สฟาลบาร์ ดินแดนไร้ตะวันขั้วโลกเหนือ

ช่วงสิ้นปี เป็นช่วงที่อากาศแถบยุโรปตอนเหนืออากาศหนาวเย็น หลายครอบครัวก็เดินทางหนีหนาว ไปฉลองปีใหม่ในประเทศที่ภูมิอากาศอบอุ่นอย่างไทยบ้านเราเป็นต้น แต่ก็มีนักท่องเที่ยวอีกหลายคนที่บ้าระห่ำ ตัดสินใจเดินทางไปเยือนดินแดนใกล้ขั้วโลกเหนือ

หนึ่งในนั้นก็หนีไม่พ้นผู้เขียนนี่เอง ด้วยความที่เห็นโปรโมชั่นตั๋วถูกบังตา ทำให้ในช่วงก่อนวันคริสต์มาส จึงได้เดินทางไปเยือนเกาะสฟาลบาร์ (Svalbard) ที่เป็นพื้นที่อาณาเขตของนอร์เวย์ที่มีความพิเศษในหลายประการ ทั้งวันที่มืดมิดตลอด 24 ชั่วโมง, แสงเหนือ, ธนาคารเมล็ดพันธุ์พืชโลก และที่น่าแปลกใจอย่างหนึ่งก็คือ มีคนไทยมาตั้งรกรากมากเป็นอันดับสองรองจากคนนอร์วีเจียนบนเกาะเย็นยะเยือกแห่งนี้ เกาะแห่งนี้จะน่าสนใจอย่างไร เรามาหาคำตอบกัน

[su_gmap width=”1600″ address=”Svalbard”][/su_gmap]

สฟาลบาร์นั้นเป็นเขตเกาะที่ตั้งอยู่บริเวณละติจูดที่ 78 องศาเหนือ เหนือเส้นอาร์คติค (Arctic Circle) อยู่ใกล้กับขั้วโลกเหนือ มีสภาพอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี และมี 4 ฤดู แต่ที่พิเศษกว่าประเทศที่อยู่ถัดลงไปทางตอนใต้คือ ที่สฟาลบาร์จะมีช่วงเดือนที่พระอาทิตย์ไม่ตกดินเลย นั่นคือ เดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม และช่วงเดือนที่พระอาทิตย์ตกดินตลอดวัน นั่นคือช่วงเดือนตุลาคมถึงกุมภาพันธ์ หรือสี่เดือนเลยทีเดียวที่เราจะไม่ได้สัมผัสกับแสงอาทิตย์ ซึ่งเรียกปรากฏการณ์ทางธรรมชาตินี้ว่าโพลาร์ไนท์ (Polar Night)

และแน่นอนที่เมื่อผมเดินทางมาช่วงธันวาคม จึงถือได้ว่าเป็นครั้งแรกที่ได้สัมผัสกับการใช้ชีวิตแบบไร้แสงตะวัน

สฟาลบาร์นั้น เริ่มแรก ก็เป็นเกาะใกล้ขั้วโลกเหนือที่ไม่มีผู้คนอยู่อาศัย มีแต่พี่หมีขาว (polar bear), สุนัขจิ้งจอกขั้วโลก (arctic fox), นกพัฟฟิน (puffin), วอลรัส, แมวน้ำ และวาฬหลายสายพันธุ์ เป็นหลัก ชาวนอร์สโบราณเรียกดินแดนแถบนี้ว่าสฟาลบาร์ธ (Svalbarð แปลว่าชายฝั่งที่หนาวเย็น) และพบหลักฐานการอ้างอิงถึงครั้งแรกใน Íslenzkir annálar หรือจดหมายเหตุไอซ์แลนด์ที่ระบุว่าค้นพบสฟาลบาร์ธในปี 1194 (แต่ไม่มีข้อมูลอ้างอิงเกี่ยวกับผู้ค้นพบแต่อย่างใด) จนกระทั่ง นักเดินเรือสำรวจชาวดัตช์ ที่ชื่อวิลเลม บาเรนซ์ (Willem Barentsz) ได้เดินทางเสี่ยงภัยพร้อมคณะมาจนได้ค้นพบสฟาลบาร์โดยบังเอิญในปี 1596 จึงได้ตั้งชื่อเกาะว่า Spitzberg ตามชื่อยอดเขาแหลมที่พวกเขาพบเห็นบนเกาะหลักของสฟาลบาร์ จึงนับกันว่านายบาเรนซ์เป็นผู้ค้นพบสฟาลบาร์เป็นคนแรก ทว่าโชคชะตาของนักสำรวจท่านนี้ก็แสนสั้นเสียเหลือเกิน เพราะเมื่อคณะได้เดินทางกลับ กลับต้องติดเกาะเผชิญความหนาวเหน็บของหน้าหนาวที่รัสเซีย และนายบาเรนซ์ก็ได้เสียชีวิตในเวลาต่อมา


เอกสารจดหมายเหตุที่ระบุว่าค้นพบสฟาลบาร์ธ f) Sualbarði fundinn ที่ท้ายหน้า
[ที่มา: http://baekur.is]

ทว่าเมื่อนานาประเทศได้ยินว่ารอบเกาะสฟาลบาร์แห่งนี้มีฝูงวาฬนับไม่ถ้วนอยู่ ก็ทำให้หลายประเทศในยุโรปต่างก็ส่งเรือเดินสมุทรมากันขนานใหญ่ อุตสาหกรรมล่าวาฬ (ไขวาฬสามารถนำไปใช้งานได้หลากหลาย) จึงขยายตัวเป็นอย่างมาก นักล่ามืออาชีพก็เริ่มเข้ามาปักหลักยึดเอาเกาะแห่งนี้เป็นที่อยู่จริงจัง และในปี 1920 รัฐบาลนอร์เวย์ก็ประกาศให้สฟาลบาร์ตกเป็นอาณาเขตปกครองของนอร์เวย์ ทั้งนี้ พร้อมด้วยเงื่อนไขในสนธิสัญญาที่ลงนามกับชาติอื่น ๆ สรุปได้ดังนี้

1. นอร์เวย์ถือสิทธิ์ครอบครองอาณาเขตเหนือสฟาลบาร์โดยสมบูรณ์
2. นอร์เวย์ให้สิทธิ์เดินทางและอยู่อาศัยที่เกาะสฟาลบาร์อย่างเท่าเทียมแก่บุคคลและบริษัทโดยไม่เลือกปฏิบัติ รวมถึงสิทธิ์ในการจับปลา, ล่าสัตว์, ประกอบกิจการทางน้ำ, อุตสาหกรรม, เหมืองแร่และการค้า
3. ภาษี, อากร, ค่าธรรมเนียมที่จัดเก็บจะเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่สฟาลบาร์เท่านั้น ในทางปฏิบัติ จึงหมายความว่าภาษีเงินได้จึงต่ำกว่าที่อื่นในนอร์เวย์ และสฟาลบาร์ไม่มีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
4. นอร์เวย์ไม่สามารถก่อสร้างป้อมปราการฐานทัพใด ๆ บนสฟาลบาร์ และสฟาลบาร์จะไม่ถูกใช้ในการรบใด ๆ ทำให้สฟาลบาร์มีเพียงเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยและเฝ้าสังเกตการณ์ชายฝั่งจำนวนเล็กน้อยเท่านั้น
5. นอร์เวย์มีหน้าที่ปกป้องสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติของสฟาลบาร์

จากเงื่อนไขในสนธิสัญญาดังกล่าวนี้เอง ทำให้การเดินทางมายังสฟาลบาร์นั้น ไม่ต้องขอวีซ่าแต่อย่างใด แต่ในความเป็นจริงแล้ว หากเราจะเดินทางไปยังสฟาลบาร์ ก็จะต้องพึ่งสายการบินในประเทศของนอร์เวย์อยู่ดี เพราะมีเพียงเส้นทาง ทรอมเซอ (Tromsø) – สฟาลบาร์ เท่านั้น ทำให้การเดินทางจากไทยไป เราจะต้องขอวีซ่าเชงเก้น (Schengen) แบบมัลติเพิล เพราะการเดินทางจากไทยไปนอร์เวย์ นับเป็นการเข้าเขตเชงเก้นครั้งที่ 1 เมื่อเดินทางต่อจากนอร์เวย์ไปสวาล์บาร์ดจะถือเป็นการเดินทางออกนอกเขตเชงเก้น และขากลับจากสฟาลบาร์เข้านอร์เวย์ จึงนับเป็นครั้งที่ 2 นั่นเอง


ป้ายเตือนระวังหมีขาวและป้ายบอกทาง กรุงเทพฯ อยู่ถัดไปอีก 8,378 กม.

เกาะสฟาลบาร์นั้น มีเมืองที่มีผู้คนอาศัยอยู่ 3 เมืองด้วยกัน ได้แก่ ลองเยียร์เบียน (Longyearbyen), นี-โอเลซุนด์ (Ny-Ålesund) และบาเรนซ์เบิร์ก (Barentzburg) โดยสองเมืองแรกเป็นพื้นที่ปกครองของนอร์เวย์ และแบเรนซ์เบิร์กเป็นพื้นที่ปกครองของรัสเซีย ซึ่งทั้งสามเมืองไม่มีถนนเชื่อมต่อกัน ต้องนั่งเรือหรือเฮลิคอปเตอร์

หลังจากหมดยุคล่าวาฬและสัตว์รอบเกาะ อุตสาหกรรมเหมืองแร่ถ่านหินก็เป็นอาชีพหลักของผู้คนบนเกาะแห่งนี้เรื่อยมา ในปี 2559 นี้เอง ก็เป็นปีฉลองครบรอบ 100 ปีของบริษัทถ่านหิน Store Norske Spitsbergen Kulkompani (SNSK) ซึ่งก็ได้มีการตั้งป้ายอนุสรณ์รำลึกถึงพนักงานที่เสียชีวิตในอุบัติเหตุตลอดทั้งศตวรรษที่ผ่านมา ณ บริเวณเชิงเขาใกล้กับโบสถ์ประจำเมืองลองเยียร์เบียนด้วย นอกเหนือจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่แล้ว ปัจจุบันอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และการค้นคว้าวิจัยก็เป็นอีกสองอุตสาหกรรมหลักของสฟาลบาร์


สนามบินลองเยียร์ที่สฟาลบาร์ ท่ามกลางความมืดมิดที่เวลาบ่ายสอง

สำหรับทริปนี้ ผมเดินทางจากสนามบินโคเปนเฮเกนมาเปลี่ยนเครื่องที่ออสโล และมาผ่านตม. ที่ทรอมเซอ ก่อนจะมาถึงสนามบินลองเยียร์เบียน สภาพอากาศไม่เลวร้ายมาก หิมะตกปรอย ๆ อุณหภูมิอยู่ที่ราว -1 องศา ซึ่งถือว่าอุ่นกว่าปกติสำหรับช่วงเดือนธันวาคมที่สฟาลบาร์ ที่สนามบิน เราจะพบกับหมีขาวที่ยืนแยกเขี้ยวต้อนรับอย่างอบอุ่นที่สายพานรับกระเป๋า (ดูเป็นมิตรดีจัง) และเราสามารถเดินมาขึ้นรถบัส (flybuss) จากด้านหน้าสนามบิน ที่จะพาเราไปส่งตามโรงแรมและเกสต์เฮาส์ในเมืองเลย ราคาขาเดียว 75 โครน (75 NOK) หรือไปกลับ 120 โครนต่อคน ซื้อตั๋วกับคนขับได้เลย รับทั้งเงินสดและบัตรเครดิต


