จิบกาแฟชมงานศิลป์ที่ Dia.lo.gue Artspace and Café แห่งกรุง จาการ์ต้า
. . . นั่งดู
อินโดนีเชีย ประเทศที่รุ่มรวยไปด้วยวัฒนธรรมท้องถิ่น และ ความละเมียดละไมในวิถีชีวิต อินโดนีเชีย ประกอบไปด้วยหมู่เกาะน้อยใหญ่เกือบหนึ่งหมื่นสี่พัน มิพักต้องไปดูว่า แต่ละเกาะ มีวัฒนธรรมต่างกันอย่างไร เพียงแค่เกาะชวา เกาะเดียว ที่เป็นที่ตั้งของเมืองหลวงและเมืองสำคัญๆ หลายๆ เมืองก็ล้วนมีวัฒนธรรมถิ่นที่ต่างกัน แม้จะเป็นเมืองติดกันแต่ก็แตกต่างกันในรายละเอียดหากเราลองให้ลึกลงไป วัฒนธรรมที่หลากหลายนำมาซึ่งศิลปะท้องถิ่นแบบต่างๆ
ในความรู้สึกส่วนตัวอินโดนีเชียเหมือนหม้อหลอมทางวัฒนธรรมและศิลปะหม้อใหญ่ มีทั้งคติความเชื่อแบบพราหมณ์ ฮินดู พุทธ วัฒนธรรมอินเดีย อาหรับ แล้วไหนจะยุโรปแบบหลากหลายไม่ว่าจะดัชท์ หรืออังกฤษ ต่อด้วยด้วยวัฒนธรรมพื้นบ้านแบบชนเผ่าและนักรบ หลากหลายเครื่องปรุงนี้เลยส่งผลให้วงการศิลปะในอินโดนีเชียมีความหลากหลายและมีความเฉพาะตัวอยู่มาก วันนี้เลยตั้งใจว่าจะไปเยี่ยมชมแกลอรีบวกร้านกาแฟที่เรียกว่าเป็นแหล่งนัดพบทางศิลปะที่ใหญ่ที่สุดใน จาการ์ต้า นั่นก็คือ Dia.lo.gue Artspace and Café
Dia.lo.gue Artspace and Café ชื่อก็บอกแล้วว่ามีสองส่วนคือส่วนแสดงงานศิลปะ จัดกิจกรรม และส่วนร้านกาแฟ เหล่าหนังสือทางด้านดีไซน์และศิลปะต่างๆ ล้วนยกย่องที่นี่เป็นแหล่งกิจกรรมทางศิลปะที่ดีแห่งหนึ่ง ไม่เว้นแม้แต่หนังสือสวัสดีบนเครื่องการบินไทย แกลอรีแห่งนี้อยู่ทางจาการ์ต้าตอนใต้ ที่เรียกว่า Kemang
จาการ์ต้าเป็นเมืองที่ใหญ่มากถึงขั้นจะไปไหนต้องคิดดีๆ ว่าจะไปเขตไหน มีการแบ่งเป็น เหนือ ใต้ ออก ตก แต่ละเขตก็จะมีผู้ว่าการเขตต่างกัน รับผิดชอบและออกนโยบายที่แยกจากกัน จาการ์ต้าตอนใต้ในเวลานี้กำลังเป็นแหล่งเมืองใหม่ หลายบริษัทได้ย้ายตัวออกจากตอนกลางของเมืองเพื่อลดความแออัด ไม่แน่ใจว่าย้ายเพราะมีการสร้างรถใต้ดินหรือไม่ เพราะในเมืองรถติดสนั่นมากๆ จากที่ติดอยู่แล้วมันจะยิ่งติดหนักกว่าเดิม จาการ์ต้าตอนใต้ได้เสนอนโยบายลดหย่อนภาษีที่น่าเร้าใจมาก บวกกับตึกสูงอันทันสมัยมากมายได้ผุดขึ้นมาพร้อมๆ กัน แต่เดิมแถบนี้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยทั่วไป การย้ายบริษัทใหญ่มาทางใต้ทำให้หลายๆ คนพลอยดีใจไปด้วย เพราะไม่ต้องขับรถไปทำงานในตอนกลางอีกต่อไป ที่พิเศษไปกว่านั้นคือถนนวงแหวนใหม่รอบนอกเพิ่งเปิดใหม่ ทำการเชื่อมทางใต้สู่ทางตอนเหนือของเมืองได้แบบไม่ต้องขับรถผ่ากลางเมือง
