MADE IN BANGSUE ‘บางซื่อ’ เลื่องลือ ของดี มีเรื่องเล่า

“ถึงบางซื่อชื่อบางนี้สุจริต” หลายๆ คนคงคุ้นหูวรรคนี้จากนิราศพระบาทที่สุนทรภู่ประพันธ์ขึ้นเมื่อครั้งเดินทางผ่านย่านบางซื่อในพ.ศ. 2350 ในอดีตผู้คนยังสัญจรทางเรือผ่านแม่น้ำลำคลองเป็นส่วนใหญ่ แต่ปัจจุบันเราสามารถทะลุซอกซอยไปตามท้องถนน ตลอดจนรถไฟทั้งบนดินและลอยฟ้ามาที่ย่านบางซื่อแห่งนี้ ที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปเป็นศูนย์กลางคมนาคมแห่งภูมิภาคในอีกไม่ช้า

มาตามรอยดูกันว่าในพื้นที่กว่า 11.500 ตารางกิโลเมตร ของอดีตอำเภอเก่าแก่ที่ชื่อบางซื่อนี้ มีของดีทีเด็ดอะไรตรงไหนบ้างกับ ‘MADE IN BANGSUE : ของดีประจำย่านบางซื่อรวมของดีที่สร้างชื่อ เก่าแก่ระดับตำนาน และเหล่านี้คือของดีที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และอยากชวนคุณไปตามรอยด้วยกัน

งานแกะสลักเครื่องไม้ / เฟอร์นิเจอร์ไม้
ศูนย์รวมเครื่องไม้ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยอยู่ที่นี่!!

แค่เห็นซุ้มทางเข้าก็มั่นใจได้แล้วว่า ถึงแหล่งศูนย์รวมเครื่องไม้แล้วแน่นอน ด้วยปากทางเข้าซอยทั้ง 2 ฝั่ง (ถนนกรุงเทพ-นนทบุรี และถนนประชาราษฎร์ สาย 1) มีซุ้มประตูไม้ขนาดใหญ่คอยต้อนรับอยู่ ทำจากไม้ตะเคียนทองแกะสลักเอาไว้อย่างวิจิตรบรรจง และซุ้มนี้ยังออกแบบโดยอาจารย์สุดสาคร ชายเสม ศิลปินผู้ทรงคุณวุฒิด้านจิตรกรรม ประติมากรรมด้วย


ถนนสายไม้ หรือซอยประชานฤมิตร ชื่อที่เหล่าคนรักงานไม้คุ้นเคยเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะหาซื้อเฟอร์นิเจอร์ไม้ใหม่ อยากได้ไม้แกะสวยๆไปประดับบ้าน ต้องการเอาเก้าอี้ไม้มาซ่อม หรือแม้แต่อุปกรณ์งานไม้ต่างๆ สาเหตุสำคัญที่ทำให้บริเวณนี้กลายเป็นแหล่งงานไม้ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และมีช่างไม้ ช่างแกะไม้ฝีมือดีที่สืบทอดมาจากชาวจีนจากวัดญวนบางโพก็มารวมตัวกันอยู่ที่นี่ มาจากที่แต่ก่อนเขาจะนำไม้ซุง ล่องน้ำมาจากทางภาคเหนือจนมาถึงแม่น้ำเจ้าพระยา นำเข้าโรงเลื่อยซึ่งตั้งอยู่บริเวณท่าน้ำสองฝั่งแม่น้ำบริเวณวัดบางโพ แล้วจึงส่งต่อไปแปรรูปในย่านบางลำพู วัดสระเกศ แม้นศรี แต่ด้วยย่านในเมืองไม่สามารถขยับขยายได้แล้ว ราวพ.ศ. 2522 หลายๆ ร้านจึงย้ายตัวออกมาอยู่กันที่ซอยประชานฤมิตร และขยายพื้นที่ไปถึงซอยไสวสุวรรณ หรือซอยกรุงเทพ-นนทบุรี 13 ซอยที่อยู่ถัดไปด้วย คุณยายที่อาศัยอยู่ในซอยประชานฤมิตรมา 50 ปีเล่าว่า


“ยายมาอยู่ตั้งแต่ในซอยนี้ตั้งแต่พ.ศ. 2512 ตอนนั้นยังมีแต่บ้านไม้ ถนนเป็นถนนดิน แล้วค่อยๆเปลี่ยนเป็นถนนลูกรัง จนมาเป็นถนนคอนกรีตอย่างทุกวันนี้ เดิมที่นี่ก็มีร้านเครื่องไม้ ร้านเฟอร์นิเจอร์ไม้อยู่แล้วนะ แต่ว่าไม่เยอะมาก หนึ่งในร้านที่เก่าแก่อยู่มานานก็ร้านสุพรรณการช่าง ร้าน S.T.S. เฟอร์นิเจอร์โฮม ร้านนี้เขาเปิดมานานกว่า 60 ปีแล้ว และอีกหลายร้านที่กลายเป็นร้านใหญ่โตมีหลายห้องแถว มีลูกค้าที่แวะเวียนมาซื้อไม่ขาดสาย แล้วเมื่อสักช่วงปี 2542 ในซอยนี้เริ่มมีจัดงานถนนสายไม้ก็ทำให้ครึกครื้นขึ้นมา และมีคนรู้จักซอยนี้มากขึ้น หลังจากนั้นก็จัดเป็นประจำทุกปี ถึงปีที่ 10 แล้วก็หยุดพักไป น่าเสียดายเหมือนกัน”