หมีขาวยืนต้อนรับที่สายพานรับกระเป๋าที่สนามบิน

เนื่องจากสฟาลบาร์อยู่ใกล้กับขั้วโลกเหนือมาก ทำให้แทบจะทุกแห่งของที่นี่นั้นอวดสรรพคุณ “เหนือที่สุดในโลก” กันหมด ไม่ว่าจะเป็น โบสถ์ที่อยู่เหนือสุดของโลก (Svalbards Kirke), โรงแรมเหนือสุดของโลก (Radisson Blu และทุกโรงแรมในเมือง), ซุปเปอร์มาร์เก็ต, โรงเรียน, โรงหนัง, ภัตตาหาร ฯลฯ

ปัจจุบัน นอกเหนือจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่ สฟาลบาร์ก็เริ่มหันมาทุ่มเททรัพยากรในการบุกเบิกตลาดท่องเที่ยวมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากบริษัท, ห้างร้านต่าง ๆ ที่เกาะแห่งนี้ เกี่ยวข้องกับกิจกรรมท่องเที่ยวอันหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น การไปเยี่ยมชมถ้ำน้ำแข็ง, การขี่สุนัขลากเลื่อน, สโนว์โมบิล, ทริปล่าแสงเหนือ, ทริปนั่งเรือชมหมีขาวและเมืองบาเรนซ์เบิร์ก หรือการไปเหยียบขั้วโลกเหนือ เป็นต้น

พาชมเมืองลองเยียร์เบียนกัน กับสถานที่ท่องเที่ยวที่ไม่ควรพลาด


Svalbard Museum

ที่แรกที่เราจะไปกัน คือ พิพิธภัณฑ์สฟาลบาร์ (Svalbard Museum) ที่จะเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความเป็นมาตั้งแต่การค้นพบเกาะแห่งนี้, อุตสาหกรรมการล่าวาฬและสัตว์พื้นถิ่น, อุตสาหกรรมเหมืองแร่, การพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเพื่อทดแทนการทำเหมือง, ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในอดีตทั้งชาวนอร์เวย์และชาวรัสเซียที่ตั้งรกรากที่เกาะแห่งนี้ และการศึกษาค้นคว้าวิจัยเพื่อรักษาความยั่งยืนของสภาพสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพของสฟาลบาร์


หน้าทางเข้าพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์สฟาลบาร์

แม้พื้นที่ของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะไม่ใหญ่มาก แต่การจัดแสดงและเนื้อหาภายในนั้น น่าสนใจ และเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาถึงความเป็นมา จนไปถึงประเด็นความท้าทายที่สำคัญทั้งในเชิงระบบนิเวศน์ทางธรรมชาติและการพัฒนาในเชิงเศรษฐกิจ เรียกได้ว่าไปที่เดียวแล้วได้เรียนรู้เกือบจะทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับสฟาลบาร์ในที่เดียว ที่นี่ยังมีมุมหนังสือที่ค่อนข้างเพียบพร้อม ทั้งในเชิงวิทยาศาสตร์, ประวัติศาสตร์, นวนิยาย รวมไปถึงหนังสือภาพที่เกี่ยวข้องกับสฟาลบาร์ให้ได้ซื้อติดมือกลับมาเป็นที่ระลึกอีกด้วย ในช่วงที่ผมไปเยือน มีนิทรรศการจัดแสดงภาพถ่ายของชาวเหมืองแร่ที่ส่วนหอศิลป์ (Kunsthall) ที่เป็นเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงผู้คนบนเกาะแห่งนี้ แต่ปัจจุบันภาพเหล่านี้อาจกำลังจะเริ่มเลือนหายไปจากความทรงจำ ด้วยเพราะเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รัฐบาลจึงพยายามหาทางลดความสำคัญของการทำเหมืองแร่ลง ในส่วนนี้ห้ามถ่ายรูป เลยไม่ได้ถ่ายมาให้ชมกัน นอกจากนี้ ภาพส่วนหนึ่งสามารถไปชมได้ที่ Karlslberger pub กันต่อได้อีกด้วย

[su_tabs][su_tab title=”Details”]

ที่ตั้ง: เลขที่ 1 ถนนสาย 231 (Vei 231 – 1) ที่เดียวกับมหาวิทยาลัยสฟาลบาร์ (UNIS)
เวลาเปิดปิด: ทุกวัน ช่วงตั้งแต่ 1 ก.พ. – 30 ก.ย. เปิดเวลา 10.00 – 17.00 น. และช่วง 1 ต.ค. – 31 ม.ค. เปิดเวลา 12.00 – 17.00 น.
ค่าเข้าชม: ผู้ใหญ่ 90 NOK, เด็กตั้งแต่ 7 ขวบขึ้นไป 15 NOK, นักเรียนและผู้สูงอายุที่มีบัตรยืนยันตัว 50 NOK
เว็บไซต์: svalbardmuseum.no

[/su_tab] [/su_tabs]

 


