“ราชบุรีผ่านเลนส์” วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์

หากกล่าวถึงจังหวัด ราชบุรี หลายคนอาจนึกถึงเมืองเงียบๆ ที่ไม่ได้มีสถานที่ท่องเที่ยวโดดเด่นมากมาย นอกจากตลาดน้ำดำเนินสะดวก แกะและรีสอร์ตในอำเภอสวนผึ้ง เป็นเมืองเล็กๆ ทางผ่านสู่เมืองท่องเที่ยวอื่นๆ เช่น หัวหินหรือกาญจนบุรี แต่สำหรับคุณวศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ ศิลปิน นักขับเคลื่อนด้านศิลปะวัฒนธรรมชุมชน และเจ้าของโรงงานเครื่องปั้นดินเผาเซรามิกเถ้าฮงไถ่ กลับเห็นบ้านเกิดของตนในมุมมองที่ลึกซึ้งและต่างไปจากนั้น ซึ่งในวันนี้เขาจะพาไปทำความรู้จักราชบุรีในมุมมองของเขา ผ่านภาพถ่ายจากกล้อง Nikon D750

เมืองที่เปลี่ยนไป ราชบุรี

“ผมเกิดที่จังหวัดราชบุรี แต่ไปเติบโตและเรียนหนังสือที่อื่น” คุณวศินบุรีเกริ่นเกี่ยวกับแบ็คกราวด์ของเขาให้ฟังสั้นๆ ก่อนเสริมว่า “แต่การได้กลับมาที่นี่ในวันที่เราเติบโตและผ่านประสบการณ์การใช้ชีวิตที่อื่นมาแล้ว ทำให้ผมมองเห็นเสน่ห์บางอย่างของจังหวัดราชบุรี ซึ่งถ้าหากผมเติบโตที่นี่ ผมอาจจะคุ้นเคยและมองไม่เห็นคุณค่าของสิ่งเหล่านั้น” เขากล่าว

จังหวัดราชบุรี เป็นจังหวัดเล็กๆ แสนสงบที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานมาตั้งแต่สมัยทวารวดี ช่วงพุทธศตรรษที่ 13 เป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนานิกายมหายาน ซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อเมืองคูบัว นอกจากนี้ยังมีบทบาทเป็นเมืองท่าที่มีการติดต่อแลกเปลี่ยนการค้ากับจีนและพม่าในช่วงพุทธศตวรรษที่ 15 โดยมีหลักฐานสำคัญคือ เครื่องปั้นดินเผาจากสมัยราชวงศ์ซ้องที่ค้นพบใต้ท้องน้ำแม่กลองและในชุมชนเก่าแก่หลายชิ้น ซึ่งการติดต่อค้าขาย มักมาพร้อมการเปลี่ยนถ่ายภูมิปัญญาและแลกเปลี่ยนความรู้ เป็นที่มาว่าเพราะเหตุใด ราชบุรีจึงเป็นเมืองแห่งเครื่อง ดินเผาและเมืองแห่งโอ่งเคลือบลายมังกรซึ่งเป็นที่รู้จักในปัจจุบัน

art in RB (1)

art in RB (4)

art in RB (7)

แม้ว่าทุกวันนี้บทบาทของจังหวัดราชบุรีจะไม่โดดเด่นเหมือนในอดีต แต่การเป็นเมืองทางผ่านสู่จังหวัดอื่น กลับเป็นข้อดีที่ทำให้เสน่ห์ในฐานะเมืองต่างจังหวัดของราชบุรียังคงอยู่ “สิ่งที่ทำให้ผมประทับใจและภูมิใจในบ้านเกิด อาจไม่ใช่สิ่งที่มองเห็นเป็นรูปธรรม แต่เป็นสิ่งนามธรรมที่สร้างความอบอุ่น ซึ่งเกิดจากชุมชน วิถีชีวิต และวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ยังไม่ได้ถูกเปลี่ยนไปมากนัก” คุณวศินบุรีกล่าว

แต่เราไม่สามารถปฏิเสธการพัฒนาได้ แม้ว่าจะพยายามรักษาสิ่งที่ประทับใจไว้ แต่การเปลี่ยนแปลงของเมืองและวิถีชีวิตย่อมเกิดขึ้นไม่มากก็น้อย ซึ่งสถานที่เหล่านี้คือภาพแทนของจังหวัดราชบุรีในปัจจุบัน ที่คุณวศินบุรีตั้งใจนำเสนอ

