เราจะเดินทางกันแบบไหน? ในอีกไม่ถึง 10 ปีข้างหน้า
เรามักจะจำประสบการณ์บน ‘พาหนะ’ ของการเดินทางครั้งแรกได้เสมอ
จำอาการหูอื้อโหวงท้องขณะเครื่องบินกำลังทะยานขึ้นฟ้า จำจังหวะกระชากของรถไฟที่มาพร้อมเสียงแสบแก้วหู เมื่อล้อเหล็กเริ่มเคลื่อนตัวพาขบวนรถออกจากชานชาลา จำแรงกระแทกของสปีดโบ๊ทตอนข้ามไปเสม็ด หรือแม้แต่จำการเรียกแท็กซี่ที่ต่างประเทศครั้งแรกได้อย่างดี
แม้แต่พ่อแม่ หรือปู่ย่าของเรา ก็คงจะจำประสบการณ์แบบเดียวกันนี้ได้ดีไม่แพ้กัน เพราะในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา พาหนะเชิงพาณิชย์ต่างๆ แทบจะไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปเท่าใดนัก 50 ปีที่แล้วปู่เราขึ้นเครื่องบินอย่างไร 50 ปีต่อมาหลานปู่ก็ยังขึ้นเครื่องบินหน้าตาคล้ายๆ กันอยู่อย่างนั้น ถึงจะเอาผู้โดยสารเครื่อง DC-3 จากยุค 1930 มาขึ้นเครื่อง A380 วันนี้ ก็เชื่อว่าคงไม่มีใครมีปัญหากับการหาประตูที่นั่งหรือช่องเก็บกระเป๋ามากนัก ที่ต่างออกไปก็แค่สมัยนี้ผู้โดยสารเปลี่ยนจากการใส่สูทเต็มยศมาเป็นชุดนอนกับหมอนกอดไปแล้ว
บรรยากาศห้องโดยสารเครื่อง Douglas DC-3A ของ United Air Lines จากปี 1936
แน่นอนว่าความก้าวหน้าด้านวิศวกรรมขนส่งนั้นพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง ครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ความเร็วสูงสุดของรถไฟความเร็วสูงค่อยๆ เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมงทุกๆ 10 ปี จนล่าสุดปี 2016 รถไฟ SCMaglev L0 Series ของญี่ปุ่นครองสถิติแชมป์อยู่ที่ 603 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อเทียบกับ Pen-y-Darren รถจักรขบวนแรกในประวัติศาตร์ของอังกฤษที่วิ่งได้เพียง 3.9 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อปี 1804 ก็ถือเป็น 200 กว่าปีที่รถไฟพัฒนาและเปลี่ยนแปลงโลกไปอย่างมหาศาล แต่เอาเข้าจริงๆ จุดนึงผู้โดยสารก็คุ้นชินกับมาตรฐานความเร็วสูง (ที่สูงขึ้นเรื่อยๆ) จนเลิกตื่นเต้นกับรถไฟเหล่านี้ไปแล้ว เพราะใช้บริการกันมานานตั้งแต่รุ่นพ่อต่อมายังรุ่นลูก ขนาดในการ์ตูนเก่าสุดคลาสสิคตั้งแต่เมื่อ 50 กว่าปีก่อนอย่าง Cyborg 009 หรือโดราเอมอนก็ยังมีฉากรถไฟชินคันเซ็นให้เห็นแล้ว
ดังนั้นคงจะไม่เกินไปหากจะสรุปว่าทุกคนบนโลกเดินทางด้วยรูปแบบเดียวๆ กันมาทั้งชีวิต รถยนต์ รถไฟ เรือ เครื่องบิน ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง และไม่เคยมีใครสัมผัสเครื่องโดยสารรูปแบบใหม่ๆ เลย
แล้วอะไรคือสิ่งต่อไป? รูปแบบการเดินทางในอนาคตจะแตกต่างออกไปจากวันนี้แค่ไหน?