และอีกไฮไลท์เด็ดของถนนสายไม้ที่คนละแวกนี้บอกมาว่าห้ามพลาดก็คือ ปาท่องโก๋ซึ่งขายอยู่บริเวณปากซอยประชานฤมิตร ฝั่งถนนประชาราษฎร์สาย 1 มานานหลายสิบปี เป็นร้านปาท่องโก๋ที่ชาวบางซื่อยินดีเข้าคิวต่อแถว เพื่อนำกลับไปเป็นอาหารเช้า (แสนอร่อย) เริ่มตั้งเตาขายกันตั้งแต่ตี 3 บางวัน 8 โมงเช้านิดๆ ก็ขายหมดแล้ว

[su_tabs][su_tab title=”Details”]

ถนนสายไม้ (ซอยประชานฤมิตร)

Opening Hours: ทุกวัน เวลาแนะนำ 9:00-17:00 น.

Location: ถนนสายไม้ (ซอยประชานฤมิตร) ซอยประชานฤมิตร แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ

[su_gmap width=”1600″ address=”ซอยประชานฤมิตร”][/su_gmap]

[/su_tab] [/su_tabs]

 

เตาปูน
(อดีต)แหล่งผลิตปูนแห่งแรกของประเทศไทย

มีใครทันเห็นปล่องหม้อเผา แลนด์มาร์กสำคัญของย่านบางซื่อบ้าง ?
นอกจากเป็นสัญลักษณ์สำคัญของย่าน จนชาวบ้านละแวกนี้เรียกกันติดปากว่าเตาปูนบางซื่อแล้ว ยังมีความสำคัญระดับประเทศเป็นถึงแหล่งผลิตปูนแห่งแรกของประเทศไทย ที่มีอายุยาวนานถึง 103 ปี หรือตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6

สาเหตุที่ประเทศไทยเริ่มมีการผลิตปูนใช้เอง ก็เพื่อลดการนำเข้าปูนซีเมนต์จากต่างประเทศ และหลังจากผลิตไปได้เพียง 2 ปี (พ.ศ. 2458) ประเทศไทยก็เริ่มผลิตปูนซีเมนต์ส่งออกสู่ตลาดโลก สำหรับสาเหตุที่แหล่งผลิตปูนมาตั้งอยู่ใกล้ๆสถานีรถไฟบางซื่อ ก็เพื่อความสะดวกในการขนส่งนั่นเอง รวมถึงบริเวณนี้ยังสามารถหาส่วนผสมบางอย่างได้ด้วย ตั้งแต่นั้นมาบางซื่อมีปล่องหม้อเผาจากโรงเตาปูน ตั้งสูงเด่นเป็นอีกแลนมาร์กประจำย่าน และปล่องเตาเผาที่สูงเด่นเป็นสง่าถึง 78 เมตร เหล่านี้ล่ะ ที่เป็นที่มาของชื่อย่านเตาปูน
ปล่องหม้อเผาทยอยเกิดขึ้นเพื่อรองรับการผลิต จนมีถึงปล่องที่ 6 ซึ่ง 2 ใน 6 ปล่องนี้ได้รับลูกหลงจากการทิ้งระเบิดในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ปล่องที่ 1 ใช้งานไม่ได้อีกต่อไป และปล่องที่ 2 ต้องซ่อมแซมนานถึง 3 เดือน และหลังจากซ่อมปล่องที่ 2 ไปได้ 30 กว่าปีก็เกิดการชำรุดทรุดโทรม ทำให้ต้องทุบทิ้งเพื่อป้องกันการถล่ม ทั้งนี้หลังจากที่เริ่มมีการขยายกำลังการผลิตออกไปยังที่โรงงานท่าหลวง จ.อยุธยา โรงงานแก่งคอย จ.สระบุรี ฯลฯ ปล่องหม้อเผาที่บางซื่อเริ่มถูกปิด และโรงปูนบางซื่อได้ออกมาประกาศยุติการผลิตทั้งหมดในช่วงพ.ศ. 2530


