Winter in Tibet ตอนที่1: ฉลองปีใหม่สไตล์ลาซาในเดือนที่หนาวที่สุดของทิเบต
คุณมักทำอะไรตอนคืนสิ้นปี?
บางคนอาจสวดมนต์ข้ามปี ส่วนบางที่อาจปาร์ตี้โต้รุ่งกัน
แต่ไม่ว่าจะปีใหม่สากลหรือปีใหม่จีน ทุกมุมโลกก็มักจะทำกิจกรรมเดียวกัน
10, 9, 8, 7, 6, 5, 4, 3, 2.. นับถอยหลังสู่ชั่วโมงใหม่ของปีที่กำลังจะมาถึง
10 วินาทีสุดท้ายของคืนสิ้นปีที่กรุงลาซา เมืองหลวงของเขตปกครองตนเองทิเบตนั้นเงียบสงัด เพราะคนทิเบตไม่นับถอยหลังสู่ปีใหม่
หากจะมีสิ่งใดที่นับ ก็คงจะมีเพียงการนับรอบกงล้ออธิษฐานในมือที่พวกเขาใช้หมุนขณะสวดมนต์ หรือจำนวนรอบในการกราบอัษฎางคประดิษฐ์เท่านั้น
ภาพที่คนมาเที่ยวกรุงลาซาในฤดูหนาวจะได้เห็น คือพลังศรัทธาของชาวทิเบตนับหมื่นจากทั่วแคว้นแดนหลังคาโลก ที่มารวมตัวกันหน้าวัดโจคัง ยืนต่อแถวความยาวหลายกิโลเมตรตากหิมะข้ามคืนในเดือนที่หนาวที่สุด เพื่อรอเข้าไปสักการะพระศรีศากยมุนี พระพุทธรูปเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองในเช้าวันแรกของปี
ทำไมต้องไปทิเบตฤดูหนาว?
ในขณะที่ฤดูร้อน (มิถุนายน-สิงหาคม) และฤดูใบไม้ร่วง (กันยายน-ตุลาคม) เป็นช่วงเวลายอดนิยมที่คนเลือกเดินทางมาเยือนทิเบตกันมากที่สุด ฤดูหนาวของทิเบต (ธันวาคม-กุมภาพันธ์) ซึ่งเป็นช่วง low season ถือเป็นเวลาที่สุขสงบกว่ามาก บรรยากาศเหมือนกด shift+delete นักท่องเที่ยวต่างชาติออกไปเกือบหมดจนเหลือแต่เจ้าบ้าน โดยเฉพาะที่กรุงลาซา ปลายทางที่ชาวทิเบตจากทั่วทุกสารทิศ จาริกแสวงบุญมุ่งหน้ามาสู่ เพื่อสักการะวัดใหญ่ประจำชาติ ในช่วงเทศกาลโลซาร์ (Losar Festival) หรือเทศกาลปีใหม่ของชาวทิเบต ซึ่งอยู่ในช่วงระหว่างปลายมกราคมถึงกลางกุมภาพันธ์ของทุกปี เวลานี้จึงเป็นช่วงที่เหมาะที่สุด สำหรับคนที่อยากไปเห็นทิเบตที่มีแต่ชาวทิเบตแท้ๆ ไปเห็นวัฒนธรรมประจำชาติในการฉลองเทศกาลปีใหม่ ที่ให้ความรู้สึกเหมือนเราได้ไปเยือนบ้านเขาจริงๆ
สภาพอากาศเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ทิเบตฤดูหนาวน่าเที่ยว ในเวลาเดียวกันที่ปักกิ่งฟ้าหลัวจมอยู่ใต้กองหิมะ ท้องฟ้าสีน้ำเงินเข้มของทิเบตนั้นเบิกกว้างกระจ่างใส ทำให้ทิวทัศน์เทือกเขาสวยงามมากในช่วงนี้ ถึงแม้ว่าจะขาดสีเขียวลงไปบ้าง
ทิเบตเป็นดินแดนที่ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง ความอบอุ่นจากแสงแดดยามกลางวันจึงทำให้อากาศเย็นสบาย แม้คำว่า “เดือนที่หนาวที่สุดของหลังคาโลก” จะฟังดูน่าหวาดหวั่น แต่ที่จริงแล้วอุณหภูมิเฉลี่ยเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่เพียง 15 ถึง -10 องศาเซลเซียส เทียบกับมองโกลในช่วงเดียวกันที่อุณหภูมิอาจลดต่ำลงถึง -40 องศาในเวลากลางคืนแล้ว ถือว่าไม่หนักหนาเท่าไหร่ สังเกตได้จากการแต่งกายของทั้งชาวทิเบตและนักท่องเที่ยวในภาพ ว่าพวกเขาใส่เพียงชุดกันหนาวธรรมดาทั่วไป 3 เลเยอร์มาตรฐานก็สามารถอยู่ได้แล้ว แต่หากใครจะออกนอกเมืองขึ้นเขา แนะนำว่าต้องมีถุงมือกันลมติดตัวมาด้วย
อีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ทิเบตน่าเที่ยวในช่วงฤดูหนาว คือ Everest Base Camp ที่ไม่มีนักท่องเที่ยวเลย!
