ST. LOUIS: ย้อนสู่ต้นกำเนิด ‘ดนตรีบลูส์’ ที่ National Blues Museum พิพิธภัณฑ์ดนตรีแห่งใหม่ของอเมริกา
หนึ่งในพิพิธภัณฑ์ใหม่แกะกล่องประจำปี 2016 ของอเมริกาที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในตอนนี้ก็คือ National Blues Museum ตั้งอยู่ในเมืองเซนต์หลุยส์ รัฐมิสซูรี พิพิธภัณฑ์แห่งนี้อุทิศให้กับดนตรีบลูส์ (Blues) หนึ่งในแนวดนตรีที่เป็นรากฐานประวัติศาสตร์สำคัญของดนตรีอเมริกันสมัยใหม่ (Modern American Music) ทุกแขนงในปัจจุบันนี้
เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2016 ที่ผ่านมา National Blues Museum เปิดต้อนรับผู้เข้าชมสู่พื้นที่กว่า 2,137 ตรารางเมตร ที่อัดแน่นไปด้วยประวัติศาสตร์ดนตรีแขนงสำคัญของชาติเป็นครั้งแรก พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้รับการสนับสนุนจากทุนส่วนตัวของศิลปิน ตลอดจนนักแสดงชื่อดังมากมาย เช่น Shemekia Copeland, Robert Cray, John Goodman, Buddy Guy, Denise LaSalle, Derek Trucks, Jack White และ Morgan Freeman นอกจากนี้ยังได้ Robert Santelli ผู้เป็น Executive Director ของพิพิธภัณฑ์ Grammy Museum ใน Los Angeles มาเป็นที่ปรึกษาให้อีกด้วย
ถึงแม้ว่าต้นกำเนิดของเพลงบลูส์จริงๆ นั้นจะอยู่ในแอฟริกา แต่การเคลื่อนตัวมาพร้อมกับทาสที่ถูกต้อนเข้าสู่อเมริกา ก็ทำให้บลูส์พัฒนาตัวเองจากเพลงสวดในโบสถ์สู่หนึ่งในกระแสดนตรีหลักที่ผู้คนทั่วโลกหลงใหล
บลูส์นั้นเป็นหนึ่งในแขนงของดนตรีที่มีต้นกำเนิดในแอฟริกา โดยเริ่มจากการเป็นเพลงสวดเพื่อจรรโลงใจคนยากไร้ ในยุคที่มีการค้าทาสจากแอฟริกาเข้าสู่อเมริกานั้น วัฒนธรรมดนตรีนี้ก็ได้เคลื่อนตามมากับแรงงานทาสทั้งหลาย จนพัฒนากลายเป็นดนตรีเพื่อกล่อมเกลาจิตใจที่ร้องกันทั่วไป
เอกลักษณ์ของเพลงบลูส์นั้นมักมีเนื้อร้องที่ระบายความทุกข์ยากไปพร้อมกับการบรรเลงเครื่องดนตรีง่ายๆ ตามฐานะของทาส ซึ่งมักเป็นกีตาร์หรือไม่ก็เมาท์ออร์แกน (Mouth Organ) ด้วยความที่เป็นดนตรีพื้นฐานของคนยากจนที่ไม่ได้ร่ำเรียนดนตรีอย่างจริงจัง เรื่องโน๊ตและคีย์จึงมักเพี้ยนไปจากมาตรฐานดนตรีปกติในยุคนั้น แต่นั่นกลับทำให้เกิด Blue Notes ที่เป็นเอกลักษณ์ทางดนตรีเฉพาะตัวแบบใหม่ขึ้นมา ซึ่งรูปแบบทางดนตรีนี้ ได้กลายมาเป็นมาตรฐานของเพลงบลูส์ในปัจจุบันและดนตรีแขนงอื่นๆ ด้วยนั่นเอง
สำหรับในอเมริกาแล้วบลูส์มีต้นกำเนิดและก่อตัวขึ้นจริงๆ ในแถบ Deep South (บางทีก็เรียกว่า Lower South หรือ Cotton States) ซึ่งเป็นกลุ่มรัฐทางตอนใต้ของอเมริกาที่มักหมายถึงหมู่รัฐ Georgia, Alabama, South Carolina, Mississippi และ Louisiana นั่นเอง โดยดนตรีแนวนี้เริ่มมาจากกลุ่มคนอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน ราวช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ก่อนที่จะขยายไปยังรัฐอื่นๆ อย่างรวดเร็ว ผ่านชาวผิวสีชนชั้นแรงงานที่อพยพกระจายตัวไปทั่วอเมริกา
National Blues Museum แห่งนี้บอกเล่าประวัติศาสตร์ตั้งแต่จุดกำเนิดในแอฟริกา มาจนถึงการเติบโตของดนตรีบลูส์ในยุคปัจจุบัน ผ่านนิทรรศการ Intercative ด้วยเทคโนโลยีชั้นสูงที่ทันสมัย (โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับดนตรี)
นอกจากองค์ความรู้ที่จัดไว้อย่างครบครันเต็มอิ่มแล้ว ผู้ชมยังสามารถสนุกสนานกับประสบการณ์ดนตรีบลูส์ผ่านการเล่นกับเครื่องมือต่างๆ ในพิพิธภัณฑ์ ที่จะทำให้ทุกคนใกล้ชิดกับดนตรีชนิดนี้ได้ดียิ่งขึ้น เพราะหนึ่งในหัวใจสำคัญของการเปิดพิพิธภัณฑ์นี้ก็คือการสร้างความสัมพันธ์ให้คนรุ่นใหม่เข้าถึงรากแห่งบลูส์ได้ง่ายยิ่งขึ้นนั่นเอง
นอกจากส่วนนิทรรศการต่างๆ แล้วภายในพิพิธภัณฑ์ยังมีการแสดงดนตรีบลูส์ให้ชมกันอย่างสม่ำเสมอด้วยโดยจะมีวงบลูส์ตลอดจนนักร้องบลูส์ที่มีชื่อเสียงหมุนเวียนมาโชว์ให้ชมกันตลอดทั้งปี แล้วที่พิพิธภัณฑ์ยังเปิดคลาสสอนดนตรีบลูส์เป็นพิเศษให้กับอาจารย์ตลอดจนนักเรียนที่สนใจศึกษาด้านนี้อย่างลึกซึ้งอีกด้วย
“ทำไมถึงต้องเป็นเซนต์หลุยส์?”