ลองจินตนาการว่ามีรถแท็กซี่ว่างเปล่าขับมารับคุณที่โรงแรม แล้วพาคุณไปขึ้นพาหนะอีกชนิดที่ก็ว่างเปล่าไร้คนขับเหมือนกัน จินตนาการถึงการเดินทางด้วยความเร็ว 1,200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ที่สามารถเชื่อมต่อเมืองหลวงของสองประเทศได้ใน 30 นาที ประสบการณ์เหล่านี้แหละที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้
พาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า และ เทคโนโลยีไร้คนขับ คือนวัตกรรมที่จะเข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงชีวิตคนตั้งแต่ระดับกิจวัตรประจำวันไปจนระบบเศรษฐกิจโลก ถึงคำตอบของการเดินทางยุคใหม่จะยังไม่ใช่เครื่องเคลื่อนย้ายมวลสาร หรือ การเดินทางด้วยความเร็วเหนือแสง และเราคงจะยังได้ถามกันต่อไปอีกร้อยปีว่า #ทำไมเรายังไม่วาร์ป แต่อย่างน้อยก้าวเล็กๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ก็ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับการพัฒนาระบบการขนส่งสำหรับอนาคต ที่น่าดีใจที่สุด คือมันจะเกิดขึ้นในช่วงชีวิตของเราทุกคน มาดูกันว่าในช่วงไม่ถึง 10 ปีข้างหน้านี้มีโครงการอะไรน่าจับตามองกันบ้าง
ทางน้ำ
SeaBubbles
เริ่มจากอนาคตที่ใกล้ที่สุด ปี 2017 โครงการที่แถลงออกมาว่าน่าจะเสร็จให้เห็นเป็นรูปเป็นร่างภายในกลางปีนี้ คือ SeaBubbles พาหนะทางน้ำรูปแบบใหม่ของกรุงปารีส ที่จะมาเริ่มทำหน้าที่เป็น ‘แท็กซี่แม่น้ำแซน’ ในเดือนมิถุนายนนี้
ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ถือเป็นประเด็นสำคัญที่ผู้ประกอบการหัวก้าวหน้าหลายกลุ่ม ใช้เป็นแนวคิดหลักในการพัฒนานวัตกรรมการขนส่งผู้โดยสารสำหรับอนาคต ซึ่ง Alain Thébault นักแล่นเรือชาวฝรั่งเศส และ Anders Bringdal นักโต้คลื่นชาวสวีเดน สองผู้ริเริ่มพัฒนาโครงการนี้ ก็สร้าง SeaBubbles ขึ้นมาเพราะต้องการช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรและมลภาวะของกรุงปารีสนั่นเอง
Alain Thébault และ Anders Bringdal กับโมเดลต้นแบบ SeaBubbles ขนาด 1 ต่อ 5
ถ้าว่ากันตามรูปแบบการให้บริการ SeaBubbles ถือว่าเป็น แท็กซี่น้ำ หรือ แท็กซี่แม่น้ำ ไม่ต่างกับเรือด่วนเจ้าพระยา หรือ Nile Taxi ที่กรุงไคโรซักเท่าไหร่ แต่ความพิเศษของเจ้าพาหนะ 5 ที่นั่ง ที่หน้าตาคล้ายหุ่นยนต์ EVE ใน WALL-E ตัวนี้ คือความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะมันสร้างจากวัสดุย่อยสลายได้ ขับเคลื่อนด้วยพลังงานแบตเตอรี่ไฟฟ้า ไม่มีการปล่อยไอเสีย ไม่ก่อให้เกิดเสียง และไม่มีแม้แต่คลื่นบนน้ำ เพราะ SeaBubbles ไม่ใช่เรือ แต่เป็น hydrofoil ที่จะลอยอยู่เหนือผิวน้ำประมาณ 1-2 นิ้วขณะแล่น ทำให้เกิดแรงต้านน้อยกว่าและสามารถทำความเร็วได้ถึง 48 กิโลเมตรต่อชั่วโมงโดยไม่ก่อให้เกิดมลภาวะทางเสียง
