ระลึก ‘วันมหาสมุทรโลก’ ร่วมปกป้องท้องทะเลกับนักอนุรักษ์จากทั่วโลก
ถ้าคุณพิมพ์คำว่า “ร่างกาย” ลงในช่องเสิร์ชของเว็บเบราว์เซอร์ ประโยคแรกๆ ที่จะเด้งขึ้นมา คือคำว่า “ร่างกายต้องการทะเล”
ประโยคง่ายๆ ที่หลายคนใช้อธิบายความรู้สึกหรือแม้กระทั่งเป็นแฮชแทก เมื่อรู้สึกคิดถึงเสียงคลื่น คิดถึงสายลมและแสงแดด คิดถึงบรรยากาศที่เงียบราวกับอยู่ในอวกาศขณะดำอยู่ใต้น้ำ คิดถึงความรู้สึกเล็กจ้อยเมื่อถูกล้อมด้วยเวิ้งน้ำสีครามเข้มไร้ขอบเขต คิดถึงปลาตัวน้อย หรือแม้แต่หอยเม่นที่เราต้องคอยหลบ เพราะเราล้วนมีรู้สึกร่วมเดียวกันว่า ท้องทะเลช่างมหัศจรรย์เหลือเกิน
และในวันที่ 8 มิถุนายน ของทุกปี ก็ถือเป็นวันมหาสมุทรโลก หรือ World Ocean Day วันสากลที่ถูกบัญญัติขึ้นเพื่อรำลึกถึงท้องทะเล ที่เป็นดั่งหัวใจสีน้ำเงินของโลกใบนี้ ซึ่งเป็นวันสำคัญที่เราควรถามตัวเองว่า เราเคยดูแลทะเลที่เรารักบ้างแล้วหรือยัง ?
© National Geographic Television
ดร.ซิลเวีย เอิร์ล (Dr. Sylvia Earle) คือนักสำรวจภาคประชาชนของ National Geographic ผู้ทรงอิทธิพลระดับโลกในด้านการอนุรักษ์มหาสมุทร ได้สร้างสรรค์ภาพยนตร์สั้นตัวนี้ขึ้นมา เพื่อตอกย้ำให้พวกเราตระหนักรู้ว่าแท้จริงแล้วท้องทะเลเต็มไปด้วยความน่าพิศวงและสามารถเปลี่ยนแปลงทุกชีวิตบนโลกนี้ได้อย่างไร ผ่านความร่วมมือของโครงการหัวใจสีน้ำเงินของ La Mer และ National Geographic
© Thomas P. Peschak
© Thomas P. Peschak
© Thomas P. Peschak
© Mauricio Handler
© Paul Nicklen
© David Doubilet
© Mattias Klum
© David Doubilet
ภาพยนตร์สั้นตัวดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ La Mer’s Blue Heart ซึ่งเป็นภารกิจอนุรักษ์มหาสมุทรระดับโลก ที่ La Mer ยังคงสานต่อความร่วมมือกับ National Geographic อย่างเป็นทางการต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 มีการบริจาคเงินเพื่อสนับสนุนการทำงานด้านอนุรักษ์และสำรวจหัวใจสีน้ำเงินดวงนี้ รวมไปถึงการร่วมงานกับผู้ที่มีหัวใจรักทะเลทั่วโลก ทั้งนักอนุรักษ์มหาสมุทรชาวอเมริกัน ฟิลลิป และแอชลัน คูสตูว์, นักดำน้ำลึกตัวเปล่าชาวญี่ปุ่น โทโมกะ ฟุคุดะ, และนักแสดงชาวสเปน เอลซา พาทากี ที่จะมาบอกเล่าเรื่องราวทั้งหมดของพวกเขากับมหาสมุทร ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจในการทำงานและดำรงชีวิต ในแคมเปญภาพยนตร์ Ocean as Muse
ในประเทศไทย La Mer ได้จัดกิจกรรมอนุรักษ์และฟื้นฟูทะเลไทยเนื่องในวันมหาสมุทรโลกปี 2559 ซึ่งตรงกับวันที่ 8 มิถุนายน ของทุกปี เพื่อสานต่อภารกิจ La Mer’s Blue Heart ในการอนุรักษ์มหาสมุทรที่ยั่งยืนของมนุษยชาติที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี
สำหรับกิจกรรมในปีนี้ La Mer ได้นำคณะบุคลากรพร้อมด้วยพนักงานกว่า 50 ชีวิต ร่วมกับนักวิชาการด้านประมง ผู้เชี่ยวชาญและนักอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล รวมถึงศิลปินผู้มีหัวใจสีน้ำเงิน อาทิ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์, ภูริ หิรัญพฤกษ์, ไบรอน-สิรินยา บิชอพ, ดิษยา กรกชมาศ, อิษฏ์วรรณ สุทธินาค และนักอนุรักษ์รุ่นใหม่ที่น่าจับตามองอย่างศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย เข้าร่วมภารกิจร่วมด้วยการทำความสะอาดพื้นที่บนชายหาดสาธารณะ (Beach cleanup) และลงเรือวิจัยเพื่อร่วมสำรวจสภาพท้องทะเลในปัจจุบัน เพื่อปกป้องทะเลไทยจากผลกระทบเรื่องขยะ และเพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ของท้องทะเลไทยและแนวทางในการอนุรักษ์เพื่อการดูแลหัวใจสีน้ำเงินของโลกใบนี้ร่วมกัน
สิ่งที่มหาสมุทรกำลังประสบเกิดขึ้นมานานแล้วและกำลังดำเนินต่อไป ในขณะที่เราเที่ยวทะเลกันอย่างสบายใจ เราอาจไม่ได้มองภาพใหญ่และปล่อยให้สิ่งเหล่านี้ผ่านตาไปโดยไม่ได้ตระหนักรู้ถึงปัญหา และความจริงอันโหดร้าย คือเราไม่สามารถฟื้นฟูมหาสมุทรให้กลับมาเหมือนเดิมได้อีกต่อไปแล้ว สิ่งที่เราเห็นทุกวันนี้ เป็นเพียงเศษเสี้ยวที่หลงเหลืออยู่ แต่สิ่งที่เราทำได้ง่ายและเร็วกว่าการฟื้นฟู คือการอนุรักษ์ท้องทะเล รักษาสิ่งที่เรามีในวันนี้ให้ยังคงอยู่กับเราต่อไปให้มากที่สุด และช่วยกันลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น
#ร่างกายต้องการทะเล อาจฟังดูเป็นเพียงประโยคเก๋ๆ แต่แท้จริงแล้วร่างกายของเรานั้นต้องการทะเลจริงๆ และในอีกแง่หนึ่งมหาสมุทรเอง ก็คือร่างกายและหัวใจของโลกใบนี้ ที่มีความสำคัญต่อทุกชีวิต ซึ่งรวมถึงมนุษย์เราเองเช่นกัน