วันเดียวเที่ยว ‘มอสโกว์’

สมัยที่เรายังเป็นเด็ก มักจะมีเกร็ดความรู้ที่เราท่องจำกันมากมาย ในคาบเรียนวิชาสังคมศึกษา ก็จะเป็นเกร็ดความรู้เกี่ยวกับประเทศต่าง ๆ หนึ่งในนั้นก็จะมีว่า ประเทศที่มีขนาดพื้นที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้แก่ประเทศรัสเซีย ในตอนนั้น เมื่อพูดถึงรัสเซีย ก็จะนึกถึงว่าน่าจะหนาวเย็นตลอดปีเพราะตั้งอยู่ไปทางเหนือใกล้ขั้วโลกขนาดนั้น และเวลามีแข่งขันกีฬาอะไร ผู้ประกาศข่าวก็มักจะเรียกรัสเซียว่าแดนหมีขาว ยิ่งทำให้ภาพในหัวของประเทศนี้ยิ่งดูไม่น่าพิศมัยเสียเท่าไหร่ หนาวอย่างเดียวไม่พอ ยังจะมีหมีขาวพร้อมจะจับเราเป็นมื้อเย็นอีก

แต่เมื่อโตขึ้น ก็จะเริ่มได้ยินข่าวจากประเทศนี้ ว่ามีประธานาธิบดีชื่อวลาดิเมียร์ ปูติน อดีตสายลับเคจีบี ใบหน้าเย็นชาน่าเกรงขาม และมีเมืองหลวงอย่างมอสโกว์ที่มีจัตุรัสแดงอยู่ สภาพอากาศก็ไม่ได้หนาวทั้งปี แต่มีสี่ฤดูและไม่ได้มีหมีขาวเดินเพ่นพ่านไปทั่ว (อารมณ์คงประมาณคนต่างชาติคิดว่าคนไทยยังขี่ช้างไปทำงานอยู่นั่นแล) สำคัญที่สุดคือ คนไทยไม่ต้องขอวีซ่าเพื่อเข้าประเทศรัสเซียได้ 30 วัน ประเทศนี้ก็เริ่มน่าสนใจขึ้นมาแล้ว

เมื่อสี่ปีก่อน ผมจึงลองตัดสินใจไปเที่ยวเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กดู ก็ประทับใจกับขนาดของเมืองที่ใหญ่มาก ตึกรามบ้านช่องก็สวยงามเหมือนกับหลายเมืองใหญ่ในยุโรป ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่เคยจินตนาการในตอนเด็กเลย และผมก็ได้กลับไปเยี่ยมรัสเซียอีกครั้งแบบไม่ตั้งใจในปีนี้ เพราะมีแผนต้องเดินทางกับสายการบินแอโรฟลอต (Aeroflot) สายการบินแห่งชาติรัสเซีย ที่ต้องแวะเปลี่ยนเครื่องที่มอสโกว์เป็นเวลานานถึง 16 ชั่วโมง (นานมาก) เลยคิดจะใช้เวลานี้ออกไปเที่ยวชมเมืองเสียเลย เมื่อนัดแนะกับเพื่อนชาวลิธัวเนียและรัสเซียที่เคยเรียนด้วยกันให้เป็นไกด์ท้องถิ่นได้แล้ว ก็ได้โอกาสออกมาชมเมืองหลวงของรัสเซียกันแล้ว ถ้าพร้อมแล้ว ตามมาเที่ยวด้วยกันได้เลย

สถานีเบลารุสกี้ (Белорусский вокзал)

เมื่อเดินทางมาถึงสนามบิน Sheremetyevo (SVO) และผ่านตม.มาได้แล้ว ก็เดินหาป้ายบอกทางมายังรถไฟ aeroexpress เข้าเมืองกันได้เลย ทางเดินวกวนหน่อย แต่ก็หาไม่ยากจนเกินไป เคาน์เตอร์ขายตั๋วอยู่หน้าที่ตรวจตั๋วพอดี แนะนำให้ซื้อออนไลน์ที่ aeroexpress.ru ตั๋วขาเดียวราคา 420 รูเบิ้ล (ประมาณ 230 บาท) หรือจะซื้อตั๋วไป-กลับทีเดียวเลยก็ 840 รูเบิ้ล (สามารถใช้ได้ภายในสามสิบวัน) จะถูกกว่าซื้อที่เคาน์เตอร์ 50 รูเบิ้ล สถานีที่จอดมีสถานีเดียวคือสถานีเบลารุสกี้ ใช้เวลา 35 นาทีเป๊ะ