แต่ละวันในช่วงฤดูร้อน จุดตั้งแคมป์บริเวณฐานยอดเขาเอเวอร์เรสต์ฝั่งทิเบตจะคับคั่งไปด้วยนักท่องเที่ยวหลายร้อยคน (แต่มีห้องน้ำแค่ที่เดียว) ทำให้ยากมากที่แต่ละคนจะสามารถถ่ายรูปคู่สวยๆ กับยอดเขาได้ โดยไม่ติดนักท่องเที่ยวคนอื่นในฉากหลัง แต่ในฤดูหนาว ยอดเขาความสูง 8,848 เมตรทั้งลูกที่ตั้งตระหง่านตรงหน้า จะกลายเป็นภูเขาส่วนตัวของเราอย่างสมบูรณ์ ทิวทัศน์จะมีเพียงธรรมชาติ ลานตั้งแคมป์จะไม่มีเต๊นท์เลยแม้แต่หลังเดียว!
รู้ไว้ก่อนไป!
เขตปกครองตนเองทิเบตเป็นดินแดนที่มีความละเอียดอ่อนทางการเมือง การเข้าถึงจึงไม่ง่ายและไม่ประหยัด หากใครนิยมท่องเที่ยวแบบทำยอดงบถูกประเภท 10 วันพันเดียวคงจะต้องข้ามที่นี่ไป เพราะการเดินทางเข้าทิเบตจะต้องใช้เอกสารพิเศษนอกเหนือจากวีซ่าจีน นักเดินทางจึงจำเป็นจะต้องมีบริษัททัวร์ท้องถิ่นคอยดูแลและติดต่อดำเนินการเรื่องเอกสารเข้าทิเบตให้ลูกทริป ด้วยเหตุนี้การเที่ยวทิเบตแบบเที่ยวเองเที่ยวถูกจึงเป็นไปไม่ได้ แต่ข้อดีก็คือการเที่ยวในช่วงฤดูหนาวบริษัททัวร์และโรงแรมบางแห่งจะมีส่วนลด ราคาจึงจะถูกกว่าช่วง high season ในฤดูร้อนและใบไม้ร่วงพอสมควร
แม้ทิเบตจะถูกยึดครองเป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีนมายาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ แต่อัตลักษณ์และวัฒนธรรมประเพณีของชนชาตินี้มีประวัติศาสตร์มายาวนานและมีความเฉพาะตัว จึงไม่มีวิธีไหนจะทำให้ผู้เดินทางมาเยือนเรียนรู้ได้ดีไปกว่าการได้ฟังจากปากเจ้าบ้าน ที่อาศัยอยู่ในดินแดนนี้มานานนับพันปี ในทริปนี้เราจึงเลือกเดินทางไปกับ Explore Tibet บริษัททัวร์ทิเบตที่ก่อตั้งและบริหารโดยชาวทิเบต ใช้ไกด์และคนขับรถทิเบตทั้งหมดที่ถูกคัดสรรมาอย่างดี และเป็นหนึ่งในบริษัทที่มีการจัดทริป 8 วันเดินทางสู่ Everest Base Camp ฝั่งทิเบตในฤดูหนาวซึ่งกำลังเป็นที่นิยมอีกด้วย – ดูรายละเอียดทริป 8 days Tibet Everest Base Camp Tour เพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของ Explore Tibet
“ลาซา” เมืองหลวงที่สูงที่สุดในโลก