ภายในพิพิธภัณฑ์มีสัตว์สต๊าฟหลายชนิดพร้อมข้อมูลประกอบครบถ้วน


Galleri Svalbard

แกลเลอรี่สฟาลบาร์แห่งนี้ จัดแสดงภาพวาดและภาพพิมพ์ ผลงานจากศิลปินท้องถิ่น และเป็นที่เก็บแผนที่และเอกสารทางประวัติศาสตร์สำคัญของสฟาลบาร์ นอกจากนี้ยังมีเวิร์คชอปและส่วนจำหน่ายผลงานศิลปะและงานฝีมือของศิลปินท้องถิ่นในที่เดียว หากต้องการซื้อโปสเตอร์สวย ๆ ก็มาเลือกกันได้ที่นี่ ที่ศูนย์แห่งนี่ ยังมีโปรแกรมสำหรับสนับสนุนศิลปินต่างชาติที่ต้องการมารังสรรค์ผลงานศิลปะที่สฟาลบาร์ในลักษณะ artist residency programme ที่จะได้รับเงินสนับสนุนค่าใช้จ่ายด้านที่พักส่วนหนึ่ง พร้อมกับพื้นที่สำหรับทำงานที่ Galleri Svalbard แห่งนี้อีกด้วย

[su_tabs][su_tab title=”Details”]

ที่ตั้ง: ถนนสาย 100 ติดกับ Coal Miners’ Cabins แถบ Nybyen
เวลาเปิดปิด: ช่วงมี.ค. – ก.ย. ทุกวันตั้งแต่เวลา 11.00 – 17.00 น. และช่วงต.ค. – ก.พ. เปิดอังคาร – เสาร์ ตั้งแต่เวลา 13.00 – 17.00 น. และอาทิตย์ 11.00 – 15.00 น. ปิดวันจันทร์
ค่าเข้าชม: ส่วนจัดแสดงถาวร (permanent collection) 70 NOK นอกนั้น ไม่มีค่าเข้าชม
เว็บไซต์: gallerisvalbard.no

[/su_tab] [/su_tabs]

 


ภาพจากศิลปินท้องถิ่นที่จัดแสดงบางส่วนในแกลเลอรี่


Wild Photo Galleri

แกลเลอรี่จัดแสดงภาพถ่ายของช่างภาพนอร์เวย์ชื่อดัง ภาพที่จัดแสดงเป็นภาพ wildlife และ nature ของสฟาลบาร์ ที่แสดงให้เราได้เห็นถึงสภาพภูมิประเทศในช่วงเวลาต่าง ๆ กัน และสัตว์นานาชนิดที่อาศัยเกาะแห่งนี้เป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็น หมีขาวขั้วโลก, จิ้งจอก, วาฬ, วอลรัส, แมวน้ำ และนกพื้นถิ่น ที่นี่ มีหนังสือภาพสวย ๆ หลายเล่มให้ได้เลือกซื้อ และถ้าอยากถ่ายรูปสวย ๆ ด้วยตัวเองบ้าง ก็สามารถจองทริปถ่ายภาพกับช่างภาพเจ้าของแกลเลอรี่ หรือถ้าต้องการถ่ายรูปสวย ๆ ด้วยตัวเอง ก็ยังสามารถเช่าอุปกรณ์ถ่ายภาพทั้งกล้องและขาตั้งจากแกลเลอรี่ได้อีกด้วย ข้อดีของที่นี่คือ ไม่เก็บค่าเข้าชม และเจ้าหน้าที่ประจำแกลเลอรี่คุยเก่ง เป็นมิตรมาก แถมยังสามารถให้คำแนะนำเกี่ยวกับการตามล่าแสงเหนือได้อีกด้วย ผมได้ลิงค์เฟสบุ้คกรุ๊ปของคนล่าแสงเหนือที่ลองเยียร์เบียนกับเว็บพยากรณ์แสงเหนือก็จากที่นี่

[su_tabs][su_tab title=”Details”]

ที่ตั้ง: Elvesletta Nord, 9170 Longyearbyen, Svalbard (Norway)
เวลาเปิดปิด: จันทร์ 10.00 – 15.30, อังคาร 12.00 – 17.30, พุธ – ศุกร์ 10.00 – 15.30 ปิดเสาร์อาทิตย์
เว็บไซต์: wildphoto.com

[/su_tab] [/su_tabs]


หนึ่งในหนังสือรวมภาพถ่ายที่จำหน่ายในแกลเลอรี่


Global Seed Vault

เกาะสฟาลบาร์เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกเมื่อไม่นานมานี้ ส่วนหนึ่งมาจากข่าวที่นำเสนอเกี่ยวกับธนาคารเมล็ดพันธุ์พืชโลก (Svalbard Global Seed Vault) ที่เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลทั่วโลกในการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์พืชท้องถิ่นไว้ เพื่อรองรับเหตุการณ์ไม่คาดฝันในอนาคตที่อาจจะส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางเกษตรชีวภาพ ไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติหรือสงครามร้ายแรงต่าง ๆ สาเหตุที่ธนาคารเมล็ดพันธุ์พืชโลกมาตั้งอยู่ที่นี่ เป็นเพราะอยู่ห่างไกลเข้าถึงได้ยาก และมีสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศเหมาะสำหรับโครงสร้างที่ต้องการคงอุณหภูมิให้คงที่ (-18 องศาเซลเซียส) โดยใช้งบประมาณและบุคลากรน้อยหรือแทบไม่ต้องมีเจ้าหน้าที่เฝ้าดูแลเลย โดยในส่วนของการก่อสร้าง รัฐบาลนอร์เวย์ได้ออกงบประมาณทั้งหมด 45 ล้านโครน (ประมาณ 190 ล้านบาท) และสร้างเสร็จเปิดใช้เมื่อปี 2008 ปัจจุบันมีเมล็ดพันธุ์กว่า 1.5 ล้านเมล็ดที่ถูกเก็บรักษาที่ธนาคารแห่งนี้ ซึ่งตัวโครงสร้างเองสามารถรองรับเมล็ดพันธุ์ได้ถึง 4.5 ล้านเมล็ดเลยทีเดียว ทั้งนี้รัฐบาลซีเรียได้เบิกเมล็ดพันธุ์พืชจากธนาคารไปเมื่อปี 2015 เป็นครั้งแรก ที่นี่ไม่เปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าชมด้านใน และเนื่องจากตั้งอยู่นอกเขตอยู่อาศัยของประชากร จึงต้องจองแพกเกจทัวร์นำเที่ยวหรือมีไกด์ท้องถิ่นพาไปเท่านั้น ไม่สามารถไปด้วยตัวเองได้ บริเวณด้านบนของอาคารประดับด้วยผลงานของศิลปินนอร์วีเจียน ดูเวเก้ ซานเน่อ (Dyveke Sanne) ที่เป็นแสงไฟแอลอีดีสะท้อนกับกระจกและปริซึมมองเห็นได้จากที่ไกล