มอสโกว์
‘รถไฟแดง aeroexpress วิ่งตรงจากสนามบินไปยังตัวเมืองมอสโกว์ มีเพียงสถานีเดียว’

บริเวณรอบสถานี ก็เริ่มให้เราสัมผัสกับความเป็นรัสเซียกันเลย กับรูปปั้นทหารกับคนรักที่มาส่งลา ด้วยความที่รัสเซียนั้นบอบช้ำกับความสูญเสียจากสงครามหลายต่อหลายครั้ง ว่ากันว่าแทบทุกครอบครัวคนรัสเซียจะมีญาติสนิทหรือคนรู้จักที่เสียชีวิตไปในยามสงครามด้วยกันทั้งนั้น รูปปั้นหรืออนุสาวรีย์ที่รำลึกถึงวีรชนนั้นจึงมีปรากฏอยู่มากมาย บทประพันธ์และบทกวีโรแมนติกแนวรักระหว่างรบคล้ายกับโกโบริ-อังสุมาลินของบ้านเราก็ดูจะเป็นที่ชื่นชอบกันทั้งในรัสเซียเองและต่างประเทศ อย่างนวนิยายเรื่อง Doctor Zhivago ของบอริส พาสเตอร์นาค (Boris Pasternak) ก็ได้รางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม และภาพยนตร์ที่ดัดแปลงจากเรื่องนี้ก็ได้ออสการ์ไปถึง 6 สาขาด้วยกัน (แม้หนังจะยาวกว่า 3 ชั่วโมงก็ตาม)

มอสโกว์
‘รูปปั้นทหารสั่งลาสาวคนรักเพื่อเดินทางจากสถานีนี้ไปทำสงคราม’

ถ้าเดินห่างออกมาจากสถานี เพื่อจะไปลงรถไฟฟ้าใต้ดิน ระหว่างทางก็จะเห็น Belaya Square (Белая площадь หรือจัตุรัสขาว) ที่เป็นที่ตั้งสำนักงานของ PwC, Deloitte, McKinsey อยู่ตรงกันข้ามกับโบสถ์นิโคไล (Храм Николы Чудотворца у Тверской заставы) ที่ใช้เวลาสร้างเจ็ดปี (1914-1921) ภาพสะท้อนของโบสถ์บนหน้าต่างกระจกของอาคารสูงดูจะเป็นอะไรที่ขัดแย้งกันดี

03
‘ภาพสะท้อนโบสถ์คริสต์นิกายรัสเชียนออร์โทดอกซ์บนอาคารสำนักงาน’

สวนสาธารณะ VDNKh

จากสถานีเบลารุสกี้ เราเดินทางต่อด้วยรถไฟฟ้าใต้ดิน มรดกความภาคภูมิใจของอดีตโซเวียต ในสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง มหาอำนาจโลกยังคงแบ่งฝักฝ่ายกันด้วยแนวความคิดประชาธิปไตยกับคอมมิวนิสต์ สงครามเย็นระหว่างสหรัฐอเมริกาและโซเวียตดำเนินไปยาวนานหลายปี แต่ละฝ่ายก็พยายามเร่งพัฒนาเทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์และการทหาร รัสเซียมียูริ กาการินที่เป็นมนุษย์คนแรกที่เดินทางออกนอกโลกได้สำเร็จ สหรัฐฯ ก็มีนีล อาร์มสตรอง ที่เหยียบดวงจันทร์เป็นคนแรก (อีกหนึ่งเกร็ดความรู้ที่ท่องในคาบวิชาวิทยาศาสตร์)