แน่นอนว่าการมาเยือนกรุงลาซา สถานที่หลักๆ ที่ทุกคนต้องได้แวะไปเยี่ยมชมสักการะ คงหนีไม่พ้น พระราชวังโปตาลา (Potala Palace) วัดโจคัง (Jokhang Temple) วัดเดรปุง (Drepung Monastery) วัดเซรา (Sera Monastery) ตลาดแปดเหลี่ยม ที่ถนนและจัตุรัสบาคอร์ (Barkhor Street) ซึ่งไม่ว่าจะมาฤดูไหนก็ต้องได้ไป แต่ความต่างในการมาเที่ยวกรุงลาซาช่วงฤดูหนาว ก็คือบรรยากาศที่ปราศจากความเป็นเมืองทัวร์ริสต์ ไม่ต้องเบียดเสียดกับนักท่องเที่ยวอื่นเพื่อชมสถานที่หรือหามุมถ่ายภาพ เวลาจึงดูเหมือนจะเดินช้ากว่าในช่วงนี้ และทำให้ผู้มาเยือนมีโอกาสที่จะค่อยๆ ซึบซับแต่ละก้าวในแต่ละมุมเมืองไปได้แบบไม่ต้องเร่งรีบ
พระราชวังโปตาลา | Potala Palace (ཕོ་བྲང་པོ་ཏ་ལ་)
“ช่วงฤดูร้อนไม่เป็นแบบนี้หรอกครับ” เทนปาไกด์หนุ่มอายุ 21 ปีจากแคว้นคามถิ่นคนกล้าบอกชาวคณะ ระหว่างที่คอยเตือนให้ทุกคนค่อยๆ เดินขึ้นบันไดช้าๆ “ช่วงฤดูร้อนมีเวลาชมวังแค่ชั่วโมงกว่าๆ ต้องเร่งรีบกว่านี้มาก ผมเคยพาลูกทัวร์สาวชาวสิงค์โปร์มากลุ่มใหญ่ พวกเธอขึ้นบันไดกันเร็วไปจนเกิดอาการ AMS เกือบเป็นลมจนผมต้องเอาอ็อกซิเจนฉุกเฉินให้เลยล่ะ”
ที่ความสูง 3,600 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล อากาศที่เบาบางอาจมีผลต่อร่างกายบางคนที่ปรับตัวตามไม่ทัน การเดินขึ้นบันไดความสูงเพียง 100 เมตรอาจทำให้แม้แต่คนที่ฟิตร่างกายมาอย่างดีอ่อนแอลงได้อย่างไม่มีข้อยกเว้น ไกด์ของเราจาก Explore Tibet จึงต้องคอยถามไถ่และสอดส่องดูแลสุขภาพลูกทริปอยู่ตลอดเวลา แต่ช่วงฤดูหนาวจำนวนนักท่องเที่ยวจะน้อยมาก มีแต่ชาวทิเบตมาเยี่ยมชมพระราชวังเป็นส่วนใหญ่ กฎระเบียบจึงไม่เคร่ง ทำให้เราสามารถเดินชมวังนานแค่ไหนก็ได้
พระราชวังโปตาลา (Potala Palace: ཕོ་བྲང་པོ་ཏ་ལ་) เป็นพระราชวังที่ตั้งอยู่สูงที่สุดในโลก แบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก คือ วังแดง และ วังขาวในอดีตเคยเป็นที่พำนักของทะไลลามะองค์ก่อนๆ เคยเป็นที่ตั้งของรัฐบาล และเป็นที่เก็บสมบัติสำคัญของชาติ ตลอดจนศาสนวัตถุสำคัญน้อยใหญ่ต่างๆ มากมาย ตั้งแต่พระพุทธรูปที่ประชาชนบริจาคให้กับวัง ตลอดจนพระพุทธรูปเก่าแก่คู่บ้านคู่เมือง และยังเป็นที่ประดิษฐานของสถูปที่บรรจุพระศพของทะไลลามะองค์ก่อนๆ ในอดีต ในช่วงปีใหม่พุทธศาสนิกชนชาวทิเบตจำนวนมากจะมาที่นี่เพื่อสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และชื่นชมเกียรติภูมิความยิ่งใหญ่ของพระราชวัง ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นศูนย์กลางของชาติและศาสนา