นอกจากด้านการอนุรักษ์แล้ว ทางผู้ผลิตยังวางแผนในอนาคตให้ SeaBubbles เป็นพาหนะไร้คนขับ และสามารถถูกเรียกใช้ผ่านแอพพลิเคชั่นได้เช่นเดียวกับ Uber มีข่าวว่าทางผู้ผลิตได้มีการติดต่อกับบริษัท Uber Technologies Inc. และบริษัทแบรนด์หรูรายใหญ่ของฝรั่งเศสอย่าง LVMH แต่ยังไม่มีแถลงยืนยันถึงการร่วมมือกันแต่อย่างใด ถ้ากำหนดการเป็นไปตามที่ทางผู้ผลิตตั้งเป้าไว้ SeaBubbles รุ่นต้นแบบจะเสร็จในช่วงต้นปี 2017 และเปิดหน่วยแรกให้ใช้จริงได้ภายในฤดูร้อนของฝรั่งเศส
ทางอากาศ
Vahana
ถึงจะเป็นแค่ภาพจำลองที่ดูเหมือนหลุดออกมาจากหนังไซไฟ แต่โครงการนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาขึ้นจริงโดย Airbus บริษัทผู้ผลิตอากาศยานพลเรือนยักษ์ใหญ่ฝั่งยุโรป ที่ได้ร่วมมือกับกลุ่ม A^3 จาก Silicon Valley ของสหรัฐอเมริกา จึงพอจะเชื่อได้ว่าโครงการนี้ไม่น่าจะจบแค่ระดับคอนเซปต์แน่นอน
พาหนะหน้าตากึ่งรถยนต์กึ่งเฮลิคอปเตอร์ กึ่งคันกึ่งลำนี้ มีชื่อว่า Vahana ซึ่งมาจากคำว่า ‘วาหน’ ในภาษาสันสกฤต หรือที่เราอ่านออกเสียงกันว่า ‘พาหนะ’ นั่นเอง ความหมายของคำนี้พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานแปลตรงตัวเอาไว้ว่า เครื่องนำไป, เครื่องขับขี่ แต่ในศาสนาฮินดูคำนี้มีความหมายเกี่ยวโยงถึงเครื่องทรงของเทพเจ้า เช่น วัว เป็นพาหนะของพระศิวะ หรือ หนู เป็นพาหนะของพระพิฆเนศ ดังนั้น Vahana จึงถูกตั้งชื่อขึ้นมาเพื่อให้มีความหมายว่า ‘พาหนะของเทพเจ้า’ นั่นเอง
Vahana ถูกออกแบบมาให้บินขึ้นลงในแนวดิ่งได้เหมือนเฮลิคอปเตอร์ และทำหน้าที่เป็น ‘แท็กซี่อากาศ 1 ที่นั่ง’ ความพิเศษของมัน คือการสามารถขับเคลื่อนตัวเองได้โดยไม่ต้องมีนักบิน ดังนั้น หากจะเรียกว่ามันคือ Drone ก็คงไม่ผิดนัก เพียงแต่แทนที่จะเป็นแค่อุปกรณ์ถ่ายภาพหรือขนส่งพัสดุ (อย่างที่ Amazon ได้เริ่มไปแล้ว) Airbus วางแผนยิ่งใหญ่กว่าให้ Vahana เป็น ‘อากาศยานไร้คนขับสำหรับโดยสาร’ เจ้าแรกของโลกที่ได้รับการรับรองให้ใช้รับส่งมนุษย์ได้จริง โดยทาง Airbus ได้ประกาศว่าจะนำเครื่องต้นแบบออกทดสอบบินภายในสิ้นปี 2017 นี้ และจะเริ่มเปิดขายสู่ตลาดในปี 2020 ส่วนการเรียกใช้ก็จะเป็นลักษณะแบบ Uber คือจองผ่านแอพพลิเคชั่นบนมือถือ เรียกได้ว่าไม่เหลือพื้นที่ให้มนุษย์ได้ให้บริการเลย
อีกประเด็นที่น่าสนใจคือในเว็บไซต์ของ Airbus ซึ่งให้ข้อมูลโดยละเอียดของโครงการนี้ มีการใช้ภาพถนนของกรุงเทพมหานครช่วงสี่แยกศาลาแดงเพื่อยกตัวอย่างสภาการจราจรติดขัดจนเกินเยียวยา (ช่างน่าภูมิใจ) ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมพาหนะทางอากาศจึงจะเข้ามามีบทบาทสำคัญสำหรับการสัญจรในเมืองใหญ่ ถึงรถยนต์ส่วนตัวจะยังบินไม่ได้แบบในหนัง The Fifth Element แต่ Vahana ก็น่าจะเป็นอะไรที่ใกล้เคียงที่สุดที่คนจะได้เห็นกันเร็วๆ นี้
