Read More India “ร้านหนังสือติดล้อ” ออกเดินทาง 90 วัน 10,000 กิโลเมตรสู่ 20 รัฐทั่วอินเดีย
ในขณะที่คนบ้านเราบางคน ยังคงสนุกปากกับการใช้ประโยค “คนไทยอ่านหนังสือปีละ 8 บรรทัด” มาประชดประชันเหมารวมคนชาติตัวเอง ย้ำๆ ซ้ำๆ สะกดจิตตัวเองว่าชาติตัวเองนั้นต่ำต้อยด้อยความรู้ ทั้งๆ ที่ “8 บรรทัด” เป็นสถิติเก่าที่ไม่มีใครสนใจด้วยซ้ำว่าของปีไหน และไม่ได้ช่วยเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทางที่ดีขึ้น ที่ประเทศอินเดีย ซึ่งประสบปัญหาประชาชนอ่านหนังสือน้อยเช่นเดียวกับบ้านเรา มีหนุ่มสาวคู่หนึ่ง ตัดสินใจแก้ไขปัญหานี้อย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการออกเดินทาง road trip ท่องเที่ยวระยะทางกว่า 10,000 กิโลเมตรทั่วประเทศอินเดีย ด้วยรถที่ดัดแปลงให้กลายเป็น “ร้านหนังสือติดล้อ” ในชื่อทริป Read More India 2015
Satabdi Mishra และ Akshaya Ravtaray สองสหายชาวอินเดียขนหนังสือกว่า 4,000 เล่มพร้อมกับใจที่เปี่ยมด้วยอุดมการณ์ ออกเดินทางพร้อมกับเป้าหมาย ที่ต้องการจะช่วยยกระดับมาตรฐานการอ่านหนังสือให้กับชาวอินเดียทั้งประเทศ ด้วยการเดินทางท่องเที่ยวไปเยือนทุกแว่นแคว้น แม้ในเมืองเล็กๆ ตามดินแดนห่างไกล ทั้งคู่มีความเชื่ออย่างแรงกล้า ว่าการอ่านหนังสือเป็นการเปิดโลกทางความคิด ที่จะช่วยลดอคติในความเห็นต่าง ให้คนสามารถชื่นชมความคิดที่หลากหลายของผู้อื่นได้
สำนักข่าว BBC ได้ตามไปสัมภาษณ์ทั้งคู่ในช่วงท้ายของการเดินทาง ที่รัฐอุตตรประเทศ (Uttar Pradesh) ทางตอนเหนือของอินเดีย
ทั้งคู่เริ่มต้นการเดินทางจากเมืองภูบาเนสวาร์ (Bhubaneswar) รัฐโอริสสา (Orissa) ทางตะวันออกของประเทศตั้งแต่เดือนธันวาคม 2015 ตลอดเวลาเกือบ 3 เดือนที่ผ่านมา ทั้งคู่ขายหนังสือไปได้กว่า 2,000 เล่ม ได้เจอกับผู้คนนับร้อยระหว่างทาง ตั้งแต่นักเขียนไปจนกระทั่งคนที่เพิ่งเคยซื้อหนังสือเป็นครั้งแรก
หนึ่งในคนที่พบเจอระห่างทางที่ทำให้ทั้งคู่ต้องแปลกใจ คือครูคนหนึ่ง ซึ่งตลอด 20 ปีของชีวิตการเป็นครูที่ผ่านมาเคยอ่านหนังสือเพียง 15-20 เล่มที่เกี่ยวกับงานสอนหนังสือเท่านั้น พวกเขามองว่านี่ถือเป็นปัญหาสำคัญ เพราะคนเป็นครูควรอ่านควรรู้มากกว่าแค่วิชาที่สอน แต่อีกปัญหาที่พวกเขาพบก็คือเมืองเล็กๆ ที่ห่างไกลหลายแห่ง ไม่มีห้องสมุดแม้แต่แห่งเดียวในเมือง เห็นได้ชัดว่าปัญหาของอินเดีย ไม่ใช่คนไม่อ่านหนังสือ แต่ไม่สามารถเข้าถึงหนังสือได้ต่างหาก สิ่งที่มีอยู่มากกลับเป็นห้างสรรพสินค้า ที่มีจำนวนเกินกว่าห้องสมุดเสียอีก
ปัญหาอีกอย่างหนึ่งของอินเดีย คือหนังสือมีราคาค่อนข้างแพง และกลุ่มชนในเมืองห่างไกล ต่างรู้สึกกลัวห้างร้านขนาดใหญ่ ทำให้มีช่องว่างระหว่างคนกับหนังสือ วัฒนธรรมการอ่านจึงเกิดขึ้นได้ยาก ด้วยเหตุนี้ทั้งคู่จึงเลือกที่จะเปิดร้านตามสถานที่สาธารณะเช่นสถานีรถประจำทางและสถานีรถไฟ โดยพวกเขาตั้งราคาหนังสือทุกเล่มจำกัดให้ไม่เกิน 200 รูปี เพื่อให้ใครก็ตามสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น
“สถานการณ์ทุกวันนี้นั้นประหลาด คนรวยเขียนหนังสือเกี่ยวกับคนจน แต่คนจนไม่มีโอกาสได้อ่าน” Ravtaray กล่าว “การเดินทางของเราครั้งนี้เป็นความพยายามเล็กๆ ที่อยากจะสร้างความเปลี่ยนแปลง เราพยายามที่จะให้คนอินเดียสามารถเข้าถึงหนังสือได้มากขึ้น ประเทศของเราต้องรู้จักโลกให้มากขึ้น ซึ่งนั่นสามารถเกิดขึ้นได้ด้วยการอ่านหนังสือเท่านั้น”