4 เมนู ‘สมูธตี้’ จาก 4 ประเทศที่จะทำให้การเดินทางมีรสชาติยิ่งขึ้น
เราเชื่อว่าหลายคนคงคิดคล้ายกันกับเราว่า รสชาติความสนุกของการเดินทางแต่ละครั้งไม่ได้มาจากแค่การท่องเที่ยวไปยังสถานที่ต่างๆ เท่านั้น แต่ยังมีรสชาติที่มาจากรสชาติจริงๆ ของอาหารการกินที่เป็นเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่นด้วย
แต่ในความต่าง ถ้ามองให้ลึก บางครั้งก็จะเจอความเหมือนที่เชื่อมโยงความหลากหลายของวัฒนธรรมเข้าด้วยกัน อย่างเช่นเมนู ‘สมูธตี้’ ในหลายประเทศ ที่ถึงแม้ชื่อเมนูจะไม่เหมือนกันและดูเผินๆ เหมือนเป็นของกินคนละอย่าง แต่จริงๆ แล้วโดยหลักการก็คือการทำให้วัตถุดิบต่างๆ รวมเป็นเนื้อเดียวกัน แต่สิ่งที่ทำให้แตกต่างนั้นก็คือวัฒนธรรมและภูมิประเทศที่เป็นจุดกำเนิดของรสชาติที่แตกต่างกันไป
เพื่อให้การเดินทางมีรสชาติที่หลากหลายยิ่งขึ้น นี่คือเมนูสมูธตี้ 4 เมนูจาก 4 ประเทศที่อยากแนะนำให้คุณลองถ้าได้ไปเยือนประเทศเหล่านี้ แล้วจะทำให้รู้จักประเทศเหล่านี้ในมุมมองที่หลากหลายขึ้น
อินเดีย – ลาสซี่ (lassi)
ลาสซี่เป็นสมูธตี้ลูกผสมระหว่างโยเกิร์ตและเครื่องเทศ คนไทยที่ชอบกินอาหารแขกน่าจะคุ้นเคยกับลาสซี่มะม่วงเพราะเป็นเครื่องดื่มที่เห็นอยู่เสมอบนเมนูของร้านอาหารอินเดีย แต่ถ้าได้ไปถึงอินเดียแล้ว โดยเฉพาะถ้าไปเที่ยวทางตอนเหนือของประเทศ ลาสซี่แบบที่น่าสั่งคือแบบดั้งเดิมที่ไม่ได้ใส่ผลไม้ แต่ใช้เกลือหรือน้ำตาลมาช่วยเติมรสชาติแทน
อินเดียน่าจะเป็นประเทศที่บริโภคโยเกิร์ตมากเป็นอันดับต้นๆ ในเอเชียและอาจเป็นอันดับต้นๆ ของโลกด้วย เหตุผลหนึ่งเป็นเพราะคนอินเดียจำนวนไม่น้อยเป็นมังสวิรัติอันเป็นผลมาจากความเชื่อทางศาสนา โยเกิร์ตจึงเป็นแหล่งโปรตีนสำหรับประชากรจำนวนมาก และนำไปสู่เมนูอีกมากที่มีโยเกิร์ตเป็นพื้นฐาน ไม่ใช่แค่เฉพาะลาสซี่เท่านั้น
นอกจากนี้ ลาสซี่แบบผสมน้ำผึ้งยังเป็นส่วนหนึ่งของการทำพิธีทางศาสนาบางศาสนาในอินเดียวด้วย เป็นอีกหลักฐานหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่าหลายสิ่งหลายเรื่องของคนในประเทศนี้เกี่ยวพันกับเรื่องความเชื่อทางศาสนาอย่างแยกไม่ออก
เม็กซิโก – ลิคัวโด (licuado)
ลิคัวโด มีอีกชื่อหนึ่งว่า เพรพาราดอส (preparados) เป็นเมนูที่หากินได้ทั่วไปในเม็กซิโกและประเทศละติน-อเมริกาประเทศอื่นๆ ส่วนผสมหลักของเมนูนี้ ได้แก่ นม ผลไม้ และน้ำแข็ง เป็นของที่อยู่ในเมนูของร้าน ตั้งแต่ร้านข้างทางไปจนถึงร้านอาหารหรู ยังไม่นับร้านที่ขายแต่ลิคัวโดสูตรต่างๆ อย่างเดียวโดยเฉพาะ
