ย้อนเวลาเที่ยว ‘พระราม 9’ ยุค 90s
พระราม 9 ชั่วโมงเร่งด่วนในทุกวันนี้ คืองานสร้างระดับมหาชน ทั้งสถานี MRT ห้างสรรพสินค้ามีครบทุกชื่อรอบบริเวณ ฟอร์จูนทาว์น เซ็นทรัล เอสพลานาด โรบินสัน ร่วมด้วยตึกสูงอันเป็นที่ทำการของบริษัทยักษ์ใหญ่ หรือในอนาคต ตึกที่สูงที่สุดในประเทศไทยก็จะตั้งอยู่บริเวณนี้ นี่คือศูนย์กลางกรุงเทพมหานครอีกแห่งที่เราเติบโตมาด้วยกัน
ย้อนไปในยุคที่ยังไม่มีสมาร์ทโฟน รถไฟฟ้า ส่วนอินเทอร์เน็ตนับเป็นงานระดับไฮเอนด์ที่หน้าจอยังประมวลผลได้แค่สองสี คนรุ่นใหม่ในยุค 90 ล้วนเคยพบ ผ่าน ผูกพันกับพระราม 9 ไม่ในทางใดก็ทางหนึ่งมาแล้วชีวิตที่เราเติบโตมาเป็นอย่างไร ลองไปย้อนอดีตให้คิดถึงกันดู
Thailand Cultural Centre
ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ในยุคนั้นคือที่สุดของคอนเสิร์ตฮอลล์ นักร้องนักดนตรีทั่วฟ้าเมืองไทยต่างเคยหวังใจจะได้ยืนบนเวทีนี้
พี่เบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย์ กับคอนเสิร์ตแบบเบิร์ดเบิร์ดโชว์ (พ.ศ.2529-2555) ที่วัยรุ่นยุค 90 น่าจะได้ดูชมอย่างน้อยคนละหนึ่งครั้ง โดยเฉพาะคอนเสิร์ตครั้งที่ 5 ตอนความสุข ความทรงจำ ไม่มีที่สิ้นสุด ในปีพ.ศ. 2534 ที่มีรอบการแสดง 29 รอบรันยาวตลอดทั้งเดือน เรายังจำเลเซอร์สีเขียวยิงเป็นรูปนกนางนวลบินไปทั่วฮอลล์ได้อยู่เลย
อมิตา ทาทา ยัง แจ้งเกิดบนเวทีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย หลังจากร้องเพลง one night only กระชากใจกรรมการจนได้รับรางวัลนักร้องยุวชนยอดเยี่ยมประเภทเพลงสากล นิสสันอวอร์ด พ.ศ. 2535 (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น KPN Awards) 3 ปีต่อมาทาทาเซ็นสัญญากับจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ ออกอัลบั้มชื่อเดียวกับตัวเอง กลายเป็นสาวน้อยมหัศจรรย์ ตำนานที่ไม่มีใครมาแทนที่ได้จนถึงทุกวันนี้ เราเชื่อว่าร้อยละร้อยที่ผ่านยุค 90 มาด้วยกัน ต้องมีเสื้อยืดลายโซนิค กางเกงยีนส์ตัวโคร่งๆ และรองเท้า Kicker สีแดงข้างสีน้ำเงินข้างมาแล้ว
Yaohan Department Store
ก่อนจะเป็นที่รู้จักในชื่อฟอร์จูน ทาวน์ ชาวเราสาย 90s คุ้นเคยกันดีกับชื่อเยาฮัน ห้างใหญ่หัวมุมถนนพระราม 9 เฟรนชายส์ห้างสรรพสินค้าจากประเทศญี่ปุ่นที่เก๋สุดๆ ด้วยบันไดเลื่อนยาวติดต่อกัน 9 ชั้น แล้วยังมองออกไปเห็นทิวทัศน์นอกห้างได้ด้วย จนถึงช่วงวิกฤตเศรษฐกิจในปี 1997 ธุรกิจของห้างเยาฮันก็ต้องปิดตัวตามแรงสั่นสะเทือน