หลังจากนั้นก็ได้ทุบปล่องเตาเผาที่เหลือ 3 ปล่องสุดท้ายลง เพื่อปรับพื้นที่ใช้สอยบริเวณนั้น
นอกจากมีเตาปูนแล้ว ในหนังสือบางกอกบอกเล่า(เรื่อง) ของสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานครยังได้บันทึกไว้ว่า บริเวณบางซื่อเคยมีการทำอิฐด้วย ริเริ่มโดยเจ้าพระยาวรพงษ์พิพัฒน์ (หม่อมราชวงศ์เย็น อัครเสนา) ซึ่งย้ายกิจการทำอิฐมาจากที่เคยเช่าเตาเผาอยู่ในย่านบางบัวทอง จ.นนทบุรี ช่วงเริ่มแรกก็ขายดิบขายดี จนมีบ้านอื่นๆ ในย่านทำขายด้วย ภายหลังราคาเริ่มตก ทำให้ในที่สุดต้องปิดกิจการลง
แม้ว่าทุกวันนี้ปล่องเตาปูนย่านบางซื่อเหลือแต่ในภาพประวัติศาสตร์ แต่แลนด์มาร์กนี้จะอยู่ในความทรงจำของชาวบางซื่อรุ่นเก่าแก่อย่างไม่รู้ลืม

 

หัวโขน
ศิลปะชั้นสูงสุดของช่างสิบหมู่ไทย ระบือไกลทั่วโลก

50 กว่าปีแล้วที่ชุมชนสะพานไม้แห่งบางซื่อ ได้รับการขนานนามว่าเป็นชุมชนหัวโขน เริ่มต้นจากอาจารย์สาคร ยังเขียวสด หรือ โจหลุยส์ ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (ละครเล็ก) ปี 2539 ผู้สืบทอดอาชีพเล่นโขน หุ่นกระบอก ลิเก มาจากบรรพบุรุษ ทำให้สามารถซ่อมแซมเมื่อหัวโขนหรือหุ่นกระบอกชำรุดได้ รวมทั้งยังสะสมความรู้จนสามารถประดิษฐ์หัวโขนได้เอง ซึ่งในสมัยนั้นเรียกได้ว่าละแวกบางโพ ประชาชื่นเป็นดงลิเกดงละครของกรุงเทพเลยทีเดียว


จากภูมิปัญญาการทำหัวโขนที่ครูโจหลุยส์ส่งต่อสู่ลูกหลาน ‘ครูประทีป รอดภัย’ หลานของครูโจหลุยส์เป็นหนึ่งในศิษย์รุ่นแรก ที่ได้รับโอกาสมาเรียนรู้การทำหัวโขนที่ชุมชนสะพานไม้แห่งนี้ หลังจากที่เรียนจบป.7 หรือ พ.ศ. 2511 ในยุคนั้นถนนประชาชื่นยังเป็นลูกรัง ยังเป็นสวนทุเรียน สวนฝรั่งของคนจีน ท้องนา เริ่มต้นจากเป็นลูกมือก่อน ร้านแรกเริ่มที่ครูประทีปได้นำหัวโขนไปขายคือร้านผดุงชีพ แถวสนามหลวง ช่วงพ.ศ. 2525 ที่มีการเฉลิมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี เป็นยุคที่ชุมชนสะพานไม้มีงานหัวโขนเข้ามาไม่ขาดสาย ต้องแบ่งหน้าที่กันไปแต่ละบ้าน มีช่างที่ช่วยกันทำ 4-5 บ้าน รวมกันกว่า 20 คน ปัจจุบันที่ชุมชนสะพานไม้แห่งนี้ เหลือเพียงครูประทีป รอดภัย ที่ยังคงสานต่อตำนานชุมชนหัวโขนให้กับย่านบางซื่อ และมีบ้านที่จังหวัดอ่างทองเป็นอีกแหล่งผลิตหัวโขน เป็นที่เก็บข้าวของสัมภารกต่างๆ ส่วนลูกศิษย์คนอื่นๆแยกย้ายไปอยู่ จ.นนทบุรี จ.อ่างทอง จ.สมุทรสงคราม ครูประทีป รอดภัย เล่าถึงเบื้องหลังการทำว่ากว่าจะเสร็จแต่ละหัวนั้น ไม่ง่ายเลยจริงๆ


“อาชีพนี้จะลำบากช่วงหน้าฝน ตากหุ่นไม่ค่อยแห้ง เพราะหลังจากปิดหุ่นด้วยกระดาษสีน้ำตาล หรือถุงปูนรอบแรกแล้วต้องนำไปตากแดดไว้ 2-3 วันถึงจะแห้งสนิท ถ้าหุ่นไม่แห้งเราจะทำต่อไม่ได้ และต้องปิดทั้งหมด 10 ชั้น เพื่อให้มีความคงทนแข็งแรง ขั้นตอนที่ยากคือการปั้นหน้า หรือการวางคิ้ว โครงแก้ม เราต้องวางให้สมมาตรกัน ฝั่งซ้ายจะค่อนข้างยากกว่าฝั่งขวา และหัวโขนสหัสเดชะ นี่ก็ทำยาก ต้องทำยอดสูงขึ้นไปอีก 1-5 ยอด โดยหน้าที่อยู่บนสุดจะเป็นหน้าพรหม และสีที่ลงยากที่สุดคือสีขาวเพราะว่าต้องเป็นสีขาวจริงๆ จะต้องลงสีหลายชั้นกว่าสีอื่น แต่ก่อนเลยเขาจะใช้สีธรรมชาติ อย่างดอกทองหลาง เปลือกไม้มาหมักทิ้งไว้นาน 3 เดือนกว่าจะใช้ได้ แล้วก็ไม่ทนด้วย ต่อมาเปลี่ยนเป็นสีฝุ่นแต่ว่าพอนานๆ ไปแล้วสีก็จะหลุดร่อนเช่นกัน ปัจจุบันผมใช้สีผงญี่ปุ่นซึ่งกันน้ำและคงทนมากๆ แม้ว่าจะเหนื่อยแค่ไหนผมมีความสุขทุกครั้ง ที่ได้บอกเล่าได้อธิบายสิ่งที่บรรพบุรุษสร้างสรรค์และจินตนาการมา และก็คงตายไปพร้อมกับอาชีพนี้”