วัดอรัญญิกาวาส

วัดอรัญญิก (1)

วัดอรัญญิก (2)

วัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 10 ในช่วงที่อาณาจักรขอมรุ่งเรือง ภายในมีพระปรางค์จากยุคขอมพร้อมลายสลักรูปเทวเทพต่างๆ และเจดีย์ 4 องค์ตั้งรายรอบ ด้านหลังพระปรางค์ ยังมีพระนอนใหญ่ที่สลักจากหินทรายสีแดงที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา แต่ปัจจุบันได้รับการปรับปรุงบูรณะด้วยการทาสีทอง ซึ่งเกิดจากการบนบานศาลกล่าวของชาวบ้านว่า หากสิ่งที่อธิฐานสัมฤทธิ์ผลจะนำสีทองมาทาทับบนองค์พระนอน สะท้อนถึงมุมมองของคนในชุมชนบางกลุ่ม ที่อาจคุ้นเคยกับโบราณสถานหรือโบราณวัตถุในท้องถิ่น เป็นผลให้มองข้ามหรือมองไม่เห็นคุณค่าของมรดกทางวัฒนธรรมที่ตนเองมีอยู่ และนำไปสู่การพัฒนาในทิศทางที่เราไม่คาดคิด

วัดคงคาราม

วัดคงคา (1)b

วัดคงคา (5)b

วัดคงคา (6)b

ขึ้นชื่อเรื่องงานจิตรกรรมฝาผนัง วัดคงคารามเป็นเดสติเนชั่นที่คนรักงานจิตรกรรมไม่ควรพลาด ภาพเขียนฝาผนังอายุกว่า 250 ปี บอกเล่าเรื่องราวพุทธประวัติและพุทธชาติชาดก ด้วยลายเส้นอ่อนช้อย มากรายละเอียด และเปี่ยมด้วยชีวิตชีวา วาดในสมัยรัตนโกสินตอนต้นโดยช่างฝีมือชาวมอญที่ย้ายถิ่นฐานมาตั้งชุมชนที่นี่ ปัจจุบันบางส่วนของภาพเขียนมีการจางหายไปตามกาลเวลา ซึ่งถ้าหากคนในชุมชนไม่เข้ามาดูแลรักษา เราอาจสูญเสียบันทึกทางวัฒนธรรมและมรดกทางศิลปะอันมีค่าไปอย่างน่าเสียดาย

วัดขนอนหนังใหญ่

วัดขนอน (1)

วัดขนอน (2)

วัดขนอน (4)

นอกจากจะเป็นศูนย์รวมศรัทธา ในอดีตวัดยังทำหน้าที่เปรียบเสมือนศูนย์กลางศิลปะและวัฒนธรรมของชุมชน ซึ่งวัดขนอนหนังใหญ่ก็เช่นกัน ในสมัยรัชกาลที่ 5 วัดแห่งนี้มีชื่อเสียงเรื่องการฉลุลายหนังใหญ่ โดยมีพระครูศรัทธาสุทร (หลวงปู่กล่อม) เจ้าอาวาสผู้มีความสามารถเชิงช่างในสมัยนั้นเป็นผู้ริเริ่ม ประกอบด้วยหนังใหญ่ 10 เรื่องและตัวละครหนังเชิดกว่า 300 ตัว ปัจจุบันหนังใหญ่วัดขนอนได้รับการฟื้นฟูและสนับสนุนจากหลายองค์กร มีการฝึกสอนการเชิดหนังใหญ่สำหรับเด็กๆ ในชุมชนและมีการเดินสายออกแสดงในพื้นที่ต่างๆ ล่าสุดวัดขนอนหนังใหญ่ได้รับรางวัลจากองค์การ UNESCO ให้เป็น 1 ใน 6 ชุมชนดีเด่นของโลก ที่มีผลงานในการอนุรักษ์ฟื้นฟูมรดกวัฒนธรรมเชิงนามธรรม ซึ่งเปรียบเสมือนมิติของการอนุรักษ์ศิลปะและวัฒนธรรมในชุมชนที่น่าประทับใจ

