TT Rider ขี่ตุ๊กตุ๊กตะลุย AEC ในการเดินทางครั้งใหม่ของเรย์ แมค
สวัสดีครับ
ผม เรย์ เคเอฟซี เจ้ย! ไม่ใช่!!
เรย์ เบอร์เกอร์คิง ไม่ใช่!! (ผมเล่นมุขนี้มาเป็นสิบปีแล้ว..)
ผมเรย์ แม๊คโดนัลด์นะครับ อายุ 38 ขวบแล้ว เวลาผ่านไปไวมากๆ เดินทางมาแล้วก็หลายปี ไปมาก็หลายที่ มีบางช่วงที่หยุด ไม่อยากเดินทางเหมือนกัน แต่พอหายไปนานๆ ก็จะอยากออกไปหาแรงบันดาลใจใหม่ๆ แต่เอาจริงๆเวลาตั้งใจออกไปหาอะไร มักจะไม่ค่อยเจอหรอกนะ มันจะไปเจออย่างอื่นมากกว่า..
หลายคนถามผมว่าเดินทางมากๆไม่เบื่อเหรอ คือบางทีบางประเทศเราเคยไปแล้ว ไปหลายทีแล้ว แต่พอเวลาผ่านไป 5 ปี 10 ปี เรากลับไปอีกที สถานที่นั้นมันก็ไม่เหมือนเดิมแล้ว ตัวเราเองก็ไม่เหมือนเดิมแล้ว เราก็จะเห็นอะไรบางอย่าง ที่ตอนเราไปครั้งแรกเรายังมองไม่เห็น เสน่ห์ที่เราเห็นในแต่ละที่มันเปลี่ยนแปลงไป คนที่เราไปด้วยก็เปลี่ยนไป คนที่เราไปเจอะเจอก็ต่างออกไป ยิ่งหลังๆได้ทำ roadtrip มันก็ยิ่งเข้าใจว่า ทำไมบางคนเค้าวางแผนเดินทางหลักวันแต่เค้าอยู่กันเป็นเดือน วางแผนหลักเดือนแต่อยู่กันเป็นปี เพราะเวลาเราออกไปทีนึง มันจะไม่มีวันจันทร์วันอังคาร คือทุกวันมันเหมือนเป็นวันเดียวกัน แต่มันไม่มีวันไหนที่จำเจ คือมันเพลินเวลาได้เห็นผู้คน ภาษา หรือวัฒนธรรมมันค่อยๆเปลี่ยนแปลงตลอดเส้นทางที่เราผ่านไป แต่ละที่มันจะมีเสน่ห์ของภูมิภาค จะมีเสียง สำเนียง เรียกว่าเป็น soundtrack เฉพาะตัวของแต่ละที่ ซึ่งผมว่ามันคลาสสิคดี
การเดินทางครั้งล่าสุดของผม คือทริปถ่ายทำรายการ TT Rider ย่อมาจาก “Tuk Tuk Rider” หรือขี่ตุ๊กตุ๊กเดินทางนี่แหละครับ จริงๆแล้วมันเป็นภาคต่อของรายการ Roaming ที่ผมเคยนั่งรถไฟจากกรุงเทพไปถึงลอนดอน คราวนี้เราก็คิดกันว่าถ้ามันจะมีภาค 2 มันจะเป็นยานพาหนะอะไรดี ที่มันจะบ่งบอกถึงความเป็นไทย ที่พอขับไปไม่ว่าที่ไหนใครเห็นแล้วก็จะนึกถึงเมืองไทย ก็เลยตกลงใจได้ว่าจะขับตุ๊กตุ๊ก ซึ่งตอนนั้นเราก็วางแผนคิดการใหญ่กันว่าเราอยากขับทางไกลกัน 20,000 ไมล์เลย แต่ด้วยอุปสรรคหลายๆอย่างก็เลยไม่ได้ทำกันซักที เวลาผ่านไป 5-6 ปี มันก็ยังเป็นแค่ขั้นตอนการวางแผง จนปีนี้เรารู้สึกว่ามันต้องลองออกไปทำซะทีแล้วล่ะ ประจวบกับกระแส AEC ที่เข้ามา เราเลยคิดว่าจริงๆแล้วเราเริ่มจากอะไรใกล้ๆตัวก่อนก็ได้ พับความฟุ้งซ่านที่อยากทำอะไรใหญ่มากๆ มาทำอะไรที่มัน ทำได้จริง ทำได้ง่าย และ ทำได้เลย ก็เลยเกิดเป็นแผนขับตุ๊กตุ๊กลุยประเทศใน AEC โดยเราจะเริ่มจาก ไทย เมียนมาร์ (พม่า) ลาว และ กัมพูชา 4 ประเทศก่อน
วันที่พุธที่ 25 มีนาคม 2558 (วันออกเดินทาง)