ทางบก
Driverless Bus
“เด็กที่เกิดยุคนี้จะไม่ได้ขับรถอีกต่อไป”
ปัจจุบันเทคโนโลยีไร้คนขับ (autonomous driving) หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่า driverless car พัฒนามาถึงขั้นที่เริ่มถูกนำมาทดสอบใช้จริงบนถนนกันอย่างแพร่หลาย จนเหล่าวิศวกรหัวก้าวหน้าในหลายประเทศคาดการณ์กันว่า กว่าเด็กที่เกิดในวันนี้จะโตถึงวัยสอบใบขับขี่ รถยนต์ทั้งส่วนตัวและสาธารณะก็คงเปลี่ยนไปเป็นระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติกันหมด ยิ่งกระแส sustainable transport มาแรงขึ้น รถยนต์ไฟฟ้าถูกนำกลับมาเป็นพระเอกของตลาดรถอีกครั้ง สองเทคโนโลยีนี้จึงถูกผนวกกันกลายเป็นรูปแบบทางเลือกใหม่สำหรับอนาคต
ที่จริงโลกเรามีรถยนต์ไฟฟ้ามาร้อยกว่าปีแล้วและเคยเป็นที่นิยมอย่างมากในสหรัฐอเมริกาช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ซึ่งผู้ที่เป็นหนึ่งในหัวหอกด้านการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าก็ไม่ใช่ใครที่ไหน คือ โทมัส อัลวา เอดิสัน นักประดิษฐ์ผู้ได้ชื่อว่าคิดค้นหลอดไฟนั่นเอง ส่วนคนที่ทำให้รถยนต์ไฟฟ้าเป็นหมัน แล้วถูกแทนที่ด้วยเครื่องยนต์สันดาปภายในที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง ก็ไม่ใช่ใครอื่นไกล คือเพื่อนสนิทของเอดิสันเอง เฮนรี่ ฟอร์ด บิดาแห่งระบบการผลิตแบบสายพาน ที่ทำให้ชนชั้นกลางชาวอเมริกันทุกคนมีรถยนต์ขับกันมาจนถึงทุกวันนี้
โทมัส อัลวา เอดิสัน และ เฮนรี่ ฟอร์ด ในชุดคาวบอย เมื่อค.ศ. 1923
ในยุคนั้นรถยนต์น้ำมันของฟอร์ดฟันราคารถยนต์ไฟฟ้าของเอดิสันแบบครึ่งต่อครึ่ง ทำให้รถยนต์ไฟฟ้าค่อยๆ ตายไป จากนั้นกลุ่มบริษัทผู้ผลิตรถยนต์เจ้าใหญ่ของสหรัฐก็ผูกขาดตลาดรถยาวนานต่อเนื่องมาอีกหลายสิบปี จนมาถึงต้นศตวรรษที่ 21 รถยนต์ไฟฟ้าจึงกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้งควบคู่กับเทคโนโลยีไร้คนขับที่ถูกพัฒนาถึงขั้นพร้อมใช้จริงพอดี จนเกิดเป็นกระแส Electric Car Boom ในทุกวันนี้
เฉพาะแค่ในปี 2016 ที่ผ่านมาลียง (ฝรั่งเศส) เหอหนาน (จีน) โตเกียว (ญี่ปุ่น) วอชิงตัน ดีซี (สหรัฐอเมริกา) เฮลซิงกิ (ฟินแลนด์) ซิออน (สวิตเซอร์แลนด์) เพิร์ธ (ออสเตรเลีย) และเมืองใหญ่อีกหลายแห่งรวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน AEC ของเราอย่างสิงคโปร์ ได้เริ่มทดลองปล่อยรถบัสพลังงานไฟฟ้าไร้คนขับออกให้บริการ เพื่อนำร่องให้กับแนวคิดที่จะปลดประจำการมนุษย์ในอนาคต โดยเริ่มต้นจากรถบัสขนาดเล็กชนิดรับผู้โดยสารได้ตั้งแต่ 6 ถึงไม่เกิน 15 คน ที่วิ่งด้วยความเร็วประมาณ 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมงให้ทดสอบวิ่งในพื้นที่จำกัด