ชื่อจากไปแต่ตำนานยังอยู่ จากเยาฮันเปลี่ยนเป็นฟอร์จูน จุดขายอยู่ที่การเป็นห้างมือวางต้นๆ เรื่องไอที ว่ากันว่าร้านซ่อม Mac นอกศูนย์ดีงามที่สุดก็อยู่ที่นี่ นอกจากสายไอที ความคลาสสิกเรื่องเครื่องเสียงไฮเอนด์ลีคระดับประเทศก็อยู่ที่นี่เช่นกัน ทั้งร้านเครื่องเสียงนำเข้า เครื่องเสียงตัวท็อปสำหรับนักสะสม อย่าง ปิยะนัสอิเล็คทริคส์ สวนเสียง และ Sound Box
คลังเครื่องดนตรีอย่างร้านนครหลวงการดนตรีก็นับว่าเป็นสาขาที่เปิดบริการมายาวนาน ส่วนนักเล่นแผ่นเสียงรุ่นใหญ่แล้วนั้น ควรมุ่งตรงไปที่ร้าน Hall of Fame Records, Minilop, Symphony หรือแผ่นเพลงไทยสากลยุคเราก็มีที่ร้าน UPZ
Aliceia Guitars Shop
พี่เชน – คเชนทร์ แสงภักดี เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักดนตรีที่เติบโตมาในยุคนั้นจนถึงทุกวันนี้ ร้านอลิเซียแรกเริ่มเดิมทีนั้นเปิดร้านที่บ้าน แล้วย้ายไปย่านรามคำแหง ย้ายอีกทีไปอยู่ด้านหลังห้างฟอร์จูนทาวน์ จนมาปักหลักยาวนานที่พระรามเก้า ซอย 11 พี่เชนนับเป็นคนไทยที่เล่นกีตาร์ไทยประดิษฐ์คนแรกๆ นักดนตรีชื่อดังในบ้านเราต่างต้องเคยผ่านร้านนี้มาแล้ว ไม่ว่าจะแต่งกีตาร์ ตั้งทัชชิ่ง หรือหาซื้ออะไหล่ไปจนถึงสายกีตาร์ราคามิตรภาพ แฟนๆ ร้านพี่เชนอย่างเช่น นรเทพ มาแสง (Pause, Crescendo) ทวนทอง นิยมชาติ (Daytripper) หนึ่ง เกรียงไกร (Friday, Sleeper 1)
The Sound of 90s
ดิสโก้เธคที่ไปแล้วโก้จริงๆ ในช่วงต้นถึงกลางยุค 90 ความนิยมแตกเป็นสองเสียง ถ้าไม่ใหญ่เป็นมิวสิคฮอลล์จุคนเป็นพันแบบ Hollywood, Phoebus, Broadway 2002 ก็เป็นผับขนาดเล็กกำลังนัว อย่าง Sharky ในโรงแรมเจ้าพระยาพาร์ค หรือ Spark ในโรงแรม ดิ เอมเมอรัล โมเมนท์ที่จำขึ้นใจ คือช่วงเวลาตอนสี่ทุ่ม ฟีบัสเปิดตัวด้วยไลท์แอนด์ซาวนด์ พร้อมโชว์ปล่อยยานฟีบัส อันเป็นการเปิดฟลอร์ค่ำคืนนั้น หรืออย่างชาร์คกี้ ที่ออกแบบเชิงคอนเซ็ปท์ท้าทายด้วยฟลอร์เต้นรำอยู่บนตู้ปลาขนาดใหญ่ แดนซ์ไปมองเห็นปลาว่ายไปมาอยู่ด้านล่าง มุมที่หนุ่มสาวหนีไปคุยกันอยู่แถวหน้าห้องน้ำ มองเห็นตู้ปลายักษ์ใหญ่ที่มีฉลามว่ายวนไปมาอยู่ในนั้น ผับเลิกแล้วอย่าเพิ่งกลับ หาข้าวต้มแถวรัชดารองท้องให้อุ่นก่อนกลับบ้าน