คือคำถามยอดนิยมที่ถูกถามกันมาก (แม้กระทั่งในสื่อก็ตาม) ซึ่งทางพิพิธภัณฑ์เองตอบว่าถึงแม้เซนต์หลุยส์จะไม่ใช่แหล่งกำเนิดต้นฉบับของบลูส์ แต่เมืองนี้ก็มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ดนตรีไม่แพ้ที่ไหน เซนต์หลุยส์เป็นศูนย์กลางของ Blues Belt เส้นทางการเติบโตหลักของดนตรีบลูส์ในอเมริกา อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางทางด้านวัฒนธรรมที่สำคัญของประเทศอีกด้วย
อีกหนึ่งประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ คือในช่วงต้นยุคศตวรรษที่ 20 ได้เกิดการอพยพครั้งยิ่งใหญ่ที่เรียกว่า Great Migration (การอพยพครั้งใหญ่ของชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันกว่า 6 ล้านคน จากเมืองชนบททางตอนใต้ของอเมริกา สู่เมืองศิวิไลซ์ทางตอนเหนือ ตลอดจนภูมิภาคอื่นๆ ในช่วงปี ค.ศ.1910-1970 เป็นหลัก) ของผู้คนทางตอนใต้ ขึ้นสู่เมืองทางตอนเหนือของอเมริกา เหล่านักดนตรีบลูส์จากแหล่งต้นกำเนิดทั้งหลาย ก็ได้อพยพจากแถบปากแม่น้ำมิสซิสซิปปี ขึ้นมาตั้งรกรากกันที่เมืองเซนต์หลุยส์เป็นส่วนใหญ่ นั่นทำให้เมืองนี้เป็นเสมือนฐานทัพหลักแห่งหนึ่งของดนตรีบลูส์ในอเมริกาเลยทีเดียว แถมที่นี่ยังเป็นต้นกำเนิดของ St. Louis Blues หนึ่งในประเภทของดนตรีบลูส์ที่มักมีเปียโนเป็นเครื่องดนตรีหลักเป็นเสน่ห์เฉพาะตัว
https://www.youtube.com/watch?v=TTPEDODqmJU
เซนต์หลุยส์ยังเป็นบ้านเกิดและฐานทัพหลักของนักดนตรีบลูส์คุณภาพที่มีชื่อเสียงก้องโลกมากมาย เช่น Albert King นักร้องและนักกีตาร์บลูส์ฝีมือเยี่ยมที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งใน Three Kings of the Blues Guitar ร่วมกับ B.B King และ Freddie King ราชากีตาร์บลูส์ผู้โด่งดัง รวมไปถึง William Christopher Handy หรือ W.C.Handy นักดนตรีและนักประพันธ์เพลงบลูส์ชื่อก้องโลกที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น Father of the Blues หนึ่งในผลงานอมตะของเขาคือ Saint Louis Blues หนึ่งในเพลงบลูส์โด่งดังที่สุดตลอดกาลที่เขาแต่งขึ้นเมื่อปี 1914 ในขณะที่อาศัยอยู่ที่เซนต์หลุยส์นั่นเอง
ความหม่นของบลูส์นั้นบางครั้งก็กลับกลายเป็นเสน่ห์เฉพาะตัวที่ทำให้ผู้ฟังหลงใหล ดนตรีที่เกิดจากพื้นฐานความหมองหม่นกลับกลายเป็นพลังที่สร้างกำลังใจและความสุขได้อย่างไม่น่าเชื่อ บลูส์ยังมีพลังส่งต่อแรงบันดาลใจทางด้านดนตรีอีกมหาศาล ศิลปินยุคหลังหลายต่อหลายคนต่างก็ได้รับอิทธิพลจากดนตรีบลูส์มากมาย ใครที่สนใจก็ลองแวะไปจูนเสียงฟังจิตวิญญาณของบลูส์กัน
[su_tabs][su_tab title=”Details”]
Opening Hours:
อังคาร-เสาร์ 10.00-17.00
อาทิตย์-จันทร์ 12.00-17.00 น.
ปิดวันจันทร์ (ช่วงเดือนพฤศจิกายน-มีนาคม)
Admission: $15
Location:
National Blues Museum
615 Washington Ave, St Louis, MO, USA
314-925-0016
facebook.com/NationalBluesMuseum
nationalbluesmuseum.org
[su_gmap width=”1600″ address=”National Blues Museum, st louis, usa”][/su_gmap]
[/su_tab]
[/su_tabs]