(หมายเหตุ: ช่วงที่ผมไป หาจังหวะไปยังที่แห่งนี้ไม่ได้ เพราะสภาพอากาศไม่เหมาะสม คงต้องหาโอกาสกลับไปอีกครั้ง)

[su_tabs][su_tab title=”Details”]

เว็บไซต์จองทัวร์: svalbardscience.com/tours/svalbard-global-seed-vault
ราคา: 495 โครนต่อคน (สองชั่วโมง)
รอบเวลา: 09:30, 14:00, 20:00 น. ทุกวันเว้นวันหยุดราชการ

[/su_tab] [/su_tabs]

คลิปวิดีโอที่แสดงให้เห็นภายในธนาคารเมล็ดพันธุ์พืชโลก


การล่าแสงเหนือ

เนื่องจากเกาะสฟาลบาร์ตั้งอยู่ในเขตใกล้ขั้วโลกเหนือ จึงมีโอกาสที่จะได้พบกับปรากฏการณ์ธรรมชาติอย่างแสงเหนือ (Aurora Borealis) โดยเฉพาะในเขตนอกตัวเมืองที่ไร้แสงรบกวนจากอาคารบ้านเรือน ปรากฏการณ์แสงเหนือสามารถอธิบายอย่างย่อได้ดังนี้ ปกติแล้วดวงอาทิตย์จะปล่อยอนุภาคโปรตอนและอิเล็คตรอนมายังโลกอยู่ตลอด โดยเราเรียกอนุภาคที่พุ่งมายังโลกเหล่านี้ว่าลมสุริยะ (solar wind) โชคดีว่าเรามีสนามแม่เหล็กโลก (magnetosphere) ที่คอยป้องกันลมสุริยะไว้ โดยเมื่อลมสุริยะพุ่งชนมาปะทะสนามแม่เหล็กโลก อนุภาคเกือบทั้งหมดก็ถูกผลักออกไปนอกเขตโลก แต่ก็ยังมีบางส่วนที่ยังคงเคลื่อนที่มาตามสนามแม่เหล็กโลกด้วยความเร่ง ลงมายังแถบขั้วโลกทั้งสองที่เป็นบริเวณที่สนามแม่เหล็กโลกอ่อนที่สุด อนุภาคอิเล็คตรอนที่มีประจุจากการเคลื่อนที่ด้วยความเร่งเหล่านี้เข้าชนกับอะตอมก๊าซอ็อกซิเจนและไนโตรเจน พลังงานที่ถ่ายเทจากประจุอิเล็คตรอนในท้ายที่สุดก็ถูกปลดปล่อยออกมาในรูปของแสงสีต่าง ๆ ที่ระยะความสูง 80-150 กม.จากพื้นโลก (อนุภาคโปรตอนก็ปล่อยพลังงานออกมา แต่มนุษย์เรามองด้วยตาเปล่าไม่ค่อยเห็น)

การจะล่าแสงเหนือได้นั้น ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นสภาพท้องฟ้าที่ปลอดโปร่ง ไม่มีเมฆบดบัง, ลมสุริยะพัดโหมกระหน่ำ, ไม่มีแสงไฟจากอาคารบ้านเรือนรบกวนมากนัก ทั้งนี้ สามารถเช็คกับเว็บพยากรณ์แสงเหนือได้จากเว็บไซต์นี้ kho.unis.no/Forecast.htm โดยสังเกตที่ค่า Kp ถ้ามีค่าตั้งแต่ 3 ขึ้นไป แสงเหนือก็จะยิ่งเข้มมองเห็นได้ชัดยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ยังสามารถรับชมภาพสดของท้องฟ้าสฟาลบาร์จากกล้องของหอดูดาวมหาวิทยาลัยสฟาลบาร์ (UNIS) ได้ที่ kho.unis.no/kho_sony.htm และเข้าร่วมเฟสบุ๊คกรุ๊ปของนักล่าแสงเหนือสมัครเล่น (Nordlys i Longyearbyen…. Aurora Boreal) ที่มักจะคอยโพสต์บอกให้ออกมาล่าแสงเหนือกันได้ที่


ช่วงที่ไปไม่ได้เจอแสงเหนือ จนกระทั่งก่อนวันที่จะกลับฟ้าเปิด เลยได้มีโอกาสเห็นแสงเหนือของจริงเป็นครั้งแรก


ภาพที่ได้เกิดจากการตั้งค่ากล้องให้เปิดรับแสงนานหลายวินาที พร้อมกับปรับความสว่างในโปรแกรมแต่งภาพ จึงทำให้ดูเห็นแสงเหนือสว่างชัด


Shopping & Eating

ในวันที่ไม่ได้เดินทางไปที่ไหน หรือต้องการชอปปิ้งของฝาก ก็ขอแนะนำถนนคนเดินใจกลางเมือง (เส้นตรงกลางระหว่างถนนหลักและถนนเส้น Hilmar Rekstens vei) เพราะที่นี่เป็นศูนย์รวมของห้างร้านต่าง ๆ อาทิเช่น