โซเวียตในสมัยที่รุ่งเรืองนั้น ก็พัฒนาสาธารณูปโภคประเภทรถไฟ, รถไฟใต้ดินกันเป็นการใหญ่ เพราะถือเป็นสิ่งเชิดหน้าชูตาและส่งเสริมแนวคิดคอมมิวนิสต์ได้เป็นอย่างดี (ตรงกันข้ามกับรถยนต์เป็นสิ่งฟุ่มเฟือยของโลกวัตถุนิยมของตะวันตก โดยเฉพาะ American Dream ของสหรัฐฯ) และแม้สหภาพโซเวียตจะแตกไปเรียบร้อยในปี 1991 โครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ก็ยังคงใช้งานอยู่จนปัจจุบัน สิ่งหนึ่งที่สังเกตได้ชัด คือ รถไฟฟ้าใต้ดินสไตล์โซเวียตนั้นจะอยู่ลึกลงไปจากพื้นถนนมาก และมักสร้างเป็นโถงขนาดใหญ่ ตกแต่งอย่างสวยงาม และมักจะแฝงความหมายที่ยกย่องประวัติวีรบุรุษหรือแนวคิดคอมมิวนิสต์ในลักษณะ propaganda อยู่ในแต่ละสถานีไม่ซ้ำกัน ถ้าไปดูรถไฟใต้ดินของเกาหลีเหนือ, ยูเครน หรือกระทั่งบางสถานีในโปแลนด์ (ที่โซเวียตออกเงินสร้างให้เป็นของขวัญ) ก็จะเห็นสไตล์การก่อสร้างคล้าย ๆ กัน เรียกได้ว่า ถ้ามามอสโกว์ แค่แวะขึ้น-ลงสถานีรถไฟใต้ดินก็ตื่นตาแล้ว หรือถ้าอยากอินกับสถานีรถไฟใต้ดินมอสโกว์แบบเต็มขั้น ก็ลองหานวนิยายวิทยาศาสตร์ เรื่อง Metro 2033 ของดมิทรี กลูคอฟสกี้ (Dmitry Glukhovsky) ที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับกลุ่มคนที่พยายามเอาชีวิตรอดภายในสถานีรถไฟใต้ดินมอสโกว์ในโลกหลังระเบิดนิวเคลียร์ถล่ม มีเกมแอ็คชั่นในชื่อเดียวกันออกมาบนเพลย์สเตชั่นและ XBox 360 อีกด้วย

04
‘สถานีรถไฟใต้ดินแต่ละสถานีของมอสโกว์มีขนาดใหญ่โตและประดับตกแต่งแตกต่างกันไป’

พูดถึงโซเวียตมาเยอะ สถานที่ที่พามาชมก็เกี่ยวข้องกับโซเวียตอีกเช่นกัน สวนสาธารณะ VDNKh (อ่านออกเสียงแบบมอสควิชว่า วีดีเอ็นคา หรือวดินค์) ย่อมาจาก Выставка достижений народного хозяйства (ВДНХ) หรือนิทรรศการความสำเร็จของเศรษฐกิจแห่งชาติ ขึ้นมาจากสถานีใต้ดิน VDNKh และเดินผ่านพิพิธภัณฑ์นักบินอวกาศก็จะเจอทางเข้าขนาดใหญ่ คล้ายประตูชัยบรานเดนเบิร์กที่เบอร์ลิน ในตอนแรกนั้นวางแผนให้เป็นนิทรรศการจัดแสดงด้านเกษตรกรรม แต่ปิดตัวไปช่วงที่มีสงครามโลกครั้งที่สอง หลังจากนั้น ก็เปลี่ยนรูปแบบมาเป็นการจัดแสดงด้านอุตสาหกรรมมากขึ้น

05
‘ศาลาพาวิลเลียนกลางเป็นพาวิลเลียนแรกที่ต้อนรับเราเมื่อเดินเข้ามาในสวนแห่งนี้’

06
‘น้ำพุด้านหน้าจะเป็นสาวโซเวียตภูมิภาคต่าง ๆ ในชุดประจำท้องถิ่น’