Navya Arma คือรถบัสไฟฟ้าไร้คนขับที่เริ่มให้บริการจริงที่เขต La Confluence เมืองลียง ประเทศฝรั่งเศสเป็นแห่งแรกของโลกเมื่อเดือนกันยายน 2016
และล่าสุดเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2017 ที่ผ่านมา ลาสเวกัสได้กลายเป็นเมืองแรกของสหรัฐอเมริกาที่ปล่อยรถบัสไร้คนขับทดลองวิ่งให้บริการจริงร่วมกับรถยนต์ทั่วไปบนถนนสาธารณะ ถือได้ว่าเป็นก้าวสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าทางเทศบาลเมืองก็ได้ให้ความร่วมมือในการนำเทคโนโลยีนี้มาปรับใช้จริงในอนาคต ถึงในช่วงทดลองนี้จะมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยครั้ง แต่หนึ่งในจุดมุ่งหมายหลักในการพัฒนาเทคโนโลยีไร้คนขับ ก็คือการลดข้อบกพร่องที่เกิดจากฝีมือมนุษย์นั่นเอง
นอกจากรถบัสไฟฟ้า บริษัทระดับโลกอย่าง Tesla, Google, Mercedes Benz, BMW, Uber, Intel, IBM และอีกหลายองค์กรก็ล้วนกำลังพัฒนาเทคโนโลยีไร้คนขับสำหรับทั้งรถยนต์ส่วนตัวและสาธารณะ ดังนั้น ความเชื่อที่ว่าอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้าเราคงไม่ได้ขับรถเองแล้วคงถึงกับไม่เกินจริง อีก 30-40 ปีข้างหน้าการขับรถ road trip ข้ามจังหวัด ข้ามประเทศ อาจจะกลายเป็นกิจกรรมที่ไม่มีใครทำแล้ว พอคนรุ่นเราเป็นปู่เป็นย่าแล้วคงสามารถโม้กับคนรุ่นลูกรุ่นหลานได้ว่าแต่ก่อนเราขับรถเที่ยวเองกันเป็นพันๆ กิโลเชียวนะ
Olli รถบัสไฟฟ้าที่ขับเคลื่อนด้วยระบบของ IBM Watson Internet of Things (IoT) ออกทดสอบวิ่งที่เมืองวอชิงตัน ดี.ซี.เมื่อเดือนมิถุนายน 2016
จากคำถามยุครถม้าที่เริ่มต้นจาก “จะทำอย่างไรถึงจะขนส่งมวลชนได้ครั้งละมากๆ ในเวลาที่น้อยที่น้อยที่สุด” สู่ยุครถไฟฟ้า ที่คำถามเปลี่ยนไปเป็น “จะทำอย่างไรให้ระบบมีประสิทธิภาพสูงสุด ใช้ทรัพยากรธรรมชาติน้อยที่สุด กระทบสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด” หนึ่งในจุดประสงค์หลักของเทคโนโลยีไร้คนขับ ก็เพื่อลดข้อบกพร่องที่เกิดจากมนุษย์ ถึงเทคโนโลยีนี้จะยังไม่สมบูรณ์แบบและมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ้าง แต่เมื่อเทียบกับความรุนแรงของอุบัติเหตุที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ โดยเฉพาะกับรถโดยสารสาธารณะแล้ว เชื่อว่าน่าจะมีคนอยากลองหันไปใช้สมองกลขับรถแทนมากกว่า
ไฮเปอร์ลูป
“ลอสแอนเจลิส ไป ซานฟรานซิสโก ใน 30 นาที”
ประโยคนี้คือจุดขายของเครื่องโดยสารรูปแบบใหม่ ที่ถูกเรียกว่า Hyperloop ซึ่ง Elon Musk มหาเศรษฐีอัจฉริยะ CEO ผู้ก่อตั้งบริษัท SpaceX และ Tesla Motors ผู้เสนอแนวคิดนี้ ถึงกับตั้งหมวดใหม่ให้มันว่าเป็น ‘พาหนะรูปแบบที่ 5’ (fifth mode of transport) ที่จะเปลี่ยนลักษณะการเดินทางของมนุษย์ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ดีขึ้นอย่างไร ?