⁃ ศูนย์ข้อมูลนักท่องเที่ยวที่เราสามารถติดต่อสอบถามเกี่ยวกับตารางกิจกรรมต่าง ๆ ได้ในจุดเดียว (Turistinformasjon เวลาเปิดปิด 10.00 – 16.00 น. ทุกวัน ยกเว้นวันที่ 24, 25, 31 ธ.ค. และ 1 ม.ค. เว็บไซต์สำหรับข้อมูลต่าง ๆ นอกเวลาทำการ visitsvalbard.com)

⁃ ห้าง Lompen (เวลาเปิดปิด: จันทร์-ศุกร์ 10.00 – 18.00 น. เสาร์ 10.00 – 15.00 น. ปิดวันอาทิตย์) มีร้านเสื้อผ้าและอุปกรณ์กีฬา, ร้านยา (Apoteket), ร้านของที่ระลึก, ร้านนวดแผนไทย รัตนโกสินทร์, ร้านอาหารไทย Taste of Thai และห้องสมุดประจำเมือง Folkebiblioteket (มีหนังสือภาษาไทยอยู่หลายเล่มด้วยกัน) เช็คเวลาเปิดปิดของแต่ละร้านภายในห้างได้ที่ amfi.no/kjopesentre/lompensenteret/butikker

⁃ ที่ชั้นล่างของห้าง Lompen ก็มีบาร์เครื่องดื่ม Karlsberger Pub (หรือสั้น ๆ ว่า KB) ที่มีชั้นวางเครื่องดื่มหลากหลายชนิดมาก ๆ วางเรียงยาวตลอดแนวผนัง ที่นี่เน้นวิสกี้และคอนญักเป็นหลัก แต่ก็มีเบียร์สดให้เลือกเช่นกัน นอกจากนี้ ที่นี่ยังมีอาร์มันญัก (Armagnac) เรียงมาตั้งแต่ปี 1908-1989 ให้ได้ลองอีกด้วย บรรยากาศดี เหมาะแก่การสังสรรค์หรือทำความรู้จักกับคนท้องถิ่น (เวลาเปิดปิด: อาทิตย์ – ศุกร์ 17.00 – 02.00 น., เสาร์ 15.00 – 02.00 น. เว็บไซต์: karlsbergerpub.no)


เบียร์สดท้องถิ่น ที่ผนังของบาร์มีภาพพอร์เทรตของชาวเหมืองประดับร้าน

⁃ สำหรับของฝาก, โปสการ์ดและไปรษณีย์, วัตถุดิบสำหรับประกอบอาหาร, เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก็สามารถหาซื้อได้ที่ห้าง Svalbardsbutikken ที่มีไฮเปอร์มาร์ท Coop อยู่ด้วย ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับ Lompen (เวลาเปิดปิด: จันทร์ – ศุกร์ 10.00 – 20.00 น., เสาร์ 10.00 – 18.00 น., อาทิตย์ 15.00 – 18.00 น. เว็บไซต์: svalbardbutikken.no) ส่วนไปรษณีย์ Posten Norge เปิด จันทร์ – ศุกร์ 10.00 – 17.00 น., เสาร์ 11.00 – 14.00 น. และปิดวันอาทิตย์ แต่มีตู้หย่อนจดหมายด้านหน้าตลอดเวลา


พี่หมียืนต้อนรับลูกค้าเข้าห้าง Svalbardsbutikken

⁃ ร้าน Skinnboden มีผลิตภัณฑ์เครื่องหนังที่ครบเครื่องตั้งแต่ชิ้นเล็ก ๆ อย่างกระเป๋าสตางค์, หางจิ้งจอก, ถุงมือหนังแมวน้ำ ราคาหลักร้อยถึงหลักพัน ไปจนถึงพรมหนังจิ้งจอก, หมีขาวเต็มตัว หรือศีรษะวัวไบซอนราคาหลักแสนก็มี เนื่องจากกฎระเบียบที่เข้มงวดของสฟาลบาร์ ทำให้หนังหลายประเภทที่จำหน่ายภายในร้านประมูลและนำเข้ามาจากกรีนแลนด์, แคนาดา และอลาสก้าที่มีโควต้าให้ชาวพื้นเมืองสามารถล่าสัตว์ได้ในแต่ละปี (เวลาเปิดปิด: จันทร์-ศุกร์ 10.00 – 18.00 น., เสาร์-อาทิตย์ 10.00 – 15.00 น. เว็บไซต์: skinnboden.no)


ถนนคนเดินเส้นหลักในเมืองลองเยียร์เบียน จากภาพ ร้าน Skinnboden อยู่ทางด้านซ้ายมือ

ร้านอาหารแนะนำ

⁃ Restaurant Kroa เป็นร้านอาหารและบาร์เบียร์ที่กว้างขวาง มีหลายโต๊ะ ตกแต่งด้วยไม้โดยรอบ และที่สำคัญ มีพนักงานคนไทยด้วยครับ พี่ต้อมและอีกหลายคนก็ทำงานอยู่ที่นี่ด้วย (เปิดทุกวัน ตั้งแต่ 11.30 – 02.00 น. เว็บไซต์: kroa-svalbard.no )

ส่วนเคาน์เตอร์บาร์ของร้าน มีรูปปั้นท่านเลนินประดับอยู่ด้วย


โต๊ะอาหารให้บรรยากาศแบบไวกิ้ง

⁃ Barentz Pub & Spiseri ที่โรงแรม Radisson Blu Polar Hotel Spitsbergen เป็นร้านอาหารและผับในโรงแรม บรรยากาศดี ราคาอาจจะสูงกว่าร้านอื่นเล็กน้อย เหมาะสำหรับดินเนอร์โรแมนติก ที่ตั้ง อยู่บนถนนเส้น 500 (Vei 500) ไม่ไกลจากถนนหลักในเมือง ถ้าไปช่วงที่มีเทศกาลดนตรีแจ๊ส เดือนมกราคม อาจจะหาที่นั่งยากหน่อย เพราะเป็นสถานที่หลักของเทศกาล (เปิดทุกวัน ตั้งแต่ 16.00 – 02.00 น. ครัวปิดห้าทุ่ม เว็บไซต์: radissonblu.com/en/hotel-spitsbergen/bars)


