สนทนาหลังชม: Tripping with Nils Frahm คอนเสิร์ตในอดีตสถานีวิทยุคอมมิวนิสต์ยุคสงครามเย็น

เป็นเวลาเกือบ 1 ปีแล้ว ที่ความสุขจากเสียงดนตรีสดของเทศกาลงานแสดงจากศิลปินนานาชาติถูกตัดขาดไปพร้อมๆ กันทั้งโลกโดยไม่มีใครทันตั้งตัว แต่แม้ในเวลาที่ยากลำบาก เหล่าศิลปินต่างก็พยายามที่จะส่งตรงผลงานใหม่ๆ ออกมาเพื่อเยียวยาจิตใจให้เราผ่านช่วงเวลากักตัวอันน่าเบื่อหน่ายนี้ไปได้โดยไม่แห้งเหี่ยวนัก

Tripping with Nils Frahm คือ concert film ที่สามารถพาความรู้สึกของคุณให้ล่องลอยหลุดจากความจริงอันโหดร้ายไปสู่โลกแห่งดนตรี Neoclassical กระแสใหม่ของ นิลส์ ฟราห์ม (Nils Frahm) นักเปียโนและนักประพันธ์ชื่อดังชาวเยอรมัน ที่ทัวร์คอนเสิร์ตรอบโลกปี 2018-2019 ของเขาบัตร soldout ตั้งแต่อัลบั้มยังไม่วาง — และตอนนี้เราสามารถรับชมได้แล้วทาง MUBI

ภาพของผู้ชมที่ล้อมวงนั่งใกล้ชิดจนเกือบจะติดเครื่องดนตรี คงไม่เหมือนภาพการแสดงดนตรีคลาสสิคที่หลายคนอาจจะนึกถึง ในการแสดงของ นิลส์ ฟราห์ม ผู้ชมบางคนลุกยืนแล้วโยกไปตามจังหวะ บ้างก็หลับตาปล่อยใจล่องลอยไปกับท่วงทำนองราวกับกำลังหลุดไปอีกมิติหนึ่ง

หลังจากได้ดู Tripping with Nils Frahm เรามีโอกาสได้ร่วมวงกับ Have You Heard? พูดคุยทางไกลกับ นิลส์ ฟราห์ม เกี่ยวกับทัวร์คอนเสิร์ต ผลงานเพลง และทำความรู้จักตัวตนของเขามากขึ้น ซึ่งยิ่งทำให้เราตั้งตารอโอกาสที่จะได้ชมการแสดงสดของเขาจริงๆ สักครั้ง

“สิ่งที่ผมอยากทำ คือการนำสตูดิโอไปสู่เวทีต่างๆ” นิลส์เริ่มเล่าถึงสิ่งที่ดูเหมือนจะง่าย แต่เป็นรายละเอียดท้าทายของการเดินสาย ที่ต้องเคลื่อนย้ายเครื่องดนตรีที่ละเอียดอ่อนไปแสดงตามที่ต่างๆ

ตลอดช่วงเวลาเกือบ 2 ปี เขาได้เดินทางไปเปิดการแสดงบนเวทีระดับโลกอย่าง Walt Disney Hall ลอสแอนเจลิส, Sydney Opera House ออสเตรเลีย, Hammersmith Apollo ลอนดอน, Elbphilharmonie ฮัมบูร์ก รวมถึงเทศกาลดนตรีมากมาย แต่สถานที่ที่ นิลส์ ฟราห์ม เลือกบันทึกภาพการแสดงสดใน Tripping with Nils Frahm คือ Funkhaus Berlin ซึ่งไม่ใช่สถานที่จัดคอนเสิร์ตทั่วไป แต่เป็นสตูดิโอที่เขาใช้ทำงานมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา

Nils Frahm

“The Beatles ไม่ได้บันทึกเพลงของพวกเขาที่นี่ Pink Floyd ไม่เคยมาที่นี่ ศิลปินชื่อดังทั้งหลายในอดีตก็ไม่ได้ใช้ห้องอัดนี้ — ผมคิดว่าสถานที่นี้น่าจะยังสามารถสร้างประวัติศาสตร์ได้ ถึงแม้มันจะมีประวัติที่ยอดเยี่ยมมากมายอยู่แล้วก็ตาม” นิลส์เล่าถึงหนึ่งในเหตุผลที่เขาเลือก Funkhaus Berlin เป็นเวทีในบันทึกการแสดงสดในครั้งนี้

สตูดิโอ Funkhaus Berlin เป็นอาคารเก่าของอดีตสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งเยอรมันตะวันออก (GDR) ในสมัยสงครามเย็น  ที่ถูกสร้างขึ้นในปี 1951 และมีห้องบันทึกเสียงขึ้นชื่อเรื่องคุณภาพอะคูสติก แต่หลังจากการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลินในปี 1989 อาคารแห่งนี้ก็ว่างลงและถูกเปลี่ยนมือ จนกลายมาเป็นสตูดิโอบันทึกเสียงที่อยู่เบื้องหลังผลงานดนตรีของ นิลส์ ฟราห์ม

All Melody เป็นอัลบั้มที่ถูกแต่งและบันทึกเสียงที่สตูดิโอ Funkhaus ที่ซึ่งนิลส์มีโอกาสได้ทำการทดลองทางดนตรีที่กว้างขึ้น กับกระบวนการที่ซับซ้อนขึ้นกว่าผลงานอัลบั้มก่อนๆ ซึ่งถูกทำขึ้นในสตูดิโอที่บ้าน

“เดิมทีผมอยากที่จะมีพื้นที่สำหรับการซ้อมและบันทึกเสียงร่วมกันในแห่งเดียว” นิลส์พูดถึงไอเดียการทำดนตรีที่เคยค้างคามาตั้งแต่ตอนทำอัลบั้ม Felt ในปี 2011 “ผมมักจะทำสิ่งที่ใช้เสียงดังมากๆ ในห้องซ้อม และสิ่งที่ละเอียดอ่อนมากๆ ในสตูดิโอที่บ้าน ซึ่ง All Melody คือการผสมผสานสองสิ่งนี้เข้าด้วยกัน”

นิลส์ไม่เพียงแค่เข้ามาใช้พื้นที่ของ Funkhaus แต่เขายังลงทุนลงแรงแปลงสภาพสตูดิโอที่ไม่เคยถูกแตะมาตั้งแต่ยุค 50 แห่งนี้ เพื่อให้ได้มาตรฐานสำหรับปัจจุบันด้วยการปรับปรุงซ่อมแซมขนานใหญ่ให้สมบูรณ์แบบที่สุดสำหรับดนตรีที่เขาอยากจะทำ

“เรามีสำนวนเยอรมันว่า ไม่มีอะไรดีที่สุด จนกว่าจะลงมือทำเอง และผมคิดว่านั่นเป็นวิธีคิดที่ผมใช้ในการทำงาน ผมรู้สึกว่าการทำสตูดิโอก็เหมือนการสร้างเครื่องดนตรีด้วยตัวเอง เพราะสตูดิโอก็เป็นส่วนหนึ่งของดนตรี ซึ่งมีแต่ตัวผมที่จะทำได้ เพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของงานประพันธ์”

นิลส์ยังเล่าถึงที่มาของอัลบั้ม All Medody เพิ่มอีกว่าเริ่มต้นมาจากความชอบที่จะผสมเครื่องดนตรีไฟฟ้าเข้ากับเครื่องดนตรีอะคูสติก “บางครั้งผมทำอัลบั้มด้วยเครื่องดนตรีชิ้นเดียว คือ เปียโน แต่ในอีกทางหนึ่ง ผมก็ชอบที่จะสร้างทัศนียภาพของเสียงที่มีมิติซับซ้อน ให้ความเป็นอิเล็กทรอนิกส์รู้สึกเหมือนอะคูสติก และในทางกลับกัน ทำให้เครื่องดนตรีอะคูสติกฟังดูเหมือนเสียงอิเล็กทรอนิกส์ โดยผสมกลมกลืนกัน” ซึ่งแน่นอนว่าความรู้สึกที่ว่านั้น สะท้อนอยู่ในอัลบั้มอย่างเด่นชัดโดยไม่ต้องอธิบายอะไรเพิ่มเติมเลย