แนวคิด Hyperloop เริ่มจากความเห็นแย้งต่อการอนุมัติโครงการสร้างรถไฟความเร็วสูงแห่งแรกของอเมริกาที่รัฐแคลิฟอร์เนีย (California High-Speed Rail) ซึ่งเป็นแผนพัฒนารถไฟหัวกระสุนความเร็ว 220 ไมล์ต่อชั่วโมงที่ต้องใช้งบประมาณมหาศาล (แต่ยังถือว่าช้าเมื่อเทียบกับรถไฟความเร็วสูงของประเทศอื่น เช่น จีน และ ญี่ปุ่น) ซึ่งรัฐบาลมองว่าโครงการนี้จะช่วยแก้ปัญหาการว่างงานได้ ในขณะที่ Elon Musk มองว่าด้วยเม็ดเงินขนาดนั้น สิ่งที่ได้ควรจะเป็นมากกว่ารถไฟความเร็วสูงธรรมดา ยิ่งถ้าต้องการให้เป็นพาหนะทางเลือกแทนการบิน (ชาวอเมริกันส่วนใหญ่นั่งเครื่องบินไม่ค่อยนั่งรถไฟ) พาหนะใหม่นี้ยิ่งต้องเหนือกว่าเครื่องบิน ประชาชนถึงจะเล็งเห็นประโยชน์และใช้โดยสารจริงในชีวิตประจำวัน
เมื่อปี 2013 Musk จึงเสนอแนวคิดเครื่องโดยสารรูปแบบใหม่ ที่ไม่ใช่ทั้ง รถไฟ รถยนต์ เรือ หรือ เครื่องบิน แต่เป็นยานแคปซูล (pod) ที่เดินทางผ่านท่อสุญญากาศด้วยกำลังของแม่เหล็กไฟฟ้า, สามารถกำเนิดพลังงานได้ด้วยตัวเองจากแสงอาทิตย์, ไม่ต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ทำให้ราคาถูกกว่า, ไม่สร้างมลภาวะทางเสียง, ที่สำคัญคือเร็วกว่าเครื่องโดยสารไหนๆ เพราะตามทฤษฎี Hyperloop จะสามารถทำความเร็วได้สูงสุดได้ถึง 760 ไมล์ต่อชั่วโมง (1200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) นั่นหมายถึงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ภายใน 30 นาทีเท่านั้น
แม้แนวคิด Hyperloop ที่ Musk จุดประกายไว้จะล้ำจินตนาการจนเหมือนไม่น่าสร้างได้ แต่ก็มีนักลงทุนและผู้ประกอบการหัวก้าวหน้าที่เชื่อในแนวคิดนี้หยิบมาพัฒนาต่อจริง หนึ่งในนั้นคือบริษัท Hyperloop One ซึ่งจะเริ่มโครงการแรกด้วยเส้นทางลอสแอนเจลิส-ซานฟรานซิสโก ระยะทาง 381 ไมล์ โดยเมื่อเดือนพฤษภาคม 2016 ที่ผ่านมา Hyperloop One ได้ทำการสาธิตระบบขับเคลื่อนรูปแบบใหม่ต่อสาธารณะเป็นครั้งแรกกลางทะเลทรายเนวาดา เพื่อแสดงให้โลกเห็นว่าไม่ได้มาเล่นๆ และพาหนะรูปแบบใหม่นี้กำลังจะเกิดขึ้นจริง
https://youtu.be/1e-Po9C8Kj8
ถึงผลการสาธิตจะยังดูไม่มีอะไรมาก แต่ก็ถือว่าน่าตื่นเต้นที่ได้เห็นลำดับขั้นการพัฒนาเครื่องโดยสารแห่งอนาคตชนิดนี้ในช่วงอายุของเรา ซึ่ง “ในช่วงอายุ” ที่ว่านี้ ไม่ใช่อีก 10 หรือ 20 ปี เพราะ Hyperloop One เส้นทางลอสแอนเจลิส-ซานฟรานซิสโก วางแผนจะเปิดใช้จริงประมาณช่วงปี 2021 หรืออีก 4 ปีข้างหน้านี้เท่านั้นเอง ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ Josh Giegel ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยี (CTO) ของ Hyperloop One ระบุว่าแผนตั้งเป้าว่าจะเริ่มใช้ Hyperloop One ขนส่งสินค้าก่อนในปี 2020 และใช้ขนส่งผู้โดยสารให้ได้จริงภายในปี 2021