ปัจจุบันพระราชวังโปตาลาเปิดให้เข้าชมได้บางส่วน และมีบางส่วนถูกใช้เป็นสำนักงานของกองทัพจีน บันไดไม้ทางเข้าวังขาว แบ่งเป็น 2 ส่วน ซ้ายขวาสำหรับบุคคลธรรมดา ส่วนบันไดกลางที่ปูผ้าสีเหลืองทองไว้ เป็นบันไดเฉพาะสำหรับองค์ทะไลลามะเท่านั้น ซึ่งหมายความว่าบันไดนี้ไม่เคยถูกเจ้าของเหยียบมานานกว่า 57 ปีแล้ว หลังจากทะไลลามะองค์ปัจจุบันลี้ภัยออกจากทิเบตไปตั้งแต่เมื่อค.ศ. 1959
วัดโจคัง | Jokhang Temple (ཇོ་ཁང།)
วัดโจคัง (Jokhang Temple: ཇོ་ཁང།) ถือได้ว่าเป็นวัดที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของดินแดนหลังคาโลก เป็นศูนย์รวมจิตใจและเป็นจุดหมายปลายทางการจาริกแสวงบุญของชาวทิเบต ที่ผู้ศรัทธามากมายเดินเท้าสลับกราบอัษฎางคประดิษฐ์นับพันกิโลเมตรจากบ้านมาเพื่อสักการะ “บ้านแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า” แห่งนี้ หากใครไปเที่ยวทิเบตแล้วพบเห็นชาวทิเบตเดินไปกราบไปตามถนนระหว่างทาง ให้เดาได้เลยว่าพวกเขากำลังเดินมาที่นี่
พื้นที่รอบวัดโจคัง เป็นถนนคนเดินวนรอบวัดที่ชื่อว่า “ตลาดแปดเหลี่ยม” หรือ Barkhor circuit เส้นทางนี้เป็นทั้งตลาดค้าขายวัตถุมงคลและบริเวณที่เหล่าผู้ศรัทธามาเดินประทักษิณาวัตรรอบวัดกันอีกด้วย เสียงจอแจของการจับจ่ายจึงถูกคลอประสานด้วยเสียงท่องสวดมนตราอื้ออึงไปทั่วบริเวณ จนเป็น soundtrack ที่มีเสน่ห์เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนที่ไหนๆ
ว่ากันว่าเมื่อทารกทิเบตเกิดมาแล้ว 2 คำแรกที่พูดได้คือคำว่า “พ่อ” กับ “แม่” ส่วนคำที่สามคือมหามนตรา “โอม มณี ปัท เม หุม” ที่เราสามารถได้ยินจากทุกที่ในทิเบต ไม่เว้นแม้แต่ในเนื้อเพลงป๊อปร่วมสมัย
ช่วงเทศกาลปีใหม่ที่วัดจะมีพระสงฆ์เหลืออยู่ไม่มากนัก เนื่องจากส่วนใหญ่จะลากลับไปเยี่ยมบ้าน ส่วนพระที่ยังเหลือประจำอยู่ที่วัด ก็จะปฏิบัติกิจ จัดสถานที่เตรียมต้อนรับพุทธศาสนิกชนที่จะหลั่งไหลกันมาช่วงวันปีใหม่ บ้างก็ทำความสะอาดอาราม บ้างก็ปั้นเครื่องบูชาด้วยซัมปา (Tsampa) แป้งธัญพืชที่ชาวทิเบตทั้งใช้ทานเป็นอาหารและใช้บูชาพระด้วย