ตอนแรกเลยเราวางแผนว่าเราจะเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ กะขับตุ๊กตุ๊กผ่านแลนด์มาร์คหลักต่างๆของกรุงเทพมหานครฯ แต่วันนั้นมันเป็นวันธรรมดา แล้วบ้านผมอยู่ร่มเกล้า คือกว่าจะถ่อเข้าไปก็ถึงในเมืองได้ ก็คงราวๆ 2 ชั่วโมง แล้วกว่าจะทะลุกลับออกมาได้เนี่ย รวมแล้วคงผ่านไป 3-5 ชั่วโมง เราก็เลยคิดว่า งั้นเราเอาตามจริงเลยละกัน ปรกติคนเราเวลาออกเดินทางจะเริ่มต้นจากที่ไหน? มันก็ต้องเริ่มที่บ้านสิ 9.59 น. เราก็ได้ฤกษ์ เริ่มออกเดินทางกันจากบ้านผมที่ร่มเกล้า
จากกรุงเทพเราก็มุ่งหน้าไปทางสุโขทัย เพื่อจะมุ่งหน้าต่อต่อไปที่ตาก เพื่อเข้าไปเมียนมาร์ทางแม่สอด แต่ออกจากบ้านไปได้ 3 ชั่วโมง อยู่ดีๆก็มีน้ำร้อนๆพุ่งขึ้นมาใส่ขา ฟู่ว! หม้อน้ำแตก รถสะบัดเลย ตอนนั้นกำลังจะแซงสิบล้อ ขับอยู่ราวๆ 100 กม./ชม. แต่ด้วยความที่ผมเป็นนักแข่งที่มีฝีมือค่อนข้างดี เป็นรองเฟร์นันโด อาลอนโซอยู่นิดหน่อย เลยสามารถควบคุมรถเอาไว้ได้ จุดนั้นถ้าเป็นคนอื่นผมว่ามีคว่ำ! แต่เราก็เตรียมใจมาแล้วล่ะ เพราะเอาจริงๆเราก็รู้ว่า รถมันไม่ได้ดีไซน์มาให้ขับ overland ทางไกลนานๆ เส้นทางยาวๆ นี่ขนาดเป็นรถใหม่กิ๊กที่ต่อขึ้นมาพิเศษ โดยบริษัทที่เค้าเป็น expert ด้านการต่อตุ๊กตุ๊กแล้วนะ แต่ด้วยความที่เราก็ไม่ได้อยากให้มันดีเวอร์ เพราะเราก็อยากได้รถบ้านๆนี่แหละ พังเป็นพัง มันก็เลยพังจริงๆ ระเบิดทุกวัน ซ่อมทุกวัน แต่ก็แก้กันมาได้ เพราะโชคดีหลายๆที่ที่รถเสียรถพังระหว่างทาง ทั้งในไทยและต่างประเทศเนี่ย มันก็จะอยู่ใกล้อู่ แทนที่จะเจอที่เที่ยว เราก็ได้เจอช่างเจออู่แทน
เป้าหมายวันแรกคือบ้านนาต้นจั่น ที่อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ผมตั้งใจจะไปเยี่ยมป้าป๋องและป้าเสงี่ยม ที่ผมเคยเจอและสัญญาไว้ว่าจะกลับไปเยี่ยม แต่แผนเสีย รถพัง กว่าจะถึงสุโขทัยก็ปาเข้าไปตีหนึ่ง เลยต้องพักกันก่อนแล้วแวะไปหาป้าตอนสายของวัดถัดมา หลังจากนั้นเราก็ออกเดินทางต่อสู่จังหวัดตากจุดหมายถัดไป ระหว่างทางตอนเราอยู่ที่ตาก เราก็เจอคนต่างชาติโบกรถอยู่ เราก็ชวนเค้าขึ้น แต่เค้าก็ไม่ขึ้น เค้าคงเห็นเราเป็นตุ๊กตุ๊กคงกลัวว่าเราจะคิดตังค์ เราก็ไม่อะไร ก็ขับต่อไป พอบ่ายก็ไปเจอคนเดิมอีกระหว่างทาง เราก็เลยเข้าไปชวนคุย เค้าเป็นเชฟชาวอิหร่าน เดินทางคนเดียวโดยตั้งใจว่าจะโบกรถอย่างเดียว ซึ่งจริงๆแล้วก็เป็นสิ่งปรกติในยุโรปหรืออเมริกานะ แต่ที่ไทยเนี่ย ขนาดเราเป็นคนไทยเองเรายังไม่กล้าทำเลย แต่เค้าบอกว่าตลอดทางที่เค้าโบกรถในเมืองไทยมาก็เจอแต่สิ่งดีๆ เจอแต่คนดีๆ ก็ถือเป็นประสบการณ์ที่ดีสำหรับเราที่ได้แลกเปลี่ยนข้อมูล ฟังเรื่องเล่าจากคนที่ได้เจอระหว่างทาง