บรรยากาศภายในร้านออกแนวกึ่งทางการ เหมาะสำหรับมาผ่อนคลายให้หายเหนื่อย

⁃ Coal Miners’ Bar & Grill ที่โรงแรม Coal Miners’ Cabins อยู่ไกลจากตัวเมืองประมาณสองกิโลเมตร บนถนนเส้น 100 แถบเมืองใหม่ (Nybyen) ที่นี่มีเบอร์เกอร์ไซส์ใหญ่สะใจ รสชาติดีกับสเต็กหลากรสให้ได้ลิ้มลอง (เวลาเปิดปิด: อาทิตย์ – พฤหัสบดี 15.00 – เที่ยงคืน, ศุกร์ – เสาร์ 15.00 – 01.00 น. ครัวปิด 22.00 น. เว็บไซต์จองที่พัก: spitsbergentravel.com/start/accommodation/coalminerscabins)


ที่ร้านนี้ต้องสั่งเมนูที่เคาน์เตอร์ เพราะมีบริกรคนเดียว ที่ทำหน้าที่เช็คอินกับเช็คเอาท์แขกที่เข้าพักด้วย

นอกจากนี้ ยังมีร้านคาเฟ่อีกสองร้านที่ควรแวะ

⁃ Rabalder ตั้งอยู่ที่ศูนย์วัฒนธรรม (Kulturhuset) เป็นคาเฟ่ที่น่านั่งหลังจากเดินทางมาเหนื่อย ๆ มีเครื่องดื่มอุ่น ๆ ให้เลือก โดยเฉพาะโกโก้ร้อน นอกจากจะจำหน่ายเครื่องดื่มแล้ว เรายังสามารถซื้อตั๋วหนังได้ที่เคาน์เตอร์เช่นกัน ส่วนป๊อปคอร์นก็จะมีขายก่อนรอบหนังฉายหนังต่างประเทศจะเป็นภาษาต้นฉบับพร้อมกับซับไตเติ้ลภาษานอร์วีเจียน ยกเว้นอนิเมชั่นเด็ก ที่จะพากษ์นอร์วีเจียนทับ ช่วงที่ผมไป สตาร์วอร์ Rogue One เข้าพอดี เลยได้มีโอกาสดูไปพร้อมกับชาวสฟาลบาร์จากทั่วสารทิศ แต่ทั้งเกาะมีโรงหนังเดียว โรงเดียว รอบหนังเลยค่อนข้างจำกัด คือ รอบเดียว ลิมิเต็ดจริง ๆ ไม่มีทั้งเวอร์ชั่น 3D, 4D, IMAX ทั้งนั้น แถมเบาะปรับไม่ได้อีก (เวลาเปิดปิด: จันทร์ – เสาร์ 10.00 – 16.30 น., อาทิตย์ 12.00 – 19.00 น.)


หมีขาวตัวยักษ์ลูกค้าประจำของร้านโผล่มาทักทาย

⁃ Fruene คาเฟ่นี้ต่างจาก Rabalder ตรงที่มีของคาวด้วย และของหวานและเครื่องดื่มหลากหลายประเภทจำหน่าย ทั้งเค้ก, บราวนี่, คุกกี้ และอื่น ๆ เหมาะสำหรับนั่งพักหลังจากเดินทางมาเหนื่อย ๆ หรือนั่งรอหิมะหยุดตก ที่น่าสังเกตคือ ร้านนี้มีส่งออกไปยังเมืองอื่นในนอร์เวย์อีกด้วย คาดว่าเป็นเพราะลูกค้าเฉพาะในสฟาลบาร์คงมีจำนวนไม่มากพอ (เวลาเปิดปิด: จันทร์ – พุธ และศุกร์ 10.00 – 18.00 น., พฤหัสบดี 10.00 – 22.00 น., เสาร์ 10.00 – 17.00 น., อาทิตย์ 11.00 – 17.00 น. เว็บไซต์: fruene.mystore4.no)


เมนูของหวานของคาวและเครื่องดื่มครบครัน

และกรณีที่ถ้าไปเที่ยวแล้ว ขาดอุปกรณ์จำเป็นสำหรับทริป เช่น เสื้อกันหนาว หรือปืนไรเฟิล ก็สามารถซื้อหาหรือเช่าได้ที่ร้าน Longyear 78˚ (เวลาเปิดปิด: จันทร์ – ศุกร์ 10.00 – 18.00 น., เสาร์ 10.00 – 16.00 น. ปิดวันอาทิตย์, เว็บไซต์: spitsbergentravel.com/start/longyear78 ) ส่วนรองเท้าบู๊ต ก็แนะนำร้าน Sports Centeret มีให้เลือกหลายรุ่นหลายแบรนด์ด้วยกัน (เว็บไซต์: sportscenteret.no)