ในปี 2016 (ปีวอก) นี้ วันปีใหม่ตามปฏิทินจันทรคติของทิเบตตรงกับวันอังคารที่ 9 กุมภาพันธ์ (หลังตรุษจีน 1 วัน) วันสิ้นปีคือวันจันทร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ เทียบได้กับวันที่ 30 ของเดือนสุดท้ายของปี (ปฏิทินแบบทิเบตหนึ่งเดือนมี 30 วัน) ยิ่งใกล้วันปีใหม่เท่าไหร่ ร้านรวงต่างๆ ก็จะค่อยๆ เริ่มปิดตัวลง ในช่วง 2 วันก่อนปีใหม่จะเป็นวันจ่าย ช่วงกลางวันชาวทิเบตก็จะออกมาซื้อของใช้กันตามท้องถนนอย่างหนาตา ส่วนตอนกลางคืนของวันที่ 29 ของเดือนสุดท้ายของปี จะเป็นเวลาที่ชาวทิเบตจะนำสิ่งของไม่พึงประสงค์ออกมาเผาทิ้งตามความเชื่อก่อนจะเริ่มต้นปีใหม่ คล้ายกับการจุดประทัดไล่สิ่งชั่วร้ายของจีน
การเผาในคืนวันที่ 29 ของเดือนสุดท้ายของปี
การเผาของชาวทิเบตนั้น ไม่เหมือนการเผากระดาษเงินกระดาษทองในถังในปี๊ปที่เราคุ้นตากัน แต่เป็นการก่อกองไฟขนาดใหญ่ ใหญ่จนดูเหมือนกำลังมีการก่อจลาจลหรือสงครามกลางเมือง ควันคลุ้งจากกองไฟที่ถูกก่อขึ้นกระจายเป็นจุดๆ บนท้องถนน ตลบอบอวลไปทั่วทุกบริเวณ โดยที่คนในชุมชนทุกคนจะมีส่วนร่วมกับการนำของออกมาเผา ตั้งแต่ผู้เฒ่าผู้แก่ไปจนกระทั่งเด็กที่เพิ่งวิ่งได้ ประทัดถูกจุดทั้งคืนแทบไม่เว้นระยะให้เสียงเงียบ พลุถูกจุดขึ้นจากแต่ละมุมของเมือง ที่อื้ออึงไปด้วยเสียงระเบิดดังต่อเนื่องราวกับกำลังโดนข้าศึกบุก หากประเพณีนี้มีเพื่อขับไล่และทำลายสิ่งชั่วร้าย ก็เชื่อว่าคงได้ผลดีทีเดียว เพราะขนาดนักท่องเที่ยวยังต้องกระเจิง เมื่อชาวเมืองจุดประทัดกระจุกใหญ่วิ่งลากไปตามถนนกันอย่างสนุกสนาน
ร้านสินค้าหัตถกรรมจากช่างฝีมือทิเบต Dropenling
หลังจากการท่องเที่ยวชมเมือง หลายคนมักจะมาแวะซื้อของฝากของที่ระลึกกันจากตลาดแปดเหลี่ยมบริเวณ Barkhor circuit ที่มีร้านค้าให้เลือกมากมาย หากต้องการธงมนต์ กงล้ออธิษฐาน เครื่องประดับหินสีอย่างเทอร์คอยส์หรืออำพัน ที่นี่ถือว่ามีครบทุกสิ่ง แต่หากใครสนใจสินค้าท้องถิ่นมีดีไซน์ ไม่ไกลจากตลาดเก่าแห่งนี้ มีร้านขายงานฝีมือคุณภาพในราคาจับต้องได้ ที่แม้แต่คนไม่ชอบซื้อของฝาก เรายังอยากแนะนำให้แวะมาชมซักครั้ง
Dropenling เป็นร้านค้าและองค์กรที่สนับสนุนงานหัตถกรรมของช่างฝีมือชาวทิเบต ที่ซ่อนตัวอยู่ในหมู่บ้านช่างฝีมือแถบย่านชุมชนมุสลิม ไม่ไกลจากบริเวณ Barkhor circuit เท่าใดนัก คอนเซ็ปต์ของร้านคือการสนับสนุนงานหัตถกรรมท้องถิ่น ให้ชาวบ้านสามารถหารายได้จากงานฝีมือได้ และใช้วัสดุจากธรรมชาติเท่านั้น