จากนั้นเราก็มุ่งหน้าไปที่แม่สอด ข้ามชายแดนไปเมียวดี (Myawady) ซึ่งเป็นเมืองทางผ่านเพื่อไปมะละแหม่ง (Maylamyine) ซึ่งเป็นเมืองที่ใหญ่อันดับต้นๆแห่งหนึ่งของเมียนมาร์เพื่อพักค้างคืน ก่อนมุ่งหน้าไปยังจุดหมายแรกในเมียนมาร์ของเราคือเมืองไจก์โถ (Kyaikhto) ซึ่งเป็นที่ตั้งของพระธาตุอินทร์แขวน จริงๆแล้วระยะทาง 3-4วันแรกของเราในเมียนมาร์มันไม่ได้ไกลเท่าไหร่หรอก แต่เส้นทางและสภาพถนนจากเมียวดี ไปมะละแหม่งเนี่ยค่อนข้างโหดนิดนึง คือจริงๆแล้วมันมีเส้นทางตัดใหม่ที่ไปได้ง่าย วิ่งจากเมียวดีไปมะละแหม่งไม่ถึงชั่วโมง แต่มันอยู่ในการควบคุมดูแลของรัฐกะเหรี่ยง พี่ๆกระทรวงต่างประเทศของเมียนมาร์เค้าบอกว่าอาจจะไม่ค่อยเหมาะกับเราเท่าไหร่ เค้าเลยแนะนำให้กลับไปใช้ถนนเส้นเก่า ซึ่งเต็มไปด้วยหลุม บ่อ ฝุ่น โคลน รถใหญ่ รถเล็ก แล้วพอขึ้นไปเรื่อยๆก็จะมีรถเสีย รถพัง คือถนนเส้นนี้พอรถพังคันเดียวคือจอดติดหางยาวกันเป็นกิโลๆ ซึ่งเราก็เจอและเสียเวลาไป 2-3 ชั่วโมง แต่ก็โอเค เพราะเพื่อนบนถนนก็เพียบ เค้าเห็นรถตุ๊กตุ๊กเราก็งงๆกันว่าข้ามมาได้ยังไง ขึ้นเขาไหวมั๊ย แต่เราก็ไปถึงจนได้
“จริงๆแล้วเราเริ่มจากอะไรใกล้ๆตัวก่อนก็ได้ พับความฟุ้งซ่านที่อยากทำอะไรใหญ่มากๆ มาทำอะไรที่มัน ทำได้จริง ทำได้ง่าย และ ทำได้เลย”
ที่พระธาตุอินทร์แขวนไม่อนุญาตให้ใครก็ตามขับรถส่วนตัวขึ้นไปเอง เราเลยต้องจอดตุ๊กตุ๊กไว้ที่เมืองไจก์โถ แล้วขึ้นรถกระบะ 6 ล้อ นั่งอัดกันขึ้นเขาไป ซึ่งพี่เค้าขับกันอย่างบ้าระห่ำมาก นั่งไปก็ต้องภาวนาไป แต่สุดท้ายเราก็ขึ้นมาจนถึง แล้วก็ได้ชมความมหัศจรรย์ของพระธาตุ ได้เห็นพลังศรัทธาของคนที่มาแสวงบุญ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นชาวเมียนมาร์ เพราะที่นี่ถือเป็นหนึ่งในมหาบูชาสถานที่คนเมียนมาร์เค้าต้องมากันซักครั้งในชีวิต หลายคนอาจจะเคยเห็นพระธาตุอินทร์แขวนจากในรูป ในทีวี แต่ผมว่ามันต้องมาดูด้วยตาตัวเอง ถึงจะเห็นถึงความอลังการ ความเหลือเชื่อของพระธาตุ ที่มันไม่น่าเชื่อว่าจะตั้งอยู่ตรงนั้นได้ ท้าทายแรงดึงดูดมาก
หลังจากพระธาตุอินทร์แขวน เราก็มุ่งหน้าเข้าย่างกุ้ง (Yangon) ซึ่งเรากะให้เป็นแค่ pit stop เพราะเราไม่ได้อยากเน้นเมืองไหนที่มันมีสนามบิน ที่ใครก็มาเองได้ แต่ทีมงานเราไม่เคยมาย่างกุ้งมาก่อน เราก็เลยถือโอกาสพัก ให้ทีมงานได้ชมเมือง ชมเจดีย์ชเวดากองที่ครั้งนึงในชีวิตก็ควรได้มาเห็นกันซะเลย จากนั้นเราเดินทางต่อไปเนปิดอว์ (Naypyidaw) ซึ่งเราประทับใจถนนมาก คุณภาพระดับโลกจริงๆ 4 เลน อย่างงาม น่าจะยาวประมาณ 500 กว่ากิโลได้ ตรงดิ่งตั้งแต่ย่างกุ้งไปเนปิดอว์แล้วต่อไปมัณฑะเลย์เลย คือมันตรงมาก ขับสบายจนง่วง หลับไปก็หลายรอบ แต่เราก็ขับมาจนถึงกรุงเนปิดอว์ ซึ่งเป็นเมืองหลวงใหม่ที่เพิ่งสถาปนาขึ้น ที่นี่เจริญมาก ทุกอย่างถูกวางแผน วางผังเมืองไว้อย่างดีเพื่อรองรับการขยายตัวในอนาคต ถนนหนทางก็สุดยอด