ที่นี่เราจะได้พบกับสวนสาธารณะขนาดใหญ่ พื้นที่ ณ ปัจจุบัน อยู่ที่ 2.375 ตร.กม. หรือใหญ่กว่าประเทศโมนาโกเลยทีเดียว ที่นี่มีศาลาพาวิลเลียนตั้งกระจายอยู่มากมาย โดยมีทั้งพาวิลเลียนดั้งเดิมสมัยเริ่มแรก ที่มีชื่อเป็นแต่ละภูมิภาคของโซเวียต (ปัจจุบันแยกเป็นประเทศออกไปแล้ว) เช่น อาร์มีเนีย, ยูเครน, เบลารุส, อุซเบกิสถาน และพาวิลเลียนใหม่ ๆ ก็จัดแสดงเกี่ยวกับความก้าวหน้าด้านอวกาศ, ประวัติศาสตร์รัสเซีย หรือล่าสุดที่เพิ่งเปิดตัวและฮิตมากก็คือ มอสควาเรียม (Moskvarium) ที่เป็นพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำขนาดใหญ่ที่มีสัตว์ทะเลถึง 8,000 สายพันธุ์ รวมไปถึงปลาฉลาม, ปลาวาฬเพชรฆาตอีกด้วย

07
‘พาวิลเลียนของยูเครนดูจะออกแบบมาได้สวยงามโดดเด่นกว่าเจ้าอื่น’

08
‘พาวิลเลียนของเบลารุสที่ปัจจุบันแยกตัวเป็นประเทศอิสระ สไตล์นีโอคลาสสิก’

09
‘มอสควาเรียมที่เพิ่งเปิดตัวไม่นานนี้ มีขนาดใหญ่รองรับปลาวาฬเพชรฆาตและสัตว์ทะเลถึง 8,000 สายพันธุ์’

จัตุรัสแดง (Красная площадь)

ต่อจากสวนสาธารณะ VDNKh ก็มาถึงไฮไลท์ที่ไม่ควรพลาดอย่างยิ่ง กับจัตุรัสแดงที่ถือเป็นสัญลักษณ์ของประเทศรัสเซียเลยทีเดียว เพียงนั่งรถไฟใต้ดินมาลงสถานี Okhotny Ryad (Охотный Ряд) หรือ Revolution Square (Площадь Революций) แล้วเดินมาอีกตามป้ายบอกทางมาอีกห้านาที ด้านหน้าทางเข้าจัตุรัสแห่งนี้จะมีแผ่นป้ายวงกลมบนพื้นระบุกิโลเมตรที่ศูนย์ที่เป็นจุดมาตรฐานสำหรับการวัดค่าระยะทางต่าง ๆ (คล้ายอนุสาวรีย์ชัยบ้านเรา) อยู่ นักท่องเที่ยวบางคนก็จะโยนเศษเหรียญไปที่ป้ายบนพื้นนี้เพื่อขอโชคอีกด้วย ภายในจัตุรัสจะมีอาคารสำคัญ ๆ อยู่โดยรอบ อันดับแรกที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ มหาวิหารเซนต์เบซิล (Собор Василия Блаженного) ที่เป็นอาคารแบบไบเซนไทน์สไตล์รัสเซีย โดยมีโดมหัวหอม (cupola) ครอบอยู่ด้านบน มหาวิหารแห่งนี้มีทั้งหมด 9 หอ โดยหอทั้ง 8 เรียงตัวล้อมรอบหอสูงสุดตรงกลาง

10
‘บริเวณทางเข้าจัตุรัสแดงที่มีแผ่นป้ายหลักศูนย์กิโลเมตรบนพื้น’

11
‘มหาวิหารเซนต์เบซิล สัญลักษณ์ของประเทศรัสเซีย’

มหาวิหารแห่งนี้มีรูปแบบที่ไม่เหมือนสถาปัตยกรรมอื่น ๆ ในรัสเซีย ส่วนหนึ่งตามตำนานเล่าว่า เป็นเพราะสถาปนิกผู้ออกแบบ พอสต์นิค ยาคอฟเลฟ (Postnik Yakovlev) ได้รับการตบรางวัลจากการออกแบบครั้งนี้อย่างงามจากพระเจ้าซาร์อีวานที่ 4 (Ivan the Terrible) ด้วยการถูกควักลูกตา เพื่อจะได้ไม่ไปออกแบบอาคารอื่นใดให้มาเทียบชั้นมหาวิหารแห่งนี้ได้อีก (โหดสมชื่อ)