ศิลปะการทำหัวโขน ศิลปะชั้นสูงสุดของช่างสิบหมู่ไทย อีกงานฝีมือที่ต้องใช้ทักษะความสามารถในการในการประกอบงานหลายขั้นตอน เป็นสัญลักษณ์งานศิลปะวัฒนธรรมไทยที่วิจิตรบรรจง นอกจากใช้แสดงยังเป็นของสะสม ของที่ระลึก และยังได้รับความสนใจจากชาวต่างชาติ ช่วยทำให้คนช่างทำหัวโขนมีอาชีพ มีรายได้ มีแรงใจที่จะอนุรักษ์ศิลปะแขนงนี้ไว้ไปจนถึงลมหายใจสุดท้าย

[su_tabs][su_tab title=”Details”]

หัวโขน ชุมชนสะพานไม้

Location: ชุมชนสะพานไม้ ซ.ประชาชื่น18 ถ.ประชาชื่น เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ l 081 318 2084
www.facebook.com/ThaiKhonMaskMaker/

[su_gmap width=”1600″ address=”Soi Pracha Chuen 18″][/su_gmap]

[/su_tab] [/su_tabs]

 

ขนมไทย
ความหวานสุดเก่าแก่…ที่อร่อยจนลืมไม่ลง

มีตลาดอยู่ที่ไหน มักจะมีขนมไทยอร่อยๆประจำอยู่ที่นั่นด้วยเสมอ ที่ตลาดเตาปูน หรือตลาดมณีพิมานก็เช่นกัน มีทั้งข้าวเหนียวมูล ขนมใส่ไส้ ขนมต้ม ขนมเทียน ขนมทองต่างๆ ไม่ว่าจะทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง เม็ดขนุน และอีกสารพัดความหวานแบบไทยๆในราคาเบาๆ ตั้งแผงให้ชาวบางซื่อที่แวะมาตลาดเตาปูนได้เลือกทานอย่างจุใจ

หนึ่งในร้านขนมไทยของตลาดเตาปูนที่เก่าแก่ อยู่คู่มาตั้งแต่ตลาดสดเพิ่งเปิดใหม่ๆ คือ ‘ร้านลุงขาวเตาปูนขนมไทย’ โดยลุงขาวผู้ตั้งต้นเปิดร้านขนมไทยได้ทำมาตั้งแต่พ.ศ. 2501 ต่อมาได้ย้ายมาประจำอยู่ที่ตลาดเตาปูนในปี 2516 ตั้งร้านอยู่ในตลาดสด ในช่วงที่ตลาดเตาปูนยังมีโรงหนังถึง 2 แห่ง โรงหนังกรุงเทพรามากับโรงหนังเฉลิมพันธ์ ทำให้บรรยากาศภายในตลาดเตาปูนมีชีวิตชีวา เต็มไปด้วยผู้คนต้องมาจับจ่ายซื้อของกินของใช้ กันจนแน่นตลาดจนไม่มีที่ยืน และบริเวณรอบๆยังเป็นแหล่งขายส่ง ขายผ้าต่างๆด้วย และขนมไทยของร้านลุงขาวก็ขายดิบขายดีมากเช่นกัน หลายคนได้ทานมาตั้งแต่อยู่ในท้อง

‘หอม หวาน มัน’ ใครที่ได้ทานรวมมิตรน้ำกะทิจากร้านลุงขาว เป็นต้องซดแล้วต้องเอ่ยปากชมด้วยความชื่นใจ ในสมัยที่ตลาดเตาปูนเฟื่องฟู แค่รวมมิตรน้ำกะทิอย่างเดียวก็ขายได้ถึงวันละ 2-3 กะละมังใหญ่ และรวมมิตรน้ำกะทินี้ยังเป็นขนมหวานขึ้นชื่อที่สุดของร้านลุงขาวด้วย ด้วยบรรจงคัดและคั้นกะทิเอง ใช้แต่กะทิสดๆเท่านั้น ไม่ใส่สารกันบูดใดๆ เพื่อให้รสชาติอร่อยปลอดภัย เมื่อซื้อกลับไปจึงต้องรีบนำไปแช่ตู้เย็นภายใน 2 ชั่วโมง นอกจากนี้ที่ร้านลุงขาวก็ยังมีขนมไทยที่ทั้งทำเองอีกหลายอย่าง อาทิ ข้าวเหนียวหน้านวล ขนมฟักทองนึ่ง ขนมกล้วย ถั่วแปบ เป็นต้น ทั้งอร่อย ทั้งได้อนุรักษ์ภูมิปัญญา และเอกลักษณ์ของไทยเอาไว้ แลกกับน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น(นิดหน่อย)…ก็ยินดีและยินยอม

[su_tabs][su_tab title=”Details”]

ร้านลุงขาวเตาปูนขนมไทย

Opening Hours: ทุกวัน 7:00-20:00 น.