อย่างน้อยๆของเค้าคือ 8 เลน แล้วเส้นที่น่าประทับใจไปกว่านั้นคือถนนที่วิ่งเข้ารัฐสภาของเค้า ที่กว้างถึง 20 เลน ผมจอดลงไปลองเดินนับเลย กว้างมาก ไม่รู้เค้าดีไซน์มาให้เป็นสนามบินด้วยรึเปล่า คือ 747 น่าจะลงได้สบาย แต่ไม่มีรถเลยนะ น้อยมาก เรานั่งนับกัน 15 นาทีจะมีรถโผล่มาซักคัน ตัวเมืองก็ยังโล่งๆ แต่เค้ายังสร้างกันไม่เสร็จหลายพื้นที่เหมือนกัน เดาว่าถ้าเสร็จเมื่อไหร่น่าจะกลายเป็นเมืองที่ใหญ่อันดับต้นๆของอาเซียน
จากเนปิดอว์ เราก็ไปต่อที่ภูเขาโปปา แล้วก็มุ่งหน้าไปพุกาม (Bagan) คือเมียนมาร์เนี่ย ขึ้นชื่อเรื่องของวัดวาอารามหรือเจดีย์อยู่แล้ว แต่ถ้าอยากเจอเจดีย์ overload แบบเยอะเป็นทะเลเจดีย์ เป็นพื้นที่ระดับมรดกโลกเนี่ย ผมว่าไม่มีที่ไหนดีไปกว่าที่นี่อีกแล้ว ยิ่งช่วงพระอาทิตย์ขึ้นหรือตกยิ่งสวยงามมาก หลังจากพุกามเราอ้อมไปมัณฑะเลย์เพื่อพักรถ ซ่อมรถ และ พักผ่อนไปในตัว ก่อนที่เราจะเดินทางต่อไปทะเลสาบอินเล (Inlay Lake) ซึ่งเป็นที่ที่เราอยากไปมานานแล้ว
ทะเลสาบอินเลนี่ก็จะเข้าสู่พื้นที่ของรัฐฉานแล้ว ที่นี่เป็นทะเลสาบที่ใหญ่อันดับต้นๆของเมียนมาร์ เต็มไปด้วยวิถีชีวิตผู้คน คือคนเค้าจะสร้างบ้านอยู่บนน้ำ ยังต่อเรือแบบดั้งเดิม อะไรแบบนี้ สวยงามมาก เป็นอีกไฮไลท์ของทริปที่เราประทับใจ แต่จริงๆแล้วเส้นทางหลักๆพวกนี้ มันก็เป็นเส้นทางประจำที่คนเค้าไปกันประจำ อย่าง โปปา ย่างกุ้ง พุกาม มัณฑะเลย์ ทะเลสาบอินเล มันก็ไปไม่ยาก แต่ทริปของเรามันจะมีความกังวลเกิดขึ้นบ่อยในช่วงสุดท้าย ช่วงที่เข้าพื้นที่รัฐฉาน ซึ่งเป็นรัฐปกครองตนเองที่นักท่องเที่ยวเค้าไม่ค่อยทะลุไปกัน หรือถ้าจะไปส่วนใหญ่ก็จะไปกับรถของที่นั่นกัน ไม่ใช่การขับรถ overland เข้าไปเหมือนเรา หลักๆแล้วคนจากไทยที่ขับรถเป็นคาราวานเข้ามาเมียนมาร์เนี่ย มันก็มีอยู่เรื่อยๆแหละ แต่ส่วนใหญ่แล้วเค้าเข้ามาทางไหน เค้าก็จะออกทางนั้น แต่เราเข้าเมียนมาร์มาทางแม่สอด แต่เราจะอ้อมไปเข้าไทยที่แม่สาย ซึ่งการเข้าออกคนละจุดแบบนี้ เท่าที่รู้มาคือคนเค้าไม่ค่อยทำกัน โดยเฉพาะใช้ตุ๊กตุ๊กเนี่ย เราว่าไม่เคยมีใครทำมาก่อน แล้วการขออนุญาตเข้าไปมันจะค่อนข้างย่าง คือจากอินเล พอหลุดเข้าไปตองจี (Taunggyi) หลอยแหลม (Loilem) หรือ เมืองเป็ง (Mongping) เนี่ย แต่ละที่พอเราจอดรถปุ๊ป เจ้าหน้าที่ต่างๆ ไม่ว่าจะตม. หรือตำรวจ อะไรต่างๆมากมายก็จะพุ่งเข้ามาหาเราทันที คือถึงเมียนมาร์จะเปิดมากกว่าแต่ก่อน แต่เค้าก็ยังจะมี check point ต่างๆอยู่ตลอดเวลา ทำให้หลายครั้งเราก็ต้องระวังเรื่องการถ่ายทำเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา
“เอาจริงๆเวลาตั้งใจออกไปหาอะไร มักจะไม่ค่อยเจอหรอกนะ มันจะไปเจออย่างอื่นมากกว่า..”