ตอนนี้กระแส Hyperloop กำลังเป็นที่สนใจในหมู่นักลงทุนทั่วโลก เมื่ออเมริกาเริ่มแล้ว ไหนเลยชาติอื่นจะไม่ตาม เมื่อเดือนมิถุนายน 2016 บริษัท Hyperloop One ประกาศว่าได้รับการติดต่อจากกลุ่มบริษัท Summa Group ของรัสเซียเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการเชื่อมต่อระบบขนส่งของกรุงมอสโคว์กับ Hyperloop ซึ่งถือเป็นข้อตกลงกับรัฐบาลต่างประเทศครั้งแรกของบริษัท Hyperloop One และเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาทางบริษัทก็ได้ทำข้อตกลงข้ามชาติอีกครั้งกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) เพื่อพัฒนาระบบ Hyperloop เชื่อมดูไบกับอาบูดาบีและเมืองอื่นๆ ในประเทศ รวมถึงเตรียมแผนเชื่อมกับกลุ่มประเทศอ่าวเพื่อนบ้านในอนาคตอีกด้วย เมื่อโครงการสำเร็จ การเดินทางจากดูไบไปอาบูดาบีจะใช้เวลาเพียง 12 นาทีเท่านั้น หรือถ้าจะข้ามประเทศต่อไปกาตาร์หรือโอมาน ก็น่าจะใช้เวลาแค่ประมาณ 30 นาที
แน่นอนว่าขั้นตอนทดสอบของเครื่องโดยสารเหล่านี้ยังต้องดำเนินไปอีกนาน และอุบัติเหตุในการทดลองก็คงต้องเกิดขึ้นบ้างอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ก้าวต่อไปที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ก็ถือว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงที่น่าตั้งตารอ ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า นับถอยหลังถึงแค่งานโอลิมปิกปี 2020 ครั้งต่อไป พาหนะอย่างใดอย่างหนึ่งที่กล่าวถึงมานี้ก็จะเสร็จสมบูรณ์ให้ได้ใช้จริง และกลายเป็นเสน่ห์ดึงดูดใหม่ในฐานะจุดขายด้านการท่องเที่ยวให้กับเมืองใหญ่ทั่วโลก
ไม่แน่ว่าในอนาคตอันใกล้นี้ แพ็คเกจทัวร์อาจต้องรวมการนั่ง Hyperloop เข้าไป ไลฟ์วิดีโอของเพื่อนอาจจะเริ่มที่เมืองนึงแต่ไปจบอีกเมืองนึงแบบเก๋ๆ อาจจะเกิดกระแสเซลฟี่กับยานพาหนะเวลาไปเที่ยว แต่มองอีกแง่ ก็คงเหงาอยู่เหมือนกัน ถ้าก้าวขึ้นแท็กซี่ไม่เจอใคร มีเพียงเสียงสังเคราะห์พูดทักทายและบอกลาตามระบบสั่งการ เดินทางไปไหนก็เร็วจนยังไม่ทันรู้สึกว่าได้เดินทาง ไม่รู้ว่าพอถึงวันนั้นจริงๆ เราจะเดินทางกันด้วยความรู้สึกแบบไหนกันแน่