Location: 16/14 ตลาดเตาปูน (ติด MRT เตาปูน) แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ
www.facebook.com/ลุงขาวเตาปูนขนมไทย-199226080470568/

[su_gmap width=”1600″ address=”ร้านลุงขาวเตาปูนขนมไทย”][/su_gmap]

[/su_tab] [/su_tabs]

อังกะลุง
ตำนานเครื่องดนตรีภูมิปัญญาไทยที่ใกล้จะดับสูญ

แม้ว่าอังกะลุง หรืออุงคะลุงจะเป็นเครื่องดนตรีที่มีกำเนิดมาจากชวา ประเทศอินโดนีเซีย ทว่าในช่วงรัชกาลที่ 6 ได้เกิด ‘อังกะลุงไทย’ จากฝีมือช่างดนตรีไทยขึ้นมา ‘ครูปลั่ง เปรมใจ’ ได้ปรับเปลี่ยนจากอังกะลุงของชวา ประดิษฐ์ขึ้นเป็นอังกะลุงแบบสามกระบอก และเพิ่มเสียงฟา เสียงทีเข้าไปให้มีครบ 7 เสียง เพิ่มจากอังกะลุงชวาที่มีเพียง 5 เสียง และใน พ.ศ. 2507 ได้มีการปรับเปลี่ยนอังกะลุงอีกครั้ง โดย ‘อาจารย์สำรวย เปรมใจ’ ผู้เป็นบุตรชายได้ลองดัดแปลง นำอังกะลุงมาแขวนห้อย แล้วใช้หนังยางดึงข้างหน้า ข้างหลัง แล้วเล่นโดยใช้มือจับสั่นเพื่อเขย่าให้เกิดเสียง โดยมีชื่อเรียกว่าอังกะลุงราว และยังสามารถเล่นอังกะลุงได้ครบทุกเสียงด้วยคนเล่นเพียงคนเดียว

ครูสำรวย ศิลปินดนตรีไทยยังได้เล่าถึงอังกะลุงเพิ่มเติมว่า “อังกะลุงเล่นง่ายมันเป็นระบบสั้น ก็จะมีแค่ลูกสะบัด ลูกขยี้ แค่บอกนิดหน่อยก็เล่นเป็นแล้ว และเล่นแค่ 3 ราวก็เสียงดังกลบระนาดมิดเลย ยิ่งถ้าไปเล่นริมบ่อจะยิ่งก้องเข้าไปใหญ่ ถ้าเป็นวงใหญ่จะมีทั้งหมดถึง 20 ราว ตอนนี้ก็ทำอังกะลุงมาแล้วนับไม่ถ้วน ที่เยอะกว่าคือคนเอามาให้แก้ ให้เล่นแล้วมีเสียง ต้องเลือกไม้ไผ่ลายที่แก่หน่อย ถึงจะได้เสียงที่ใสและดัง ที่สำคัญไม้แก่ยังปลอดภัยจากมอดอีกด้วย ”


ครูสำรวยคลุกคลีกับเครื่องดนตรีไทยมาตั้งแต่อายุ 5 ขวบ เริ่มจากการหัดตีเครื่องประกอบจังหวะ อย่าง กรับ ฉาบ แล้วตามคุณพ่อปลั่งไปเล่นงานต่างๆ จนสามารถเล่นเครื่องดนตรีไทยได้ทุกชนิด และได้ก่อตั้ง ‘คณะสหมิตร’ คณะดนตรีไทยเพื่อไปเล่นตามงานต่างๆ สมาชิกในวงมีทั้งเพื่อนและลูก ไม่เพียงแต่ไปแสดงตามงานต่างๆ พ.ศ. 2548 ครูสำรวยได้เปิดบ้านเป็นโรงเรียนสอนดนตรีไทยชื่อ ‘บ้านเปรมใจ’ หรือในชื่อเดิมว่า ‘โรงเรียนวิทยาทานดนตรีไทยเปรมใจ’ เพื่อจะอนุรักษ์และสืบทอดดนตรีไทยเป็นมรดกสืบต่อไป