ระหว่างเส้นทางในรัฐฉานของเรา ที่กำลังมุ่งหน้ามาแม่สาย เราก็ได้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงทางภาษา ผู้คน และ อาหาร ที่เริ่มใกล้กับทางเหนือบ้านเรา คือคนแถบนี้เค้าก็เร่ิมเป็นชาวไทใหญ่กันบ้างแล้ว เราก็จะเจอความคล้ายคลึงซึ่งเราก็ประทับใจ อย่างเวลาสั่งอาหาร เราสั่งด้วยภาษาไทยเค้าก็เข้าใจ พวกข้าวซอย หรือ ก๋วยเตี๋ยวรัฐฉาน ก๋วยเตี๋ยวไทใหญ่ อะไรแบบนี้ แต่แถบนี้เราแทบไม่เจอนักท่องเที่ยวเลยนะ ตั้งแต่อินเลมาจนถึงเชียงตุง (Keng Tung) ที่เมื่อ 15-20 ปีก่อนคนไทยฮิตมากเนี่ย ตอนนี้เงียบมาก มีแต่พวกเราที่เดินทางผ่านมา พอเราขับตุ๊กตุ๊กมาเค้าก็เลยยิ่งแปลกใจกัน หลายๆจุดก็จะมีคนเข้ามาขอถ่ายรูปบ้าง คุยไปคุยมาขอซื้อตุ๊กตุ๊กบ้างก็หลายคน ซึ่งก็ทำให้ตุ๊กตุ๊กของเราได้กลายเป็นพระเอก สมใจอย่างที่เราหวังไว้จริงๆ
เรามาเข้าชายแดนไทยกันที่ท่าขี้เหล็ก (Tachileik) ฝั่งเมียนมาร์เมื่อวันที่ 12 เมษายน ซึ่งเป็นช่วงเริ่มเทศกาลสงกรานต์พอดี เราก็เลยได้มีประสบการณ์การเล่นสงกรานต์ในประเทศเพื่อนบ้านครั้งแรก ท่าขี้เหล็กก็เป็นเมืองที่เจริญมากๆ เค้าเล่นสงกรานต์คล้ายๆกับบ้านเรา วัยรุ่นก็ออกมาสาดน้ำกัน เปิดเพลงแดนซ์กัน มีเวทีคอนเสิร์ต มิวสิคเฟสติวัลอะไรกันเหมือนบ้านเราเลย พอวันที่ 13 เมษาเราก็ข้ามมาอยู่แม่สายเชียงราย (ซึ่งตุ๊กตุ๊กเราก็มาพังที่นี่พอดี) แล้ววันที่ 14 เมษาเราก็ข้ามไปห้วยทราย (Huay Xai) ฝั่งลาวที่เชียงของ ถือได้ว่าเราได้ร่วมเทศกาลสงกรานต์ 3 ประเทศเลย
จริงๆเราจะเชื่อมจากเมียนมาร์เข้าลาวเลยก็ได้ แต่ด้วยคอนเซ็ปต์รายการเราอยากให้มันมีการเชื่อมต่อ ให้เห็นด่านต่างๆที่เชื่อมเข้าออกไทยได้ เราเลยวกมาเข้าไทยก่อนเพื่อมุ่งหน้าไปเชียงของ แล้วข้ามสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ไปที่ห้วยทราย โดยที่เราก็ได้แวะรับเพื่อนร่วมทางเพิ่มหนึ่งคน ซึ่งมาดักเจอเราที่เชียงของ คือคุณชาคริต แย้มนาม
ผมกับชาคริตเนี่ย ไม่ได้ออกไปเที่ยวต่างจังหวัดด้วยกันโดยที่ไม่มีการทำงานมาเกี่ยวข้องนานมากแล้ว อย่างโปรเจ็ค TT Rider นี่เราก็ไม่ได้คิดว่าเราไปทำงานหรอก เราคิดว่ามันเป็นการออกไปผจญภัยที่เราติดกล้องไปด้วยเท่านั้นเอง แล้วรอบนี้ชาคริตเค้าก็กล้าที่จะนั่งไปกับเราตลอด หลายคนอาจจะคิดว่าพี่คริตคงมานั่งกับเราแค่ 10 นาที พอถ่ายเสร็จก็คงหลบไปนั่งรถทีมงาน แต่ไม่ใช่เลย ชาคริตอยู่กับเราตลอด วันนึง 9-10 ชั่วโมงเค้าก็นั่งได้ ระยะทางไกลแต่เค้าก็เพลิน สนุกสนาน คือไม่ได้เห็นเพื่อนเป็นอย่างนี้มานานมากแล้ว