ช่วงปลายยุค 90 เราย้ายฐานการเต้นรำไปที่ RCA โดยเฉพาะ Route 66 ผับที่มีดีเจฝีปากจัดๆ เปิดเพลงสลับกับวงดนตรีเล่นประจำ Route 66 สร้างปรากฏการณ์ศูนย์รวมวัยรุ่นไว้ได้มากที่สุด ผู้คนแน่นทุกวัน ยิ่งศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ด้วยแล้ว หนาแน่นขนาดว่าต้องซ้อมท่าเต้นที่แคบมาจากบ้าน พร้อมๆ กันนี้ นี่คือยุคเริ่มต้นของค่ายเบเกอรี่มิวสิค โดยมีผู้นำทีมอย่างวงโมเดิร์นด็อก ที่ชวนเรากระโดดตามพี่ป๊อดในเพลงบุษบา, โจอี้บอยผู้มาพร้อมท่าเต้นแบบฟรีฟอร์มไม่เหมือนใคร เนื้อเพลงแหวกขนบอย่าง “เอโพดสะเรนาปัง”, พ่อมดอิเล็คทรอนิกส์ Mr.Z ที่เราร้องและเต้นเพลงลมหายใจกันได้คืนละไม่ต่ำกว่า 3 รอบ รวมไปถึงผู้นำเทรนด์สายเดี่ยวอย่าง Triumphs Kingdom
แน่นอนว่า RCA กลายเป็นสถานที่ในความทรงจำ ไม่ว่าจะวันเคานท์ดาวน์ สาดน้ำสงกรานต์ เต้นลืมโลกวันวาเลนไทน์ หรืออย่างวันงานฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ นับเป็นธรรมเนียมที่เราต้องไปฉลองชัยไม่ว่าแพ้หรือชนะ ระหว่างเดินเบียดผู้คนไปบนถนนเส้นเล็กๆ จะได้ยินเสียงบูมคณะดังเป็นระยะ
และถ้าเป็นผลิตผลจากยุค 90 ตัวจริงเสียงจริง ว่างๆ แวะไปเยี่ยมพระราม 9 รำลึกความหลังกันดูนะ
ภาพสุดท้ายนี้คือวิวจากชั้น 30 ของโครงการ Midst Rama 9 มองเห็นทางยกระดับพระราม 9 ที่ทอดยาวไปจนถึงฝั่งรามคำแหง เห็นสนามกีฬาราชมังคลากีฬาสถานอยู่ไม่ไกล จากมุมนี้เราจะเห็นความเติบโตของเมืองที่เกิดขึ้นรอบบริเวณพร้อมกันทุกทิศทาง จากถนนเส้นเก่าที่เป็นศูนย์กลางความบันเทิงในวันวาน พระราม9 กลายเป็นแหล่งรวมออฟฟิศชั้นนำและทำเลทองของที่พักอาศัยใหม่ๆ ที่ราคาจับต้องได้ ทำให้ที่เที่ยวกลายเป็นบ้านของใครหลายคนในวันนี้ คล้ายว่าทั้งคนทั้งย่านต่างก็เติบโตมาด้วยกัน
MIDST RAMA 9 โครงการพร้อมอยู่ล่าสุดบนถนนพระราม 9 เพียง 200 เมตรจากสถานี MRT พระราม 9 และ CentralPlaza Grand Rama 9 ราคาคุ้มค่า ถูกกว่าราคาเปิดตัวของโครงการใหม่ในย่านเดียวกัน เหมาะทั้งสำหรับอยู่เองและเพื่อลงทุนต่อในอนาคตเนื่องจากใกล้ศูนย์กลางธุรกิจใหม่ (CBD)
ดูรายละเอียดโครงการได้ที่ MIDST RAMA 9 พร้อมรับโปรโมชั่น Package x7 ได้จนถึงวันที่ 31 สิงหาคมนี้
Story by Jermsiri Luangsupporn
Born in the 70’s, teen in the 90’s, this is my so-called life.