Kemang เป็นอีกย่านหนึ่งทางตอนใต้ กลางคืนจะเป็นแหล่งท่องราตรีที่เรียกว่าฮิปน่าดูแถบนี้ กลางวันจะเต็มไปร้านช่างฝีมือ ไม่ว่าจะตัดกระจก เฟอร์นิเจอร์ งานไม้ ส่วนใหญ่เป็นร้านเล็กบ้าง ขนาดกลางๆ บ้าง แต่ทำด้วยมือกันทุกคน คือไม่ได้ขายของแบรนด์นอก ใครหาของแฮนด์เมดเก๋ๆ มาย่านนี้เดินคดเคี้ยวตามถนนรับรองได้ของดีราคาถูกกับดีไซน์เก๋แน่นอน
เรามาถึง Dia.lo.gue ในวันฟ้าหม่น ฝนปรอยปรายลงมาเรื่อยๆ แบบเบาบางหลังจากที่มันตกกระหน่ำไปเมื่อตอนเที่ยงแบบไม่ลืมหูลืมตาแล้ว อาการหลังฝนยังคงอึนๆ แต่ยังสดชื่นด้วยกลิ่นดินกลิ่นต้นไม้ ทางเข้าด้านหน้าออกแนวเซนเล็กๆ เป็นพื้นหินให้จอดรถได้ประมาณห้าหกคัน ห้องแสดงด้านหน้าเป็นร้านขายของที่ระลึก งานศิลปะ และงานฝีมือของศิลปินชาวอินโดนีเชีย เช่น ลำโพงไม้มะม่วงที่โด่งดังไปทั่วโลกของดีไซน์เนอร์ Singgih Suliso Kartono ลำโพงไม้มะม่วงที่โด่งดังไปทั่วโลก งานทำมือที่อาศัยแรงงานของชาวบ้านโดยรอบหมู่บ้านตอนกลางของเกาะชวา เพื่อเป็นการสร้างงานไม่ให้คนหนุ่มสาวทิ้งถิ่นฐานเข้าเมืองใหญ่ไปเป็นแรงงานราคาถูก หรืองานภาพพิมพ์เก่าๆ แบบ art deco ก็มีขาย และงานปั้นเซรามิคแบบเก๋ๆ สนนราคาไม่ได้แพงมากขนาดจับต้องไม่ได้
ความคิดหลักของ Dia.lo.gue Art Space and Café คือ ไม่ใช่เพียงแค่แกลอรีโชว์งานศิลปะ แต่เป็นเหมือนหม้อหลอมทางวัฒนธรรมและศิลปะ คาเฟ่มีไว้เพื่อให้คนหลากหลายอาชีพมาพบปะกัน มาพบกับศิลปิน หรือมาสนทนา อภิปรายกันในเรื่องศิลปะและวัฒนธรรม บางคนว่าการมาเยี่ยมอาคาร Dia.lo.gue Art Space โดยไม่ดูงานศิลป์ หรือในวันที่จัดงาน ก็ถือว่าเป็นประสบการณ์อย่างหนึ่งเพราะอาคารถูกออกแบบโดย Andra Matin สถาปนิคที่มีชื่อเสียงโด่งดังชาวอินโดนีเชียแท้ๆ ที่ได้รับคัดเลือกเข้าทำเนียบ 100 สถาปนิคดีเด่นแห่งยุคของ Wallpaper ตัวอาคารออกแบบแนวราบติดต่อกันสามส่วน ลักษณะแบบ Comtempory ในส่วนแรกคือร้านขายของที่กล่าวไป ส่วนที่สองเป็นการผสมกันระหว่างพื้นไม้ กระจก และโครงสร้างหลักที่เป็นคอนกรีต ในส่วนนี้จะเป็นห้องแสดงงาน และมองทะลุกระจกออกไปยังพื้นที่เปิดเล็กๆ ให้ความรู้สึกโปร่ง แบบ courtyard พร้อมมีน้ำพุๆ ตรงพื้น ส่วนทางเชื่อมระหว่างส่วนที่สองกับสามจะเป็นที่ตั้งของร้านกาแฟ จัดพื้นที่ได้ไม่แออัด มีทั้งมุมนั่งโซฟา มุมนั่งโต๊ะ สามารถทำงานและจับกลุ่มอภิปรายกัน ส่วนที่สามจะเป็นห้องโถ่งโล่ง เพื่อไว้จัดกิจกรรมตามตาราง เสียดายในช่วงเวลาที่เราอยู่ไม่มีโปรแกรมอะไรเลย คงจะต้องลองกลับไปใหม่เมื่อมีกิจกรรม ดูจากภาพงานกิจกรรมเห็นได้ว่าคนมาเยอะทีเดียว อีกอย่างกิจกรรมที่นี้เปิดโอกาสให้ศิลปินรุ่นใหม่ หรือคนที่ไม่ได้จบทางด้านศิลปะโดยเฉพาะเข้ามาร่วมเรียนหรือแสดงงานด้วย นับว่าดีทีเดียว ในส่วนห้องโถ่งนี้ ชั้นลอยเล็กๆ เป็นห้องทำงานของที่ Dia.lo.gue และเก็บงานศิลปะเพื่อรอหมุนเวียนจะแสดง เราสามารถสั่งกาแฟมานั่งทาน หรือพูดคุยกันได้ในห้องโถ่งทีเปิดโล่งได้อีก
ห้องโถ่งนี้เปิดโล่งออกสู่สนามด้านหลัง มีน้ำพุออกแบบไว้ให้ไม่ร้อนมาก ให้ความรู้สึกใกล้ชิดกับธรรมชาติมากๆ ฟังเสียงน้ำไหล ต้นไม้ใหญ่ สนามหญ้าเขียวๆ สุดสนามมีปะติมากรรมปั้นขนาดใหญ่วางไว้ บนสนามมีลูกบอลหวายเหมือนลูกบอลตามคลาสโยคะวางไว้ พอลมพัดมาที ลูกบอลก็จะกลิ้งไปมาแบบไร้ทิศทางในสนาม สรุป ลูกบอลหวายเป็น Installation art นี่เอง
สุดปลายทางที่เป็นระเบียงเป็นห้องเล็กๆ ไว้ละหมาด นับว่าออกแบบได้กลมกลืนและลงตัวมากๆ กับพื้นที่ ไม่เป็นการดูโฉ่งฉาง แต่เนียบเนียนเข้ากับบรรยากาศสวน ระหว่างที่ใช้เวลาอยู่ในพื้นทีนี้ก็มีพนักงานเดินเข้าออกไปทำละหมาดด้วย
กลับมาที่คาเฟ่ เมนูกาแฟยืนพื้นทั้งหลายมีให้เลือกตามปกติ รสชาติกาแฟไม่เลวร้าย ไม่ใช่กาแฟสำเร็จรูปหรือยี่ห้อมาตราฐานทั่วไป แต่เป็นเมล็ดกาแฟที่ปลูกจากทางตอนกลางของเกาะ และเป็นผลิตภัณฑ์คล้ายๆ หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์บ้านเรา โดยรวมเป็นกาแฟที่ใช้ได้ทีเดียว อย่างที่บอกที่นี่เน้นการพบปะ พูดคุยกัน กาแฟจึงเป็นตัวเชื่อมส่วนหนึ่งเข้ามา เราใช้เวลาประมาณชั่วโมงกว่าๆ อยู่ทีนี่ ดูงานศิลป์ที่แสดงไว้และซึมซับบรรยากาศ ก่อนที่จะหมดเวลาทำการ พร้อมฟ้าที่มืดครึ้ม ที่ปิดค่อนข้างเร็วทีเดียว หกโมงเย็นก็ปิดแล้วในวันที่ไม่มีกิจกรรมพิเศษตอนเย็น แต่ถ้ามีกิจกรรมก็อาจจะเปิดยาวถึงเทียงคืน ถ้าใครแวะผ่านมาจาการ์ต้า มีเวลาในช่วงบ่ายและชอบศิลปะที่นี่คงเป็นทางเลือกที่ดีอีกที่หนึ่ง