ไม่ว่าจะผ้าทอมือขนจามรี กระเป๋า เสื้อผ้า หรือตุ๊กตาสีสันสดใส ก็ล้วนใช้สีธรรมชาติจากผักในการย้อม ทั้งวัตถุดิบและผู้ลงมือสร้างสรรค์ต่างสะท้อนความเป็นทิเบตออกมาในสินค้าที่ถูกออกแบบอย่างร่วมสมัย และน่านำไปใช้จริง บรรยากาศในร้านมีความเป็นท้องถิ่นผสมผสานกับความเป็น select shop ทันสมัยได้อย่างลงตัว เรียกได้ว่าสินค้าของที่นี่ มีคุณค่าทั้งในเชิงการออกแบบสร้างสรรค์และได้ช่วยส่งเสริมคนท้องถิ่นไปด้วยในตัว แผนที่ตำแหน่งร้าน Dropenling
ไทยและทิเบตล้วนเป็นเมืองพุทธ บ้านเรามีศีลข้อ 5 ที่ห้ามดื่มสุรา แต่เราก็มีวันศุกร์แห่งชาติที่ทุกคนรอให้หมดสัปดาห์เพื่อออกไปสังสรรค์ หลังจากใช้เวลาเกือบ 2 สัปดาห์ในทิเบต ได้เห็นพลังศรัทธาและความเคร่งปฎิบัติของพุทธศาสนิกชนชาวทิเบตแล้ว เราจึงเกิดความสงสัยและถามเจ้าบ้านไปตรงๆ ว่า “ชาวทิเบตดื่มไหม?” คำตอบที่ได้คือเสียงหัวเราะลั่น
“ชาวทิเบตดื่มเก่งมาก และนั่นเป็นสิ่งที่พวกเราภูมิใจ”
เจ้าบ้านของเราตอบอย่างขึงขัง ด้วยสีหน้าภูมิใจประหนึ่งว่าการดื่มเป็นวัฒนธรรมประจำชาติ
และก็เป็นจริงอย่างที่เขาว่า เพราะตลอดการเดินทาง ไม่ว่าเราจะแวะจุดไหน เราก็จะเห็นกองภูเขาขวดเบียร์อยู่ตามหน้าบ้านคนเสมอ ไม่ใช่แค่ในเมืองหลวง แต่ตามต่างจังหวัดก็เช่นกัน ขนาดออกไปหมู่บ้านห่างไกลจนเกือบถึงยอดเขาเอเวอร์เรสต์ก็ยังมีภูเขาขวดเบียร์ให้ได้เห็น เชื่อว่าถ้าเอาขวดเบียร์ทั้งทิเบตมากองรวมกัน น่าจะมีความสูงไม่แพ้ยอดเขาเอเวอร์เรสต์ แต่เมื่อเทียบกับสภาพการใช้ชีวิตของชาวชนบทที่ดูยากจนแร้นแค้น ก็ทำให้เข้าใจความจริงสากลข้อหนึ่งได้ว่า ไม่ว่าคนเราจะยากไร้ซักแค่ไหน ก็จะมีกระเป๋าสำรองสำหรับการร่ำสุราเสมอ ไม่ว่าจะชาวทิเบต ชาวไทย หรือชาติไหนๆ ก็ตาม
ชาวทิเบตมีเบียร์ประจำชาติคือ Lhasa Beer ที่มีคำขวัญเท่ๆ แบบไม่มีทางซ้ำใครว่า “Beer from the roof of the world” (เบียร์จากหลังคาโลก) ลาซาเบียร์เป็นเบียร์ที่ทำจากบาร์เลย์ ซึ่งเป็นพืชประจำชาติที่ปลูกกันทั่วทุกหนทุกแห่งในทิเบต แต่อย่าเข้าใจผิดว่าการดื่มเบียร์เป็นวัฒนธรรมตะวันตกที่เพิ่งแทรกซึมเข้ามา เพราะชาวทิเบตดื่มเบียร์กันมาหลายร้อยปีแล้ว ที่สำคัญคือในอดีตผู้ที่ทำเบียร์ คือ “พระสงฆ์” นั่นเอง เช่นเดียวกับเบียร์ของยุโรป ที่ผู้ผลิตแรกเริ่มก็คือพระในคริสตศาสนา แม้แต่ในบริเวณพระราชวังโปตาลา ยังมีอาคารหนึ่งเป็นโรงหมักเบียร์โดยเฉพาะ