ร้านข้าวหมูแดงนายกี่

นายกี่ (4) สี

นายกี่ (7) สี

นายกี่ (10)สี

นายกี่ (12)สี

นายกี่ (19)สี

หากมองเผินๆ ร้านข้าวหมูแดงนายกี่ อาจไม่ได้มีอะไรพิเศษแตกต่างจากร้านขายข้าวหมูแดงทั่วไป แต่ความเป็นปกตินี่เองที่คือเสน่ห์ของวิถีชีวิตอันงดงาม ซึ่งศิลปะเข้ามามีบทบาทในการเปลี่ยนทัศนคติของคนในชุมชน ให้มองเห็นคุณค่าของวิถีชีวิตอันเรียบง่ายตน โดยร้านข้าวหมูแดงนายกี่ เป็นหนึ่งในเดสติเนชั่นชมงานศิลปะในโครงการปกติศิลป์ที่คุณวศินบุรีเป็นผู้ริเริ่ม “ตอนแรกที่เข้าไปติดต่อขอใช้ร้านเป็นหนึ่งในสถานที่แสดงงาน เจ้าของร้านไม่อนุญาต เพราะยังไม่เข้าใจว่าสิ่งที่เราต้องการทำคืออะไร แต่หลังจากที่เราพยายามขอร้องเรื่อยๆ สุดท้ายเขาก็ใจอ่อน ยอมให้ร้านของเขาเป็นหนึ่งในเดสติเนชั่น ซึ่งช่วงที่มีการแสดงงานปกติศิลป์ มีนักท่องเที่ยวทั้งจากกรุงเทพฯ และจังหวัดอื่นๆ แวะมาดูงานศิลปะ กินข้าวหมูแดงที่ร้าน และพูดคุยกับเขา ซึ่งการได้แลกเปลี่ยนเรื่องราวของชุมชนกับคนต่างถิ่น ทำให้เขาได้ค้นพบเสน่ห์ของชุมชนที่ตนเองอาศัยอยู่ หลังจากนั้นทุกปีเขาก็ยินดีให้ความร่วมมือกับทุกกิจกรรม ซึ่งศิลปะคือสิ่งที่ช่วยเปลี่ยนทัศนคติของเขา ให้มีความภาคภูมิใจในบ้านเกิดของตนมากขึ้น” คุณวศินบุรีเล่าเรื่องราวน่ารัก ที่อยู่เบื้องหลังร้านขายข้าวหมูแดงแห่งนี้

โรงงานเถ้าฮงไถ่

taoHongTai (1)

taoHongTai (3)

taoHongTai (4)

คนงานเถ้าฮงไถ่ (6)

คนงานเถ้าฮงไถ่ (10)

คนงานเถ้าฮงไถ่ (11)

โรงงานโอ่งมังกรเก่าแก่รายแรกของจังหวัดราชบุรี ที่มีการสืบทอดกิจการและภูมิปัญญามาแล้วสามรุ่น โดยคุณวศินบุรีคือทายาทรุ่นที่สาม ที่มีการนำสีสันและดีไซน์แปลกใหม่มาสู่วงการโอ่งราชบุรีจนเป็นที่ฮือฮาและกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง “แต่สิ่งสำคัญที่ทำให้กิจการเถ้าฮงไถ่ประสบความสำเร็จมาจนถึงทุกวันนี้ ไม่ใช่เพียงเพราะสีสันหรือดีไซน์ แต่เป็นจิตวิญญาณและภูมิปัญญาที่ฝังอยู่ในดีเอ็นเอของช่างฝีมือต่างหาก ที่ขับเคลื่อนให้เรายืนหยัดข้ามกาลเวลามาถึงจนจุดนี้” คุณวศินบุรีกล่าวปิดท้าย พร้อมกับเชิญชวนให้แวะไปเที่ยวชมเมืองราชบุรี ก่อนที่เสน่ห์ของวิถีชุมชนอันเรียบง่ายจะจางหายไปพร้อมกับกาลเวลาและคำว่า “การพัฒนา”

NJN_3507-2

NJN_3348-1

A design writer who loves reading and writing as much as drinking.

Magazine made for you.