ครั้งหนึ่งครูสำรวยเคยสอนจำนวนมากถึง 30-40 คน นักเรียนผู้ชายก็จะค้างที่โรงเรียน แล้วตื่นมาซ้อมดนตรีตั้งแต่ตอนตี 4 – ตี 5 ซึ่งอดีตลูกศิษย์ในครานั้น ปัจจุบันได้ประกอบอาชีพครูสอนดนตรีไทยมาหลายสิบปีแล้ว และครั้งหนึ่งบ้านเปรมใจแห่งนี้เคยกลายเป็นโรงพยาบาลเครื่องดนตรีไทย มายาวนานเกือบ 30 ปี มีบัตรเครื่องป่วย เครื่องดนตรีไทยก็มีอวัยวะเหมือนคน มีหัว จมูก คอ ท้อง แบ่งเป็นแผนกต่างๆ เหมือนโรงพยาบาลจริงๆ มีทั้งห้องตรวจโรค ห้องฉุกเฉิน ห้องรอญาติมารับ ไปจนถึงห้องดับจิต ทุกห้องทุกตำแหน่งจัดการโดยครูสำรวยแต่เพียงผู้เดียวด้วย


ทุกวันนี้ในทุกๆเช้า ครูสำรวยจะตื่นตั้งแต่เช้าตรู่ เพื่อลุกขึ้นมานั่งซ้อมตีระนาดซึ่งตั้งอยู่ในห้องนอน ปราชญ์แห่งดนตรีไทยที่มีลมหายใจเป็นเสียงดนตรี ตัวเลขอายุที่ 82 ปี ก็ไม่ทำให้ครูเอาใจออกห่างไปจากดนตรีไทยเลยสักวัน

[su_tabs][su_tab title=”Details”]

บ้านเปรมใจ

Location: ซอยประชาชื่น 37 (สุดแยก 6) ถ.ประชาชื่น แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ l 02 587 8969

[su_gmap width=”1600″ address=”บ้านเปรมใจ”][/su_gmap]

[/su_tab] [/su_tabs]

 

ไก่ย่าง
เมนูครองใจอันดับหนึ่งมาครึ่งศตวรรษ

ไก่ย่าง…เมนูอร่อยยอดนิยมคู่ย่านบางซื่อ ที่ทำให้นักชิมประจำถิ่น และทั่วราชอาณาจักรติดอกติดใจและเทคะแนนเต็มให้มาเกือบครึ่งศตวรรษแล้ว และหนึ่งในร้านเก่าแก่ชื่อดังที่ทำให้เมื่อพูดถึงไก่ย่าง แล้วต้องนึกถึงย่านบางซื่อ ต้องร้านวิเศษไก่ย่างภัตตาคาร ซึ่งเปิดมาตั้งแต่พ.ศ.2497) แค่ชื่อร้านที่มีไก่ย่างกำกับก็บ่งบอกแล้วว่าไก่ย่างต้องเด็ด น้ำจิ้มต้องอร่อย(แน่ๆ) เสิร์ฟมาเลยทีเดียว 2 รสชาติ มีแบบน้ำจิ้มหวาน และน้ำจิ้มแจ่ว

แล้วระหว่างไก่เนื้อย่างกับไก่บ้านย่าง กินไก่อะไรย่างดี? แนะนำได้เลยทันทีว่าต้อง…ไก่บ้านย่าง เนื้อแน่นหนุบหนับกำลังดี เครื่องเทศหมักเข้าไปเข้าถึงหนังถึงเนื้อ ได้ทั้งรสชาติและความหอม เป็นไก่ที่ใครมาก็ต้องสั่งทาน ซึ่งถ้ามาทานช้าวันนั้นอาจจะเหลือแค่ไก่ย่างธรรมดาเท่านั้น!!

ไก่บ้านย่างของร้านวิเศษไก่ย่างภัตตาคารในบรรยากาศย้อนยุคนี้ ทุกตัวล้วนต้องผ่านการหมักกระเทียม รากผักชี พริกไทย กลายเป็นไก่ย่างรสเด็ดและโชยกลิ่นหอมมาแต่ไกล ย่างมาแบบสุกกำลังดี หนังกรอบเนื้อไม่แห้งจนเกินไป จิ้มกับน้ำจิ้มไก่สูตรพิเศษที่มีความหวานอมเปรี้ยวนิดๆแล้วยิ่งครบรส รวมทั้งข้าวเหนียวของร้านวิเศษไก่ย่างยังมีความพิเศษไม่เหมือนใคร เป็นข้าวเหนียวขมิ้นสีเหลือง นอกจากไก่ย่างที่ห้ามพลาดแล้ว อาหารจีนสไตล์ไหหลำของร้านก็ขึ้นชื่อเป็นระดับเชลล์ชวนชิมเช่นกัน อีกเมนูหาทานยากที่ร้านวิเศษทำได้อร่อย ไม่มีกลิ่นคาวมากวนใจก็คือเมนูนกกระจอกเทศผัดพริกไทยดำ

นอกจากสร้างชื่อให้กับย่านบางซื่อแล้ว วิเศษไก่ย่างเป็นร้านที่ผูกพันกับชีวิตชาวบางซื่อมาอย่างยาวนานถึง 64 ปี บางตระกูลทานมาตั้งแต่รุ่นปู่ รุ่นพ่อ หรือบางคนทานตั้งแต่ยังเด็กจนตอนนี้มีแต่งงานมีลูกแล้ว และมักจะเป็นกลุ่มครอบครัวที่ชวนกันมาทาน มารำลึกความอร่อย หรือยกก๊วนเพื่อนทำงานมาสังสรรค์หลังเลิกงานกันอยู่เป็นประจำ

[su_tabs][su_tab title=”Details”]

วิเศษไก่ย่างภัตตาคาร

Opening Hours: ทุกวัน 10:00-22:00 น.