นอกจากจะหากินได้ง่ายในเม็กซิโกแล้ว ลิคัวโดยังค่อนข้างแพร่หลายในบางรัฐของอเมริกา เนื่องจากเป็นสมูธตี้ที่เดินทางมาพร้อมกับการอพยพมาของคนเม็กซิกัน จึงกลายเป็นเมนูที่หาลองได้ตามร้านค้าในอเมริกาตามเมืองที่มีประชากรเม็กซิกันอยู่หนาแน่น เรียกว่าถ้าเห็นลิคัวโดอยู่ในเมืองไหนของอเมริกา ก็น่าจะพอเดาได้ถึง demographic ของคนในเมืองนั้นๆ
เวียดนาม – อโวคาโดเชค (avocado shake)
ไม่รู้ว่าคนอื่นจะเป็นเหมือนกันหรือเปล่า แต่ถ้าพูดจากมุมมองของคนที่ไปเวียดนามมาแล้วหลายครั้ง ความเพลิดเพลินในเรื่องอาหารอย่างหนึ่งเวลาไปเที่ยวที่นั่น ไม่ว่าจะเป็นทางเหนือหรือทางตอนใต้ ก็คือการกินอโวคาโดเชคมากแค่ไหนก็ได้ โดยไม่ได้รู้สึกว่ากำลังทำร้ายกระเป๋าสตางค์อยู่ ซึ่งต่างจากราคาอโวคาโดในเมืองไทยอย่างลิบลับ
อโวคาโดเข้ามาสู่เวียดนามครั้งแรกทางตอนใต้ในช่วงปี 1940s โดยชาวฝรั่งเศสที่ปกครองเวียดนามอยู่ในขณะนั้น สภาพอากาศและสภาพภูมิประเทศของเวียดนามส่งผลให้ต้นอโวคาโดมีผลผลิตดีและแพร่หลายในหมู่เกษตรกรมากขึ้น จนมีปริมาณการปลูกมากกว่า 2 ล้านไร่ในปัจจุบัน ปริมาณการผลิตที่สูงนี้จึงทำให้ผลไม้ราคาสูงในบ้านเราจัดเป็นผลไม้ที่ใครๆ ก็สามารถเข้าถึงได้ในเวียดนาม
อเมริกา – สมูธตี้โบวล์ (smoothie bowl)
เมื่อเทียบกับอีก 3 เมนูก่อนหน้า เมนูที่มีโยเกิร์ตเป็นเบสเมนูนี้น่าจะเกิดขึ้นทีหลังสุด แต่ก็ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงที่ผ่านมา ที่เราหยิบเมนูที่ดูเหมือนเรียบๆ ง่ายๆ นี้มาพูดถึงและยกให้เป็นตัวแทนสมูธตี้จากอเมริกานั้น เหตุผลหนึ่งเป็นเพราะคนอเมริกันนิยมกินเมนูนี้กันอย่างกว้างขวาง เพราะเป็นมื้อเช้าง่ายๆ ที่ได้สารอาหารครบถ้วน แค่มีเครื่องปั่นและเตรียมวัตถุดิบให้พร้อม ใช้เวลาไม่กี่นาทีก็ออกมาเป็นสมูธตี้โบวล์แล้ว เป็นเบรกฟาสต์สไตล์อเมริกันแบบที่คนอเมริกันกินกันจริงๆ ในวันที่ต้องไปเรียน ไปทำงาน มากกว่าเบรกฟาสต์สไตล์อเมริกันแบบครบเครื่อง มีทั้งไข่ดาว หมูแฮม ไส้กรอก แบบที่หลายคนอาจมีภาพอยู่ในหัว
ความสะดวกที่สามารถพลิกแพลงใส่ลูกเล่นได้นี้ทำให้เป็นเมนูที่เชฟในอเมริกาทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่นต่าง ‘สนุก’ กับการใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไปในเมนูนี้ และขยันโพสต์รูปผลงานตัวเองลงอินสตาแกรมกันอย่างคึกคัก จนเมื่อคลิก #smoothiebowl ก็จะเจอภาพของเมนูนี้ขึ้นมามากมาย จนเป็นเหมือนคอมมูนิตี้ออนไลน์ของสมูธตี้โบวล์
แต่ถ้าทริปต่อไปของคุณไม่ได้อยู่ในลิสต์ที่เรายกตัวอย่างมานี้ ลองทำการบ้านและตามหาสมูธตี้ที่เป็นตัวแทนของประเทศที่จะไป และที่สำคัญคืออย่ากลัวที่จะลองชิมถึงจะไม่เคยเห็นเมนูเหล่านั้นมาก่อน เชื่อเถอะว่า ‘รสชาติ’ ในแต่ละแก้วหรือแต่ละชามที่ได้ลองนั้น จะต้องบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับประเทศนั้นๆ ได้อย่างแน่นอน