หลายคนอาจจะคิดว่าเมียนมาร์เนี่ยอุดมสมบูรณ์ไปด้วย ป่าเขา ต้นไม้ ซึ่งมันก็มีอยู่จริงแหละ แต่ผมรู้สึกว่ามันไม่สมบูรณ์เท่ากับลาวเหนือ พอเข้าเขตลาวมาแล้ว สิ่งที่เห็นไม่ว่าจะภูเขาหรือชนกลุ่มน้อยต่างๆนานาตลอดเส้นทาง โดยเฉพาะแถบห้วยทราย หรือ ห้วยน้ำทามันสวยงามมาก แล้วถนนหนทางก็ดี เพราะว่าหลังๆมานี่พี่ๆจีนเค้าเข้ามาลงทุนเยอะ เข้ามาทำถนน สร้างเชื่อน ทำให้ถนนแถบห้วยนำทาดีมาก เรียกว่าเพอร์เฟคเลยแหละ ตลอดทางเราจะเจอรถทะเบียนจีนเยอะมาก มากกว่ารถลาวอีก ทั้งพวกรถขนสินค้า หรือรถนักท่องเที่ยวจีนที่ self-drive ลงมาเอง เพราะแถบนี้ก็ไม่ไกลจากด่านที่เชื่อมต่อกับจีน ระหว่างทางเราก็จะเจอทีมก่อสร้าง ทีมวิศวกรจีนเยอะมากจนเราคิดว่าเรากำลังอยู่ประเทศจีนรีเปล่า
ที่ลาวนี่เราเจออะไรนอกแผนหลายอย่าง หลังจากห้วยทรายเราก็มุ่งหน้ามาที่เมืองไซ (Muang Xai) ซึ่งที่นี่เราจะใช้เป็นจุดพักรถก่อนที่จะเดินทางต่อไปหลวงพระบาง (Luang Prabang) ที่นี่เราก็ตื่นเช้ากันแวะไปจุดนึง (ผมลืมชื่อไปแล้ว) เป็นยอดเขาที่มีเจดีย์ ซึ่งจริงๆตอนแรกก็ไม่ได้ตั้งใจว่าจะไปหรอก แล้วเราก็ไปเจอพิธีตักบาตรของเมืองไซ ซึ่งจะเป็นครั้งเดียวในรอบปี ที่จะมีพระสงฆ์เดินมาให้ใส่บาตรกัน 200-300 รูป มีการสวดในแบบของเค้า มีการอัญเชิญพระออกมาให้ประชาชนสรงน้ำ ซึ่งเราก็ประทับใจที่ได้ไปเจอและได้ร่วมกิจกรรมนี้โดยบังเอิญ
หลังจากนั้นพอเราขับออกจากเมืองไซมาได้ซักพัก ก่อนเข้าหลวงพระบางถนนชักเริ่มแย่ ซ่อมบ้าง ปิดบ้าง รถสวนกันไม่ได้บ้าง แย่ยาวไป 80-90 กิโลเลย แย่หนัก รถเราก็เริ่มพัง ล้อเบี้ยวบ้างอะไรบ้างจนเราต้องจอด ชาคริตด้วยความที่เป็นเชฟ ก็วิเคราะห์อาการรถออกมานู่นนี่นั่น แล้วก็ซ่อมได้เแบบไม่น่าเชื่อ! เพื่อนผมนี่ฉลาดมาก นี่ไม่ได้สร้างภาพนะ ไม่ใช่ว่ากล้องถ่ายอยู่ คือเค้าซ่อมให้มันวิ่งได้จริงๆ ถีบล้อสองทีรถมันก็วิ่งต่อได้ แต่เราก็เสียเวลาบนเส้นทางเมืองไซมุ่งหน้าหลวงพระบางอยู่นานพอสมควร
พอเรามาถึงหลวงพระบาง ก็เป็นช่วงปลายเทศกาลสงกรานต์พอดี เราก็ฟลุ๊คไปเจอการแห่พระบาง ออกมาจากหอพระบาง ซึ่งเค้าว่าเกิดขึ้นเพียงปีละครั้ง อันนี้นอกแผนเราเลย แต่คนที่โรงแรมบอกมาเราก็เลยไป ด้วยความที่มันเป็นงานระดับชาติซึ่งคนเยอะมากเนี่ย แล้วด้วยความที่ชาวลาวเค้าดูทีวีไทย แล้วคุณชาคริตนี่ก็เป็นดาราอินเตอร์ พอชาวลาวเค้าเห็นชาคริตปุ๊ปเค้าก็รุมกันเข้ามาขอถ่ายรูปแบบไม่สนใจงานเลย ผมเห็นแบบนั้นผมเลยเดินแยกเลย ปล่อยชาคริตโดนรุม กลายเป็นไฮไลท์ย่อมๆของงานนั้นไปโดยปริยาย เรื่องของชาคริตก็จบลงตรงจุดนี้ เพราะหลังจากนั้นคุณชาคริตก็แยกย้ายกับเราบินกลับไทยไป
