด เป็นอาคารสถาปัตยกรรมบาโรก นอกจากนี้อาคารบ้านเรือน ก็เป็นเอกลักษณ์แบบสวีเดน สีสันสวยงาม เปล่งประกายความขลังไว้ทั่วทุกอณู ท้องถนนเป็นเส้นเล็กแคบปูด้วยหินคอบเบิลสโตนแบบดั้งเดิม

Gamla Stan, Stockholm, Sweden | Image: fotoVoyager

สำหรับอาคารเก่าแก่ที่มองไปทางไหนก็เจอนั้น ส่วนใหญ่พื้นที่ชั้นล่างจะถูกปรับโฉมเป็นร้านรวงหลากหลายประเภท หลากหลายหน้าตา ทั้งคาเฟ่ ร้านอาหาร ร้านหนังสือ ซึ่งวิถีชีวิตอันเปี่ยมล้นด้วยเสน่ห์และมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นนี้ สอดประสานกับแนวคิดเมืองของผู้คน ของ Jan Gehl ในประเด็นว่า กลไกการรับรู้ของมนุษย์จะเป็นแนวระนาบ ดวงตาของเราจะมองตรงไปข้างหน้าได้อย่างชัดเจน แม่นยำและระยะไกล  สิ่งเหล่านี้เสริมให้เมืองมีชีวิตชีวา และทำให้ผู้คนมาในที่ที่มีผู้คน

“เมืองที่ดีจะสร้างโอกาสในการเดิน การหยุดอยู่เฉยๆ การพบปะกัน และการแสดงออก”
Jan Gehl

Piazza del Campo, Italy

เดินทางมาถึงเมืองสุดท้ายกับไข่มุกเอกแห่งดินแดนทัสคานี (Tuscany) ‘เซียนา (Siena) ประเทศอิตาลี’ เมืองยุคกลางที่มีชื่อเสียงทางด้านศิลปะและสถาปัตยกรรม เมืองเล็กๆ บนเนินเขาที่ทั้งสงบและเรียบง่ายแห่งนี้ยังได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นเมืองมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโก (UNESCO) ด้วย และเซียนายังได้รับสมญานามว่าเป็นเมืองที่ไร้กาลเวลา เพราะยังคงความคลาสสิกแบบอิตาลีดั้งเดิมไว้อย่างไม่เสื่อมคลาย นอกจากนี้ตัวเมืองที่เห็นกันอยู่จนถึงปัจจุบันยังเป็นผังเมืองที่เขาออกแบบมาตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 12-15 โดยพี่น้อง Lorenzetti และ Simone Martini และสถานที่ที่มีชื่อเสียงอย่าง Piazza del Campo จัตุรัสชื่อดังอายุกว่า 700 ปี ยังถือว่าเป็นศูนย์กลางของเมืองเซียนา มีศูนย์กลางเป็นลานกว้างรูปเปลือกหอย แต่เดิมเป็นสถานที่จัดแข่งม้า Piazza del Campo ไม่เพียงแค่สวยงามแต่ทว่ายังมีความสมบูรณ์อย่างมาก จนใครต่อใครต่างยกให้ที่นี่เป็น 1 ใน 3 จัตุรัสที่น่าเที่ยวที่สุดในอิตาลี

Piazza del Campo, Italy

ในบริเวณ Piazza del Campo เราสามารถเดิน ยืน นั่ง ฟัง คุย อ่าน หรือกระทั่งพิมพ์สเตตัสลงโซเชียลได้อย่างสะดวกสบาย พร้อมกันนั้นยังรู้สึกถึงความปลอดภัย มีร้านกาแฟให้หย่อนใจ สามารถตอบสนองความต้องการต่างๆ ได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง ซึ่งการออกแบบผังเมืองข้างต้นนี้ ตรงกับแนวคิดพื้นที่เต็มร้อย ของ William H. Whyte (วิลเลียม เอช. ไวท์) และเป็นส่วนหนึ่งในแนวคิดเมืองของผู้คนของ Jan Gehl ในหัวข้อเมืองระดับสายตา (เมืองสวยงาม ประสบการณ์ดีๆ) นอกจากพื้นที่ที่สวยงามแล้ว จำเป็นต้องมีการออกแบบอย่างพิถีพิถัน มีการคำนึงถึงรายละเอียดและองค์รวมระหว่างผู้ใช้งานกับพื้นที่ร่วมด้วย