ชาวอูซัง (Ü-Tsang) หรือกลุ่มคนภาคกลางและตะวันตกของทิเบตจะนิยมดื่ม Lhasa Beer มากกว่าเบียร์จีนหรือเบียร์ตะวันตก Budweiser เป็นเบียร์ยี่ห้อที่เห็นได้บ่อยมากในลาซา แต่พอออกนอกเขตเมืองแล้วแล้ว ยี่ห้อเดียวที่จะได้เห็น คือฉลากสีเขียวเข้มของเบียร์เจ้าถิ่น ดังนั้น นอกจากก๋วยเตี๋ยวเนื้อจามรี ชาเนย และ โมโม่แล้ว หนึ่งใน Must Try ที่ควรต้องลองชิมซักครั้งเมื่อมาทิเบตก็ก็คือเบียร์จากข้าวบาร์เลย์ท้องถิ่น Lhasa Beer
แม้ชาวทิเบตจะนิยมดื่มเบียร์ แต่ผับ บาร์ และสถานบันเทิงยามค่ำคืนที่กรุงลาซาก็ไม่ได้หนาแน่นเหมือนบ้านเรา ขนาดในเมืองหลวงยังมีที่เที่ยวอยู่เพียงไม่กี่แห่ง การจะหาโอกาสลองดื่มกับคนท้องถิ่นจึงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่สุดท้ายเราก็พาตัวเองมาถึงผับใหญ่แห่งหนึ่งจนได้
หมายเหตุ – กฎระเบียบการท่องเที่ยวในเขตปกครองตนเองทิเบต (ซึ่งถูกกำหนดโดยรัฐบาลจีน) นั้น กำหนดไว้ว่าลูกทัวร์ต้องอยู่ภายในการดูแลของบริษัททัวร์ตลอดเวลา แต่เราอาศัยเวลาพักผ่อนช่วงกลางคืนออกมาเดินเล่นผ่อนคลายกันเอง ที่นี่จึงไม่อยู่ในแผนเที่ยวในกำหนดการ แต่เกิดจากความโชคดีที่ถูกกระตุ้นจากความกระหาย
ที่เที่ยวกลางคืนในกรุงลาซาที่เราบังเอิญไปเจอชื่อว่า Niyue Luga Kang (ཉི་འོད་མི་རིགས་གླུ་གར་གླིང་།) บรรยากาศภายนอกเหมือนร้านเหล้าตามต่างจังหวัดบ้านเรา แต่มาทราบทีหลังว่าที่นี่เป็นหนึ่งในที่เที่ยวกลางคืนที่ใหญ่ที่สุดของกรุงลาซา ไม่แน่ใจว่าควรจะจัดไว้ในหมวด ผับ คลับ บาร์ โรงเหล้า หรือ โรงมหรสพ แต่บรรยากาศภายในค่อนข้างใกล้เคียงกับโรงเบียร์เยอรมัน คือ ทุกคนจะนั่งเป็นโต๊ะ ดื่มเบียร์กันอย่างจริงจัง และชมโชว์บนเวที ซึ่งจะมีการแสดงของนักร้องนักเต้นสลับกันขึ้นมาเป็นชุด และที่บันเทิงที่สุด คือเมื่อลูกค้าผู้มาเที่ยวเกิดครึ้มอกครึ้มใจกับดนตรีขึ้นมา พวกเขาก็จะขึ้นไปร่วมร้องร่วมเต้นบนเวทีไปกับการแสดงเลย ถึงจุดหนึ่ง บนเวทีก็เต็มไปด้วยลูกค้า ทั้งคุณลุง คุณป้า หนุ่ม สาว ไปจนเด็กเล็กๆ อย่าว่าแต่อายุยังไม่ถึงเกณฑ์เข้าผับเลย เพราะหลายคนดูแล้วน่าจะยังไม่เข้าโรงเรียนประถมด้วยซ้ำ แต่ทุกคนก็สนุกสนานรื่นเริงกันแบบพอดี ดูเป็นการเมาที่มารยาทดีอย่างน่าประหลาด
ชาวทิเบตนิยมดื่มเบียร์มากกว่าสุรา แต่จะดื่มด้วยจอกเป๊กแบบที่ใช้ดื่มวอดก้า เวลาดื่มทุกคนจะต้องดื่มพร้อมกันรอบวงเสมอ จะไม่ชนจอกกันเดี่ยวๆ ถ้าคนหนึ่งชน ทุกคนต้องดื่ม วนเป็นรอบเวียนไปเรื่อยๆ แม้ปริมาณจะน้อย แต่ความถี่ในการดื่มดุเดือดมาก ยิ่งถ้าเป็นชาวต่างชาติที่หลงเข้าไปในผับท้องถิ่น จะยิ่งได้รับการต้อนรับอย่างอุ่นหนาฝาคั่งเป็นพิเศษ