โซนอุปกรณ์ป้องกันตัวในร้าน Longyear 78˚

ทั้งนี้ มีข้อควรรู้บางประการสำหรับการท่องเที่ยวที่สฟาลบาร์ ดังนี้

1. การเดินทางออกนอกเขตอยู่อาศัยจะต้องถืออาวุธปืนสำหรับป้องกันตัวจากหมีขาวด้วยเสมอ แต่ทั้งนี้ ยังต้องศึกษาเกี่ยวกับขั้นตอนการป้องกันตัวเพิ่มเติม โดยหลักแล้ว ปืนมีไว้เพื่อขู่ให้หมีกลัวและไม่มาเข้าใกล้จนเกินควร หากเกิดเหตุยิงหมีจนเสียชีวิต ผู้ยิงจะต้องถูกสอบสวนโดยละเอียดว่ากระทำการโดยประมาทหรือผิดข้อปฏิบัติหรือไม่
2. หากข้อแรกนั้นดูยากไป หรือไม่สามารถปฏิบัติได้ ก็ใช้วิธีเดินทางไปกับโปรแกรมการเดินทางและกรุ๊ปทัวร์ที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการเท่านั้น เพราะผู้นำทัวร์จะรู้ถึงข้อปฏิบัติและมาตรการให้ความช่วยเหลือในเหตุฉุกเฉินเป็นอย่างดี รวมไปถึงสามารถประเมินสภาพอากาศและภูมิประเทศว่าเหมาะสมกับการท่องเที่ยวหรือไม่อีกด้วย
3. ผู้ขับขี่สโนว์โมบิลจะต้องมีใบขับขี่สากลเท่านั้น หากเกิดอุบัติเหตุแล้วพบว่าผู้ขับขี่ไม่มีใบขับขี่ที่ถูกต้อง จะถูกปรับมูลค่าสูงมากและถูกดำเนินการตามกฎหมายนอร์เวย์อย่างเข้มงวด ไม่ควรเสี่ยงเด็ดขาด
4. กฎหมายเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของนอร์เวย์ค่อนข้างเข้มงวดและมีรายละเอียดค่อนข้างมาก ยกตัวอย่างเช่น
1. เครื่องดื่มที่มีระดับแอลกอฮอล์สูงกว่า 4.74% จะมีวางจำหน่ายเฉพาะที่ร้าน Vinmonopolet ของรัฐบาลเพียงที่เดียว (ส่วนที่สฟาลบาร์ จะเป็นร้านชื่อ Nordpolet ที่ตั้งอยู่ด้านในของ Coop เปิดวันธรรมดาตั้งแต่ 10.00 – 18.00 น., 10.00 – 15.00 น. วันเสาร์ และปิดวันอาทิตย์) ส่วนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่ำกว่า 4.74% สามารถซื้อได้ตามซุปเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป จนถึงเวลาสองทุ่มในวันธรรมดาและ 18.00 น. ในวันเสาร์
2. ร้านอาหารที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะไม่สามารถจำหน่ายสุราก่อนเที่ยงวัน
3. อายุขั้นต่ำของผู้ซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์คือ 18 ปี แต่ถ้าเป็นเครื่องดื่มที่มีระดับแอลกอฮอล์เกิน 22% จะต้องมีอายุเกินกว่า 20 ปีขึ้นไป ซึ่งจะต้องยืนยันด้วยการแสดงบัตรประชาชนที่มีรูปถ่ายในการซื้อ
4. ห้ามดื่มสุราในที่สาธารณะ ยกเว้นตามสวนสาธารณะ แต่จะต้องไม่เมามายรบกวนผู้คนรอบข้าง
5. ไม่ควรทิ้งขยะตามถนนหรือข้างทาง เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์ได้รับอันตรายจากการกลืนกินขยะเหล่านั้น
6. ไม่ควรเด็ดต้นหรือดอกไม้ใด ๆ เพื่อรักษาความหลากหลายทางชีวภาพของสฟาลบาร์ไว้
7. ไม่ควรทิ้งร่องรอยขีดเขียนหรือทำลายสาธารณะสมบัติ โดยเฉพาะสิ่งปลูกสร้างตั้งแต่ก่อนปี 1946 เพราะถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรม อาจมีความผิดทางกฎหมายได้

จบด้วยภาพบรรยากาศภายในเมืองลองเยียร์เบียน ดูลึกลับและแปลกตาสำหรับเรา โดยเฉพาะการที่ไม่ได้พบกับแสงตะวันตั้งแต่เช้าจรดค่ำอย่างนี้ เราก็คงได้แต่จินตนาการถึงการใช้ชีวิตอยู่กับสภาพแวดล้อมในเขตดินแดนเหนือสุดติดขั้วโลก หากมีโอกาส ก็อย่าลืมแวะมาทักทายชุมชนคนไทยที่สฟาลบาร์กัน


เหมืองแร่ปิดตัวไปหลายแห่ง เหลือเพียงเหมืองหมายเลข 7 ที่ยังคงใช้งานอยู่ สิ่งปลูกสร้างในเมืองหลายแห่งจึงถูกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกวัฒนธรรม


ประตูด้านหลังของศูนย์กีฬาสฟาลบาร์ที่ทางเดินเต็มไปด้วยหิมะปกคลุม

อาคารสำนักงานของบริษัทเหมืองในเขตเมืองใหม่ตั้งอยู่ตรงเชิงเขา

โบสถ์ Svalbards Kirke ที่อยู่เหนือที่สุดในโลก เปิดตลอดเวลา เพื่อเป็นที่พึ่งทางใจให้ศาสนิกชน

ช่วงที่ผมไป มีพิธีรำลึกครบรอบ 1 ปีจากเหตุหิมะถล่ม จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตสองศพและบ้านเรือนได้รับความเสียหาย 11 หลัง

เรือนกระจกปลูกผักใกล้ Coal Miners’ Cabins ดูเรืองแสงเหมือนสิ่งปลูกสร้างจากนอกโลก

Viroj currently works as a researcher within international economics at Lund University in Southern Sweden. A traveller with a burning passion for photography, he mainly takes photos with his medium-format digital camera, and now tries to limit his travel plans (with no success) to save up for a wide-angled lens. Viroj has a blond labrador retriever named Molly, who loves swimming at the beach near his home in Copenhagen, Denmark.

Magazine made for you.