จุดหมายต่อมาของเราคือเส้นทางวังเวียง (Vang Vieng) เวียงจันทน์ (Vientiane) ซึ่งเอาจริงๆเราไม่ได้เน้นที่ 2 ตัวเมืองนี้เท่าไหร่หรอก กะให้เป็นแค่เมืองผ่าน เพราะใครๆเค้าก็ไปถ่ายทำกัน ตัวเราก็เคยไปแล้ว แต่ที่เราประทับใจคือเส้นทางระหว่างหลวงพระบางเข้าวังเวียง เพราะมันสวยงามมาก เส้นทางนี้มันเต็มไปด้วยภูเขามากมาย ระหว่างทางเราก็เจอฝรั่ง 2 คนพยายามโบกรถไปวังเวียงกันอยู่ เป็นชาวฝรั่งเศสที่เพิ่งลองโบกรถครั้งแรก ตอนนั้นเย็นแล้ว ประมาณ 4 โมงครึ่งเราก็เลยรับเค้ามาด้วย หลังจากนั้นเราก็ขับผ่านเมืองเล็กๆเมืองนึง ชื่อว่าเมืองกาสี (Kasi) เราเห็นแนวเส้นภูเขาแล้วเราคิดว่าที่นี่ต้องสวยแน่ๆ แต่ตอนเราผ่านไปถึงมันก็กลางคืนแล้ว เราเลยจำเป็นต้องขับต่อเพื่อไปเข้าพักที่วังเวียง แต่เราก็ตั้งใจว่าเราจะกลับไป เช้าวันต่อมาเราก็เลยพักแผนวังเวียงไว้ก่อน แล้วตีรถกลับไปกาสี ซึ่งที่กาสี สำหรับบางคนอาจจะมองว่าเป็นเมืองที่ไม่มีอะไร แต่ผมมองว่าธรรมชาติของที่นี่ยังบริสุทธิ์อยู่ เทียบแล้วก็อาจจะคล้ายๆวังเวียงตอนก่อนที่การท่องเที่ยวจะบูมจน take over เรื่องของวิถีชีวิตคนและธรรมชาติ ซึ่งส่วนตัวแล้วเราชอบกาสีมากกว่า เพราะเรารู้สึกว่าเราได้เจอเองโดยไม่ได้ตั้งใจ และสิ่งนี้แหละที่เป็นเสน่ห์ของการเดินทาง
“บางทีบางประเทศเราเคยไปแล้ว ไปหลายทีแล้ว แต่พอเวลาผ่านไป 5 ปี 10 ปี เรากลับไปอีกที สถานที่นั้นมันก็ไม่เหมือนเดิมแล้ว ตัวเราเองก็ไม่เหมือนเดิมแล้ว เราก็จะเห็นอะไรบางอย่างที่ตอนเราไปครั้งแรกเรายังมองไม่เห็น”
อย่างที่รู้กันอยู่แล้วว่าธรรมชาติที่วังเวียงนั้นสุดยอดมาก แต่เราก็มาที่นี่หลายทีจนพรุนแล้ว เราเลยพักกันที่วังเวียงคืนเดียวเพราะอยากจะไปใช้เวลาที่อื่นมากกว่า เราเลยมุ่งหน้าเข้าเวียงจันทน์เลย ซึ่งวันถัดมาเราก็บังเอิญมาเจอฝรั่ง 2 คนเดิมโบกรถจะไปเวียงจันทน์อีก คือเราก็ไม่รู้ว่าเค้ารู้แผนเราแล้วหาเรื่องนั่งรถฟรีรึเปล่านะ แต่ไหนๆเราก็เคยคุยกันแล้ว เป็นเพื่อนกันแล้ว เราก็เลยรับพวกเค้าขึ้นมาอีก ระหว่างทางไปเวียงจันทน์ก็ราบรื่น ไม่มีปัญหาอะไร จนกระทั่งมาถึงช่วง 50 กิโลสุดท้าย อยู่ดีๆสายคันเร่งขาด ดัง แคร่ก! รถวิ่งไม่ได้เลยทีนี้ เราเลยต้องหยุดพักกันเป็นชั่วโมงเลยเพื่อวางแผนกันใหม่ สุดท้ายเราก็ต้องลองใช้วิธีบ้านๆ คือสายคันเร่งมันก็จะเป็นเส้นเหมือนสายเคเบิ้ล พอดึงมันรถก็จะวิ่ง เราเลยต้องเอาคีมดึง แล้วเอาเทปแลคซีนพันยึดไว้ ใช้วิธีดึงคีมเอาแทนการบิดคันเร่งในระยะ 50 กิโลสุดท้าย ก็รอดมาได้จนถึงเวียงจันทน์
พอถึงเวียงจันทน์เราก็คล่องละ คุ้นทางละ เราก็ขับข้ามสะพานมิตรภาพกลับเข้ามาฝั่งไทยที่หนองคาย จุดนี้ก็ถือว่าได้ครึ่งทางพอดี ดูเลขกิโลแล้วเราวิ่งไปทั้งหมดเกือบๆ 5,000 กิโลเมตร หลังจากนี้เราจะมุ่งหน้าไปบึงกาฬ นครพนม ข้ามด่านคำม่วนกลับเข้าลาวไปอีกครั้ง เพื่อมุ่งหน้าลงลาวใต้ต่อไปกัมพูชา ใครอยากรู้เรื่องการเดินทางของผมที่เหลือไปชมรายการ TT Rider แบบเต็มๆกันได้ทางช่อง One ทุกวันอาทิตย์ 10.00 น.นะครับ เริ่มฉายตอนแรกวันอาทิตย์ที่ 19 กรกฎาคมนี้เป็นต้นไปนะครับ
ข้อแนะนำในการเดินทาง