ในวันที่เราไปที่เที่ยวกลางคืนแห่งนี้ เพื่อนร่วมทางสาวจากอัมสเตอร์ดัมของเราเป็นชาวตะวันตกผมทองเพียงคนเดียวในร้าน เธอจึงกลายเป็นจุดสนใจจากคนนับร้อยแบบช่วยไม่ได้ เพราะปรกติแล้วคนต่างชาติที่แค่มาเที่ยวจะเข้าไม่ถึงร้านท้องถิ่นประเภทนี้ (แม้แต่ไกด์ของเรายังตกใจที่เราหาร้านนี้เจอ) ช็อตเบียร์ถูกเวียนมาขอชนซ้ำแล้วซ้ำเล่าแบบไม่มีช่วงให้ได้หยุดพัก เบียร์เราหมด เขาก็ยกของเขามาเติมให้ สรุปว่าคืนนั้นดื่มฟรี จุดนี้ต้องขอยอมรับพลังใจของเพื่อนใหม่ชาวลาซาในการต้อนรับอาคันตุกะแปลกหน้า ที่แม้จะสื่อสารกันไม่รู้เรื่องซักคำ แต่เวลาเจอคนต่างแดนที่ไหว้คล้ายๆ กัน ก็ทำให้รู้สึกอบอุ่นเหมือนอยู่ไม่ไกลบ้านซักเท่าไหร่
“ชาวไทยห้อยพระดื่มเหล้า ส่วนชาวทิเบตสวมประคำดื่มเบียร์” บางทีชนชาติเราทั้งสองนั้นก็คล้ายกันจนน่าประหลาดใจ ชาวไทยเป็นพุทธแต่โดยมากก็ยังนับถือผี กราบไหว้ต้นไม้ใบหญ้าเชื่อสิ่งที่มองไม่เห็น ชาวทิเบตเป็นพุทธแต่ก็ยังนับถือฟ้าดิน ติดธงมนต์บูชาสิ่งเหนือธรรมชาติ ผสมผสานรากวัฒนธรรมรากเดิมกับพุทธศาสนาออกมาเป็นวิถีเฉพาะของตัวเอง แถมดื่มหนักไม่แพ้กันอีก จุดต่างอย่างเดียวที่ชัดเจน เห็นจะเป็นเรื่องวินัยในการปฏิบัติธรรม ชาวพุทธทิเบตไม่มีใครไม่เข้าวัด ไม่มีใครสวดมนต์ไม่เป็น ไม่แค่ตักบาตรในวัดเกิดหรือทำสังฆทานเมื่อรู้สึกซวย พวกเขาปฏิบัติธรรมด้วยความุ่งมั่นแรงกล้าเป็นกิจวัตร อุทิศทั้งกำลังใจและกำลังกาย คงไม่มีชนชาติไหนเดินเท้า 1,000 กิโลเมตรไปวัด หรือกราบอัษฎางคประดิษฐ์ถึง 100,000 ครั้ง เอาตัวไถไปกับพื้นทุกวันเป็นเดือนๆ เพื่อฝึกกายและจิต อย่างน้อยประคำที่ห้อยคออยู่ก็เป็นอุปกรณ์ไว้ใช้ฝึกสมาธิ ไม่ใช่สวมเพื่อผลทางโชคลาภอาคมเพียงอย่างเดียวแบบไม่ลงมือปฏิบัติอะไรด้วยตนเอง
การเดินทางสู่ทิเบตในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนโดย Explore Tibet ซึ่งเป็นบริษัทท่องเที่ยวท้องถิ่นที่บริหารงานโดยชาวทิเบต นอกจากทริปฤดูหนาวแล้ว Explore Tibet ยังมีทริปอื่นๆ ที่น่าสนใจในฤดูอื่นๆ ให้เลือกอีกมากมายในหลายพื้นที่ของเขตปกครองตนเองทิเบต ให้บริการได้ทั้งแบบกลุ่มและแบบส่วนตัว มีตั้งแต่ทริปสั้น 4 วันในกรุงลาซาไปจนกระทั่งทริปถ่ายภาพและเดินเขา 20 วันสู่เขาไกรลาศ สามารถดูรายละเอียดทริปแบบต่างๆ และสอบถามราคาได้ที่ ExploreTibet.com