ในคอนเสิร์ต Tripping with Nils Frahm เราได้เห็นเพลงอย่าง All Melody และ Fundamental Value ในเวอร์ชั่นที่ผสมผสานซินธ์เข้ามาอย่างเข้มข้นดุดัน ในขณะที่เพลง My Friend the Forest พาผู้ชมดำดิ่งไปกับเสียงเปียโนอันนุ่มนวลที่นิลส์บรรจงพรมนิ้วลงบนคีย์ได้อย่างไพเราะหมดจด

เขายังเล่าถึงที่มาของเพลง My Friend the Forest ว่า วันหนึ่งขณะที่เขากำลังแต่งเพลงในสตูดิโอ เพื่อนของเขาก็พูดขึ้นมาว่า “ผมคิดว่าคุณต้องรอ จนกว่าจะเห็นว่าต้องมุ่งไปทางไหน เหมือนครั้งที่เราไปเดินเล่นในป่าด้วยกันจนไปพบต้นไม้สวยมากต้นนั้น” นิลส์หัวเราะเพราะแปลกใจที่เพื่อนยังจำได้ เลยหยิบมิตรภาพจากช่วงเวลาเหล่านั้นมารวมกันจนกลายเป็นเพลงนี้

นอกจากผลงานของตัวเองแล้ว Nils Frahm ยังเคยแต่งดนตรีประกอบให้กับ Victoria (2015) ภาพยนตร์อินดี้โจรกรรมระทึกขวัญของเยอรมัน ที่เคยสร้างความฮือฮาด้วยการถ่ายทำทั้งเรื่องแบบ long take

นิลส์เล่าว่าเขาได้รับการแนะนำให้รู้จักผู้กำกับ เซบาสเตียน ชิปเปอร์ ในปี 2014 และตัดสินใจร่วมงานด้วยทันทีที่ได้รับข้อเสนอ เพราะเป็นแฟนผลงานของเซบาสเตียนอยู่แล้ว หลังจากนั้นไม่กี่เดือนเขาก็นำเสนอดนตรีที่อิมโพรไวส์ระหว่างดูหนังไปด้วย แล้วเลือกบางช่วงบางตอนออกมาขัดเกลาให้เข้ากับเรื่อง

“ผมอยากจะดึงความรู้สึกของการสร้างอะไรสดๆ เช่นเดียวกับสิ่งที่เห็น (จากในหนัง) ออกมาผ่านดนตรี — มันไม่สามารถเป็นอะไรที่ถูกแต่งขึ้นมาก่อนจนสมบูรณ์ หรือพยายามมากเกินไปที่จะให้มันเป็นไปโดยสัญชาตญาณในทำนองเดียวกับการแสดงของนักแสดง” เขายังบอกอีกว่ากระบวนการทำงานกับเซบาสเตียนเป็นประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยม และ Victoria เป็นงานหนึ่งที่ค่อนข้างท้าทายสำหรับเขา แต่ท้ายที่สุดดนตรีที่เขาสร้างสรรค์ก็ถูกจัดวางเข้ากับภาพยนตร์ได้อย่างสมบูรณ์แบบ

อาจจะนับเป็นโชคดีที่ทัวร์คอนเสิร์ตของเขาจบลงพอดิบพอดีกับที่ COVID-19 เริ่มระบาด ช่วงเวลาที่ทั้งโลกต้องหยุดนิ่งจึงกลายเป็นจังหวะที่เขาได้พักจากการเดินทางและพัฒนาไอเดียดนตรีใหม่ๆ ในสตูดิโอ ซึ่งไม่แน่ว่าถ้าโลกกลับสู่ภาวะปกติเมื่อไหร่ เราอาจจะมีโอกาสได้ชมคอนเสิร์ตของ นิลส์ ฟราห์ม ในประเทศไทยก็เป็นได้

Magazine made for you.