– เรื่องของการถ่ายรูป เวลาเราเดินทางไปเจอคนท้องถิ่นต่างๆที่มีเอกลักษณ์น่าสนใจ หรือ น่าถ่ายรูป ควรเข้าไปขอถ่ายเค้าดีๆนะครับ คุยไม่รู้เรื่องก็ยกกล้องให้เค้าดู มีมารยาทกับเค้านิดนึง เพราะเค้าไม่ใช่ของแปลก เค้าอาจจะไม่สะดวกให้เราถ่ายก็ได้ ลองคิดว่าถ้าเป็นเราอยู่ดีๆมีคนเอากล้องมาจิ้มหน้าเรา มันก็ไม่น่ารักเท่าไหร่
– เรียนรู้คำง่ายๆที่เป็นภาษาท้องถิ่น บางทีมันก็ช่วยได้เวลาเราคุยไม่รู้เรื่อง แต่เรามีความพยายามจะพูดภาษาเค้าซัก 2-3 คำ มันก็เพิ่มความน่ารักและความเป็นกันเองได้ อย่างน้อยๆคำง่ายๆว่า “ขอบคุณ” เราก็ควรรู้ไว้นิดนึง
– การจัดกระเป๋าสำหรับ roadtrip แนะนำว่าไม่ต้องขนอะไรไปเยอะ สำหรับผมจะวางเสื้อผ้าไว้สำหรับ 7-10 วัน แล้ววางแผนเดินทางให้มีวันพัก เพื่อที่จะได้ซักเสื้อผ้าเอามาหมุนเวียนใช้ได้ ไม่ต้องจัดกระเป๋าเหมือนคิดว่าทางข้างหน้าจะไม่มีน้ำใช้ ที่ไหนๆก็มีบริการซักเสื้อผ้าครับ ที่สำคัญอีกอย่างคือ first aid kit เพราะเราไม่รู้ว่าจะมีอุบัติเหตุอะไรเกิดขึ้นบ้างระหว่างทาง
– การเลือกกระเป๋าสำหรับการเดินทางแบบ overland ควรเลือกกระเป๋าที่คล่องตัว ขึ้นรถลงเรือได้ง่าย กันน้ำ กันฝนได้ประมาณนึง ใช้เป็นเป้จะสะดวกที่สุด อะไรที่มีล้อนี่อาจจะไม่เหมาะ แนะนำว่าควรมีกระเป๋า 2 ใบ คือ backpack ความจุมากหน่อย 1 ใบ และ daypack สำหรับติดตัวง่ายๆอีก 1 ใบ ในทริปนี้ของ TT Rider เราก็ได้แบรนด์กระเป๋า Crumpler ซึ่งมีหลากไซส์หลายทรงที่ตอบโจทย์กับรูปแบบทริปนี้ของเรามาร่วมสนับสนุนด้วย เลยทำให้เราพร้อมลุยได้อย่างหายห่วง
About the Author
Ray MacDonald
เดินทางมาแล้วก็หลายปี ไปมาแล้วก็หลายแห่ง แต่ก็ยังมีที่ที่ยังอยากไป สิ่งที่อยากทำอยู่อีกเยอะ เพราะแต่ละครั้งประสบการณ์ที่ได้มันไม่เคยจะซ้ำกัน สถานที่เปลี่ยน ตัวเราเปลี่ยน คนที่ไปด้วยเปลี่ยน คนที่ได้เจอะเจอก็เปลี่ยน และตอนนี้ ผมก็ได้ออกเดินทางอีกครั้ง ในการผจญภัยครั้งใหม่ที่ชื่อว่า TT Rider
8 Comments
-
Tinakorn Pom Suksapsri
แจ่มเลย อ่านเพลิน ได้แง่คิดดีมากครับ….น่าติดตามมาก จะรอชมรายการครับ….รายการออนไปแล้วแปะไว้ในยูทูปนะครับ จะย้อนไปดู….
-
lex
การผจญภัยครั้งใหม่ในรูปแบบที่ต่างไป
-
-
กิตธนา ศาสตร์ประเสริฐ
ถึง……….
มีคำผิดในหน้าแรก(ในภาพที่คนยืนกับสามล้อ) ช่วยตัดสระเอ ออกจากคำว่า “ผจญภัย” และเติมไม้โท ที่คำว่า “ครั้ง ” ด้วยนะครับ ช่วยกันครับ ภาษาไทยของเราจะได้คงอยู่คู่กับประเทศไทยตราบนานเท่านานครับ -
Wasukree
Cheer!!! You’re real traveller.
Life is journey krub ^^ -
ชัยณรงค์ พรมรัตน์
รู้ไหมความฝันของผม…คือซักครั้งหนึ่งได้มีโอกาส ขับรถคู้ใจซักคันหนึ่งไปตามสถานที่ต่างๆตามภูมิภาคอาเซี่ยน #เมื่อAECเปิดโลกของการเดินทางของผมมันก็ต้องเปลี่ยน
Comments are closed.
virasone
your life is so cool mr ray