Location:309 ถ.ประชาราษฎร์ แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ l 02 585 1544

[su_gmap width=”1600″ address=”วิเศษไก่ย่างภัตตาคาร”][/su_gmap]

[/su_tab] [/su_tabs]

ไอศครีมกะทิรวมมิตร
ไอศครีมโฮมเมดรสชาติไทยแท้…ความอร่อยชื่นใจระดับตำนาน

เมื่อนึกถึงความหวานเย็นแสนอร่อยที่อยู่คู่บางซื่อมาช้านาน ไอศครีมกะทิรวมมิตร หรือไอศครีมกะทิสดโบราณของร้านทิพย์รส น่าจะเป็นคำตอบแรกๆ ที่ชาวบางซื่อคิดถึง นอกจากมีกะทิสดแล้ว ยังรวมมิตรความอร่อยด้วยส่วนผสมอย่างขนุน เผือก และลอดช่อง รวมกันเป็นความมันกำลังดี ที่ได้ทานแล้วจะหยุดไม่ได้จริงๆ

หากเมนูไอศครีมกะทิเป็นพระเอกของร้าน ตำแหน่งนางเอกของร้านคงจะหนีไม่พ้นไอศครีมทุเรียน ที่แสนหอมหวานนุ่มเนียน ด้วยเลือกใช้เฉพาะเนื้อทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ที่มีเนื้อละเอียด หวานมัน มีกลิ่นหอมอ่อนๆ มาปั่นกับกะทิและนมสด อีกเมนูที่ไม่พูดถึงไม่ได้นั่นก็คือไอศครีมไข่แข็ง (ทิพย์รสไข่แข็ง) ไอศครีมโบราณที่หาทานได้ยากในปัจจุบัน โดยสูตรเฉพาะของทางร้านทิพย์รส จะนำไข่แดงสดทั้งฟองไปน็อคความเย็นก่อน แล้วจึงตักมาเป็นท็อปปิ้งบนไอศครีมกะทิ ราดปิดท้ายด้วยซุปข้าวโพด รวมกันแล้วกลายเป็นรสชาติที่กลมกล่อม หวานมันเค็มกำลังดี นอกจากไอศครีมขาประจำ 15 รสชาติ ยังมีรสพิเศษที่ออกมาตามฤดูกาลของผลไม้ หรือตามวัตถุดิบที่ได้มา อาทิ ลำใย, มะม่วง, พวงองุ่น เป็นต้น และที่ขาดไปจะถือว่าไม่ครบเครื่องรสชาติไทยแท้แห่งตำนานเลยก็คือ เหล่าเครื่องเคียง เขาเตรียมเอาไว้ให้เลือกทานคู่กับไอศครีมไว้กว่า 10 อย่าง มีทั้ง ลูกชิด, มะยมเชื่อม, มะม่วงเชื่อม, เม็ดบัว, ถั่วลิสงคั่วเอง ฯลฯ

ทิพย์รสตั้งอยู่ละแวกตลาดเตาปูนมาตั้งแต่พ.ศ. 2513 จากรุ่นอากงที่มาบุกเบิก เริ่มต้นเปิดร้านเพียง 1 คูหา จนขยายไปถึง 3 คูหาอยู่ริมถนนฝั่งกรุงเทพ-นนทบุรี ความอร่อยบอกต่อกันปากต่อปาก มีทั้งพ่อแม่จูงลูกมาทาน แหล่งแฮงก์เอ้าท์หลังเลิกเรียน รวมถึงเป็นที่นัดเดทด้วย ปัจจุบันร้านตั้งอยู่ในซอยกรุงเทพ-นนทบุรี 2 คงรสชาติไทยแท้สุดคลาสสิค ไร้สารกันบูด เพิ่มเติมด้วยการบริการ และตกแต่งเปลี่ยนบรรยากาศร้านใหม่ ให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น ไม่เพียงแค่คนทำที่สืบต่อจากรุ่นสู่รุ่น คนทานไอศครีมก็ทานต่อจากรุ่นสู่รุ่นด้วยเช่นกัน และยังเป็นที่รู้กันว่าขาประจำของร้านทิพย์รสเมื่อทานไอศครีมที่ร้านเสร็จแล้ว จะต้องซื้อแบบกล่องติดมือกลับบ้านไปด้วย โดยแต่ละคนจะเตรียมกล่องหรือกระเป๋าเก็บความเย็นมาเองด้วย แม้ว่าเดี๋ยวนี้ไอศครีมจะมีให้เลือกมากมาย ทว่าไอศครีมกะทิของร้านทิพย์รสจะเป็นรสแห่งตำนาน ที่ไม่มีวันละลายของชาวบางซื่ออย่างแน่นอน

[su_tabs][su_tab title=”Details”]

ร้านทิพย์รส

Opening Hours: ทุกวัน 8:00-20:00 น.