หนึ่งในส่วนสำคัญที่ทำให้ Piazza del Campo ครองใจผู้คนทั่วโลก มาจากที่นี่เป็นจัตุรัสแห่งเมือง ที่รวมกิจกรรมและความต้องการของผู้คนไว้อย่างครบถ้วน ประกอบกับสถาปัตยกรรมที่เชิญชวนให้เข้าไปใช้ ที่นี่จึงเป็นสถานที่พบปะของผู้คนมายาวนานถึง 700 ปี เป็นเมืองของผู้คนในยุคอดีต และพ้องกับแนวคิดเมืองของผู้คนของ Jan Gehl ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างคุณภาพของพื้นที่กับประโยชน์ใช้สอย หากเราลองตั้งใจพิจารณาบริเวณ Piazza del Campo เมืองเซียนา ประเทศอิตาลี จะพบว่ามีการใช้พื้นที่เมืองได้อย่างมีประโยชน์สูงสุด พร้อมทั้งมีการใส่ใจในภูมิทัศน์ของคนเดินเท้า และพื้นที่สาธารณะอย่างชัดเจนที่สุดเช่นกัน

Jan Gehl จะมาร่วมบรรยายในรูปแบบออนไลน์กับหัวข้อ ‘Cities for People’ ในวันเสาร์ที่ 21 พฤศจิกายน 2563 เวลา 17.00 – 18.30 น. ในงาน ACT FORUM ’20 Design + Built งานประชุมนานาชาติทางสถาปัตยกรรม และแสดงเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์ก่อสร้างครอบคลุมทั้ง 4 สาขาวิชาชีพสถาปัตยกรรม นอกจากนี้ยังมีเวทีสัมมนาที่ได้รับเกียรติจากวิทยากรชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ Jan Gehl, Kate Orff, Marina Tabassum, Lyndon Neri, Jon Charles Coe, ดร.สุรพล วิรุฬห์รักษ์, คุณพงษ์เทพ สกุลคู, คุณรุสลัน โตะแปเราะ, คุณฉัตรพงษ์ ชื่นฤดีมล, ดร.กชกร วรอาคม และอีกกว่า 40 ท่าน พร้อมนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ก่อสร้างใหม่ๆ ให้คุณสัมผัสก่อนใคร โดยปีนี้ได้ชักชวนผู้คนในแวดวงสถาปัตย์ งานออกแบบและงานก่อสร้างมาร่วมส่งมอบความสุขให้กับผู้คน ผ่านความคิด ความสร้างสรรค์ องค์ความรู้ และความเชี่ยวชาญ ในทางสถาปัตยกรรม

โดยงาน ACT FORUM ’20 Design + Built ในปีนี้ จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “สถาปนิกปันสุข” จากสถานการณ์ยุค COVID-19 ทำให้เกิดการตั้งคำถามขึ้นมาว่า “เมื่อโลกต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ ทั้ง โรคระบาด ภัยพิบัติ และชีวิตวิถีใหม่ สถาปนิกจะมีบทบาทอย่างไรต่อความท้าทายครั้งนี้” ซึ่งท้ายที่สุดแล้วความสุขก็เป็นเรื่องพื้นฐานที่สุดของทุกๆ คน และงาน ACT FORUM ’20 Design + Built จะจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 18-22 พฤศจิกายน 2563 เวลา 10.00 – 20.00 น. ณ Challenger Hall 3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้ที่ https://actforum.prereg.info/form.asp?lang=TH และดูรายละเอียดงาน ACT FORUM ’20 Design + Built เพิ่มเติมได้ที่ www.facebook.com/ArchitectExpo และ www.actforumexpo.com/2020/forum/

Magazine made for you.