ใกล้กันกับเซนต์เบซิลก็เป็นกำแพงเครมลิน (Кремль) ที่ด้านในเป็นที่ที่งานและที่พำนักของประธานาธิบดีคนปัจจุบันอยู่นั่นเอง ดังนั้น ที่นี่จึงเปรียบเสมือนเป็นทำเนียบขาวของรัสเซียนั่นเอง อาคารสูงที่เราเห็นได้ชัดจากจัตุรัสแดง ก็จะเป็นหอคอยสปาสคายา (Спасская башня) ที่มีทั้งนาฬิกาบอกเวลา และดาวแดงเครมลินประดับอยู่ด้านบน (ก่อนหน้านี้เป็นนกอินทรีสองหัว สัตว์ประจำตราสัญลักษณ์ของประเทศรัสเซีย)

12
‘หอคอยสปาสคายาภายในอาณาเขตกำแพงเครมลิน’

ถัดจากสองจุดนี้ ใกล้กันก็จะเป็นอนุสรณ์สถานเลนิน ที่ทุกวันอังคาร, พุธ, พฤหัสบดี และเสาร์ ช่วงเวลา 10.00-13.00 จะเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าไปแสดงความเคารพต่อร่างของวลาดิเมียร์ เลนินที่ถูกถนอมรักษาสภาพไว้เป็นอย่างดี ซึ่งภายในนั้นไม่สามารถถ่ายรูปหรือบันทึกวิดีโอได้, งดส่งเสียงหรือแสดงกิริยาไม่สุภาพ และเดินตามขบวนไปโดยไม่หยุดยืนขวางทางผู้อื่นที่ตามมาทีหลัง ภายในจะมีทหารยืนประจำจุดกระจายไป เพื่อเตือนผู้เข้าชมให้ปฏิบัติตามกฎอย่างเคร่งครัด

ตรงข้ามจากอนุสรณ์สถานไปอีกฝั่งของจัตุรัส ก็เป็นห้างสรรพสินค้าหรูหราขนาดใหญ่ที่ชื่อว่า กุม (ГУМ – GUM ย่อมาจาก Главный универсальный магазин) ที่ในช่วงโซเวียตถือเป็นห้างสรรพสินค้าหลักของรัฐที่มีทุกเมืองใหญ่ (ตัวอักษร G/Г ตัวแรก ในสมัยก่อนย่อมาจาก Государственный ที่แปลว่า “ของรัฐ” ก่อนจะถูกเปลี่ยนเป็นชื่อปัจจุบันในภายหลัง) ต่อมาก็ถูกปรับเปลี่ยนเป็นห้างสรรพสินค้าที่ขายสินค้าแบรนด์เนมชั้นนำ ด้านบนอาคารเป็นหลังคากระจกโค้ง 20,000 แผงเรียงต่อกัน ซึ่งดูแล้วคล้ายกับ Galleria Vittorio Emmanuelle II ในมิลานอยู่บ้าง อาจเป็นเพราะได้รับอิทธิพลจากการออกแบบของสถาปนิกสไตล์นีโอคลาสสิกชาวอิตาลี Giacomo Quarenghi ที่ได้รับว่าจ้างจากสมเด็จพระนางเจ้าแคเธอรีนที่สองในช่วงแรก (ส่วนตาทั้งสองข้างของสถาปนิกนั้นยังอยู่ดีหลังจบงาน) ซึ่งภายในนี้ ก็จะมีร้านค้าชั้นนำ, ร้านกาแฟหรู, รวมไปถึงร้านคาเวียร์ Buluga ราคาแพงให้ได้สัมผัสชีวิตอันมีระดับอยู่ด้วย

13
‘ภายในห้างสรรพสินค้ากุม ที่มีหลังคากระจกโค้งด้านบน’

14
‘ร้านรวงภายในห้างกุม ประดับตกแต่งหรูหรา ภาพภายในร้านกาสโตรนม หมายเลข 1 Гастроном №1 บริเวณชั้น 1’

แต่ถ้าไม่อยากถึงขั้นขนหน้าแข้งร่วง ก็ขอแนะนำร้านอาหารชั้นบนสุด ที่รสชาติดี ราคาเป็นมิตรกับนักท่องเที่ยวอย่างเรา ๆ ที่ชื่อสตาโลวายา หมายเลข 57 (Столовая №57) ที่เมนูอาหารเป็นอาหารรัสเซีย แต่ทั้งนี้ คิวโดยปกติค่อนข้างจะยาว อาจจะต้องใช้เวลาต่อแถวนานหน่อย

