Exodus ตามรอยเส้นทางอพยพผ่านเลนส์กับ Patrick Brown
ราจูนา เป็นหญิงโรฮิงญาอายุ 20 ปี
เธอถูกทหารหนุ่มกระชากทารกอายุ 3 เดือนออกจากอ้อมแขน ทิ้งลงกับพื้น ประทับบู้ททหารลงบนหัว แล้วขยี้กระโหลกทารกน้อยจนแหลกคาเท้า จากนั้นโยนร่างไร้วิญญาณของเด็กน้อยเข้ากองไฟ ก่อนจะเริ่มรุมข่มขืนราจูนาพร้อมกับหญิงชาวโรฮิงญาคนอื่นๆ แล้วเผาพวกเธอทิ้งหลังจากเสร็จกิจ.. แต่ราจูนารอดมาได้
นี่เป็นเพียงหนึ่งเรื่องราวของผู้อพยพชาวโรฮิงญา ที่ถูกหยิบมาเล่าผ่านภาพถ่ายอันทรงพลังของ Patrick Brown ในนิทรรศการ EXODUS ที่กำลังจัดแสดงอยู่ในขณะนี้
เราทุกคนล้วนออกเดินทางท่องเที่ยวก็เพื่อเปิดประตูสู่โลกใหม่ๆ เพื่อไปสัมผัสมุมชีวิตที่ตนเองยังไม่เคยรู้จัก แน่นอนว่าคนส่วนใหญ่ย่อมเลือกด้านที่สวยงามเพื่อความเพลิดเพลินสุนทรีย์ หรือที่บางคนอาจเรียกว่าไป ‘เติมพลังชีวิต’ แต่ไม่ใช่สำหรับ Patrick Brown
ในฐานะช่างภาพ เขาเลือกที่เลือกจะเปิดประตูอีกบาน เพื่อเดินทางไปพบกับสิ่งที่หลายคนมองว่า ‘ดูดพลังชีวิต’ แล้วนำภาพกลับมาให้โลกได้เห็น และได้พิจารณาความจริงอีกด้านที่ไม่น่าพิสมัยสักเท่าไหร่
Patrick Brown เป็นช่างภาพสารคดีและ photojournalist ชื่อดังชาวออสเตรเลียที่ปฏิบัติงานอยู่ในเอเชียมานานกว่า 20 ปี โดยเฉพาะในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เขาย้ายมาอาศัยอยู่ที่ประเทศไทยเมื่อปี 1999 และเดินทางขึ้นเหนือล่องใต้บุกป่าฝ่าดงไปทั่วเพื่อลุยงานถ่ายภาพตั้งแต่นั้นมา
เนื้อหาภาพของเขามักจะมุ่งประเด็นไปที่ด้านมืดและความจริงที่โหดร้ายของชีวิต ในพื้นที่ซึ่งศีลธรรมอาจไม่สำคัญเท่าการเอาตัวรอด ชนกลุ่มน้อย คนด้อยโอกาส เมืองที่เสื่อมโทรม สังคมนอกกฏหมาย ไปจนกระทั่งผู้ประสบภัยที่สูญสิ้นทุกสิ่ง คือความจริงไกลตัวที่เขาเลือกจะเดินทางเข้าไปสัมผัส เพื่อนำกลับมาถ่ายทอดให้คนชีวิตปกติทั่วไปซึ่งไม่มีทางจินตนาการถึงโลกด้านนั้นออก (และคงไม่คิดจะย่างเท้าเข้าไปเหยียบ) ได้รับรู้
หนึ่งในผลงานที่ทำให้เขาเป็นที่รู้จัก คือ Trading to Extinction ซึ่งเขาได้ติดตามขบวนการลักลอบค้าสัตว์ป่าไปทั่วเอเชีย จากชายแดนเมียนมาร์ สู่ป่าในกัมพูชา ไปถึงตลาดค้าสัตว์และร้านอาหารเปิปพิสดารในจีน จนได้ภาพทรงพลังที่เปิดหูเปิดตาผู้คนทั่วโลกและเริ่มสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคมได้ในวงกว้างขึ้น
“การถ่ายภาพเป็นเหมือนวีซ่าหรือพาสปอร์ต ที่ทำให้ผมสามารถเดินทางสู่โลกอื่นๆ ที่ปกติผมไม่เคยได้ไป”
เมื่อเดือนสิงหาคม 2560 เขาเริ่มทราบข่าวเหตุการณ์ในประเทศเมียนมาร์ และได้ยินเรื่องราวของการอพยพของชาวโรฮิงญาที่ทะลักล้นเข้าสู่บังคลาเทศ ในเดือนกันยายนปีเดียวกันนั้นเอง เขาก็ได้รับโจทย์จาก UNICEF ให้เดินทางสู่เมืองค็อกซ์บาซาร์เพื่อบันทึกภาพเหตุการณ์ในค่ายผู้อพยพที่นั่น ซึ่งเพิ่มจำนวนจากร้อยเป็นพัน จากพันเป็นหมื่น เป็นแสนๆ จนกลายสภาพเป็นค่ายผู้ลี้ภัยที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ถึงแม้ว่าเขาจะเคยผ่านเรื่องหนักๆ ที่ดำมืดมามาก แต่ภาพความทุกขเวทนาของผู้อพยพที่เขาได้พบเห็นและใช้เวลาหลายสัปดาห์สัมผัสด้วยตนเอง ตลอดจนเรื่องราวที่เขาได้ฟังจากปากผู้ประสบภัยนั้นกลับเลวร้ายกว่าที่เขาคาดคิดและเคยเจอมามาก เขาใช้เวลาหลายชั่วโมงต่อวันนานเป็นสัปดาห์เพื่อพยายามพูดคุยกับผู้ประสบภัยเหล่านี้ แต่ถึงกระนั้นเขาก็ยังไม่สามารถจินตนาการความรู้สึกความบอบช้ำรุนแรงที่เกิดขึ้นกับจิตใจของเหล่าผู้อพยพได้ เพราะหลายเรื่องราวนั้นรุนแรงเกินว่ามนุษย์หนึ่งคนจะรับไหว
สิ่งที่เขาทำได้ก็คือการบันทึกภาพและเรื่องราวกลับมาบอกเล่าต่อ เพื่อให้โลกได้รับรู้ถึงความเลวร้ายที่เกิดขึ้น ไม่ไกลจากบ้านเราสักเท่าไหร่เลย
ผลงานภาพถ่ายการอพยพหนีตายของชาวโรฮิงญาครั้งประวัติศาสตร์นี้ ถูกคัดเลือกมาจัดแสดงในนิทรรศการ EXODUS ที่ RCB Photographers’ Gallery ชั้น 2 River City Bangkok ซึ่งจะเปิดให้เข้าชมได้จนถึงวันศุกร์ที่ 10 สิงหาคมนี้ ตั้งแต่ 10 โมงเช้าจนถึง 4 ทุ่ม