Location: ซอยกรุงเทพ-นนนทบุรี 2 (เข้าไปในซอยประมาณ 20 เมตรอยู่ซ้ายมือ) แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ
www.facebook.com/thipparoticecream/

[su_gmap width=”1600″ address=”Thip Rot Ice Cream”][/su_gmap]

[/su_tab] [/su_tabs]

 

สถานีบางซื่อ
จากชุมทางในอดีตสู่ศูนย์กลางคมนาคมในอนาคต

อีกไม่กี่อึดใจ คงจะเปลี่ยนคำพูดใหม่เวลาพูดถึงรถไฟกันแล้วล่ะ จากถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ช่าง เป็นการคมนาคมระบบรางที่พาเราวาร์ปไปที่ไหนก็ได้อย่างถึงไหนถึงกัน…ย้อนกลับไปเมื่อ 122 ปีที่ผ่านมา หรือเมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2439 บางซื่อเป็น 1 ใน 9 สถานีที่เริ่มต้นเปิดให้ประชาชนเดินทางไปมาระหว่างกรุงเทพ – อยุธยา


หลังจากนั้นบางซื่อก็ค่อยๆ กลายเป็นสถานีชุมทางสำคัญของประเทศ ที่ไม่แค่เพียงรับส่งผู้โดยสารสายเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ทำการรับ – ส่งสินค้าพหลโยธิน และยังมีโรงรถจักรดีเซลบางซื่อ โรงซ่อมบำรุงและโรงจอดรถจักรดีเซล ซึ่งก่อสร้างมาตั้งแต่พ.ศ. 2511


108 ปีต่อมา (พ.ศ. 2547) เกิดรางรถไฟใหม่อยู่ติดชุมทางรถไฟบางซื่อ ทำให้บริเวณนี้คึกคักมากยิ่งขึ้น สถานีบางซื่อของรถไฟฟ้ามหานคร เชื่อมต่อความสะดวกสบายช่วยให้เดินทางไปยังย่านอื่นๆ ที่อยู่ใจกลางเมืองได้อย่างรวดเร็วขึ้น และเมื่อปีที่ผ่านมาได้มีการเชื่อมต่อรถไฟฟ้ามหานครสายสีน้ำเงิน และสายสีม่วงเรียบร้อยแล้ว โดยสายสีแดงเข้ม (บางซื่อ-รังสิต) ก็เตรียมจะเปิดในอีก 2 ปีข้างหน้า สีแดงอ่อน (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) สีน้ำเงิน (บางซื่อ-ท่าพระ)

อีกไม่นานเกินรอไม่ว่าจะเดินทางไปมุมไหนในกรุงเทพ ก็หมดห่วงเรื่องการจราจรบนท้องถนนที่อาจจะติดขัดไปได้เลย ประกอบกับแผนพัฒนาฯ ที่จะขยับจากสถานีรถไฟหลักจากหัวลำโพงมาอยู่ที่สถานีกลางบางซื่อ รถไฟความเร็วสูงเชื่อมภูมิภาคต่างๆที่กำลังจะเกิดขึ้น จะยิ่งทำให้สามารถเชื่อมโยงการคมนาคมทางรางได้จากสารพัดทิศยิ่งขึ้น และยังเชื่อมต่อถึง 3 สนามบิน ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา ตลอดจน ว่ากันว่าสถานีกลางบางซื่อเตรียมขึ้นแท่นสถานีรถไฟที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนแล้วด้วย

 


Sponsored By Gateway at Bangsue

MADE IN BANGSUE แห่งใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นปลายปีนี้ ศูนย์การค้าเกตเวย์ แอท บางซื่อ ศูนย์การค้าครบวงจรแห่งแรกและแห่งเดียวในย่านบางซื่อ ที่จะมาเติมเต็มทุกความต้องการให้กับชาวบางซื่อ ทั้งด้านไลฟ์สไตล์และชีวิตประจำวัน บนพื้นที่ขนาดใหญ่ 10 ไร่ รวมร้านค้าเอาไว้อย่างจุใจกว่า 300 ร้านค้า มีทั้งโซน Urban Market, โซน Everyday Fashion, Lifestyle Living, Lifestyle Dining, Play & Learn, ฟิตเนสโรงภาพยนตร์ และ Sky Garden ที่ตั้งอยู่บนชั้น พร้อมลานกิจกรรมให้คุณได้มาใช้เวลากับครอบครัว อีกทั้งยังมีพื้นที่จอดรถไว้อำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าถึง 1,100 คัน อยู่ห่างจากรถไฟฟ้าสถานีเตาปูน 700 เมตร และสถานีบางโพเพียง 200 เมตรเท่านั้น ชาวบางซื่อเตรียมมาสนุกยกบ้านกันได้ที่ศูนย์การค้าเกตเวย์ แอท บางซื่อ  30 พฤศจิกายนนี้

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.facebook.com/GatewayatBangsue/

Magazine made for you.