15
‘คิวหน้าร้านสตาโลวายา หมายเลข 57’

ถ้ายังพอมีเวลาเดินเล่น สามารถเดินไปรอบนอกของจัตุรัสแดงเพื่อไปชมโรงละครบัลเล่ต์ชื่อดังระดับโลก บัลโชยเธียร์เตอร์ (Большой театр แปลตรงตัวว่าโรงละครใหญ่) ซึ่งตั้งอยู่บริเวณจัตุรัสเธียร์ตรัลนาย่า (Театральная площадь) ฝั่งตรงข้ามกับรูปแกะสลักของคาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) ผู้ก่อตั้งลัทธิปรัชญามาร์กซิสต์ที่เป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาระบอบคอมมิวนิสต์สมัยใหม่ หรือถ้าเดินจนเหนื่อยแล้ว ก็สามารถหาที่นั่งพักตามสวนสาธารณะด้านรอบนอกกำแพงเครมลินก็ยังได้

16
‘โรงละครบัลโชยที่มีคณะบัลเล่ต์อันโด่งดังอันดับต้น ๆ ของโลก’

17
‘รูปแกะสลักหินของคาร์ล มาร์กซ์ ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามโรงละคร’

ถนนอาร์บัต (Арбат)

จากจัตุรัสแดง เราข้ามมายังถนนชื่อดัง โดยนั่งรถไฟใต้ดินมาลงที่สถานีอาร์บัตสกาย่า (Arbatskaya – Арбатская) ตลอดเส้นทางจะมีร้านค้าต่าง ๆ มากมาย และมีศิลปินนักวาดภาพ, นักดนตรีเปิดหมวก และตัวมาสคอตเดินไปมา ทั้งนี้ ควรระวังให้ดี เพราะการไปถ่ายรูปกับมาสคอตเหล่านี้ไม่ฟรี แต่จะถูกเรียกเงินค่าถ่ายรูปด้วยภายหลัง ถ้าหลีกเลี่ยงได้ก็ดี ที่นี่เหมาะสำหรับเดินช้อปปิ้งของที่ระลึก หรือนั่งพักจิบเบียร์, ชากาแฟชมผู้คนที่เดินสัญจรไปมา ซึ่งผมกับเพื่อนไกด์ท้องถิ่นจำเป็นก็ใช้เวลานี้นั่งคุยสัมเพเหระพักเหนื่อยและฆ่าเวลาก่อนที่การแวะเที่ยวชมเมืองมอสโกว์ของผมจะสิ้นสุดลง และจากที่นี่เอง ผมก็ถือโอกาสอำลาเพื่อน ๆ และขอตัวกลับมาขึ้นรถไฟใต้ดินมาลงสถานีเบลารุสกี้ เพื่อจะต่อรถไฟ aeroexpress เข้าสนามบิน Sheremetyevo เพื่อเดินทางต่อไปยังจุดหมายปลายทาง

18
‘ถนนอาร์บัตบริเวณต้นถนน’

สิ่งที่ผมประทับใจจากการเที่ยวชมมอสโกว์แม้จะเพียงวันเดียวนี้มีมากหลายอย่างด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นความใหญ่โตของสถาปัตยกรรมที่มีรูปแบบอันเป็นเอกลักษณ์และการบำรุงรักษาสถานที่เหล่านั้นให้คงสภาพไว้เป็นอย่างดี, ความสะดวกในการเดินทางที่ไม่ต้องเสียเวลามากนัก โดยเฉพาะการเดินทางด้วยรถไฟใต้ดินที่แต่ละสถานีมีการตกแต่งสวยงาม หากมีเวลามากกว่านี้ น่าจะทำให้ผมได้รู้จักประเทศที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างแดนหมีขาวแห่งนี้ให้ได้มากกว่าที่เคยท่องจำในคาบเรียนเมื่อครั้งยังเป็นเด็ก

Viroj currently works as a researcher within international economics at Lund University in Southern Sweden. A traveller with a burning passion for photography, he mainly takes photos with his medium-format digital camera, and now tries to limit his travel plans (with no success) to save up for a wide-angled lens. Viroj has a blond labrador retriever named Molly, who loves swimming at the beach near his home in Copenhagen, Denmark.

Magazine made for you.